1 ก.พ. 2023 เวลา 02:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ

🔎ตะลุยเวียดนาม ส่องธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ยังมีโอกาสในการลงทุนอยู่ไหม?

31 Jan 2023 by T-Da
📌 เวียดนามประกาศ GDP ปี 2022 เติบโต 8.02% สูงสุดในรอบ 25 ปี แม้ว่าตลาดหุ้นเวียดนามจะปรับลงไปกว่า 30% ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่สูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 6.0% - 6.5% และสูงกว่าปีก่อนหน้าที่เติบโตได้ 2.58% ที่น่าสนใจคือยอดค้าปลีกของเวียดนามยังเติบโตได้ถึง 19.8% แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค. 2022 จะสูงถึง 4.55% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าก็ตาม
📌 ในปี 2023 นี้ เวียดนามตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ไว้ที่ 6.5% ภายใต้คาดการณ์เงินเฟ้อที่ระดับ 4.5% ซึ่งเศรษฐกิจเวียดนามน่าจะต้องเผชิญความท้าทายอย่างมากจากแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ การส่งออกในเดือน ธ.ค. 2022 เริ่มส่งสัญญาณติดลบ 14% และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI: Foreign Direct Investment) ซึ่งเป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญก็มีแนวโน้มชะลอลง
แม้ว่าในเศรษฐกิจเวียดนามจะเจอมรสุมภายในประเทศจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และกำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มแย่ลงในปีนี้
แต่ด้วยจำนวนประชากรกว่า 97 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน และยังเติบโตได้ในอัตรา 0.84% (ตามข้อมูลของ World Bank) ทำให้คาดว่าประชากรเวียดนามจะแตะระดับ 100 ล้านคน ภายในปี 2024 นี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงจุดสูงสุดในปี 2054 ที่ระดับเกือบ 110 ล้านคน ประกอบกับรายได้ต่อหัวที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
📌ในปัจจุบันเวียดนามมีประเภท ธุรกิจร้านค้าปลีก ดังนี้
- ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (MT: Modern Trade) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 25% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด
- ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (TT: Traditional Trade) อีก 75%
1
ซึ่งคล้ายกับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของประเทศไทยเมื่อ 20ปีก่อน โดย MT ในไทยใช้เวลาเพียง 10 กว่าปีก็สามารถเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาได้เป็น 50% ดังนั้นธุรกิจ MT ในเวียดนามเองก็น่าจะมีโอกาสเติบโตได้เช่นกัน
📌 ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (MT) ในเวียดนามนั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1) Supermarket/Hypermarket คิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด โดยมีเจ้าตลาดเป็นบริษัทเวียดนาม Co.op Mart (ของสหกรณ์ไซ่ง่อน) และ WinMart ซึ่งทั้งสองแบรนด์ต่างมีร้านค้าราว 100-120 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมี Big C (Tops Market, GO!) และ MM Mega Market ที่เป็นของบริษัทไทยด้วย
2) Convenient Store/Mini Super คิดเป็นสัดส่วนราว 5%-8% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด โดยมีเจ้าตลาดเป็น WinMart+ (3,300 สาขา) และ Bach Hoa Xanh (1,728 สาขา) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Mini Super ส่วนในกลุ่ม Convenient Store นั้นมี Co.op Food และ Circle K ที่แต่ละแบรนด์มีประมาณ 400 สาขาทั่วประเทศเป็นเจ้าตลาดอยู่ในปัจจุบัน
3) Online & others คิดเป็นสัดส่วนราว 4%-6% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด นับเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่เติบโตอย่างรวดเร็วเกินคาดจากปัจจัยเร่งของโรคระบาด โดยมีเจ้าตลาดเป็น Shopee ตามมาด้วยร้านค้าออนไลน์ของบริษัทเวียดนามอย่าง The Gioi Di Dong (ร้านขายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสาร) และ Dien May Xanh (ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า)
📌 มีหุ้นอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม?
1️⃣ WinMart และ WinMart+ เดิมเป็นของ Vingroup (หุ้น VIC) บริษัทเอกชนของมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเวียดนาม มีธุรกิจหลากหลาย เช่น
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่อยู่อาศัย (ในนาม Vinhomes)
- ธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ Vincom (หุ้น VRE)
- ธุรกิจร้านค้าปลีก Vinmart (supermarket) และ Vinmart+ (minimart)
- และรถยนตร์ไฟฟ้า Vinfast อีกด้วย (เตรียม IPO ใน NASDAQ ชื่อหุ้น VFS)
แต่ธุรกิจร้านค้าปลีกนั้นมีผลขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 โดยผลขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีละกว่า $150ล้าน มาเป็นขาดทุนกว่า $200ล้านต่อปี ในปี 2018 และ 2019 ซึ่งในขณะนั้นมีจำนวนกว่า 2,600 ร้านค้าทั่วประเทศ
2️⃣ บริษัท Masan Group (หุ้น MSN)
ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของเวียดนามที่ผลิตทั้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอันดับ 1 ของเวียดนาม (อันดับ 3 ของโลก) น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ กาแฟ และเบียร์ เล็งเห็นโอกาสที่จะมี outlet ในการจำหน่ายสินค้าเป็นของตนเอง จึงได้เข้าซื้อหุ้นกว่า 80% ในบริษัท Vincommerce ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Vingroup และได้ทยอยเปลี่ยนชื่อเป็น Winmart และ Winmart+ ซึ่งปัจจุบันมี 3,400 สาขาโดยประมาณ
1
และมีเป้าหมายที่จะปิดสาขาที่ทำกำไรน้อย และเดินหน้าขยายสาขาใหม่เป็น 10,000 สาขา ภายในปี 2025 โดยมีทั้งแบบลงทุนเอง และเปิดรับแฟรนไชส์ด้วย
3️⃣ บริษัท Mobile World Investment Corp (หุ้น MWG)
ผู้นำในตลาดค้าปลีกอุปกรณ์ไอทีภายใต้ชื่อ The Gioi Di Dong ซึ่งมีร้านค้ากว่า 3,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นทั้ง Apple Authorized Retailer และ Apple Premium Retailer อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ Dien May Xanh ซึ่งมีร้านค้ากว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ และยังมีร้านค้าปลีกที่ขายทั้งของใช้ทั่วไปและอาหารสด (คล้าย Lotus's Go Fresh ในไทย) ภายใต้ชื่อ Bach Hoa Xanh ซึ่งมีร้านค้ากว่า 1,700 สาขาทั่วประเทศ
Bach Hoa Xanh เป็น Mini Super ที่วางรูปแบบมาเพื่อทดแทนการซื้อของในตลาดสดและร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม โดยเน้นราคาที่แข่งขันได้และมีสินค้าหลากหลายชนิดรวมถึงอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ (แตกต่างจากกลุ่ม Convenient Store ที่ไม่มีอาหารสด เช่น 7-11 ในไทย) ที่ผ่านมามีการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว จาก 40 สาขาในปี 2016 มาเป็น 2,140 สาขาในไตรมาส1/2022 ก่อนที่จะทยอยปิดสาขาที่ไม่มีกำไรไปกว่า 300 สาขา ทำให้ปัจจุบันเหลืออยู่ 1,728 สาขา น้อยกว่า WinMart+ แต่ยังทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ 3 และอันดับรองลงไปอย่างมาก
นอกจากธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว
4️⃣ ยังมีบริษัท FPT Corp (หุ้น FPT) ที่เป็นผู้นำในธุรกิจเทคโนโลยีและการโทรคมนาคม ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจค้าปลีกที่ขายสินค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Store) ในนาม FPT Retail โดยมีร้านขายยา (Drug Store) ภายใต้ชื่อ FPT Long Chau ที่มีกว่า 200 สาขา เป็นอันดับ 2 รองจาก Pharmacity ที่มีกว่า 500สาขา และมีร้านขายอุปกรณ์ไอทีที่เป็น Apple Authorized Retailer ด้วย ภายใต้ชื่อ FPT Shop ที่มีกว่า 600 สาขา ซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจาก The Gioi Di Dong
บริษัทไทยเองก็เข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามเช่นกัน โดย Big C, Tops Market, GO! นั้นเป็นของกลุ่ม Central (หุ้น CRC) ที่ซื้อมาจาก Casino Group เมื่อปี 2016 ส่วนห้างค้าปลีกค้าส่งอย่าง MM Mega Market (เปลี่ยนชื่อมาจาก Metro Cash & Carry) นั้นเป็นของกลุ่ม TCC Group (หุ้น BJC) ที่ซื้อมาจาก Metro AG ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในเวียดนามจึงได้ตัดสินใจขายธุรกิจไป
📌 ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ในเวียดนามนั้นดูเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะพิจารณาจากลักษณะพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเวียดนามเองที่มีแนวโน้มจะปรับจากการซื้อของใน TT ไปสู่ MT แบบเดียวกับที่ประเทศไทยเคยผ่านมาก่อน หรือจะพิจารณาในมุมของโครงสร้างประชากรและกำลังซื้อของเวียดนามก็ดูน่าสนใจเช่นกัน แต่การแข่งขันในตลาดค้าปลีกนั้นก็เข้มข้นอยู่ไม่น้อย ขนาดบริษัทข้ามชาติอย่าง Casino Group ของฝรั่งเศส หรือ Metro AG ของเยอรมันก็ยังต้องถอยมาแล้ว
บริษัทท้องถิ่นของเวียดนามเองที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จไปเสียทุกราย มีทั้งที่ประสบภาวะขาดทุนจนต้องขายกิจการ หรือปิดสาขาเพื่อปรับกลยุทธ์ใหม่ ส่วนบางกลุ่มสินค้าก็เริ่มโดนท้าทายจาก online shopping platform ของต่างชาติอย่าง Shopee ทำให้นักลงทุนที่อยากจะลงทุนในหุ้นเวียดนาม โดยเฉพาะการเลือกลงทุนเป็นหุ้นรายตัวนั้นควรต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ดีก่อนลงทุน
โฆษณา