2 ก.พ. 2023 เวลา 07:28 • ไอที & แก็ดเจ็ต

ใช้สายชาร์จโทรศัพท์ปลอมแล้วโดนดูดข้อมูล/โอนเงินออกได้จริงหรือ?

จากข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อต่างๆ ที่พบว่ามีผู้เสียหายได้มีการใช้งานสายชาร์จโทรศัพท์ของปลอมแล้วถูกดูดข้อมูล และโอนเงินออกจากบัญชีนั้น
 
กลายเป็นข่าวฮือฮา และหวั่นวิตกไปทั่วกับผู้ที่ใช้งานมือถือ และผูกบัญชีธนาคารไว้กับแอปพลิเคชันต่างๆ
ซึ่งล่าสุด (16 ม.ค. 2566) ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมหารือ ตรวจสอบ และแถลงข่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า “ไม่ได้เกิดจากการใช้สายชาร์จปลอม แต่เเกิดจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์”
“ทำให้มิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้า และควบคุมเครื่องโทรศัพท์เพื่อสวมรอยทำธุรกรรมแทนจากระยะไกล เพื่อโอนเงินออกจากบัญชี โดยอาจเลือกทำธุรกรรมในช่วงเวลาที่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้งานโทรศัพท์”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันเหล่ามิจฉาชีพก็มีกลเม็ดพลิกแพลงในการหลอกลวงที่หลากหลาย และพัฒนาวิธีการไปเรื่อยๆ เช่น SMS หลอกลวง เชิญชวนด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กดลิงก์เข้าไป, แก็งคอลเซ็นเตอร์, แอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม เป็นต้น
## การป้องกันและแก้ไขปัญหา ##
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามหาทางป้องกัน และแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการออกมาตรการต่างๆ ให้สถาบันการเงินต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด และร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงาน กสทช., สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหา ได้แก่
Image Credit: Pixabay
• ปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking อย่างต่อเนื่อง
• ปิดกั้นเว็บไซต์หลอกลวง และตัดการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มิจฉาชีพใช้ควบคุมเครื่องผู้เสียหายจากระยะไกล
• แก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง ที่แอบอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน
• จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์เพื่อให้ประชาชนแจ้งความได้สะดวกและอายัดบัญชีได้รวดเร็วขึ้นที่ www.thaipoliceonline.com
Image Credit: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
• ประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้ แจ้งเตือนภัย และให้คำแนะนำประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ธปท. ยังเน้นย้ำให้สถาบันการเงินจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือ และการตอบสนองให้เท่าทันอย่างสม่ำเสมอ และพัฒนากลไกความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Image Credit: Pixabay
รวมถึงทางฝั่งประชาชนเองก็ต้องขอความร่วมมือในการเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตกเป็น 1 ในเหยื่อรายต่อไป พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่สามารถป้องกันภัย และปฏิบัติในเบื้องต้นได้ง่ายๆ ดังนี้
1. ไม่คลิกลิงก์จาก SMS, LINE และ อีเมลที่มีแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก หรือไม่น่าเชื่อถือ
2. ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมนอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store หรือแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น
3. อัปเดต Mobile Banking ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ หรือตั้งค่าให้มีการอัปเดตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันการควบคุมเครื่องทางไกลรวมถึงมีการปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ
Image Credit: Saroche Kuansiri
4. ไม่ใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เครื่องที่ปลดล็อก (root/jailbreak) เพื่อให้สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ก็ได้ หรือใช้เครื่องที่มีระบบปฏิบัติการล้าสมัย เป็นต้น
5. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้การติดตามแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติ สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งาน เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ธปท. ได้เน้นย้ำให้สถาบันการเงินมีมาตรการดูแลลูกค้าทุกรายอย่างเต็มที่ตามขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนด ซึ่งหากได้ตรวจสอบและพิสูจน์พบว่าลูกค้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลส่วนตัว สถาบันการเงินต้องรีบพิจารณาช่วยเหลือและดูแลความเสียหายของลูกค้าโดยเร็วภายใน 5 วัน.
จะเห็นได้ว่าหากเรารู้เท่าทันในการใช้งานโทรศัพท์มือถือโดยที่ไม่หลงไปกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดึงดูดใจจนน่าแปลกใจ หรือหลงเชื่อการหลอกหลวงด้วยการมอบปัญหาต่างๆ ที่สร้างความกังวลใจให้กับเราโดยที่เราไม่ได้เป็นผู้กระทำ
Image Credit: Pixabay
ขอให้มีสติ อย่าเพิ่งหลงเชื่อจนกว่าจะได้มีการตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เพราะถึงแม้มิจฉาชีพจะมาในรูปแบบไหน แต่ถ้าเราพร้อมรับมือด้วยสติและหาความรู้อยู่เสมอ ก็จะลดและปิดโอกาสในการสูญเสียทรัพย์สิน และไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้อย่างแน่นอน.
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา