10 ก.พ. 2023 เวลา 04:38 • ธุรกิจ

ทำไมธุรกิจประเภทเดียวกันมักเปิดระแวกเดียวกัน?

“หากจะซื้อผ้าให้ไปเดินเลือกที่พาหุรัด หากจะซื้อทองให้ไปดูที่เยาวราช หากอยากกินดื่ม Hang Out ให้ไปทองหล่อ หรือหากจะซื้อยารักษาโรคให้ไปวังหลัง (รพ.ศิริราช)”
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของธุรกิจร้านค้าที่เปิดอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือระแวกเดียวกัน ทั้งๆ ที่ก็เป็นคู่แข่งกันโดยตรงด้วยซ้ำ
## แล้วทำไมพวกเขาถึงเลือกมาทำธุรกิจใกล้ๆ กัน หรือรวมกันอยู่ในพื้นที่ๆ เดียวกันแบบนี้ละ? ##
ลักษณะการรวมตัวกันของธุรกิจ หรือบริษัทที่มีความสัมพันธ์แบบคู่แข่งกันโดยตรงนั้น มีให้เห็นกันอยู่ทั่วโลก โดยในต่างประเทศเองก็มีอยู่หลายแห่งที่ธุรกิจมารวมตัวกันแล้วได้ผลรับที่ดี
เช่น ศูนย์รวมแฟชั่นที่เมืองมิลาน ศูนย์รวมบริษัทผลิตภาพยนตร์ในฮอลีวู้ด หรือจะเป็นซิลิคอนวัลเลย์ศูนย์รวมบริษัทไอทีสุดล้ำมากมาย เป็นต้น
เราสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ด้วยหลักทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอธิบายถึงการรวมกลุ่มของร้านค้าที่ขายสินค้าคล้ายคลึงกันนี้ว่าเป็น “การประหยัดจากการรวมตัวกัน” (Agglomeration Economies) หมายถึง “ผลประโยชน์ที่ร้านรวงประเภทเดียวกันได้รับ เมื่อมีตำแหน่งการตั้งร้านอยู่ในทำเลเดียวกัน”
Apple Park, Cupertino, United States / Image Credit: Carles Rabada
ประโยชน์แรกที่ธุรกิจห้างร้านผู้ผลิตจะได้รับ คือ ลดต้นทุนผลิตจากวัสดุที่เรียกว่า “สินค้าขั้นกลาง” (Intermediate Goods) ซึ่งมักมีความซับซ้อนในกระบวนการผลิต ทำให้พวกเขาหามันได้ง่ายและสะดวกขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าที่ต้องใช้ “กระดุม” เป็นวัสดุสำคัญในการผลิต และด้วยความที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การที่บริษัทกระดุมจะผลิตกระดุมแบบหนึ่งออกมาจำนวนน้อยชิ้นให้กับธุรกิจเสื้อผ้าที่มีน้อยราย หรือตั้งอยู่กระจัดกระจายกันออกไป
ก็คงทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงตามไปด้วย การรวมกลุ่มกันของธุรกิจผลิตเสื้อผ้าในพื้นที่ธุรกิจเดียวกันจึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้
ในอีกมุมหนึ่งหากบริษัทผลิตกระดุมหลายๆ แห่งเอง ก็ตั้งอยู่ในทำเลเดียวกันเหมือนกัน และหากบริษัทผลิตเสื้อผ้าต้องการหาผู้ผลิตสินค้าชั้นกลางรายใหม่ก็สามารถทำได้ง่ายกว่า ไม่ต้องมีต้นทุนมากและประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนคู่ค้าไปด้วย
Image Credit: Pixabay.com
นอกจากนี้ แรงงานเองก็ได้รับประโยชน์จากการรวมตัวนี้เหมือนกัน เพราะแรงงานที่ทำงานในแหล่งรวมธุรกิจประเภทเดียวกันก็จะสามารถโยกย้ายงาน หรือหางานใหม่ได้ง่ายด้วย
หรือแม้แต่พวกธุรกิจใหม่ที่มีความเสี่ยง (Venture Business) ก็มักจะจ้างงานกันเป็นโปรเจ็กต์ และมีระยะเวลาดำเนินงานแค่ช่วงหนึ่ง พอใกล้หมดสัญญา แรงงานก็สามารถเตรียมตัวหางานโปรเจ็กต์ใหม่ในระแวกเดียวกันได้ไม่ยาก
รวมถึงมีข้อได้เปรียบตรงที่ได้รับโอกาส และข้อมูลที่เอื้อให้ย้ายไปทำงานที่ใหม่ได้สะดวกกว่าด้วย
นอกจากนี้ การรวมตัวกันของกลุ่มธุรกิจประเภทเดียวกัน ยังส่งผลดีในเรื่องของการแบ่งปันไอเดีย และข้อมูลระหว่างกันที่หลากหลาย หรือหากจับมือเป็น Partner กันก็ยังสามารถช่วยกันสร้าง (เพิ่ม) พลังให้ธุรกิจในประเภทนั้นๆ ได้อย่างดีอีกทางหนึ่ง
เช่น ในฮอลลีวู้ดทำเลทองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อีกทั้งยังมีแหล่งผลิตสินค้าขั้นกลางมากมายในโลกมายารวมกันอยู่ที่นี่ ทั้งอุปกรณ์ประกอบฉาก การตัดต่อ การทำสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ฯลฯ ที่โดยปกติเมื่อใช้เสร็จแล้วมันก็คงถูกโยนทิ้งเป็นเศษขยะไป
Image Credit: Pixabay.com
แต่สำหรับแหล่งรวมมิตรของการผลิตภาพยนตร์แห่งนี้ ถ้าหากมีผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ ซึ่งทำหนังแนวเดียวกัน ก็ยังสามารถนำอุปกรณ์ประกอบฉาก หรือวัตถุดิบต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว มาเคาะๆ ปัดฝุ่นใช้ในเรื่องใหม่ด้วยต้นทุนที่ถูกลงได้ ไม่ต้องเสียเวลา หรือเสียเงินมากสำหรับการที่จะต้องไปเนรมิตมันขึ้นมาใหม่
หรือแม้แต่กำลังคนที่ต้องใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์เองก็สามารถหากันได้ง่าย เพราะเมื่อได้ทำงานกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสร็จแล้ว ก็มักจะมีโอกาสไปต่อกับเรื่องใหม่ๆ ได้ไม่ยากแล้ว หรืออาจจะพูดได้ว่า “รวมกันแล้วทำรายได้ทำกำไรกันถ้วนหน้า” ก็คงไม่ผิด
ผลประโยชน์จากการที่บริษัทหรือธุรกิจประเภทเดียวกันมารวมกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ไม่ได้ตกอยู่กับแค่ตัวบริษัทเท่านั้น แต่มันยังถูกส่งต่อ และยังประโยชน์ให้กับคู่ค้า คู่แข่ง ผู้บริโภค ฯลฯ ด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็น่าจะสรุปตามหลักเศรษฐศาสตร์ได้ว่า “การตั้งบริษัทหรือธุรกิจอยู่ใกล้ๆ คู่แข่ง ไม่ใช่เรื่องโง่เขลาอย่างที่หลายคนเข้าใจ (ผิด) แต่มันกลับเป็นกลยุทธ์การแสวงหาผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอันหลากหลายระหว่างกันและกันมากกว่า"
วันนี้ระหว่างทางกลับบ้าน คุณลองสังเกตดูสองข้างทางว่ามีร้านค้าประเภทเดียวกันตั้งอยู่ใกล้ๆ กันบ้างไหม
แล้วคุณจะพบว่ามันมักรวมตัวอยู่ใกล้ๆ กันเสมออย่างน่าประหลาดใจ หลังจากที่อ่านบทความเรื่องนี้จบแล้ว...
ถ.เยาวราช สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยห้างทอง / Image Credit: Waranont (Joe)
Reference: หนังสือ “เศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนสิ่งประหลาด ให้เป็นเรื่องปกติ”, ผู้เขียน: ปาร์กจองโฮ, แปล: ตรองสิริ ทองคำใส
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา