4 ก.พ. 2023 เวลา 05:15 • สุขภาพ

นมแม่-อุปสรรค&ขวากหนาม(ตอนที่๒)

🌲ตอนที่แล้วว่าไว้2 ข้อ มาต่อค่ะ
Link ตอนที่๑
3)การให้นมลูกไม่เหมือนที่เขียนไว้ในตำรา
การให้นมลูกที่เป็นทารกแรกเกิดนั้น ไม่เหมือนที่เขียนไว้ในตำราเอาเสียเลย
เพราะการดูดนมแต่ละมื้อของเด็กแรกเกิดจะอิ่มเร็วตามขนาดและน้ำหนักตัวของเค้า
👉ลูกน้อยกลอยใจของป้าน้ำหนักแรกเกิดแค่ 2.8 กิโลกรัม แถมเป็นเด็กชอบนอนยาวจึงดูดนมแป๊บ ๆ แล้วก็หลับ-ตื่น หลับ-ตื่น หลายครั้งหลายหน ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน ซึ่งเมื่อพลิกตำรามาเทียบแล้วมันไม่ใช่เลย
แม่หลายคนอ่านคู่มือการเลี้ยงนมแม่ จากสมุดฝากครรภ์ของโรงพยาบาลที่พิมพ์ไว้ว่า
“ลูกน้อยของคุณจะตื่นมาดูดนมแม่ด้วยความถี่ราว ๆ สองชั่วโมงต่อครั้ง!!...มันไม่เป็นจริงเสียเลย!!
ส่วนใหญ่ดูดครั้งละเจ็ดถึง 8 นาทีแล้วก็หลับเสร็จแล้วก็ตื่นอย่างที่บอกเพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องหัดหลับนกให้เป็นล่ะค่ะ
วันที่ลูกปรับตัวได้
🌱 อย่างไรก็ตามแต่จะมีวันนึงที่ หนูลูกคนเก่งปรับตัวและเรียนรู้ชีวิตอย่างรวดเร็วมาก
👶จนเวลาล่วงเข้าต้นเดือนที่สอง ลูกจึงปรับตัวดูดนมแม่ได้เก่งขึ้น ดูดนานเกินสิบนาที อิ่มปุ๊บ ตาหลับพริ้มแต่ยิ้มให้รางวัลแก่แม่บ่อยขึ้น
👉เต้านมแม่ช่วงนี้ก็จะเร่งปรับตัวตามลูก เช่นกัน เร่งผลิตและตุนน้ำนมไว้ได้มากขึ้น คุณแม่อย่างเราจึงไม่จำเป็นต้องใช้นมผงหรือการปั๊มนมใด ๆ มาช่วย (ตารางที่สอง-วิธีทำให้มีนมเยอะๆ)
👶ตรงนี้มีแทรกอุปสรรคขัดข้องนิดเดียว ตรงที่หนูเป็นเด็กเลี้ยงง่าย นอนเก่งมาก ชอบนอนมาก และหลับยาวมาก
👉ทำให้แม่มือใหม่ต้องเดินไปคอยแตะตัว เอานิ้วไล้หน้าเบา ๆ
🤔ยอมรับว่าบางครั้งก็อดกังวลไม่ได้ จนต้องคอยเอานิ้วอังที่รูจมูก เพราะหนูหลับยาวจริง ๆ กังวลไปร้อยแปด
เพราะลูกเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายมาก
..ช อ บ น อ น ม า ก ก
บางวันนอนอย่างเดียวสี่-ห้าชั่วโมงในวันอากาศดี ต้องไปคอยแอบดูหลายต่อหลายครั้งว่า
🌸หนูหลับสบายอย่างนั้นเชียวหรือ !!!
กว่าจะผ่านหนึ่งและสองเดือนแรกจึงยุ่งอยู่กับเรื่องนี้ เรื่องที่ว่า ทำไมหนูจึงหลับยาวววว..
🌿4) การปั๊มนม
แม่ไม่มีปัญหาเรื่องการสร้างน้ำนม แต่มีเทคนิคนะคะ เป็นคำสอนที่ถ่ายทอดลงมารุ่นสู่รุ่น
👉คุณยายเป็นคนสอนให้แม่อย่างเราทำตามโดยเคร่งครัด ดังนี้
ดูปก ตารางที่2 ด้วยค่ะ
หนึ่ง ห้ามดื่มน้ำเย็น ให้กินแต่น้ำร้อนเป็นหลัก
สอง กินแกงเลียงสูตรเรียกน้ำนม ซึ่งไม่อร่อยเท่าสูตรธรรมดา
สูตรแบบนี้ค่ะ
หั่นหรือซอยหัวปลีของกล้วย หั่นซอยเล็ก ๆ ให้ละเอียด ต้มกับน้ำซุปไก่ แล้วใส่พริกไทยมาก ๆ มากจนเผ็ดและฉุนจมูกจามฟึ้ด ๆ
กินกันทีเป็นหม้อ ๆ เกือบทุกวันค่ะ
สาม หลีกเลี่ยงการนอนห้องแอร์หรือเครื่องปรับอากาศนั่นแล ตัวก็จะอุ่น ๆ สักหน่อย
เวลาให้นมลูกทีไร จำได้ว่า เหงื่อจะออกมามาก เข้าข่ายเหงื่อแตกเหมือนตอนออกกำลังกายอย่างไรอย่างนั้น
เสร็จแล้วให้เราจิบหรือดื่มแต่น้ำอุ่นที่ใกล้ ๆ ร้อน จิบเรื่อย ๆ ตลอดเวลา จนกว่าจัเป็น แม่เนื้ออุ่น ตัวจริงเสียงจริง ค่ะ
สี่ ไม่กินอาหารที่ไม่ดีเช่นของหมักดอง มันแสลง ทำให้แม่ท้องไส้ไม่ดี เดี๋ยวท้องเสีย ท้องผูก หรือปวดท้องได้
ห้า กินน้ำขิงร้อนร้อนบ่อย ๆ เรื่อย ๆ
หก นอนหลับพักผ่อนให้มากครั้ง บ่อย ๆ
..มีอีกนะคะ มากมายจดบันทึกได้ไม่หมด
👶👻❄️👶
อย่างที่บอกไว้ข้างบน หนูลูกเกิดปลายเดือนเจ็ด พอเดือนแปดและเก้าในปีนั้นจำได้ว่าอากาศเย็นสบาย ลูกจึงนอนตลอด มีบ้างบางครั้งที่เค้าตื่นมาดูดนมน้อย น้ำนมจึงมาน้อย ต้องปั๊มน้ำนมช่วยป้องกันน้ำนมหยุดไหล
การปั๊มนมในบางคนดูไม่เป็นปัญหา
แต่สำหรับเราทำไมมันจึงเจ็บมาก
คงทำไม่ค่อยถูกวิธี จึงเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบเอาซะเลย
🌱5)นมเสริม
ตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว
แต่ในที่สุด งานก็มา เป็นงานสำคัญซะด้วย
เอาล่ะสิ ลูกจ๋า เงินทองก็เป็นสิ่งสำคัญให้แม่ไปทำงานด้วยนะ
หนูลูกจึงจำต้องพึ่งนมกระป๋องชนิดผงเป็นมื้อเสริมหนึ่งถึงสองมื้อ
ในตอนกลางวัน ก็ตอนนี้แหละ
ซึ่งนั่นคือ..เข้าเดือนที่หกแล้วละมัง
เพราะแม่มั่นใจว่าลูกแยกวิธีออกแล้วว่าการดูดนมแม่และนมขวดนั้นต่างกัน
ใช้ทักษะไม่เหมือนกัน จึงเริ่มแทรกมื้อกลางวันด้วยนมขวด
🌿5)ลูกไม่ชอบการดูดนมจากขวดเลย#
ตอนแรกไม่ยอมดูดเลย แถมนมก็ไหลเองมาเปื้อนแก้มลูก และเค้าไม่ยอมดูด..ตรงนี้ดูแล้วสงสาร และห่วงกลัวจะเกิดอันตรายจากการสำลักนมขวด
อยู่เหมือนกัน
แรก ๆ แม่ต้องเห่กล่อม พูดกับเขาด้วยความรักว่า
"จำเป็นนะลูกรัก แม่ต้องไปทำงาน(หาเงิน) เข้าใจมั้ยลูก..”
🥰*ลองพูดกับเค้าด้วยความรัก นุ่มนวล โอบกอด ลูกถึงจะยอมรับนมขวดแต่โดยดี มีบางวันพี่เลี้ยงต้องโทรไปบอกแม่ว่า
ลูกยังนอนรอเพื่อจะกินนมจากอกแม่ พาให้แม่สงสาร ว้าวุ่นจนพักทำงานไว้ก่อน กลับบ้านมาอุ้มลูกและป้อนนม
👉บางวันนั่งคิด ๆ จะลาออกจากงาน ขนาดนั้น❕
ในที่สุดหลังเปิดการเจรจากับหนูลูกได้ผล แม่จึงทำงานต่อ แต่ก็ให้หนึ่งหรือสองมื้อเท่านั้นค่ะ สำหรับมื้อสิบนาฬิกาและบ่ายแก่ ๆ
นอกนั้นคือ สี่โมงเย็น มื้อค่ำและมื้อนกฮูก คือตีสองบ้าง ตีสี่บ้าง จนเช้าหกโมงก็ยังเป็นนมแม่อยู่
🌿ข้อดีของการเลี้ยงลูกนมแม่ คือประหยัดและดีต่อสุขภาพ ทั้งแม่และลูก#
ถ้าวางแผนว่าจะเลี้ยงนมแม่ กฎเหล็กคือ👉อย่าซื้อขวดนมเลย
*จนกว่าเขาโตพอจะดูดโดยวิธีที่แตกต่างกัน และลูกรู้วิธีดูดนมแม่ เป็นจนคงที่แล้ว แม่จึงเสริมด้วยนมขวด ในเวลาที่คุณแม่มีความจำเป็นต้องห่างจากลูกบ้าง
ไม่ควรหัดให้กินนมชงสลับนะคะ (ถ้าไม่จำเป็น)
กลไกการดูดน้ำนมจากขวดและอกแม่ไม่เหมือนกันค่ะ เด็กจะสับสน
(เคยมีกรณีสำลักนมขวดด้วยค่ะ)
จำไว้ว่า นมขวดดูดง่ายกว่าเยอะ นมจากอกแม่จะแพ้ตั้งแต่ยกแรก
และนี่คือปัญหาภาคปฎิบัติของคุณแม่มือใหม่ค่ะ
--- --- --- --- ---
--- --- --- --- ---
มีอีกค่ะ ตอนที่ ๓ และ ๔
อ้างอิง
- Breastfeeding as a Contraceptive Method (Lactational Amenorrhoea Method)
- The physiological basis of breastfeeding, SESSION 2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา