8 ก.พ. 2023 เวลา 10:34 • ข่าว

งานหนัก(ไม่)เคยฆ่าคน เมื่อความเครียดและล้าส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตพนักงาน

“ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานจะเพิ่มอัตราการตายถึง 20 เปอร์เซ็นต์”
ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา วลี “งานหนักไม่เคยฆ่าใครตาย” กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์อีกครั้ง หลังกรณีการเสียชีวิตคาโต๊ะทำงานของสื่อมวลชนช่องดังแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ต่อมาบริษัทต้นสังกัดออกแถลงการณ์ระบุว่า สาเหตุของการเสียชีวิตมาจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย แต่ก็ไม่มีคำอธิบายถึงสาเหตุของอาการเจ็บป่วยดังกล่าว
3
อย่างไรก็ตาม งานศึกษาร่วมกันระหว่างองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) พบว่า ผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดและเส้นเลือดอุดตัน (stroke) มากกว่าผู้มีชั่วโมงการทำงานปกติ (ประมาณ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)
3
กลุ่มศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Standford University) และคณะธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard Business School) ระบุว่า ความเครียดสะสมที่เกิดจากชั่วโมงการทำงานอันยาวนาน ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน และการขาดสมดุลระหว่างชีวิตและงาน (work-life balance) คร่าชีวิตผู้คนไปถึงกว่า 120,000 คนต่อปี รวมถึงเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพถึง 190,000 ล้านดอลลาร์
2
“ปัญหาความอยุติธรรมในที่ทำงาน ก็สำคัญไม่แพ้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน”
3
ดูเหมือนว่าออฟฟิศจะช่วยลดอายุขัยของเราได้หลายสาเหตุ น่าจะถึงเวลาที่เราต้องพิจารณาคำถามเหล่านี้อีกครั้งว่า ความเครียดจากที่ทำงานฆ่าเราได้อย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทั้งตัวพนักงานและสังคมโดยรวมมีมากน้อยแค่ไหน และเราจะหยุดยั้งหรือบรรเทาการเสียสุขภาพกาย สุขภาพจิต และชีวิตที่อุทิศแก่การทำงานได้อย่างไร
2
ความสัมพันธ์ระหว่างชั่วโมงการทำงานกับอัตราการตายของพนักงาน
กรณีล่าสุดที่มีสื่อมวลชนไทยเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน สอดคล้องกับงานศึกษาของ เจฟฟรีย์ เฟฟเฟอร์ (Jeffrey Pfeffer) ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร สเตฟานอส เอ. เซนิออส (Stefanos A. Zenios) ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Standford University) และ โจเอล โกห์ (Joel Goh) นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งเสนอว่า “ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานจะเพิ่มอัตราการตายถึง 20 เปอร์เซ็นต์”
5
งานวิจัยดังกล่าวใช้กรณีศึกษาถึง 228 กรณี เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานหนักและปัญหาสุขภาพของพนักงาน โดยแบ่งความเครียดที่เกิดจากการทำงานเป็น 10 ปัจจัย ข้อค้นพบสำคัญคือ ความเครียดในที่ทำงานจะส่งผลให้ระบบสุขภาพของประเทศต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 5-8 ขณะเดียวกัน ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานจะทำให้สุขภาพของพนักงานแย่ลงกว่าร้อยละ 50 จากกรณีศึกษาทั้งหมด
3
งานศึกษายังพบว่า พนักงานที่มีภาระงานหนักจนไม่สามารถใช้เวลาร่วมกับครอบครัวกว่าร้อยละ 90 ระบุว่า ตนมีสุขภาพร่างกายแย่ สอดคล้องกับพนักงานอีกกลุ่มที่รู้สึกว่า ผู้ประกอบการไม่แฟร์ จะเริ่มมีสุขภาพทางกายย่ำแย่และมีโรคเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เช่นเดียวกัน
2
อัตราประชากรที่มีชั่วโมงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปี 2559 จาก A systematic analysis from the WHO/ILO Joint Estimates of the Work-related Burden of Disease and Injury
อัตราประชากรที่มีชั่วโมงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปี 2559 จาก A systematic analysis from the WHO/ILO Joint Estimates of the Work-related Burden of Disease and Injury
งานที่เรียกร้องเวลา แรงกาย และแรงใจจากพนักงานสูง ไม่เพียงเพิ่มอัตราการเสียชีวิต แต่ยังส่งผลให้พนักงานป่วยถึงร้อยละ 35 งานวิจัยร่วมกันชิ้นนี้ของสองมหาวิทยาลัยจึงสอดคล้องกับการประกาศเตือนจาก WHO และ ILO ว่า ชั่วโมงการทำงานที่สูงจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของพนักงาน
1
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การทำงานหนัก แต่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ และอาจก่อให้เกิดโรคหรือการเสียชีวิตของพนักงาน
1
/ ปัญหาของวัฒนธรรมการทำงานแบบ toxic /
นิตยสาร Forbes ระบุว่า มีคนจีนเสียชีวิตจากการทำงานหนักประมาณ 1 ล้านคนต่อปี สอดคล้องกับอัตราการเสียชีวิตจากชั่วโมงการทำงานสูงที่เพิ่มขึ้นทั่วทั้งโลก การทำงานหนักยังเป็นสาเหตุให้ประชากรโลกเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 และเป็นโรคเส้นเลือดอุดตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 19
1
อย่างไรก็ตาม การทำงานจนเกินตัวเช่นนี้กลับเป็นเรื่องน่าสรรเสริญในประเทศทุนนิยมก้าวหน้าอย่างเกาหลีใต้อยู่พักใหญ่ก่อนเกิดความเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเหยื่อของ toxic workplace ที่โด่งดังของเกาหลี ได้แก่ อีฮันบิต (Lee Han Bit) นักจัดรายการชื่อดังที่ต้องทนทุกข์กับวัฒนธรรมการทำงานที่กดขี่อย่างยาวนาน อีฮันบิตฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เนื่องจากถูกบริษัทบังคับให้กดขี่พนักงานใต้บังคับบัญชาคนอื่นต่อ ไม่ต่างจากที่เขาเคยเผชิญ
1
อีฮันบิต (Lee Han Bit)
จดหมายลาตายของฮันบิต เผยว่า เขาถูกบริษัทบังคับให้ทำงานแทบจะติดต่อกันถึง 55 วัน ได้พักเพียง 2 วันเท่านั้น ฮันบิตยังถูกเรียกร้องในฐานะหัวหน้างานให้ต้องบังคับพนักงานคนอื่นๆ ทำงานเกิน 20 ชั่วโมงต่อวัน และต้องคอยโทรตามให้พวกเขากลับมาทำงานหลังมีเวลานอนเพียง 2-3 ชั่วโมง จนฮันบิตรู้สึกเกลียดตัวเอง และตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด
4
มีความเป็นไปได้สูงว่า วัฒนธรรมการทำงานที่ toxic สามารถส่งต่อไปยังคนอื่นได้ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ตลอดจนสร้างความลำบากใจแก่ทั้งคนสั่งและคนรับคำสั่ง จนสร้างความเสียหายแก่ทั้งองค์กรในที่สุด
1
ในแต่ละปี มีการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้เกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 14,000 กรณี และกว่า 500 กรณีจากจำนวนดังกล่าว คือการฆ่าตัวตายที่เกิดจากความเครียดในการทำงาน ตัวเลขเหล่านี้นับว่าสูงมากจนรัฐบาลเริ่มเข้ามาแก้ไขปัญหา และสังคมเริ่มพูดถึงการสลัดภาพ ‘ฮีโร่งานหนัก’ โดยเฉพาะในกลุ่มเพศชาย เพื่อป้องกันไม่ให้การขูดรีดแรงงานจนนำไปสู่ความตายของพนักงานมากไปกว่านี้
“ปัญหาความอยุติธรรมในที่ทำงาน ก็สำคัญไม่แพ้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน”
งานวิจัยของเฟฟเฟอร์และคณะยังชี้ว่า นอกจากการถูกใช้งานหนักแล้ว วัฒนธรรมองค์กรที่ขัดต่อชุดคุณค่าที่พนักงานเชื่อมั่น ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานอย่างมาก
ย้อนไปในเดือนกันยายน 2565 สำนักข่าว The Indian Express รายงานว่า โลกอินเทอร์เน็ตกำลังถกเถียงประเด็นเรื่องคำว่า ‘special driven people’ ที่หลายบริษัทใช้ในการประกาศรับสมัครงานอย่างเผ็ดร้อน เพราะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการทำงานแบบ toxic ที่เกิดขึ้นในหลายบริษัท ทั้งนี้ วัฒนธรรมการทำงานแบบ toxic และเอาเปรียบพนักงานเกิดขึ้นนานแล้วในประเทศญี่ปุ่น จนมีการนิยามโรคและการตายจากการทำงานด้วยคำว่า ‘karoshi (過労死)’ และเกิดการปฏิรูปกฎหมายแรงงานครั้งใหญ่
1
ดังนั้น ลำพังการเรียกร้องให้พนักงานต้องดูแลรักษาสุขภาพตนเอง หรือการพูดคุยปรับความเข้าใจกับพนักงานจึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาวได้ เนื่องจากบ่อยครั้งที่ความ toxic ต่อสุขภาพและชีวิตของพนักงาน เกิดจากวัฒนธรรมภายในองค์กรที่ถูกส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น การแก้กฎหมายให้เป็นมิตรต่อพนักงานและคอยควบคุมวัฒนธรรมที่ toxic จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
1
/ บริษัทต้องปรับตัว พนักงานต้องกล้ายืนหยัดเมื่อผู้บังคับบัญชาล้ำเส้น /
2
เว็บไซต์ด้านการทำงานอย่าง Corporate Wellness Magazine ระบุว่า การลดความตึงเครียดจากการทำงานของพนักงานแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับปลาย
1
ระดับต้น หมายถึงการลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานใหม่ จัดให้มีเวลาเบรกและหลับกลางวันแก่พนักงาน ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการวางแผนงานอย่างแท้จริง เพิ่มระยะเวลาและความช่วยเหลือแก่พนักงานในประเด็นเฉพาะต่างๆ และการใช้คนให้เหมาะสมกับงาน
ระดับกลาง หมายถึงการพยายามปรับท่าทีและทัศนคติของพนักงานที่มีต่อสาเหตุของความเครียด เช่น การจัดอบรมพนักงาน จัดให้มีการบำบัดปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) และการตรวจเช็กสุขภาพและระดับความเครียดของพนักงานเป็นประจำ
ระดับปลาย หมายถึงการมุ่งจัดการกับความเจ็บป่วย เช่น ให้มีการรักษาพยาบาลหากพนักงานเจ็บป่วยหรือเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน (occupational disease) และการปรับลักษณะงานใหม่ให้เหมาะสมกับพนักงานที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย
อย่างไรก็ตาม Forbes เสนอไว้ชัดเจนว่า พนักงานไม่ควรรอมาตรการข้างต้นจากบริษัทแต่ฝ่ายเดียว แต่ควรวางแผนจัดการและบริหารสุขภาพของตนเองด้วย โดยอาจจะเริ่มจากการรักและดูแลตนเองมากขึ้น หรือจัดการเส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเครียดและโรคภัยเบื้องต้นได้
Forbes ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า พนักงานต้องกล้ายืนหยัดเมื่อผู้บังคับบัญชารุกล้ำเข้ามาในเส้นของตนเอง และต้องรู้จักการปฏิเสธงาน โดยไม่รู้สึกผิดหรือรู้สึกว่าตนเองไม่ภักดีต่อนายจ้าง เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นการปฏิบัติที่ถูกสุขภาวะที่สุด
1
อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยแม้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้เงินช่วยเหลือค่าทำศพ 50,000 บาท และได้ค่าทดแทนร้อยละ 70 ของเงินเดือน 10 ปี หากเสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ดังนั้น การป้องกันและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตตั้งแต่แรกคงเป็นเรื่องดีกว่า สำหรับทั้งพนักงานและผู้ว่าจ้าง
ส่วนกรณีสื่อมวลชนที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ บริษัทต้นสังกัดยืนยันว่า จะจ่ายเงินเยียวยาครอบครัวเท่ากับมูลค่าของเงินเดือนปัจจุบัน 24 เดือน พร้อมเงินประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ เงินกองทุนประกันสังคม และเป็นเจ้าภาพจัดการพิธีศพ แต่ยังไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่า แท้จริงแล้วบริบทการทำงานของผู้เสียชีวิตเป็นอย่างไร สภาพแวดล้อมการทำงานเหมาะสมและไม่ทำร้ายสุขภาพแค่ไหน และจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
กล่าวโดยสรุป การทำงานหนักส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ แรงงานทั่วประเทศและบริษัทที่เป็นนายจ้างจึงต้องช่วยกันผลักดันหาทางแก้ไข เช่น ลดเวลาการทำงานลง สร้างเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน หรือจัดการวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสม มิเช่นนั้นการเสียชีวิต ณ สถานที่ทำงานเช่นนี้จะไม่ใช่กรณีสุดท้าย และพนักงานที่ตายไปก็จะถูกแทนที่ด้วยคนใหม่ ภายใต้ระบบการทำงานแบบเดิมราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
2
ที่มา
โฆษณา