9 ก.พ. 2023 เวลา 03:09 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ “ Think Again คิดแล้วคิดอีก ”

เล่มที่ 18
เดิมทีเรามองว่าสติปัญญาคือความสามารถในการคิดและเรียนรู้ แต่ในโลกอันสับสนวุ่นวายนี้ยังมีทักษะอีกชุดหนึ่งที่อาจมีความสำคัญมากกว่า นั่นคือ ความสามารถในการคิดทบทวนและละทิ้งความรู้เดิม เครื่องหมายแห่งปัญญาคือการรู้ว่าควรละทิ้งเครื่องมือบางอย่างที่คุณหวงแหนที่สุดตอนไหน และควรละทิ้งตัวตนบางส่วนที่คุณเทิดทูนที่สุดเมื่อไหร่
Adam Grant
สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อในหนังสือเล่มนี้หลัก ๆ คือ การคิดทบทวน ซึ่งผู้เขียนมองว่ามนุษย์เรามักจะยึดติดกับความเชื่อเดิม ๆ หากมีข้อมูลใดขัดแย้งกับความรู้เดิมของเรา เรามักจะต่อต้าน
ผู้เขียนจึงยกตัวอย่างของเรื่องต่าง ๆ และสอดแทรกความเห็นพร้อมแนะแนวทางของการคิดทบทวนไปด้วยอย่างกลมกลืน ซึ่งผู้เขียนบอกว่าถ้าเราฝึกการคิดทบทวนจนเชี่ยวชาญ ผู้เขียนเชื่อว่าเราจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและมีความสุขในชีวิตมากขึ้น
ผู้เขียนบอกว่านักจิตวิทยาบางส่วนเชื่อว่า “ มนุษย์เราไม่ชอบถ้าต้องคิดมากเกินไป เรามักชอบความสะดวกสบายของการยึดมั่นในมุมมองเดิมมากกว่าความยากลำบากในการไขว่คว้าหามุมมองใหม่ เราชื่นชอบความสบายใจจากการปักใจเชื่อมากกว่าความไม่สบายใจจากการเคลือบแคลงสงสัย ”
ผู้เขียนยกตัวอย่างของแต่ละอาชีพเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ในขณะเราใช้ความคิดพูดคุยเรามักมีทัศนะคติแบบคนที่ประกอบอาชีพ 3 อาชีพ คือ นักเทศน์ อัยการ นักการเมือง
“ เราสวมบทเป็นนักเทศน์เมื่อความเชื่อของเราตกอยู่ในอันตราย โดยพยายามพร่ำสอนเพื่อปกป้องและส่งเสริมอุดมการณ์ของตนเอง เราจะมองไม่เห็นช่องโหว่ในความรู้ของเรา ”
“ เราสวมบทเป็นอัยการเมื่อเราเห็นข้อบกพร่องในการให้เหตุผลของคนอื่น โดยรวบรวมข้อโต้แย้งเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาคิดผิด เราเพ่งความสนใจไปกับการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนอื่น แต่ความคิดของเรากลับแน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยน ”
“ เราสวมบทเป็นนักการเมืองเมื่อเราพยายามเอาชนะใจผู้ฟัง โดยหาเสียงและวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการยอมรับ เราหมกมุ่นอยู่กับการแสดงบนเวทีมากเสียจนความจริงถูกผลักใสไปหลังเวที ”
“ความเสี่ยงของการสวมบทเป็นคนเหล่านี้ คือ เราจะกลายเป็นคนที่หมกมุ่นกับการเทศนาว่าตัวเองถูกต้อง โต้แย้งว่าคนอื่นคิดผิด และหาเสียงสนับสนุนจนเราไม่ยอมคิดทบทวนมุมมองของตัวเอง”
ถือว่าการยกตัวอย่างของผู้เขียนทำให้เราเห็นภาพสะท้อนของสังคมยุคปัจจุบันได้ดีครับ มีคนมากมายที่คิดว่าความคิดของตัวเองถูกต้องที่สุด ซึ่งอาชีพที่ผู้เขียนยกตัวอย่างก็มีให้เห็นทั่วไปว่าคนที่ประกอบอาชีพดังกล่าวมักจะมีภาพลักษณ์แบบที่ผู้เขียนอธิบายมาจริง ๆ
ผู้เขียนบอกว่า “ ยิ่งฉลาดมากเท่าไหร่ ยิ่งล้มเหลวมากเท่านั้น ” อ่า งั้นเราโง่ต่อไปดีแล้วล่ะ ไม่ช่าย ผู้เขียนแค่จะเปรียบเทียบให้เห็นว่า “ พลังสมองไม่ได้รับประกันว่าเราจะมีไหวพริบปฏิภาณเสมอไป ไม่ว่าเราจะมีมันมากแค่ไหน หากเราขาดแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนความคิด เราย่อมพลาดโอกาสมากมายในการคิดทบทวน ยิ่งเราฉลาดมากเท่าไหร่ เราอาจปรับเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองได้ยากขึ้นเท่านั้นด้วย ”
ผมชอบที่ผู้เขียนบอกว่า “ อคติที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดคือ อคติประเภท ฉันไม่ได้มีอคติสักหน่อย มันคือการที่ผู้คนเชื่อว่าความคิดของตัวเองตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงมากกว่าคนอื่น ” จริงที่สุดครับคุณผู้เขียน ผมก็เห็นมาหลายคนแล้วว่าคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงมักจะมีอคติประเภทนี้ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
ผู้เขียนบอกว่า “ โรคคิดว่าตัวเองเก่ง เป็นสิ่งที่ขัดขวางการคิดทบทวน การขาดความสามารถในการคิดเกี่ยวกับความคิดของเราเองอาจทำให้เรามองไม่เห็นความไร้ความสามารถของตัวเอง ”
และยังเตือนเราอีกว่า “ อย่าสับสนระหว่างความมั่นใจกับความสามารถ ยิ่งเราคิดว่าเราเก่งมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะประเมินตัวเองสูงเกินจริงมากเท่านั้น และโอกาสที่เราจะหยุดพัฒนาตัวเองก็จะยิ่งมากขึ้นไปด้วย ”
ผู้เขียนจึงแนะนำว่า “ เพื่อป้องกันไม่ให้เรามั่นใจในความรู้ของตัวเองมากเกินไป จงไตร่ตรองว่าเราสามารถอธิบายเกี่ยวกับหัวข้อบางอย่างได้ดีแค่ไหน ” ส่วนนี้ผมเห็นด้วยมากครับ เพราะถ้าเราไม่สามารถอธิบายเรื่องนั้นออกมาด้วยคำพูดของเราได้ แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจหรือรู้เรื่องนั้นอย่างแท้จริง มันเป็นเพียงความเข้าใจไปเองว่าเราเข้าใจหรือรู้เรื่องนั้นแล้ว
ผู้เขียนยังให้ความรู้ว่า “ นักประสาทวิทยาศาสตร์พบว่า เมื่อความเชื่อหลักของเราถูกท้าทาย มักจะไปกระตุ้นสมองส่วนอมิกดาลา (amygdala) หรือสมองของสัตว์เลื้อยคลาน อันป่าเถื่อนที่เอาชนะความมีเหตุผลอันสงบเยือกเย็นได้อย่างง่ายดาย ”
เห็นภาพเลยนะ นึกถึงตัวเองตอนที่ถูกคนอื่นไม่เห็นด้วยกับความคิดของเรามันทำให้เราอารมณ์ขึ้นจริง ๆ เพราะฉะนั้น บอกตัวเองเอาไว้ว่า ต่อไปถ้าไม่อยากให้ตัวเองเป็นเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน เราต้องรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองและควบคุมอารมณ์ให้ได้นะ
ผู้เขียนยังหาข้อมูลมาสนับสนุนอีกมากมาย เช่น “ นักจิตวิทยาพบว่า การยอมรับว่าตัวเองคิดผิดไม่ได้ทำให้เราดูมีความสามารถน้อยลง มันคือการแสดงความซื่อสัตย์และความเต็มใจที่จะเรียนรู้ “
ผู้เขียนจึงแนะนำว่า ให้เราสวมบทเป็นนักวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยการทดลองและหาข้อมูล จะทำให้เรามีการคิดทบทวนความคิดของตนเอง ให้เรามุ่งมั่นอยู่กับการแสวงหาความจริง
ผู้เขียนแนะนำว่า “ ให้มองหาจุดลงตัวของความมั่นใจระหว่างคนที่คิดว่าตัวเองเก่งและคนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง เมื่อเรามีความมั่นใจแบบถูกต้อง เราสามารถเรียนรู้ที่จะมองเห็นตัวเองอย่างชัดเจนมากขึ้นและปรับปรุงความคิดเห็นของเราได้ ”
ผู้เขียนบอกว่า “ ความถ่อมตัวมักถูกเข้าใจผิด มันไม่ใช่เรื่องของการมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ มันเกี่ยวข้องกับการมีวิจารณญาณ โดยตระหนักว่าเราต่างก็มีข้อผิดพลาดกันได้ สิ่งที่เราควรจะทำคือ มีความถ่อมตัวแบบมั่นใจ หรือมีศรัทธาในความสามารถของตัวเอง และขณะเดียวกันก็ยอมรับด้วยว่าเราอาจไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ”
“ ความถ่อมตัวแบบมั่นใจไม่เพียงทำให้เราเปิดใจต่อการคิดทบทวนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้การคิดทบทวนมีคุณภาพมากขึ้นด้วย ”
ผมชอบคำนี้มาก “ ความถ่อมตัวแบบมั่นใจ ” ดูเป็นคำพูดที่อธิบายได้เห็นภาพมากว่า เราต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะทำให้เราเป็นคนที่ทบทวนความคิดของตัวเองอยู่เสมอ
สุดท้ายแล้วผู้เขียนก็แนะนำว่า “ ให้เราคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ เมื่อมีความคิดเห็นใดจงพยายามต่อต้านแรงเย้ายวนที่จะสวมบทเป็น นักเทศน์ อัยการ หรือนักการเมือง แล้วให้เราลงมือทดสอบความคิดเห็นนั้นด้วยข้อมูล ”
แม้ว่าหนังสือจะมีเนื้อหาเรื่องมุมมองความคิด วัฒนธรรม การใช้ชีวิตและการใช้คำพูดแบบชาวอเมริกันที่อาจจะทำให้เราคนไทยไม่เก็ท และไม่อินกับถ้อยคำเหล่านั้นบ้าง แต่คุณภาพของเนื้อหามันอัดแน่นมากจนทำให้มองข้าม เรื่องเหล่านั้นไปเลย
และจากการอ่านหนังสือฝั่งตะวันตกมาหลายเล่มผมสังเกตเห็นว่าผู้เขียนหลายคนมักจะยกตัวอย่างถึงบุคคลอื่นและพูดถึงแง่คิดหรือพฤติกรรมในด้านลบของคน ๆ นั้น เพื่อจะนำมาสนับสนุนแนวคิดหรือทฤษฎีของผู้เขียน ตรงนี้ก็แปลกใจเหมือนกันว่า เขาไม่กลัวถูกคนอื่นเกลียด หรือถูกฟ้องร้องกันเหรอ Ha Ha Ha
อย่างไรก็ตาม ผมชอบการเล่าเรื่องของผู้เขียนที่ใช้การเล่าเหตุการณ์หรือตัวอย่างในภาพใหญ่ก่อนแล้วค่อยสรุปเข้าสู่ประเด็นที่ต้องการจะสื่อได้อย่างงดงาม
ท้ายเล่มมีสรุปเนื้อหาของทั้งเล่มแบบสั้น ๆ ให้เราทบทวนอีกครั้ง และมีหมายเหตุที่อ้างอิงคำพูดหรือหนังสือต่าง ๆ มากมาย ทำให้รู้ว่าผู้เขียนอ่านข้อมูลมาเยอะมากกว่าจะเขียนหนังสือเล่มนี้จบ
ผมชอบคำพูดของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ผู้เขียนยกมาว่า “ ความโง่เขลามักจะก่อให้เกิดความมั่นใจมากกว่าความรู้ ” มันเจ็บจี๊ด เพราะทำให้นึกย้อนถึงตัวเองในอดีตที่เราก็เคยเป็นแบบนั้น ต่อไปนี้จะระมัดระวังการใช้ความคิดและการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น
การจัดทำรูปเล่มของหนังสือสวยงามมาก ทั้งหน้าปกและด้านในหนังสือทำออกมาดีเยี่ยม มีแผนผังตารางอย่างง่ายประกอบ ทำให้ไม่น่าเบื่อกับตัวอักษรจนเกินไป แม้หนังสือจะมีความหนา และราคาจะค่อนข้างแพง แต่ก็คุ้มค่ามากกับความรู้ที่ได้และนำไปใช้ได้จริงให้ 5 ดาว ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
อ่านจบแล้วรู้สึกว่าได้บทเรียนมากมายที่จะนำไปปรับใช้ ทำให้เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เราต้องคิดทบทวนความคิดของตัวเองให้รอบคอบเสียก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นใดออกไป หากเราไม่ได้มีความรู้จริงในเรื่องนั้นก็ไม่ควรแสดงความคิดเห็นโดยใช้อารมณ์หรือบังคับให้ผู้อื่นต้องเชื่อตามเรา
และทำให้เราระมัดระวังความคิดความเชื่อของตัวเองมากขึ้นว่าสิ่งที่เรารู้หรือเชื่อมาตลอดอาจจะถูกโต้แย้งและหักล้างได้ เราจึงควรหมั่นหาความรู้ตลอดเวลาและคิดทบทวนความรู้ของเราอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ชีวิตของเราราบรื่นและไม่ผิดพลาดในสิ่งที่เราไม่รู้จริง ฝึกยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นช่วยลดปัญหาการผิดใจกับผู้อื่นได้อีกด้วย
นอกจากนี้ผมยังอยากทำตามนิสัยของผู้เขียนที่ต้องการ หลีกเลี่ยงความขัดแย้งแม้กระทั่งความขัดแย้งที่เล็กน้อยที่สุด อย่างเช่น “ เวลามีคนเหยียบเท้า ให้เอ่ยปากขอโทษที่วางเท้าขวางทางเขาจนทำให้เกิดความไม่สะดวก ซึ่งผู้เขียนบอกว่าการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเช่นนี้มันช่วยประหยัดเวลา ช่วยรักษามิตรภาพเอาไว้ และการโต้แย้งนั้นอาจไร้ประโยชน์ ”
สุดท้ายมันยังทำให้ผมพยายามคิดว่า ผมสามารถเรียนรู้อะไรบางอย่างจากทุกคนที่พบเจอได้ เพื่อที่จะเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างที่หนังสือเล่มนี้แนะนำไว้
ผู้เขียน : Adam Grant
ผู้แปล : วิโรจน์ ภัทรทีปกร
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
หมวด : จิตวิทยาและพัฒนาตนเอง
ขนาดรูปเล่ม : 143 x 209 x 25 มม.
น้ำหนัก : 500 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : ขาวดำ
ชนิดกระดาษ : กระดาษถนอมสายตา
จำนวนหน้า : 421 หน้า ปกอ่อน
ISBN : 9786162875045
หนังสือราคา 395 บาท มี 421 หน้า (ตั้งแต่หน้า 351 - 420 เป็นการอ้างอิงหนังสือ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา