Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต
•
ติดตาม
11 ก.พ. 2023 เวลา 23:00 • ความคิดเห็น
เวลาไม่ได้มีให้กักตุน…แต่มีไว้แบ่งปัน
เป็นหนึ่งข้อคิดจากหนังสือ…𝟒𝟎𝟎𝟎 𝐖𝐞𝐞𝐤𝐬
𝐓𝐡𝐞 𝐓𝐢𝐦𝐞 𝐌𝐚𝐧𝐚𝐠𝐞𝐦𝐞𝐧𝐭 𝐟𝐨𝐫 𝐌𝐨𝐫𝐭𝐚𝐥𝐬
ที่ได้เปลี่ยนโลกทางความคิดในการจัดสรร
เวลาของ อิคิ ∙ 生き ไปทั้งใบเลยค่ะ
หลายปีที่ผ่านมา อิคิ ∙ 生き…
เป็นบุคคลที่บ้าคลั่งในการจัดสรร
และหวงแหนเวลาของตนเองเป็นอย่างมาก
อิคิ ∙ 生き พยายามแบ่งทุกเวลานาทีที่มี
ให้เป็นช่วง ๆ โดยจัดสรรให้เวลาช่วงนี้
สำหรับสิ่งนั้น เวลาช่วงนั้นสำหรับสิ่งนี้อยู่เสมอ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป อิคิ ∙ 生き ก็ยิ่งรู้สึกว่า… “การมีเวลาเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ”
ของตัวเองมันยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ
ยิ่งไปกว่านั้นหลัง ๆ
คำถามที่มักผุดขึ้นกลางใจของ
อิคิ ∙ 生き อยู่บ่อย ก็คือ… ทำอย่างไรเราจึงจะมีเวลาให้กับ
ครอบครัวและคนที่เรารักมากขึ้น❓
ยิ่งครุ่นคิดก็ยิ่งหาทางออกไม่เจอ เพราะ…
อิคิ ∙ 生き เป็นบุคคลที่หวงแหนเวลาส่วนตัว
เป็นอย่างมาก และไม่ชอบเหตุใด ๆ
ที่ผุดขึ้นมาอย่างกระทันหันแบบปัจจุบันทันด่วน
เพราะสิ่งกระทันหันเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะมากระชาก
เวลาของ อิคิ ∙ 生き ให้ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
แต่เมื่อ อิคิ ∙ 生き ได้อ่านบทที่ 12 ของหนังสือ
𝟒𝟎𝟎𝟎 𝐖𝐞𝐞𝐤𝐬 จบ…พุทธิปัญญาก็ได้บังเกิดขึ้น
คุณ 𝐎𝐥𝐢𝐯𝐞𝐫 กล่าวว่า… ในการดำเนินชีวิต…เวลาของเรา
มักถูกผู้อื่นรบกวนอยู่ตลอดเวลา
และเรามักมุ่งมั่นปรารถนาที่จะมีอำนาจ
ควบคุมเวลาเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง
เราต้องการทำทุกสิ่งที่ต้องการ
ตามใจตนเองได้แบบไม่จำกัด
แต่ในความเป็นจริงหากเราทำทุกอย่าง
ได้ตามแต่ใจต้องการ ได้ใช้เวลา
เพื่อตัวเราเองอย่างแท้จริง ท้ายที่สุด…
ความเปล่าเปลี่ยวในจิตวิญญาณ
จะมาเยี่ยมเยือนหัวใจของเรา
หนังสือได้ยกตัวอย่างเรื่องราวของ
มาริโอ ซัลเซโด ที่เลือกใช้ชีวิตอยู่บน
เรือสำราญเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ
เขาให้เหตุผลที่ทำเช่นนี้ว่า…
“ผมไม่ต้องเอาขยะไปทิ้ง
ไม่ต้องทำความสะอาด ไม่ต้องซักผ้า
ผมกำจัดกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่า
ออกทั้งหมด และใช้เวลากับ
อะไรที่ผมชอบทำเท่านั้น”
แต่ผลจากการใช้ชีวิตเช่นนี้ช่างย้อนแย้ง…
แทนที่มาริโอจะมีความสุข
เขากลับเดียวดาย ห่างเหินจาก
ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่มีต่อ
ใครสักคนฉันท์มนุษย์ควรมี
คุณ 𝐎𝐥𝐢𝐯𝐞𝐫 ได้สรุป…เหตุแห่งความว่างเปล่า
ในชีวิตของมาริโอ…มาจากมุมมองเรื่องเวลา
ของเขานั่นเอง
มาริโอมองเวลาเป็น… “สินค้าที่มีปริมาณจำกัด”
เขามองว่าเวลาเป็นของหายาก
จึงพยายามที่จะสงวนไว้ให้กับ
ตัวเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่ความเป็นจริง…เวลาคือ… “สินค้าเครือข่าย” หรือสินค้าที่จะมีมูลค่า
ก็เมื่อเราได้แบ่งปันมันอย่างมีความหมาย
กับใครสักคน 😊♥️ ยกตัวอย่างเช่น… ☞ โทรศัพท์จะไร้ความหมาย
หากเราไม่เคยใช้มันเป็นสื่อกลาง
ในการพูดคุยกับใครสักคน
☞ Facebook จะดูไร้ค่า หากเราไม่เคย
ใช้มันสร้างความสัมพันธ์กับใคร
ดังนั้น…
⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯
เวลาไม่ใช่ “สินค้าที่มีปริมาณจำกัด”
ที่เราจะต้องสงวนไว้ให้กับตัวเอง
มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เวลาเป็น “สินค้าเครือข่าย” ที่จะ
มีมูลค่าก็เมื่อเราได้แบ่งปันมัน
อย่างมีความหมายกับใครสักคน 😊♥️
แท้จริงแล้วในการใช้ชีวิต…
เราต้องสละอำนาจบางส่วนของเรา
ในการควบคุมเวลาและแบ่งปันมัน
อย่างมีความหมายให้กับใครสักคน
⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯
ย่อหน้าข้างต้นได้เปลี่ยมมุมมอง
ของ อิคิ ∙ 生き ที่มีต่อการใช้เวลา
แบบหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว
หนังสือยังกล่าวอีกว่า…
“คนที่มีตารางยืดหยุ่นและทรัพยากร
พอประมาณจะมีความสุขมากกว่า
คนรวยที่มีทุกอย่างยกเว้นตารางที่ยืดหยุ่น”
ชีวิตเราจะมีความหมายได้อย่างไร
หากเรามัวแต่ใช้เวลาในการสะสม
เงิน ทอง ของนอกกาย แต่ลืมการสั่งสม
ความสัมพันธ์ฉันท์มนุษย์ที่เติมเต็ม
ความหมายของการมีชีวิตอยู่
บางครั้งการใช้ชีวิตได้อย่างที่ใจต้องการ
ต้องแลกมาด้วยการมีความสุขแสนธรรมดา
กับคนที่รักและมีความหมาย…ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้
เกิดรูโบ๋ มีช่องโหว่ในหัวใจ เกิดอาการ…
ไม่ว่าเราจะพยายามใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพ
มากเพียงไร ช่องว่างในหัวใจก็ไม่เคย
ถูกเติมให้เต็มเสียที
หนังสือสรุปไว้ดังนี้ค่ะ ซึ่ง อิคิ ∙ 生き คิดว่า
เป็นข้อสรุปที่ดีมาก ๆ
⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯
คุณค่าของเวลาไม่ได้มาจากปริมาณเวลา
ที่เรามีเท่านั้น แต่มาจากการที่…
เรามีบางช่วงเวลาที่ได้สอดประสาน
กับคนที่มีความหมายต่อชีวิตของเราหรือไม่
⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯ และยิ่งไปกว่านั้น การที่เรามีเวลาสอดประสาน
กับคนอื่น จะเป็นประตูที่นำเราไปสู่การมีชีวิต
ที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังมากยิ่งขึ้น เพราะ…
หัวใจของเราจะได้สัมผัสสิ่งที่เรียกว่า…
การได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่
ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา 😊♥️
———
อย่างไรก็ตาม อิคิ ∙ 生き มีแนวคิดดังนี้ค่ะ ความสุขในชีวิตจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ…
เราทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีสติและจัดสรรอย่างสมดุล
หากในชีวิตของเราเอาแต่แบ่งเวลาให้ผู้อื่น
โดยไม่ได้สงวนเวลาให้กับตัวเองเลย
ถ้าเราทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ…วันนึงเราก็จะต้อง
กลับมาถามตัวเองว่า…นี่เราใช้ชีวิตไปเพื่ออะไร
ทำไมคนที่เรารู้จักน้อยที่สุดคือตัวเราเอง
หรือไม่เราอาจพบว่า…ทำไมชีวิตของเรา
ไม่ก้าวหน้าไปไหนเสียที
ในขณะเดียวกัน หากเราเอาแต่สงวนเวลา
ให้กับตัวเราเอง สักวันหนึ่งเราก็จะรู้สึกว่า…
ชีวิตของเราช่างเปลี่ยวเหงา โดดเดี่ยว
ไร้ความหมายเช่นกัน
ดังนั้น อิคิ ∙ 生き เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า…สิ่งที่เรา
ควรทำคือการจัดสรรสิ่งสำคัญในชีวิตให้สมดุล
และวันนี้ อิคิ ∙ 生き มีเทคนิคการบริหารเวลา
ที่คิดว่า…จะสามารถช่วยให้ตารางชีวิต
ของพวกเราสมดุลมากขึ้นได้…มาแบ่งปันค่ะ
สำหรับ อิคิ ∙ 生き
สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราต้องรู้ให้ได้ก่อนค่ะว่า…
อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตของเรา
และเราไม่ควรมีสิ่งสำคัญในชีวิต
มากจนเกินไป มิเช่นนั้นเราจะ…
ไม่สามารถมุ่งเน้นทำสิ่งต่าง ๆ
ให้เกิดผลได้เลยค่ะ
คุณ Lothar Seiwert ผู้เขียนหนังสือ… 30 Minutes Work-Life-Balance ได้นำวิธีคิดของคุณ สตีเฟน อาร์. โคเวย์
ผู้เขียนหนังสือชื่อดัง “The 7 Habits
of Highly Effective People”
มาแบ่งปันดังนี้ค่ะ…
เฉพาะคนที่รู้ว่าต้องการบรรลุอะไร
จึงสามารถไปถึงจุดนั้นได้
ดังนั้นทุกคนต้องมีวิสัยทัศน์ชีวิต
และเมื่อเรามีเป้าหมายแห่งชีวิตที่ชัดเจน
เราก็จะสามารถจัดสรรพลังงานและเวลา
ให้กับเรื่องสำคัญจำเป็นเหล่านั้นอย่างแท้จริงได้ค่ะ
หนังสือ…30 Minutes Work-Life-Balance
กล่าวว่า…ชีวิตที่ดีมักก่อร่างสร้างตัว
จากสมดุลชีวิต 𝟒 ด้าน ดังนี้
𝟏. ร่ายกายและสุขภาพ
𝟐. ผลงานและอาชีพ
𝟑. ครอบครัวและความสัมพันธ์ 𝟒. ความหมายของชีวิต สาระและคุณค่า
ซึ่งความคิดนี้สอดคล้องกับ
หลักการ 𝟒🅻 ของคุณสตีเฟน อาร์. โคเวย์ ค่ะ โดย 𝟒🅻 มีดังต่อไปนี้…
𝟏. 🅻IFE : การรักษาร่างกาย บำรุงจิตใจของเรา
𝟐. 🅻OVE : การขับเคลื่อนชีวิตด้วยความรักที่มีต่อ ตนเอง คนและสิ่งต่าง ๆ รอบกาย
𝟑. 🅻EARN : การเรียนรู้พัฒนาตน
𝟒. 🅻EAVE A LEGACY : การทิ้งเรื่องราวหรือมรดกไว้เบื้องหลัง
อิคิ ∙ 生き คิดว่า…
𝟒🅻 ของคุณสตีเฟน อาร์. โคเวย์ สามารถช่วย
พวกเราคัดสรรสิ่งสำคัญในชีวิตได้ดีทีเดียวค่ะ
ต่อมาเมื่อเรารู้แล้วว่า…
อะไร (ที่มีจำนวนไม่มากเกินไป) คือ…
สิ่งสำคัญในชีวิต
กฏ 𝟔𝟎-𝟐𝟎-𝟐𝟎 จากหนังสือ…
30 Minutes Work-Life-Balance
จะมาช่วยพวกเราในทางปฏิบัติได้ค่ะ
โดยหลักการแรกของ กฏ 𝟔𝟎-𝟐𝟎-𝟐𝟎 ก็คือ… อย่าประเมินความต้องการเวลาที่แท้จริง
ต่ำเกินไป อย่าวางแผนงานประจำวันเกิน 𝟔𝟎﹪
ของเวลาที่เรามี โดยให้เราจัดสรรเวลาดังนี้…
𝟔𝟎﹪ สำหรับงานที่วางแผนไว้แล้ว 𝟐𝟎﹪ สำหรับเรื่องรบกวน เรื่องที่ไม่คาดฝัน
𝟐𝟎﹪ สำหรับการเข้าสังคม ให้เวลาตัวเอง
อิคิ ∙ 生き ชอบ กฏ 𝟔𝟎-𝟐𝟎-𝟐𝟎 มาก ๆ ค่ะ
อย่างน้อยกฏนี้…ก็เตือนเราอยู่เสมอว่า…
แม้งานจะเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต…แต่…ชีวิตของเรา
ก็ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องงาน เรายังคงต้องจัดสรรเวลา
ให้กับตัวเอง คนที่รักและการทำประโยชน์ด้วย
ตั้งแต่ อิคิ ∙ 生き ได้อ่านกฏนี้
ทุกครั้งที่ อิคิ ∙ 生き จัดสรรเวลา
ตัวเลข 𝟔𝟎-𝟐𝟎-𝟐𝟎 ก็ผุดขึ้นมาในหัวโดยอัตโนมัติค่ะ
โดย อิคิ ∙ 生き ตั้งใจจะนำกฏนี้
มาประยุกต์ใช้ดังนี้ค่ะ…
ถ้าไม่นับเวลานอน อิคิ ∙ 生き คิดว่า…
คนเราจะมีเวลา 𝟏𝟔 ชม. ต่อวัน
ซึ่ง อิคิ ∙ 生き ตั้งใจจะแบ่งเวลาดังต่อไปนี้…
𝟏. การงาน : 𝟓𝟎% หรือ 𝟖 ชั่วโมง โดยใน 𝟖 ชั่วโมง อิคิ ∙ 生き จะจัดสรร 𝟔 ชั่วโมงเต็มให้กับงานที่ตั้งใจจะทำ ส่วน 𝟐 ชั่วโมงที่เหลือจะเป็นเวลา Buffer หรือเวลาที่เผื่อไว้สำหรับงานที่อาจยืดเยื้อกว่าที่คิดหรือเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องงานที่แทรกเข้ามาโดยที่ไม่คาดฝัน
𝟐. กายใจตนเอง : 𝟐𝟎﹪ หรือ 𝟑 ชั่วโมง สำหรับการออกกำลัง นั่งสมาธิ ทบทวนเป้า
หมายชีวิต
𝟑. ครอบครัว คนที่รัก : 𝟏𝟓﹪ หรือ 𝟐.𝟓 ชั่วโมง
𝟒. พัฒนาตนผ่านการแบ่งปัน : 𝟏𝟓﹪ หรือ 𝟐.𝟓 ชั่วโมง เวลาในส่วนนี้ อิคิ ∙ 生き จัดสรรสำหรับ การอ่านหนังสือ เขียนบทความ อัด Podcast อย่างที่ อิคิ ∙ 生き กำลังทำอยู่ตอนนี้นั่นเองค่ะ
อิคิ ∙ 生き ชอบ กฏ 𝟔𝟎-𝟐𝟎-𝟐𝟎 มาก ๆ ค่ะ
เพราะสิ่งนี้ได้ให้แนวทางที่เราสามารถ
นำไปลงมือปฏิบัติในชีวิตจริงได้ และ
ช่วยทำให้คำว่า…ความสมดุลซึ่งเป็นนามธรรม
มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นค่ะ
เพื่อน ๆ ลองนำไปใช้ดูนะคะ อิคิ ∙ 生き เชื่อว่า…
นอกจากกฏนี้จะทำให้เราจะมีเวลา
สำหรับตัวเองแล้ว อย่างน้อยก็จะได้มีเวลา
ไว้สำหรับแบ่งปันผู้อื่นด้วยค่ะ
———
อิคิ ∙ 生き ขอกลับมาที่หนังสือ 𝟒𝟎𝟎𝟎 𝐖𝐞𝐞𝐤𝐬
อีกสักนิดนะคะ
หนังสือ 𝟒𝟎𝟎𝟎 𝐖𝐞𝐞𝐤𝐬 ได้กล่าวว่า…
อิสรภาพด้านเวลาในแง่หนึ่งอาจเป็น…
การมีอำนาจเหนือเวลาของตัวเอง
มีอิสระที่จะได้จัดตารางเวลาของตัวเอง
ตัดสินใจด้วยตัวเอง และเป็นอิสระ
จากการที่คนอื่นมารุกรานเวลา
𝟒𝟎𝟎𝟎 สัปดาห์อันแสนมีคุณค่าของเรา
แต่ในอีกแง่หนึ่ง…อิสรภาพด้านเวลาคือ…
การมีอิสระที่จะเข้าร่วมกิจกรรมที่คุ้มค่า
แก่การใช้เวลาพร้อมกับคนที่มีความหมาย
หรือแม้กระทั่งเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ
การทำเช่นนั้น…เราจะต้องสละเวลา
สละความสามารถในการตัดสินใจ
ว่าจะทำอะไรที่ไหน เพื่อที่จะเราได้ใช้เวลา
ที่มีความหมายร่วมกับผู้อื่น
ปัจจุบันเราใช้ชีวิตในจังหวะที่สอดคล้อง
กับผู้อื่นน้อยลงไปเรื่อย ๆ…
ด้วยเทคโนโลยีและอิสระในการทำงาน
ที่มีมากขึ้น ทำให้โอกาสของการได้ใช้เวลา
พักผ่อน ทำงานและการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับ
มนุษย์คนอื่น ๆ ลดน้อยถอยลง…
การมีอิสรภาพในรูปแบบนี้เท่ากับ
การไม่มีอิสรภาพโดยสิ้นเชิง
แม้ว่าผู้คนในปัจจุบันดูเหมือนจะมีอำนาจส่วนตัว
ในการควบคุมเวลาทำงานมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ
แต่สิ่งนี้กลับกลายเป็นการอนุญาต…
ให้งานแทรกซึมเข้ามาในทุกอนูของชีวิต
ความจริงคือเรามีเวลา แต่การจัดสรรเวลาของเรา
ให้สอดคล้องกับคนอื่น ๆ กลับทำยากขึ้นไปทุกที
พอมาลองคิดดู อิคิ ∙ 生き ว่าสิ่งที่คุณ 𝐎𝐥𝐢𝐯𝐞𝐫 พูดก็จริงนะคะ…เดี๋ยวนี้แค่การนัดเจอ
กับสมาชิกครอบครัวให้ครบทุกคน
ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายเลยค่ะ
คุณ 𝐎𝐥𝐢𝐯𝐞𝐫 เสนอว่า…การจะแก้ปัญหานี้… เราทุกคนคงจะต้องพร้อมใจสละอำนาจ
ในการควบคุมเวลาของตัวเองลงสักนิด
แบ่งปันให้กับคนที่รักอีกสักหน่อย
อนุญาตให้บางช่วงของจังหวะชีวิต
เป็นไปตามธรรมชาติของคนรอบข้างดูบ้าง…
เราจะได้สัมผัสแง่งามของการแบ่งปัน (เวลา)
ให้กับคนที่รัก ซึ่งในที่สุดก็จะย้อนกลับมา
เป็นความสวยงามของชีวิตเรา
แต่ก่อน อิคิ ∙ 生き จะมี…
แรงเสียดทานทางใจอย่างมาก
เวลาคนที่เรารักอยู่ ๆ มาชวนเราไปนู่นไปนี่
หรือมีเหตุใด ๆ ที่อยากจะขอเวลาจากเรา
ให้ช่วยเหลือเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้นมาแบบไม่ตั้งตัว
แต่เมื่อ อิคิ ∙ 生き อ่านบทที่ 𝟏𝟐
ของหนังสือ…𝟒𝟎𝟎𝟎 𝐖𝐞𝐞𝐤𝐬 จบลง
หัวใจของ อิคิ ∙ 生き เหมือนถูกคุณ 𝐎𝐥𝐢𝐯𝐞𝐫
ตั้งศูนย์ให้เข้าที่เข้าทางใหม่เลยค่ะ
ปัจจุบันนี้ อิคิ ∙ 生き รู้สึก…
มีความผ่อนคลายมากขึ้น หลาย ๆ ครั้ง
เวลาคนที่เรารักมาขอเวลาจากเรา
ประโยคที่มักจะผุดขึ้นกลางใจ
ของ อิคิ ∙ 生き โดยอัตโนมัติก็คือ…
⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯
เวลามีไว้ให้แบ่งปัน…ไม่ใช่ไว้กักตุน
⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯
ณ จุดนี้ อิคิ ∙ 生き คิดว่า…อีกหนึ่งทักษะสำคัญ
ที่ต้องฝึกฝนเพื่อให้ชีวิตน่าอภิรมย์มากขึ้น
คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก… ทักษะการจัดตารางชีวิตให้ยืดหยุ่น
เพื่อที่เราจะได้มีเวลาสอดประสานกับ
บุคคลที่รักและเพื่อนมนุษย์ที่มีความหมายนั่นเองค่ะ
สุดท้ายนี้ก่อนจากกัน อิคิ ∙ 生き ขอให้…
ชีวิตของเพื่อน ๆ ห้อมล้อมไปด้วยบุคคล
ที่มีความหมายนะคะ
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อน
แล้วพบกันใหม่กับบทความจาก อิคิ ∙ 生き
ในตอนต่อ ๆ ไปนะคะ สวัสดีค่ะ 🙏🏻😊
บันทึกโดย : ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต
ที่มา :
◉ 𝟒𝟎𝟎𝟎 𝐖𝐞𝐞𝐤𝐬 𝐓𝐡𝐞 𝐓𝐢𝐦𝐞 𝐌𝐚𝐧𝐚𝐠𝐞𝐦𝐞𝐧𝐭 𝐟𝐨𝐫 𝐌𝐨𝐫𝐭𝐚𝐥𝐬 - 𝐎𝐥𝐢𝐯𝐞𝐫 𝐁𝐮𝐫𝐤𝐞𝐦𝐚𝐧 เขียน | วาดฝัน คุณาวงศ์ แปล
◉ Don’t Sweat The Small Stuff - Richard Carlson, Ph.D. เขียน | ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ แปล
2 บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
หนังสือ•คือ•ชีวิต
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย