13 ก.พ. 2023 เวลา 12:19 • ธุรกิจ

ย้อนรอยความขัดแย้งใน Gucci เมื่อเลือดไม่ได้ข้นกว่าน้ำ

บ่อยครั้งความสำเร็จของธุรกิจดังเกิดมาจากความเป็นการร่วมกันสร้างของครอบครัว แต่ในบางครั้ง หากมันเป็นกรณีตรงกันข้ามกันแล้ว หากครอบครัวผู้สร้างมีปัญหาความขัดแย้ง ก็จะบั่นทอนธุรกิจได้เช่นกัน
ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ชื่อดังที่ผ่านช่วงเวลาแห่งดราม่าในครอบครัว ซึ่งเกิดเหตุการณ์ “เลือดไม่ได้ข้นกว่าน้ำ” นั่นคือ “Gucci”
⭐️ โดยจุดเริ่มต้นของ Gucci ก็คล้ายคลึงกับแบรนด์หรูอีกมากมาย ที่ตอนแรกมันเกิดมาจากวิสัยทัศน์และความหลงใหลของผู้ก่อตั้งเอง
ซึ่งในกรณีของ Gucci บุคคลผู้นั้นก็คือ “Guccio Gucci”
โดยหลังจากที่เขาเคยทำงานในโรงแรมหรู จนหลงใหลในศิลปะของกระเป๋าเดินทางราคาแพงที่แขกใช้กัน ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนไปทำงานในร้านผลิตกระเป๋าแทน
และหลังจากรวบรวมประสบการณ์ สุดท้ายคุณ Guccio ก็ตัดสินใจเปิดร้านขายสินค้าเครื่องหนังของตนเองที่เมืองฟลอเรนซ์ในปี 1921
ซึ่งธุรกิจก็ขยายตัวอย่างค่อยเป็นไปในหมู่ของเศรษฐีอิตาลี รวมถึงเศรษฐีอังกฤษที่ชื่นชอบในคุณภาพของ Gucci เช่นกัน
แต่แล้วบริษัทก็ต้องเผชิญกับบทท้าทายแรก ในปี 1935 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งตอนนั้นอิตาลีถูกจำกัดการส่งสินค้ามาจากหลายประเทศ ทำให้ทาง Gucci ขาดวัตถุดิบในการผลิต
แต่พวกเขาก็สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบท้องถิ่น พร้อมกับออกแบบดีไซน์ลายของตนเองเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง
เหตุการณ์การขาดแคลนวัตถุดิบจนต้องหาทางเลือกใหม่ และสร้างสินค้าที่ประสบความสำเร็จยังเกิดขึ้นตอนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย
ซึ่งในตอนนั้นหนึ่งทางแบรนด์ได้ไปนำ “ไม้ไผ่จากญี่ปุ่น” มาใช้ในการผลิตกระเป๋า อันจะกลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นไอคอนของบริษัทต่อมา
ความสำเร็จในแบรนด์ของ Gucci ในช่วงแรกนั้น นอกจากการปรับตัว พลิกวิกฤติเป็นโอกาสและการสร้างสรรค์สินค้าอันเป็นเอกลักษณ์ใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง อีกส่วนหนึ่งก็ยังมาจากการที่ผู้มีชื่อเสียงและอิทธิพลในสมัยนั้นหันมาใช้ Gucci กัน
โดยหนึ่งในคนที่โด่งดังและมีอิทธิพลต่อชื่อเสียงแบรนด์ที่สุด นั่นคือ สตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกาในตอนนั้นอย่าง Jackie Kennedy ภรรยาของ John F. Kennedy
ที่ในปี 1961 มีภาพของเธอถือกระเป๋าของ Gucci ออกงาน จนกลายเป็นกระแสที่สินค้า Gucci กลายเป็น “สิ่งที่ต้องมี”
⭐️ แต่แล้วเค้าลางของปัญหาของแบรนด์ก็เริ่มมาส่งสัญญาณ ซึ่งครั้งนี้ปัญหาไม่ได้เกิดมาจากภายนอก แต่เป็นที่เรื่องภายในครอบครัวเอง
ต้องขอเล่าย้อนหลังกลับไปสักเล็กน้อย เริ่มตั้งแต่ปี 1938 ซึ่งตอนนั้นลูกชายทั้ง 3 คนของคุณ Guccio ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gucci ได้เข้ามาช่วยเหลือกิจการของคุณพ่อ ซึ่งในตอนแรกก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
แต่แล้วในปี 1953 คุณ Guccio Gucci ที่เป็นผู้ก่อตั้งได้เสียชีวิตลง ทิ้งธุรกิจแบรนด์หรูที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโตไว้กับลูกชายทั้งสามคน โดยแบ่งหน้าที่ในการดูแลแยกกันไป
ซึ่งในตอนแรกบริษัทก็ยังสามารถเติบโตได้อย่างดี Gucci ก็ยังมีการขยายสาขา และสินค้าอื่นๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
จนถึงวันหนึ่งหนึ่งในสามพี่น้องตระกูล Gucci อย่าง Vasco Gucci ได้มาเสียชีวิตลงไปในปี 1974 ทำให้ทรัพย์สินส่วนของเขาต้องแบ่งให้กับพี่น้องอีกสองคน อันได้แก่ Aldo และ Rodolfo
ปัญหาเกิดขึ้นตรงนี้เองครับ แต่ไม่ได้เกิดจากสองพี่น้องคู่นี้โดยตรง แต่เป็นลูกชายของ Aldo อีกทีที่มีชื่อว่า “Paolo” ที่มองว่าในช่วงที่ผ่าน “Rodolfo” ผู้เป็นลุงของเขา มีส่วนต่อการเติบโตบริษัทน้อย ไม่ควรที่จะได้ทรัพย์สินเท่าพ่อของเขา
จึงเกิดความพยายามที่จะมาสร้างแบรนด์ Gucci ของตนเองขึ้นมา ซึ่งสุดท้าย เรื่องนี้ไปจบกันในชั้นศาล โดยบุคคลผู้เป็นพ่ออย่าง Aldo เองที่เป็นคนฟ้องลูกชายของตนเอง
แต่นั่นก็ทำให้เขาโมโหอย่างมากจนได้ทำการฟ้องร้องกับครอบครัวของตนเอง รวมถึงมีการนำข้อมูลเกี่ยวกับหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีมาเปิดเผยด้วย ในปี 1980
เหตุการณ์ข้างต้นกลายมาเป็นมหากาพย์ในครอบครัวที่นำไปสู่ยุคตกต่ำของ Gucci จนมีการนำเหตุการณ์บางส่วนที่เกิดหลังจากการฟ้องร้องครั้งนั้น มาดัดแปลงเป็นหนัง “The House of Gucci” ที่แสดงนำโดยเลดี้ กาก้า และอดัม ไดรเวอร์
และในปี 1993 ก็ไม่มีคนในตระกูล Gucci คนไหนอีกที่ได้ถือหุ้นในบริษัท
และต่อมาในปี 1995 บริษัททำการแต่งตั้ง Domenico De Sole ขึ้นมารับตำแหน่ง CEO ของบริษัท ซึ่งในมือของเขานี่เอง ที่ทาง Gucci ได้ฟื้นตัวและปรับโครงสร้างกลายมาเป็นแบรนด์หรูที่มีเอกลักษณ์อย่างที่เคยเป็นอีกครั้งหนึ่ง…
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา