27 ก.พ. 2023 เวลา 00:43 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

บทสนทนานักบินอวกาศ Claudie และ Jean-Pierre Haigneré สถานี Mir และ ISS ยุคบุกเบิก

ตอนที่ 1 - เรื่องราวในอวกาศของทั้งสองนักบิน
ส่วนตัวแล้ว เราได้มีโอกาสได้พบเจอกับนักบินอวกาศหลายคน จากหลากหลายยุค บ้างก็เป็นการทักทายกันเฉย ๆ บ้างก็เป็นการพูดคุยกันในช่วงสั้น ๆ ซึ่งก็ทำให้เรามองว่า นักบินอวกาศนั้น จริง ๆ ก็คือคนธรรมดาทั่วไป มีมิติของความเป็นมนุษย์ และมีลักษณะนิสัยเป็นปัจเจก
เพียงแต่ว่าพวกเขาเหล่านี้ เคยผ่านประสบการณ์การผจญภัยอันน่าทึ่ง ที่มีเพียงมนุษย์แค่ราว 600 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นแค่ 0.0000005% ของโฮโมเซเปียนส์ ที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลก (อิงจากตัวเลข ประมาณหนึ่งล้านล้านชีวิตที่ถูกประเมินว่าเป็นจำนวนของโฮโมเซเปียนส์ที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลก) นั่นก็คือ การได้มองโลกจากอวกาศ
2
แต่สำหรับบทสนทนากับนักบินอวกาศที่สนุกที่สุดตอนนี้ที่เราอยากหยิบยกมาแชร์ให้ฟังก็คือ บทสนทนาบนโต๊ะอาหารกับ Claudie Haigneré (โกลดี แอเญอเร) และ Jean-Pierre Haigneré (ฌ็อง ปิแยร์ แอเญอเร) สองสามีภรรยานักบินอวกาศชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยในการเฉลิมฉลอง France-Thailand Year of Innovation 2023 ที่จัดขึ้นโดยสถานทูตฝรั่งเศส ซึ่งได้มีการจัดงานเปิดตัวไปในวันที่ 26 มกราคม 2023 ณ สวนป่าเบญจกิติ
1
บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Year of Innovation 2023 ปีแห่งนวัตกรรมไทยฝรั่งเศส ซึ่งสามารถศึกษาและติดตามข่าวสาร และกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ตลอดทั้งปีได้ทาง https://www.yearofinnovationfrancethailand.com
สัมภาษณ์ Claudie และ Jean-Pierre Haigneré ก่อนพิธีเปิดงาน France-Thailand Year of Innovation 2023
ซึ่งนอกจากตัวเราเอง จะได้มีโอกาสขึ้นดำเนินรายการ สัมภาษณ์บนเวทีแล้ว ยังได้นั่งร่วมรับประทานอาการมื้อสุดพิเศษ เพื่อพูดคุยกันในประเด็นเด็ด ๆ ที่อาจจะไม่เคยถูกนำมาเล่าที่ไหนมาก่อน โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “การดื่มบนอวกาศ” ซึ่งเราเคยนำเสนอเรื่องราวนี้ไปในบทความ https://spaceth.co/drinking-in-space/ ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาสานต่อประเด็นนี้ไปพร้อมกับความจริงที่คุณและคุณนายแอเญอเร เปิดเผยให้ฟัง
1
ก่อนอื่น เราอยากชวนทุกคนมารู้จักกับคุณและคุณนายแอเญอเร กันให้มากขึ้นกันก่อน
Claudie Haigneré มีนามสกุลเดิมว่า André-Deshays (อองเดร ดิแยร์) เกิดในปี 1957 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม Sputnik-1 ขึ้นสู่วงโคจร เรียกได้ว่าเป็นการเปิดฉากการเดินทางในอวกาศ ซึ่งในตอนนั้นประเทศฝรั่งเศส กำลังจะอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านที่เข้าสู่การนำของประธานาธิบดี Charles de Gaulle (ชาร์ล เดอโกล) ซึ่งมีนโยบายสร้างชาติฝรั่งเศสให้ยิ่งใหญ่ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการบินและอวกาศ
1
จนกระทั่งในปี 1961 ได้มีการก่อตั้ง Centre National D’Études Spatiales หรือ CNES องค์การอวกาศแห่งฝรั่งเศสขึ้นมา และในปี 1965 ตอนที่คุณ Claudie อายุได้ 8 ปี ฝรั่งเศสก็ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมดวงแรกที่มีชื่อว่า Astérix ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Diamant A ที่พัฒนาโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นชาติที่ 3 รองจากสหภาพโซเวียต และสหรัฐฯ ที่สามารถครอบครองเทคโนโลยีอวกาศได้สำเร็จ
ในขณะที่คุณ Jean-Pierre นั้น เกิดในปี 1948 และมีอายุมากกว่าคุณ Claudie ราว 9 ปี ในวันที่จรวด Diamant A ขึ้นสู่วงโคจร Jean-Pierre จะมีอายุประมาณ 17 ปี ความฝันของเขาคือการเป็นนักบิน นั่นทำให้ Jean-Pierre ในวัยรุ่นตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นทหารอากาศ ในกองทัพอากาศฝรั่งเศส ในช่วงปี 1973-1980 นั้น Jean-Pierre รับหน้าที่เป็นนักบินทดสอบเครื่องบินรุ่นต่าง ๆ รวมถึงเครื่อง Mirage 2000 สุดยอดเครื่องบินขับไล่ที่ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการพัฒนา
Jean-Pierre นั้น สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศของ CNES ในปี 1985 ซึ่งในตอนนั้นฝรั่งเศสประกาศรับนักบินอวกาศเพิ่ม หลังจากที่นักบินอวกาศรุ่นแรกที่ CNES ประกาศคัดเลือกในปี 1980 (CNES Group 1) ได้เริ่มทยอยเดินทางขึ้นสู่อวกาศ นำโดย Jean-Loup Chrétien (ฌ็อง ลูป เฌอเทีย) กับการเดินทางในภารกิจ Soyuz T-6 เพื่อไปยังสถานีอวกาศ Salyut 7 ของสหภาพโซเวียต
Jean-Pierre ได้รับการคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศในปี 1990 หลังจากที่สมัครมาเป็น CNES Group 2 และเดินทางไปฝึกที่ Star City ในรัสเซีย เพื่อเป็นลูกเรือชุดสำรอง และเขาก็ได้เป็นตัวจริงในภารกิจ 1993 ในภารกิจ Mir Altaïr และเดินทางขึ้นสู่อวกาศด้วยยานอวกาศ Soyuz TM-17 เพื่อปฏิบัติภารกิจบนนั้นเป็นเวลา 21 วัน
Jean-Pierre Haigneré บนสถานีอวกาศ Mir ในปี 1993 ที่มา – Roscosmos Archive
ในขณะที่คุณ Jean-Pierre มาสายนักบินและวิศวกรรมอากาศยาน คุณ Claudie นั้นเธอมาสายวิทยาศาสตร์เต็มขั้น ได้รับปริญญามากมาย ได้แก่ปริญญาทั้งในสาขาชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) สาขาสรีรวิทยา (Physiology) และได้รับปริญญาเอกในสาขาวิทยารูมาติก (Rheumatology) และปริญญาเอกด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) คือเป็นปูชนียบุคคลด้านการตั้งใจเรียนหนังสือมาก โดยเธอสิ้นสุดการเรียนปริญญาเอกในปี 1991
1
คุณ Claudie นั้นสมัครเข้ามาเป็น CNES Group 2 (1995 เช่นกัน) และเธอก็เป็นผู้หญิงแค่คนเดียวในหกคนของรุ่น และนั่นเองคือสาเหตุที่ทำให้ทั้ง Claudie และ Jean-Pierre ได้เจอกัน โดยในภารกิจ Mir Altaïr นั้น คุณ Claudie ก็ได้เป็นลูกเรือสำรองให้กับ Jean-Pierre ทำให้ทั้งคู่มีเวลาด้วยกันมากขึ้น
1
คุณ Claudie ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี 1996 ในภารกิจ Cassiopée โดยได้เดินทางไปกับภารกิจ Soyuz TM-24 บนสู่สถานีอวกาศ Mir เป็นเวลา 16 วัน โดยได้ร่วมทำการทดลองที่เกี่ยวกับสาขาวิชาที่เธอเชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ และด้านสรีรศาสตร์ รวมถึงกลศาสตร์ต่าง ๆ
ยาน Soyuz Soyuz TM-24 เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศ Mir ที่มา – Roscosmos Archive
ในปี 1999 Jean-Pierre ได้รับภารกิจการขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งที่สองด้วยภารกิจ Soyuz TM-29 และอยู่บนอวกาศนานถึง 189 วัน รวมถึงมีภารกิจ Spacewalk เป็นเวลา 6 ชั่วโมง 19 นาที เป็นการทำ Spacewalk ครั้งแรกและครั้งเดียวของเขา ทำให้ Jean-Pierre มีความผูกพันธ์กับสถานีอวกาศ Mir เป็นอย่างมาก ซึ่งภารกิจของเขา ก็เป็นภารกิจ “ก่อนสุดท้าย” ของ Mir เนื่องจากที่เราทราบกันดี ในตอนนั้น Mir ถูกปลดประจำการและบังคับตกกลับสู่โลกในปี 2001
การทำ EVA ของ Jean-Pierre ในปี 1999 ที่มา – Roscosmos Archive
อันที่จริงแล้ว เราจะเรียกว่า Soyuz TM-29 (ลูกเรือ Mir EO-27) เป็นภารกิจสุดท้ายของ Mir ก็ได้ เนื่องจากหลังจากที่ลูกเรือเดินทางกลับสู่โลก รัฐบาลรัสเซียก็ไม่ได้ให้งบในการเดินทางขึ้นสู่ Mir อีก และหันมาเดินหน้าโครงการความร่วมมือสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ International Space Station แทน
ทำให้หลังจากที่ Jean-Pierre และเพื่อนนักบินอวกาศชาวรัสเซีย Viktor Afanasyev และ Sergei Avdeyev เดินทางกลับโลก Mir ถูกทิ้งร้างเป็นเวลาถึง 8 เดือน ก่อนที่จะมีความพยายามโดยเอกชน อัดฉีดเงินสนับสนุนให้มีภารกิจเดินทางไปยัง Mir อีกครั้งในเดือนเมษายน 2000 เพื่อซ่อมแซม และพยายามจะใช้งานเป็นสถานีอวกาศเอกชน แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ สถานีอวกาศ Mir ถูกบังคับให้ตกลงสู่โลกวันที่ 23 มีนาคม 2001
1
Claudie และ Jean-Pierre ทั้งสองแต่งงานกันในเดือนพฤษภาคมปี 2001 ซึ่งนั่นก็ทำให้ทั้งคู่ที่เป็นนักบินอวกาศเซเลบอยู่แล้ว เป็นที่สนใจในสังคมมากขึ้นไปอีก และนั่นก็เป็นช่วงเวลาแค่ไม่กี่เดือนก่อนภารกิจที่สองของ Claudie
1
Claudie ในยาน Soyuz ขณะเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – ESA
Claudie ได้กลับสู่อวกาศอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นความร่วมมือครั้งใหม่ ในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ โดยในเดือนตุลาคมปี 2001 Claudie ได้เดินทางไปพร้อมกับยาน Soyuz TM-33 สู่สถานีอวกาศนานาชาติ และนี่ก็ทำให้ Claudie กับเพื่อนลูกเรือ Viktor Afanasyev และ Konstantin Kozeyev เป็นลูกเรือกลุ่มที่สี่ที่เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติสมัยที่ยังใหม่ป้ายแดง
ซึ่งในภารกิจนั้น Claudie ใช้ชีวิตอยู่บนสถานีเป็นเวลา 8 วัน อย่างไรก็ดี ภารกิจ Soyuz TM-33 นั้น ไม่นับว่าเป็น Expendition ของ International Space Station เนื่องจากเป็น Ferry flying คือการนำยานอวกาศลำใหม่ไปส่งเพื่อเป็นยานสำรอง อย่างไรก็ดี Claudie ใช้เวลาสั้น ๆ ทำการทดลองในอวกาศให้กับ CNES ด้วยเช่นกัน
Soyuz TM-33 ลงจอดพร้อมกับ Claudie ในวันที่ 31 ตุลาคม 2001 หลังจากกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA
ในปี 2002 Claudie ยังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือการเป็น Minister Delegate for Research and New Technologie และ Minister Delegate for European Affairs ในปี 2004 – 2005
คุณและคุณนาย Haigneré หลังจากนั้น ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษา STEM และทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ESA ในการวิจัยและพัฒนาคนด้านอวกาศมาจนถึงปัจจุบัน
เรียกได้ว่าเป็นการเกริ่นประวัติที่ยาวนานมาก แต่ก็เชื่อว่าทำให้เราพอเห็นภาพว่าทั้งคู่มีประสบการณ์มากแค่ไหน ซึ่งสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับสองคนนี้ก็คือ
  • Claudie Haigneré เป็นนักบินอวกาศหนึ่งในแค่หลักสิบคนเท่านั้น ที่ได้เดินทางไปยังทั้งสองสถานีอวกาศ ได้แก่ Mir และ International Space Station
  • Claudie ยังเป็นลูกเรือกลุ่มที่สี่ที่เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ และปฏิบัติภารกิจในตัวสถานี
  • Claudie Haigneré เป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของฝรั่งเศส และเป็นผู้หญิงคนแรกที่รับตำแหน่งผู้บังคับยาน Soyuz กลับสู่โลก
  • Jean-Pierre เป็นนักบินอวกาศที่ไม่ใช่ชาวรัสเซียคนแรกที่รับตำแหน่งวิศวกรประจำยาน Soyuz จากประสบการณ์ด้านวิศวกรรมการบิน
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Year of Innovation 2023 ปีแห่งนวัตกรรมไทยฝรั่งเศส ซึ่งสามารถศึกษาและติดตามข่าวสาร และกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีได้ทาง https://www.yearofinnovationfrancethailand.com
โฆษณา