27 ก.พ. 2023 เวลา 09:51 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

บทสนทนานักบินอวกาศ Claudie และ Jean-Pierre Haigneré สถานี Mir และ ISS ยุคบุกเบิก

ตอนที่ 2 - แอลกอฮอล์บนอวกาศ ยุคเปลี่ยนผ่านของสถานีอวกาศ และเรื่องราวและตัวตนของทั้งสองนักบิน
เรื่องราวและตัวตนของ Claudie และ Jean-Pierre
26 มกราคม 2023 ช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนงาน France-Thailand Year of Innovation 2023 จะเริ่มขึ้น เราได้มีโอกาสทักทายผู้ที่เดินทางจากฝรั่งเศสมาร่วมงาน ณ โรงแรม Mövenpick BDMS Wellness Resort Bangkok ซึ่งก็ได้แก่
คุณ Olivier d’Agay (โอลิวิแยร์ ดาแก) หลานชายของ Antoine de Saint-Exupéry (อ็องตวน เดอ แซ็งชูเปรี) ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) และคุณ Nicolas Delsalle (นีกอลา เดซาเล) ทั้งสองเป็นตัวแทนจาก Antoine de Saint Exupéry Youth Foundation ที่เป็นผู้ดูแลและสนับสนุนการนำวรรณกรรม เจ้าชายน้อยเผยแพร่เพื่อเยาวชน
คุณ Pierre-Emmanuel Le Goff (ปิแยร์ เอ็มมานูเอล เลอ โกฟ) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชาวฝรั่งเศส เจ้าของสารคดี 16 Levers de Soleil (16 Sunrises) ที่เล่าเรื่องภารกิจการเดินทางในอวกาศของ Thomas Pesquet (โตมา แป็สเก) เป็นเวลา 6 เดือนบนสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงปี 2016
ซึ่งได้มีการส่งกล้องความคมชัดระดับ 8K ขึ้นไปใช้ในการถ่ายทำ โดยภาพยนตร์สารคดี ฉายครั้งแรกในปี 2018 ซึ่งภาพปกสารคดี ก็เป็นภาพของ Pesquet กำลังเป่าแซกโซโฟน ในโมดูล Cupola ซึ่งภายหลัง เป็นไอเดียที่ถูกนำมาทำซ้ำเป็นวิดีโอโปรโมตโอลิมปิก ปารีส 2024 ในพิธีปิดโอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่ผ่านมา
และที่สำคัญก็คือสองนักบินอวกาศของเรา คุณ Claudie และ Jean-Pierre Haigneré ทั้งสี่คนนี้เป็นแขกที่ทางสถานทูตฯ เชิญมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและผู้เข้าร่วมงาน โดยมีคุณ Xavier Grosmaitre (ซาวิแยร์ โกซแมร์) เป็นผู้ช่วยทูตด้านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารด้วย
ไล่ลำดับซ้ายไปขวา ปั๊บ ชยภัทร, เติ้ล ณัฐนนท์, Le Goff, Grosmaitre, d’Agay, Delsalle, Claudie และ Jean-Pierre Haigneré
Claudie และ Jean-Pierre เพิ่งเดินทางกลับมาจากการเยี่ยมชม GISTDA ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ก่อนที่เราจะได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งสองเป็นครั้งแรก ทั้งคู่แต่งตัวอย่างเป็นทางการ เตรียมพร้อมสำหรับงานในช่วงเย็น เราทักทายกับคุณ Claudie ก่อนตามด้วยคุณ Jean-Pierre ที่แกล้งพูดต่อจากการแนะนำตัวเป็นภาษาฝรั่งเศส (โดยบอกว่า ณัฐ ผมจะพาคุณฝึกพูดฝรั่งเศสเอง) เป็นการเจอกันครั้งแรกที่ปั่นและฮามาก (โชคดีที่หลังจากนั้นเราคุยกันต่อเป็นภาษาอังกฤษ)
ก่อนที่ทุกคนจะทักทายกันอย่างเป็นมิตร ซึ่งถามไปถามมาก็ทราบว่าทั้งหมดรู้จักและช่วยเหลือกันในการสร้างการรับรู้ด้านอวกาศในประเทศฝรั่งเศสผ่านเครื่องมือที่ตัวเองมี และร่วมงานกันมาหลายงานแล้ว คุณ d’Agay และ Le Goff เป็นผู้ริเริ่มไอเดียให้นักบินอวกาศ Thomas Pesquet นำเอาเจ้าชายน้อยฉบับปกคลาสสิกขึ้นไปอ่านบนอวกาศ และในงานเปิดตัวภาพยนตร์ของคุณ Le Goff ก็ได้มูลนิธิ Saint Exupéry มาร่วมจัดงานด้วย
รวมถึงหนังสือของ Pesque ก็เขียนคำนิยมโดย Claudie Haigneré ซึ่งเป็นนิเวศน์ที่น่าชื่นชมและทำให้เราสบายใจได้ว่า แม้ประเทศที่มีการพัฒนาด้านอวกาศอย่างจริงจังการทำกิจกรรมเช่นนี้ ก็ยังเป็นที่จำเป็นเพื่อทำให้อวกาศนั้นอยู่ใกล้ตัวกับคนทั่วไป และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนอยากสำรวจอวกาศ
แอลกอฮอล์บนอวกาศ
ทุกคนบนโต๊ะอาหารสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนละหนึ่งแก้ว บ้างเบียร์ บ้างไวน์ ขาวแดง ตามความชอบและรสนิยมของแต่ละคน เราได้โอกาสเปิดประเด็นว่าด้วยการดื่มบนอวกาศ เป็นที่ว่ากันว่า ในสถานีอวกาศ Mir ของรัสเซียนั้น มีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นไปเก็บไว้ ซึ่งเมื่อมีนักบินอวกาศ Mir ถึงสองคนอยู่ตรงหน้า ก็ได้โอกาสถามให้รู้จักกันไปเลย “มี” คือคำตอบจากทั้งคุณ Claudie และ Jean-Pierre
คุณ Jean-Pierre ขยายความให้ว่า ตัวเขาเองนี่แหละที่เป็นคนเปิดไวน์บนอวกาศ ซึ่งจะทำในช่วงเวลาสำคัญ และดื่มกันทีละเล็กน้อยเท่านั้น (ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลที่เราได้ศึกษามาก่อนหน้า) โดยนักบินอวกาศแต่ละคนจะได้รับโอกาสให้นำเอา “สิ่งของส่วนตัว” ขึ้นไป ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ดูเหมือนว่าคุณ Jean-Pierre จะอินกับการดื่มบนอวกาศเป็นพิเศษ เพราะคุณ Claudie เองก็ไม่ได้เสริมอะไร แต่กลับนั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อ
สุดท้ายก็ได้คำเฉลยว่าสิ่งที่ทำให้คุณ Jean-Pierre อินกับเรื่องนี้ก็เพราะเขา เป็นแฟนหนังสือของ Jules Verne (ฌูล แวร์น) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่มีผลงานเด่น เช่น Vingt mille lieues sous les mers (ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์) หรือ De la Terre à la Lune (จากแผ่นดินสู่ดวงจันทร์) ที่ถูกยกย่องให้เป็นสุดยอดนิยายวิทยาศาสตร์
โดยเฉพาะ la Lune นั้น เป็นการจินตนาการวิธีการไปดวงจันทร์ที่ใกล้เคียงกับฟิสิกส์ยุคปัจจุบัน คือการใช้ปืนใหญ่ยิงกระสุนที่เป็นแคปซูลคนนั่งขึ้นไป ซึ่งต้องอย่าลืมว่า จินตนาการของ Verne ในยุค 1800 กว่า ๆ นั้นมาก่อนกาลสำหรับเทคโนโลยีอย่างยานอวกาศหรือเรือดำน้ำมาก ๆ
Jean-Pierre เล่าถึงในนิยาย la Lune ที่ในระหว่างการเดินทางไปดวงจันทร์ ในบทที่สามของหนังสือ มีการเล่าบรรยากาศที่ตัวละครเอกทั้งสาม ดื่มไวน์กันในระหว่างที่ชื่นชมโลกและดวงจันทร์ในระหว่างการเดินทางในอวกาศ ซึ่ง Jean-Pierre เอง ก็กล่าวว่า เขาเองก็เคยมีประสบการณ์ดังกล่าว ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวละครทั้งสาม ในขณะที่กำลังประจำการอยู่บนสถานีอวกาศ Mir
การได้เป็นนักบินอวกาศกลุ่มสุดท้ายที่เยือน MIR
คุณ Jean-Pierre เล่าถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนิยายของ Jules Verne อีกเรื่องหนึ่งก็คือ Vingt mille lieues sous les mers ที่เป็นเรื่องราวของกัปตันนีโม เจ้าของเรือดำน้ำนอติลุส ซึ่ง Jean-Pierre เล่าว่า ในสถานีอวกาศ Mir จะมีชั้นสำหรับเก็บของใช้ส่วนตัวซึ่งเขาใช้ในการเก็บหนังสือ ซึ่งตรงข้ามกันนั้นก็จะมีหน้าต่างขนาดใหญ่ ที่ทำให้มองเห็นโลก ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่า มันเหมือนกับห้องสมุดในเรือดำน้ำของกัปตันนีโม
สิ่งที่น่าสะเทือนใจก็คือ ในภารกิจการเดินทางไปยัง Mir ครั้งสุดท้ายของ Jean-Pierre นั้น เขาจำเป็นที่จะต้องทิ้งสิ่งของบางอย่างที่เป็นของส่วนตัว เช่น หนังสือเอาไว้ ซึ่งมันน่าเศร้ามากที่จะต้องเห็นภาพสถานีอวกาศ Mir เผาไหม้ไปในบรรยากาศพร้อมกับของใช้เหล่านั้นที่เขาคุ้นเคย Jean-Pierre เล่าให้เราฟัง
Jean-Pierre หลังจากเที่ยวบินสุดท้ายในอวกาศ กลับจากสถานีอวกาศ Mir ในปี 1999
ยุคของสถานีอวกาศนานาชาติ
คุณ Claudie คือนักบินอวกาศไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เดินทางไปยังสองสถานีอวกาศ เราลองให้เธอเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง ISS และ Mir ซึ่งเธอไม่ได้ให้ความเห็นอะไรมาก แต่ก็บอกว่า ISS นั้นใหญ่มาก แม้จะมีเพียงแค่สองโมดูลเพียงเท่านั้นในตอนที่เธอเดินทางไป (เชื่อมต่อเข้ากับสถานีวันที่ 23 ตุลาคม 2001) ในตอนนั้นสถานีอวกาศนานาชาติมีเพียงแค่โมดูล Zarya, Unity, Zvesda และ Destiny เพียงเท่านั้น และมีแผง Solar Array ขนาดใหญ่เพียงแค่คู่เดียว (ปัจจุบันมี 8 คู่)
ภาพของสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงปี 2001 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Claudie ขึ้นไปเป็นนักบินอวกาศกลุ่มที่สองที่ได้เดินทางไปเยือนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA
สิ่งนี้น่าจะพอให้เราเห็นได้ว่า การที่ได้ฟังเรื่องราวจากนักบินอวกาศในช่วงการเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคของการสำรวจอวกาศ (ในช่วง Apollo, Skylab มาจนถึงช่วงสถานีอวกาศนานาชาติ) นั้น มีเรื่องราวน่าสนใจเกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งเรามองว่าช่วงนี้ไม่ค่อยถูกนำมาพูดถึงเท่าไหร่ การได้ฟังจากตัวนักบินอวกาศเองจึงเหมือนเป็นการจุดประกายการศึกษาข้อมูลในช่วงเวลานี้ให้มากขึ้นให้กับเราด้วยเช่นกัน
เรื่องราวของเจ้าชายน้อยในอวกาศ
นอกจากการได้พูดคุยกับ Claudie และ Jean-Pierre แล้ว เรื่องราวของเจ้าชายน้อยก็ยังเป็นธีมสำคัญของงานในวันนี้ เนื่องจากคุณ Olivier d’Agay ได้นำหนังสือเจ้าชายน้อยฉบับคลาสสิกที่ผ่านการเดินทางไปอวกาศกับ Thomas Pesquet มาให้เราได้ชมกันด้วยเช่นกัน รวมถึงตุ๊กตาเจ้าชายน้อยที่เคยไปลอยอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้ว ก็ถูกนำมาจัดแสดงในโซนนิทรรศการด้วย
หนังสือและตุ๊กตาเจ้าชายน้อยที่ผ่านการเดินทางไปอวกาศกับ Thomas Pesquet
สำหรับใครที่สนใจประเด็นเรื่องเจ้าชายน้อยกับอวกาศ แนะนำให้ฟัง Podcast ตอน https://spaceth.co/starstuff-ep-69/
เวลาตกเย็น ทุกคนก็เตรียมพร้อมสำหรับงาน Year of Innovation 2023 ที่ในค่ำคืนนี้ นอกจากการสัมภาษณ์พูดคุยกันบนเวที การฉายภาพยนตร์ของคุณ Le Goff ที่เป็นเรื่องราวของ Thomas Pesquet แล้ว ยังมีการแสดง Droneshow ที่มีการนำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศและเจ้าชายน้อยมาวาดบนท้องฟ้าอย่างน่าตื่นตาตื่นใจอีกด้วย
ภายในงาน เราได้ขึ้นเวทีเพื่อพูดคุยกับ Jean-Pierre และ Claudie อีกครั้ง ในประเด็นเรื่องการเดินทางไปอวกาศ และที่สำคัญก็คือ ได้ตอบคำถามกับผู้ร่วมงานในประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ไปอวกาศต้องใช้ Passport หรือเปล่า ? หรือการฝึกกินระยะเวลานานแค่ไหน ? ซึ่งแม้จะเป็นคำถามที่ไม่ได้ลึกมาก แต่ก็ช่วยกระตุ้นความช่างสงสัยให้กับคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ และเยาวชน
เอาจริง ๆ แล้ว อย่างที่เราชอบบอกบ่อย ๆ อวกาศนั้นมันทำหน้าที่เชื่อมต่อคนเข้ากันได้ดีมาก เราต่างชื่นชมในสิ่งที่แต่ละคนทำ และสิ่งที่เราได้รับจากเรื่องราวเหล่านี้ก็คือ เราอาจจะไม่ต้องเป็นนักบินอวกาศเพื่อที่จะทำงานอวกาศ สมมติว่างานนี้ถูกจัดภายใต้แนวคิดว่าวิทยาศาสตร์คือวิศวกรรม การบินเพียงเท่านั้น เราก็คงไม่ได้เห็นการปรากฎตัวของ นักเขียน, ผู้กำกับสารคดี หรือหากเราจำกัดความอวกาศอยู่แค่การสำรวจอวกาศ ทั้งคุณ Jean-Pierre และ Claudie ก็คงไม่ได้พูดถึงมุมมองชีวิต การอ่านหนังสือ และมิติของความเป็นมนุษย์
เพราะอวกาศเป็นของทุกคน และอวกาศคือเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
ขอบคุณทางสถานทูตฝรั่งเศสที่เปิดโอกาสให้เกิดเรื่องราวน่าประทับใจเหล่านี้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Year of Innovation 2023 ปีแห่งนวัตกรรมไทยฝรั่งเศส ซึ่งสามารถศึกษาและติดตามข่าวสาร และกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีได้ทาง https://www.yearofinnovationfrancethailand.com
โฆษณา