4 มี.ค. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน ประสบการณ์เขียนเรื่องผี

ผมเดินเข้าสู่โลกนิยายตั้งแต่เด็ก ชอบอ่านนิยายเริงรมย์ ชอบดูหนัง และชอบอ่านนิยายภาพในระดับคลั่งไคล้ อ่านทั้งนิยายภาพของไทยและฝรั่ง
2
ในสมัยนั้น จุก เบี้ยวสกุล และ ราช เลอสรวง เป็นมือหนึ่งของวงการนิยายภาพไทย ทั้งสองมีฝีไม้ลายมือยอดเยี่ยม คนแรกโด่งดังจาก เจ้าชายผมทอง และ สาวน้อยอภินิหาร คนหลังโด่งดังจากชุด สิงห์ดำ ทั้งสองคนมีผลงานตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารจักรวาลของพนมเทียน
ในวัยเด็ก เห็นภาพวาดของมือเซียนแล้ว ก็อยากทำได้บ้าง เริ่มที่ลองเอางานมาก็อบปี้เล่น รูปต้นไม้บ้าง รูปคนบ้าง บางครั้งก็วาดเป็น ส.ค.ส. ให้เพื่อน ๆ ไม่นึกเลยว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียน
เหตุผลเพราะการเขียนนิยายภาพต้องใช้ฝีมือสองด้าน
ด้านหนึ่งคือมือ อีกด้านหนึ่งคือสมอง
ในเมืองไทยยุคนั้น นิยายภาพร้อยละร้อยคนเขียนภาพกับแต่งเรื่องเป็นคนคนเดียวกัน การฝึกสองด้านพร้อมกันทำให้เข้าใจศิลปะสองแขนงในงานเดียว คือศิลปะการประพันธ์กับศิลปะการวาด
ครั้นเข้ามหาวิทยาลัย ผมใช้เวลามากเขียนนิยายภาพไปขายสำนักพิมพ์ต่าง ๆ สมัยนั้นเกิดปรากฏการณ์การ์ตูนเล่มละบาท เป็นนิยายภาพเล่มเล็กเท่าฝ่ามือ หนา 24 หน้า ขายเพียง 1 บาท เป็นที่นิยมมาก ส่วนใหญ่เป็นนิยายผี
1
ผมเริ่มเขียนนิยายภาพวิทยาศาสตร์ (ไซไฟ) ไปเสนอขาย แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ใดรับซื้อ พวกเขาบอกว่าไม่มีใครสนใจงานแบบนี้หรอก แต่ถ้าเขียนเรื่องผีมา จะรับซื้อหมด
ผมก็ลงมือเขียนเรื่องผีทั้งที่ไม่ชอบ พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ด้วยความคิด จินตนาการ และฝีมือที่มีอยู่อย่างจำกัดในตอนนั้น ผมขายการ์ตูนเล่มละบาทไปได้หลายเรื่อง แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ผมก็โบกมือลา เพราะไม่ชอบทำงานโดยมีใบสั่ง
4
แม้เป็นช่วงสั้น ๆ ไม่กี่ปีในวงการนิยายภาพไทย ผมก็เรียนรู้หลายอย่าง ทั้งการแต่งเรื่อง การวาดภาพ และการตลาดในโลกของความจริง
นานปีให้หลัง ผมเข้าสู่โลกวรรณกรรม และเขียนหนังสือต่อเนื่องราว 35 ปี มองย้อนกลับไป ก็เห็นว่าประสบการณ์การเขียนนิยายภาพเป็นหลักไมล์แรก ๆ ของชีวิตนักเขียน
3
แม้โดยส่วนตัวเห็นว่างานที่ทำในก้าวแรกของโลกนักเขียนยังอ่อนหัด พล็อตเรื่องอ่อน ลายเส้นยังห่างไกลจากงานของมือดี
.................
ผมจำได้ว่าผมชอบวิชาวาดเขียนตอนชั้นประถมปีที่ 6 สมัยนั้นครูให้นักเรียนวาดรูปด้วยสีน้ำเป็นหลัก วาดในชั้นเรียน บางทีก็ให้กลับไปวาดต่อที่บ้าน
ในยุคนั้น รอบตัวผมไม่มีอะไรที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการวาดรูปเลย ไม่มีตำราเป็นเรื่องเป็นราว ก็ต้องงมเอาเอง
ผมเรียนการวาดรูปเอง เพราะรอบตัวไม่มีใครวาดเก่งสักคน ผมวาดภาพเหมือนโดยตีเส้นตารางบนรูปภาพ บางทีใช้รูปปกของนิตยสารวีรธรรม เป็นต้นแบบฝึกวาด ในวัยนั้นก็รู้สึกว่าไม่เลวทีเดียว
1
ผมเริ่มเขียนนิยายภาพครั้งแรกตอนมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯในปี 2516 ชั้น ม.ศ. 4 ที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม้จะเรียนหนัก แต่ก็เจียดเวลาสำหรับการวาดรูปเสมอ
ผมมักไปขลุกที่ห้องสมุดเอยูเอ ถนนราชดำริ กับห้องสมุดบริติช เคาน์ซิลที่สยามสแควร์ สองที่นี้มีตำราวาดรูปอยู่ไม่น้อย ก็เรียนจากตำราที่มี
2
เมื่อขึ้นชั้น ม.ศ. 5 ผมเห็นประกาศประกวดภาพจิตรกรรม หัวข้อคือประชากรโลก ผมส่งงานเข้าประกวด ได้รับรางวัลที่ 2 (ปีนั้นไม่มีรางวัลที่ 1) อาจารย์ใหญ่พาไปรับรางวัลที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้เงินรางวัลมา 1,500 บาท ทำให้เกิดความหวังว่า บางทีตนเองอาจจะเลือกเรียนสายศิลปะได้ ซึ่งอาจจะคิดช้าไปนิด เพราะหากอยากทำงานเป็นนักวาด ไม่ควรเรียนต่อชั้นเตรียมอุดมศึกษาสายวิทย์ แต่ควรไปเรียนเพาะช่างเลย น่าจะดีกว่า
2
เมื่อเรียนจบชั้น ม.ศ. 5 ก็ไปสอบเอนทรานส์เข้ามหาวิทยาลัย ผมเลือกคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เป็นอันดับ 1 อันดับ 2 ผมเลือกคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะอยากวาดรูป
3
ตามปกตินักเรียนสายวิทย์มักไม่เลือก อาจารย์ที่ปรึกษาก็ไม่สนับสนุนให้เลือกคณะวิชาสายศิลป์ อย่าว่าแต่สายจิตรกรรม แต่ความรู้สึกบางอย่างบอกว่าน่าจะไปลอง ตอนนั้นอยากเรียนคณะอะไรก็ได้ที่มีเรียนวาดรูป ยังไม่รู้ดีเลยว่าคณะสถาปัตย์ฯ และคณะจิตรกรรมสอนอะไรบ้าง เวลานั้นคณะวิชาทางสายศิลป์มีจำกัดมาก คณะสถาปัตย์ฯกับคณะจิตรกรรมฯน่าจะใกล้โลกที่ผมอยากเข้าไปที่สุด
วันที่ผมไปสอบวิชาวาดรูปที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมเป็นเด็กนักเรียนชั้นเตรียมอุดมคนเดียวที่ไปสอบวาดรูป ผู้สอบที่เหลือทั้งหมดมาจากสายเพาะช่าง
1
ผมสอบได้คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ แม้การวาดไม่ใช่วิชาหลัก แต่ก็มีการวาดรูปเสมอ ถือว่าสมใจในระดับหนึ่ง
2
ระหว่างที่เรียน ผมวาดรูปนิยายภาพเล่น ๆ สนุก ๆ เป็นการฝึกการแต่งเรื่องไปด้วย โดยไม่มีความรู้พื้นฐานทั้งสองด้านนี้มาก่อน นิยายภาพเรื่องแรกที่ผมทดลองเขียนชื่อ ราชการลับใต้สมุทร เป็นงานแบบไซไฟผจญภัย เริ่มเขียนตอนอยู่ชั้น ม.ศ. 4 อายุ 17 เขียน ๆ หยุด ๆ
1
.................
สมัยนั้นนิยายภาพในตลาดมีหลายราคา การ์ตูนเล่มละบาทครองตลาดก็จริง แต่ก็มีเล่ม 2 บาทและ 5 บาทด้วย การ์ตูนเล่มละบาทหนา 24 หน้า เล่มละ 2 บาทหนา 20 หน้า แต่มีขนาดใหญ่กว่า ส่วนเล่มละ 5 บาทมักเป็นงานรวมเล่มของนักเขียนใหญ่ เช่น จุก เบี้ยวสกุล ราช เลอสรวง มีขนาดใหญ่ที่สุด
2
นิยายภาพสองเรื่องแรกของผมรวมสองเรื่องเป็น 20 หน้า ก็ตีพิมพ์เป็นเล่มได้ ผมจึงลองนำไปเร่ขายหลายแห่ง แต่ไม่มีใครสนใจ ทุกแห่งปฏิเสธ
สำนักพิมพ์แห่งสุดท้ายที่ไปเสนอคือศิริสาส์น แถวราชเทวี พญาไท ผู้จัดการสำนักพิมพ์ชี้ทางสว่างว่า ตลาดไม่อ่านงานแนววิทยาศาสตร์ ลองเขียนเรื่องผีมาเสนอ ถ้าจะตีพิมพ์งาน ก็ต้องเขียนเรื่องผีอย่างเดียว
5
ผมไม่ชอบเรื่องผี แต่เพราะอยากมีงานตีพิมพ์ ก็ทำตามคำแนะนำ
ผมไม่รู้หรอกว่าเขียนเรื่องผีเป็นอย่างไร เพราะอ่านเรื่องผีน้อยมาก นิยายผีที่ เหม เวชกร เขียน มีหลายเรื่องในห้องสมุด แต่ไม่คิดจะอ่าน ก็เดาว่าองค์ประกอบของผีก็ต้องมีการหลอกหลอนกัน แต่เนื่องจากไม่ได้ชอบการหลอกแบบขนหัวลุก ก็จึงเลี่ยงเขียนเรื่องผีที่เป็นนิยายรัก มีผีก็จริง แต่ถือว่าน้อยมาก แค่สองสามหน้าสุดท้ายก่อนจบเท่านั้น ตั้งชื่อว่า หมู่บ้านผีสิง แล้วเอาไปขาย
2
ผู้จัดการรับต้นฉบับไปแล้ว พลิกดูสองสามนาที ก็ตกลงซื้อ เขาไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ เขาคงผ่านต้นฉบับเรื่องผีมามากมาย แค่ดูชื่อเรื่อง ดูรูปนิดหน่อยก็ซื้อ เขาถามผมว่า ต้องการค่าเรื่องเท่าไร ผมตอบว่าไม่รู้
เขาว่า ถ้างั้นก็ 400 บาทก็แล้วกัน
1
เอ้า! 400 บาทก็ 400 บาท (เท่ากับหน้าละ 16.6 บาท)
เป็นที่มาของนิยายภาพผีเรื่องแรกในชีวิต
.................
มองในแง่มุมของศิลปะและการเล่าเรื่องตามมาตรฐานปกติ นิยายภาพเรื่องแรกของผมยังเป็นเรื่องที่ยังอ่อนหัด เดินเรื่องโดยไม่ได้วางโครงไว้ชัดเจน สะกดคำก็มีผิดอยู่มาก
แต่หากมองในมุมของก้าวแรกของการแต่งเรื่องของเด็กหนุ่ม มือใหม่หัดขับ คนหนึ่ง การแต่งเรื่องก็ถือว่าพอกล้อมแกล้มไปได้ และที่สำคัญที่สุดคือได้เรียนรู้หลายอย่าง
2
เป็นอันว่าผมยื่นขาข้างหนึ่งเข้าไปในวงการการ์ตูนเล่มละบาทได้แล้ว แม้เป็นแค่ก้าวแรก แต่ก็พอทำให้ได้สัมผัสรสชาติว่าวงการนี้เป็นอย่างไร
1
สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือ สำนักพิมพ์การ์ตูนเล่มละบาทเวลานั้นก็เหมือนโรงงานผลิตภาพยนตร์อย่างฮอลลีวูด เน้นปริมาณ และงานที่ตลาดชอบ ศิลปะเป็นเรื่องรอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นผลงานที่ตัวเองแต่งและวาดปรากฏบนแผง และผมจับพลัดจับผลูกลายเป็นนักเขียนการ์ตูนเล่มละบาท (อย่างน้อยก็หนึ่งเล่ม) ก็เกิดไฟคุโชนอยากเขียนอีกสักหลายเล่ม
2
คราวนี้คิดเรื่องที่ไม่ใช่ผีเต็ม ๆ คือเรื่องอาถรรพณ์เกี่ยวกับป่า ได้รับแรงบันดาลใจจาก เพชรพระอุมา น่าจะพอจะจัดเป็นเรื่องผีได้
1
ผมนำเรื่องนี้ไปเสนอขายให้สำนักพิมพ์ชุณหสาส์น ได้ค่าแรงเล่มละ 500 บาท เรื่องนี้มีสองเล่ม ก็ได้ค่าเรื่องมาหนึ่งพันบาท
2
500 บาทแรกนำไปซื้อเก้าอี้เขียนแบบสำหรับเรียนคณะสถาปัตย์ฯ อีก 500 บาทเป็นค่าต่อชีวิตของนิสิตคนหนึ่งในเมืองหลวง
หนทางยังอีกยาวไกล ยังมีเรื่องให้เรียนอีกมากมาย ทั้งเรื่องโลกของผีและโลกของคน
1
ผมพยายามคิดพล็อตฉีกแนวผีทั่วไป
เป็นที่มาของ คัมภีร์มรณะ เรื่องการเลี้ยงผีเพื่อใช้เป็นนักฆ่า เรื่องนี้ประณีตกว่าเรื่องก่อน ๆ บ้าง มีการทดลองผสมงานกราฟิกเข้าไปในนิยายภาพ
คัมภีร์มรณะ เป็นเรื่องผีเรื่องสุดท้ายที่ผมเขียน ไฟกองสุดท้ายของการเขียนนิยายภาพตามโจทย์ที่นายทุนกำหนดมอดไปในที่สุด
ผมรู้ว่าหากต้องการ ก็คงสามารถถูไถแต่งเรื่องผีไปได้อีกหลายเรื่องผีหลอกคนนั้นคนนี้ พอเขียนครบ 24 หน้าก็ตัดจบ ได้เงินค่าเรื่องมา 500 บาทเป็นค่าใช้จ่ายของเดือน
แต่ส่วนลึกบอกว่า ทางพาณิชย์สายนี้ไม่มีอนาคต
หลังจากหมดสนุกกับเรื่องผี ผมก็ลองแต่งเรื่องแนวอื่นบ้าง
เวลานั้นผมยังไม่เข้าสู่โลกวรรณกรรม ก็แต่งนิยายไปแบบตามมีตามเกิด อาศัยความสนุกของตัวเองเป็นมาตรวัด ในด้านลายเส้น ก็เริ่มเข้าใจความเรียบง่ายมากขึ้น แต่โดยรวมก็ไม่ได้พัฒนาไปจากเดิมมากนัก
.................
ผ่านไปร่วมห้าสิบปีหลังจากประสบการณ์ การ์ตูนเล่มละบาท และกลายเป็นนักเขียนอาชีพแล้ว ผมลองย้อนมองดูงานการ์ตูนเล่มละบาทเหล่านี้ พบว่าแม้งานทั้งหมดยังต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ความจริงคือ หากปราศจากงานต่ำกว่ามาตรฐานเหล่านั้น ผมก็คงไม่มีวันมายืนอยู่ ณ จุดนี้ในวันนี้
1
เพราะการเป็นนักเขียนต้องมีฐานรองรับ รากฐานหนึ่งรองรับอีกรากฐานหนึ่ง ต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆ
1
การฝึกฝนพัฒนาคุณภาพของวรรณกรรมของนักเขียนคนหนึ่งต้องใช้เวลา ต้องผ่านจุดที่ดีและไม่ดี และต้องสามารถเรียนรู้จากทั้งจุดที่ดีและจุดที่ไม่ดี
หลังจากออกจากโลกนิยายภาพ ผมก็เข้าสู่โลกวรรณกรรม เขียนหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือจริง ๆ แต่กระนั้นบางช่วงผมก็ยังเขียนเรื่องสั้นประกอบภาพ
ผมจมชีวิตในบรรณพิภพสามสิบกว่าปี เขียนงานไว้จำนวนมาก ผมน่าจะทิ้งประสบการณ์เรื่องนิยายภาพผีไว้เบื้องหลังแล้ว แต่แล้ววันหนึ่ง ผมก็พบว่าตนเองหนีไม่พ้นทั้งนิยายภาพและนิยายผี!
1
ในด้านนิยายผี นานปีหลังจากออกจากโลกนิยายภาพ ผมเกิดความคิดว่านิยายผีเล่มละบาทที่ผมเคยทำ เป็นงานแบบอ่านเอาเพลิน แต่ไร้คุณค่าทางวรรณกรรม แต่ผมเชื่อว่าน่าจะเขียนเรื่องผีที่ดี หรือไปถึงขั้นเรื่องผีที่มีคุณค่าทางวรรณกรรมได้ ทั้งนี้เพราะนิยายผีเป็นเพียงตระกูลหนึ่งของนิยาย ดีหรือไม่ดี มีค่าหรือไม่มีค่าขึ้นอยู่ว่าเรื่องนั้นสามารถสะท้อนสังคมหรือชีวิต และมีศิลปะการประพันธ์ที่ดีหรือไม่ต่างหาก
ด้วยความคิดนี้ ผมก็จับงานนิยายผีอีกครั้ง โจทย์ใหม่คือมันต้องเป็นเรื่องที่สนุก แต่มีสาระทางวรรณกรรม
เป็นที่มาของรวมเรื่องสั้นสองเล่ม ประเทศผีสิง กับ อุโมงค์ ผมค่อนข้างพอใจกับแนวทางใหม่ของนิยายผีสองชุดนี้ คล้ายกับได้ลบล้างปมด้อยการเขียนนิยายผีเล่มละบาทที่ไม่ค่อยมีสาระ เพียงเพราะในวัยนั้นอยากมีผลงานนิยายภาพตีพิมพ์เป็นเล่มเท่านั้น
1
พื้นฐานและสภาพแวดล้อมของนักเขียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนสามารถใช้สิ่งที่มีเป็นรากฐาน ต่อยอดพัฒนาขึ้นไป
ผมเองไม่เคยคิดจะเป็นนักเขียน ผมเป็นนักเขียนโดยบังเอิญ ผมเพียงอยากแค่วาดรูปสนุก ๆ เท่านั้น ทว่าการวาดรูปสนุก ๆ ต่อยอดให้พัฒนาต่อไปให้เป็นนักเขียน
สมัยเริ่มหัดวาดนิยายภาพ ผมเคยนึกเสียดายว่าผมต้องเริ่มต้นเองโดยไม่มีใครสอน ผมอาจจะพัฒนาเร็วกว่านี้ถ้ามีตำรามากมายเหมือนสมัยนี้ หรือมีครูฝึกชี้แนะ ใครจะรู้ วันนี้ผมอาจจะยึดอาชีพนักเขียนการ์ตูนก็ได้ และชีวิตก็อาจไม่เหมือนเดิม ผมอาจไม่เดินมาทางสายวรรณกรรม
แต่ในโลกที่ผมเป็นอยู่นี้ ผมเลือกเดินออกจากโลกการ์ตูนเล่มละบาท แล้วเดินเบี่ยงไปอีกสายทางหนึ่ง ซึ่งใช้ความคิดสร้างสรรค์เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน แต่งนิยายเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน สร้างความบันเทิงเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน แต่มันก็สนุกเหมือนกัน
นี่ก็คือเส้นทางนักเขียนของผม มาแบบไม่ตั้งใจ แต่ก็ได้มา ไปแบบไม่แน่ใจ แต่ก็ได้ไป และมันก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกดี หากสบถด้วยภาษาอังกฤษคือ It is one hell of an experience.
2
หากพูดด้วยสำนวนนิยายจีนกำลังภายในคือ สนุกสาหัสสมใจยิ่ง
2
(หมายเหตุ ผมรวมงานนิยายภาพเก่าทั้งหมดที่เคยเขียนเป็นเล่ม ตั้งชื่อว่า ผมก็เคยเป็นนักเขียนการ์ตูนเล่มละบาท ในเล่มจะนำงานสมัยวัยรุ่นและวัยหนุ่มมาแสดงให้ดู เพื่อให้เห็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางนักเขียน เหมาะสำหรับแฟนหนังสือที่อยากเก็บไว้เป็นที่ระลึก
อย่างไรก็ตามขณะที่ยังไม่ได้พิมพ์เป็นเล่ม มีจำหน่ายฉบับอีบุ๊คที่ https://www.winbookclub.com/store/detail/210/ผมก็เป็นนักเขียนการ์ตูนเล่มละบาท )

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา