8 เม.ย. 2023 เวลา 03:30

ชวนเปลี่ยนการวางแผนภาษีปลายปี เป็นการวางแผนภาษีตลอดปี

เทศกาลภาษีของใครเป็นแบบนี้บ้าง?
คนที่มีรายได้ต้องยื่นภาษีมักมี 2 ช่วงเวลาของปีที่คล้ายๆ กัน คือ ช่วงสามเดือนแรกของปีที่ต้องยุ่งกับการคำนวณภาษีเพื่อยื่นแบบประเมิน ภงด 90/91 และช่วงปลายปีที่ยุ่งกับการวางแผนภาษีเพื่อหาทางลดหย่อนภาระภาษีในปีนั้น ช่วงปลายปีจึงเป็นช่วงเวลาที่หลายคนต้องวุ่นกับการเตรียมเงินเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีทั้ง กองทุนรวมประหยัดภาษี และ ประกัน เมื่อแผนภาษีและแผนใช้จ่ายต่างๆ ต้องมาอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้หลายคนต้องเลือกว่าจะใช้เงินที่มีอยู่กับแผนภาษีหรือแผนการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่
สำหรับคนที่รายได้ประจำนั้น เราสามารถปรับการวางแผนภาษีในช่วงปลายปีแบบเดิมๆ เป็นการวางแผนภาษีตลอดปีเพื่อช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการแผนภาษีของเราได้ง่ายและเป็นการผ่อนภาระการเตรียมเงินในช่วงปลายปีได้การวางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปีให้สอดคล้องกับรูปแบบรายรับในแต่ะช่วงเวลา มีข้อดีมากมาย คือ
1. การวางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี และทยอยลงทุนหรือชำระเงินสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นรายเดือน หรือ รายไตรมาส นอกจากช่วยลดภาระช่วงปลายปีแล้ว ยังสอดคล้องกับแผนการออมการลงทุนจากรายได้ที่เราได้รับในแต่ละช่วงเวลา เพราะสิทธิลดหย่อนภาษ๊ก้อนใหญ่เป็นหมวดเกี่ยวกับการส่งเสริมการออมนั่นเอง แผนการออมและแผนภาษีจึงทำควบคู่กันไปได้ไม่ต้องรอจนถึงช่วงปลายปี
2. การวางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี ทำให้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มสิทธิที่เราสามารถ เพราะการลงทุนตามเงินรายได้ที่ได้รับในแต่ละช่วงเวลาทำให้มีเงินเพียงพอสำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์การเงินที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษีได้เต็มเพดานสิทธิที่เรามี ไม่ต้องเลือกแบ่งเงินก้อนที่เรามีในช่วงเวลาปลายปี
3. ลดความผันผวนจากการลงทุนในกองทุนรวมประหยัดภาษี ด้วยการกระจายลงทุนในแต่ละช่วงเวลา แทนที่จะลงทุนทั้งหมดในครั้งเดียวช่วงปลายปี จะช่วยกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ รวมถึงดัชนีราคาหุ้นในช่วงปลายปี
การวางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี และการกระจายแผนภาษีไม่ให้เป็นภาระช่วงปลายปี ทำได้ง่ายๆ โดยอาศัยข้อมูลต่างๆ จาก ภงด 90/91 ที่เราเพิ่งยื่นภาษีกันไปมาปรับใช้
ขั้นที่ 1 วางแผนจากรายได้ในปีก่อนหน้า
ข้อมูลรายได้จากเงินได้พึงประเมินในปีล่าสุดที่ผ่านมา ทำให้เราสามารถประมาณการรายได้ประจำปี ประมาณการภาษี ประมาณการส่วนที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แน่นอนว่ารายได้ในปีปัจจุบันอาจแตกต่างจากรายได้ในปีล่าสุด แต่การเลือกใช้ข้อมูลจากปีล่าสุด เป็นวิธีการที่สะดวกและง่ายในการเริ่มต้น
เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ เราสามารถทบทวนรายได้และปรับเปลี่ยนข้อมูลได้ เราจึงไม่จำเป็นต้องรอจนทราบรายได้ที่เราได้รับแน่นอนเพื่อวางแผนภาษีในช่วงปลายปีอย่างที่ผ่านมา
ขั้นที่ 2 คำนวณส่วนต่างของสิทธิลดหย่อนจากสิทธิลดหย่อนที่เราใช้ในปีล่าสุด
เพื่อหาส่วนต่างของสิทธิลดหย่อนแต่ละรายการที่ยังขาดในปีนี้ โดย
  • สิทธิลดหย่อนในกลุ่ม ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันบำนาญ ส่วนทีเราต้องซื้อเพิ่มคำนวณจาก สิทธิลดหย่อนที่เราสามารถใช้ได้ (ประกันชีวิต+ประกันสุขภาพไม่เกิน 25,000 บาท รวมกันไม่เกิน 100,000บาท) ประกันบำนาญ หักด้วยเบี้ยปีของกรมธรรม์เดิมที่ยังต้องชำระในปีปัจจุบัน
  • สิทธิลดหย่อนในกลุ่ม กองทุนรวมลดหย่อนภาษี สามารถอ้างอิงจากจำนวนเงินจากการซื้อในปีที่ผ่านมาได้เลย
ขั้นที่ 3 มองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตรงกับแผนของเรา
เมื่อทราบแผนภาษีเบื้องต้นแล้ว เราสามารถมองหาผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้แต่เนิ่นๆ และแบ่งการซื้อผลิตภัณฑ์การเงินตามสัดส่วนรายได้ที่เราได้รับในแต่ละเดือน แต่ละช่วงเวลา เพื่อให้สอดคล้องการแผนการออมของเรา
  • การทำประกันชีวิต ในปัจจุบันมีแบบประกันฯ ที่ถูกพัฒนาให้สามารถเลือกชำระเบี้ยรายเดือนและรายไตรมาสได้โดยไม่มีส่วนต่างจากเบี้ยรายปี เป็นต้น
  • การลงทุนในกองทุนรวมสามารถใช้วิธีการ DCA ซึ่งมีข้อดีอื่นๆ เช่น เป็นการถัวกระจายการถัวเฉลี่ยราคาจากการซื้อ รวมถึงการที่ไม่ต้องซื้อกองทุนรวมในช่วงท้ายของปีที่มักมีราคา NAV สูงขึ้น ภาพตัวอย่างแสดงถึงกองทุนรวมยอดนิยมกองทุนหนึ่งที่อาจมีราคาช่วงปลายปีสูงกว่าช่วงอื่นๆ
เพียงเท่านี้ เราก็จะไม่พลาดสิทธิลดหย่อนในแผนภาษีของเรา และเมื่อเข้าใกล้ปลายปีเราก็สามารถทบทวนรายได้ที่เราจะได้รับในปีนั้น เพื่อดูว่าจะต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา