14 มี.ค. 2023 เวลา 05:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ
The Sukosol Bangkok

🔔งานสังสรรค์ VI ครั้งที่ 1/2023 : ลงทุนในโลกยุคใหม่ กับ "VI NEW GEN"🔔

🔗ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ, 09:00น.
1
⛅ช่วงเวลาเช้าค่อนสายของวันเสาร์สุดสัปดาห์ ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมจากเมฆหมอกโทนสีเทาน้ำตาลหนักอึ้งที่ยังไม่จางหายไป ผมก้าวเท้าเดินละเลียดอย่างเชื่องช้าจากสถานีรถไฟฟ้าพญาไทมาไม่ไกลนัก ก็มาถึงยังจุดหมายปลายทาง
เผลอไผลปล่อยใจล่องลอยเพียงชั่วขณะเดียว ปลายเท้าก็มาหยุดอยู่ตรงหน้าประตูห้องประชุมขนาดใหญ่ บนชั้นที่สองของโรงแรม รับสติ๊กเกอร์สีเขียวสะท้อนแสง ที่มีตัวอักษรสีดำบ่งบอกคำเรียกขานเฉพาะตน มาผนึกไว้ที่หน้าอกเสื้อ สิ่งนี้อาจเป็นวัตถุชิ้นแรกของเช้าวันใหม่ ที่ทำให้ผมรู้สึกถึง “ความเป็นส่วนหนึ่ง” ของใครอีกหลายคน ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งกำลังส่งเสียงพูดคุยจอแจอยู่รอบๆตัว ใครอีกหลายคนที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเริ่มต้นบทสนทนา และไม่เคยแม้แต่พบเห็นหน้ากันมาก่อนในความทรงจำ
🕴ผู้คนแปลกหน้าเหล่านี้ รวมถึงตัวผมเอง คงมีวิถีชีวิตและเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน บางคนก็มอบคำนิยามอย่างหลวมๆว่า “อุดมการณ์” ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้กลุ่มผู้นิยามตนเองว่า “นักลงทุนเน้นคุณค่า” หลายร้อยคน ยินยอมที่จะลืมตาตื่นขึ้นมาในเช้าวันพักผ่อน และออกเดินทาง ใกล้บ้าง ไกลบ้าง อาจมาเป็นผู้พูด ผู้ฟัง หรือผู้ตระเตรียมงาน ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจจริง
ความกระอักกระอ่วนใจอาจเกิดขึ้นบ้าง อย่างน้อยที่สุดมันก็เกิดขึ้นกับผม ผู้เดินทางมาอย่างโดดเดี่ยวและไม่เจนจัดในเรื่องการเข้าสังคม เพียงแต่อย่ากังวลใจไปเสียเลย ความอบอุ่นอย่างเป็นกันเองของผู้คนแปลกหน้าที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน จะช่วยชโลมชะล้างความประหม่าที่คุณยังมีหลงเหลืออยู่ ความรู้สึกที่ได้ร่วม “เป็นส่วนหนึ่ง” ของบางสิ่ง ช่างมีความสุขและงดงาม
“พี่หลิน : วีระพงษ์ ธัม” อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ยืนเยื้องย่างอยู่กลางเวที ณ อีกฝั่งกำแพง ในขณะที่ผมออกแรงผลักประตูบานหนาอันหนักอึ้งของห้องประชุมผ่านเข้าไป
ผู้คนนั่งเรียงรายเกือบเต็มพื้นที่ ยังพอมีที่ว่างหลงเหลือให้ผมสอดแทรกร่างกายเข้าไปยึดครองเก้าอี้ในอีกด้านหนึ่งของมุมห้อง นี่คือบทลงโทษของคนมาสายไปเสีย 10 นาทีเช่นผม พื้นที่ด้านหน้าเวทีตลอดแนวไร้ซึ่งคนจับจอง หากเปรียบเป็นงานคอนเสิร์ตศิลปินดัง พื้นที่ตรงนั้นคงมีราคาบัตรแพงที่สุด ซึ่งไม่ใช่คนประเภทผมแน่นอนที่จะเดินเข้าไปแตะต้องดินแดนแสนพิศวงเช่นนั้น จาก “พี่หลิน” ส่งไม้ต่อให้ “พี่เชาว์ : เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ” นายกสมาคม THAI VI คนปัจจุบัน นำเสนอวิสัยทัศน์ในฐานะผู้นำสมาคม ตลอดระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้
💬3 ประเด็นที่ “สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)” มุ่งเน้นพัฒนาต่อยอดก็คือ ▶หนึ่ง : การเพิ่มโอกาสให้สมาชิกสมาคมมาพบปะกันบ่อยขึ้น ขยายช่องทางการสื่อสารให้เข้าถึงผู้คนทั่วไป ▶สอง : เผยแพร่หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่าไปสู่การเป็นแนวคิดกระแสหลักในสังคมไทย ▶และสาม : ร่วมมือกับองค์กรภายนอกต่างๆ เพื่อผลักดันให้สังคมนักลงทุน และตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
“ผมเติบโตและถูกปลูกฝังมาในสังคมที่การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่สังคมไทยอาจมองว่ามันเลวร้าย โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนเรียบร้อยมาก” พี่เชาว์กล่าวทิ้งท้าย ก่อนเดินลับจากเวทีไป😆
🛡“พี่นุช : วราพรรณ วงศ์สารคาม” และ “พี่ไม้ฟืน : พะเนียง พงษธา” มาแจกแจงสรุปโครงการสนับสนุนสาธารณประโยชน์ ซึ่งทางสมาคมบริจาคเพื่อพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่องทุกปี เฉลี่ยปีละสองถึงสามล้านบาท แน่นอนว่าสมาชิกสมาคมทุกคนมีส่วนในเม็ดเงินเหล่านั้นที่ถูกจัดสรรปันส่วนอย่างมีประสิทธิภาพไปยังมูลนิธิ หรือโรงพยาบาลต่างๆที่คณะกรรมการเห็นสมควร (เงินบริจาคส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมต่างๆที่ทางสมาคมจัดขึ้น เช่น ค่าสมัครสมาชิกสมาคม หนังสือ หลักสูตรการเรียน งานสังสรรค์ ฯลฯ)
คณะกรรมการทำงานโดยมิได้รับผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินตอบแทนแต่อย่างใด ผมคิดว่าโครงการสาธารณประโยชน์เช่นนี้ และความเชื่อมั่นของสมาชิกที่มีต่อความซื่อสัตย์โปร่งใสของคณะกรรมการเป็นจุดแข็งประการหนึ่งของสมาคม THAI VI ซึ่งหาได้ยากยิ่งจากสังคมปัจจุบัน
1
🙍🙍‍♀️“พี่บอล : ภาคย์ภูมิ ศิริหงษ์ทอง” และ “พี่ทีน่า : สุภัททกิต เจตทวีกิจ” ยังคงทำหน้าที่พิธีกรได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เสมอต้นเสมอปลาย การเป็นพิธีกรที่ดี อาจยากเย็นและซับซ้อนยิ่งกว่าการเป็นนักลงทุนที่ดี ก็เป็นไปได้
ทั้งสองกล่าวนำผู้เข้าร่วมงานสังสรรค์วีไอทุกคน เข้าสู่กิจกรรมหลักของวันนี้ นั่นคือการพูดคุยกับ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ที่ปรึกษาสมาคม และรับฟังประสบการณ์การลงทุนจากนักลงทุนรุ่นใหม่ทั้ง 3 ท่าน ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทั้งมือใหม่และมือเก่า จากตรงนี้ เราลองมาทบทวน สรุปแนวคิดการลงทุนอันสั้นกระชับจากวิทยากรทุกท่านไปพร้อมๆกันนะครับ
✅ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร : “สำหรับนักลงทุนแล้ว การออมเงินและเฝ้าดูมันเติบโตเพิ่มพูน มีความสุขยิ่งกว่าการใช้เงินเสียอีก พวกนักลงทุนเขามีทัศนคติว่าคงไม่จำเป็นต้องแสดงอำนาจผ่านวัตถุสิ่งของ ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการมันจริงๆในชีวิต”
1
หากสมมติให้ล้างไพ่ชีวิตผม ย้อนกลับไปมีเงินลงทุนเพียง 10 ล้านบาท เสมือนช่วงเวลาก่อนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ในวันนี้ผมก็ยังยืนยันที่จะเลือกลงทุนในประเทศเวียดนาม เราไม่ได้ซื้อและคาดหวังดัชนีในภาพรวม แต่เราเลือกเจาะลึกลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสเติบโตเป็น “Super Stock” เราจำเป็นต้องเลือกบริษัทที่อยู่ในกระแสแนวโน้มหลัก (Mega Trends) ซึ่งในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีน้อยมาก แทบมองไม่เห็น
แต่ในเวียดนามพวกอุตสาหกรรมเก่า เช่น โรงพยาบาล ฯลฯ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกไกล ปัจจัยสำคัญมีเพียง 3 ข้อ คือ ศึกษา Mega Trends ค้นหาผู้ชนะในเทรนด์นั้นๆ และเข้าซื้อเมื่อราคาถูก งบการเงินดูเพียงคร่าวๆ เราควรมุ่งเน้นไปยังการศึกษาอุตสาหกรรม และกิจการ เน้นไปที่ปัจจัยเชิงคุณภาพ ถ้าระหว่างทางราคาหุ้นจะย่ำแย่ก็อย่าขวัญเสีย หากเรามั่นใจและศึกษาด้วยตนเองมาเป็นอย่างดีแล้ว ราคาหุ้นยิ่งร่วง ก็เพิ่มเงินเข้าไป นี่คือความคิดเห็นส่วนตัวของผม
1
🥰ผมยกหุ้นให้เป็นชื่อภรรยา (เพาพิลาส เหมวชิรวรากร) ถือครองหมดเลยทุกบาท ทุกสตางค์ ตั้งแต่เริ่มต้นลงทุน เสี่ยงอยู่เหมือนกันนะ เพิ่งจะมีหุ้นที่ถือครองด้วยชื่อตนเองเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะเกิดวิกฤตแล้วตลาดหุ้นร่วงหนัก จึงขอภรรยานำเงินย้ายออกมานิดหน่อยเพื่อฝากเข้าบัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) ไม่อยากให้ชื่อภรรยามีประวัติเป็นหนี้สินเงินกู้
จากนั้นก็ใช้เงินก้อนดังกล่าวบวกกับเงินกู้ยืมเล็กน้อยมาเข้าซื้อหุ้นในช่วงตลาดย่ำแย่ น่าอัศจรรย์ที่เงินก้อนนั้นมันงอกเงยขึ้นมาจนมีมูลค่ามากกว่าพอร์ตการลงทุนในชื่อของภรรยาเสียอีก ส่วนลูกสาว (พิสชา เหมวชิรวรากร) ก็เพิ่งให้หุ้นจำนวนหนึ่งเมื่อตอนเรียนจบปริญญาตรี
💰สมัยก่อน ภรรยาและลูกสาวเขาไม่รู้หรอกว่าตัวเองเป็นคนรวย เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ามันมีค่าเท่าไหร่ แม้ว่าหุ้นจะถือครองอยู่ในชื่อภรรยา แต่เอกสารรายละเอียดต่างๆ เก็บอยู่ที่ผมทั้งหมด นานๆครั้งเขาถึงจะมาถามบ้างว่า “เรามีเงินอยู่เท่าไหร่แล้ว” ผมก็ตอบหลอกๆไป ให้จำนวนเงินลดลงมาจากความเป็นจริงสัก 20 – 30% เผื่อไว้หากในอนาคต ราคาหุ้นมันตกลงมา ภรรยาจะได้ไม่เป็นกังวลว่าเงินเราหายไป นี่คือ “ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย” ของผม
ปัจจุบันนี้ผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือด้านการลงทุนสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเน้นอ่านเรื่องประวัติศาสตร์และยีนส์มนุษย์ ความสุขที่สุดในช่วงวัยปัจจุบันของผมคือ การมีครอบครัวที่ปรองดองใกล้ชิด และมีความมั่งคั่งอย่างมั่นคง “สำหรับนักลงทุนแล้ว การออมเงินและเฝ้าดูมันเติบโตเพิ่มพูน มีความสุขยิ่งกว่าการใช้เงินเสียอีก พวกนักลงทุนเขามีทัศนคติว่าคงไม่จำเป็นต้องแสดงอำนาจผ่านวัตถุสิ่งของ ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการมันจริงๆในชีวิต”
1
✅โฮม : พศวัต ผานิชชัย (ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ เม่ากลับใจ) “ปัจจัยสำคัญที่เราจะสามารถเอาชนะนักลงทุนต่างชาติได้คือ การลงทุนระยะยาว”
เริ่มจากแนวคิด “ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีลูกค้าระดับ Global, โดยใช้ Playbook เดียวกับตลาดหุ้นไทย” คุณอาจหาหุ้นที่น่าสนใจได้จากวัตถุสิ่งของรอบตัว นำไปค้นหาต่อใน Google ว่าบริษัทผู้ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าดังกล่าวนั้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นหรือไม่ ขอเน้นย้ำว่าตลาดหุ้นใดก็ตามบนโลกใบนี้ ได้ทั้งนั้น จากนั้นเมื่อทราบแล้วว่าบริษัทที่คุณสนใจจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น ก็นำชื่อไปสืบหาข้อมูลต่อตามเว็บไซต์ทางการลงทุนต่างๆ เช่น https://finance.yahoo.com/ หรือ https://seekingalpha.com/
หลักการคัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจเข้าลงทุนมีอยู่เพียง 3 ข้อ คือ ▶สินค้าหรือบริการของบริษัทนั้นๆเราเข้าถึงได้ง่าย ▶สินค้าหรือบริการนั้นๆมีจำหน่ายหรือให้บริการอยู่ทั่วโลก ▶และสุดท้าย เป็นธุรกิจที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน
สิ่งที่ต้องวิเคราะห์ต่อไปคือ ราคาหุ้นของบริษัทนั้นเมื่อเข้าซื้อแล้วมีโอกาสกำไรและขาดทุน (Upside - Downside) เป็นเท่าไหร่ มีโอกาสที่สมมติฐานดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตมากน้อยเพียงใด หากคุณค้นพบโอกาสที่ดีทางการลงทุนแล้วล่ะก็ ไม่ว่าบริษัทนั้นจะตั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งใดบนโลกใบนี้ ถ้ามีหุ้นให้ซื้อขอจงอย่าลังเล “ปัจจัยสำคัญที่เราจะสามารถเอาชนะนักลงทุนต่างชาติได้คือ การลงทุนระยะยาว”
✅เมฆ : เมธพนธ์ อมรธีรสรรค์ (เจ้าของเพจ หุ้นเปลี่ยนโลก) “คุณสามารถเพิ่มโอกาสชนะการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีแห่งยุคสมัย ด้วยแนวคิดแบบ ปีเตอร์ ลินซ์ + นักเทคโนโลยี”
จริตของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขันสูงทั้งด้านผลิตภัณฑ์และราคาขาย อีกทั้งยังถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา (ยากที่จะรู้ข้อมูลอะไรดีๆก่อนชาวบ้านนั่นเอง) หลักการลงทุนของปีเตอร์ ลินซ์ (Peter Lynch) หากจะให้กล่าวอย่างกระชับ คือ ลงทุนในหุ้นที่คุณรู้จักเป็นอย่างดี บริษัทยังมีขนาดเล็ก บริษัทมีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) อย่าสนใจหุ้นตามกระแสนิยม
ส่วนแนวคิดของนักเทคโนโลยี คือ อย่าหยุดอยู่แต่เพียงผู้นำเทรนด์ จงขุดเจาะลึกไปอีกขั้นว่าใครได้รับประโยชน์อีกบ้างจากผู้นำเทรนด์ดังกล่าว
โอกาสทองที่อาจเพิ่มอัตราชนะในกระบวนการลงทุนของคุณก็คือ เมื่อหุ้นใหญ่สะดุดจากปัญหาเฉพาะตัว เมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับชุดข้อมูลที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันมากเกินไป และเมื่อตลาดให้ราคาแก่หุ้นนั้นๆเสมือนว่ามันจะไม่มีวันเติบโตอีกต่อไปแล้ว หน้าที่ของคุณคือ “การวิเคราะห์และประเมินมูลค่า” ค้นหาบริษัทที่มีคูเมืองแข็งแกร่ง ยากที่ใครจะเข้ามาแข่งขัน มีนวัตกรรมใหม่ๆเป็นของตนเอง หรือแม้กระทั่งเป็นนักลอกเลียนแบบมือฉมัง สุดท้ายคือมีเงินเยอะ ธุรกิจเดิมสามารถสร้างกระแสเงินสดได้สม่ำเสมอ
✅อ๊อฟ : ธนายุทธ กังวานพณิชย์ (เจ้าของเพจ ซั่มหุ้น) “ตลาดหุ้นไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างที่เราคิด ความโลภและความกลัวในใจเราก็เช่นกัน”
1
โดยส่วนตัวแล้วตอนนี้ลงทุนในตลาดหุ้นไทย 100% มุ่งเน้นไปที่บริษัทขนาดเล็ก - กลาง วิเคราะห์ผนวกจินตนาการไปในอนาคตอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า ว่าธุรกิจที่เราสนใจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ผู้บริหาร และราคาหุ้นไม่แพง คุ้มค่าที่จะถือครอง หลักการลงทุนคือ ลงทุนในหุ้นที่เราเข้าใจ (ก่อนที่ราคาจะสะท้อนมูลค่า) คาดหวังได้กับการเติบโตในระยะยาว โครงสร้างทางธุรกิจแข็งแกร่ง ผู้บริหารมีความมุ่งมั่น เก่ง ซื่อสัตย์ ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับผู้ถือหุ้น
1
ส่วนที่เหลือคือการควบคุมภาวะจิตใจของเราเอง หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ไม่มีอะไรที่มากไปกว่าการเข้าซื้อหุ้นของกิจการที่ดี เราเข้าใจ และราคาเหมาะสม
ความทุกข์และความสุขคือเรื่องเดียวกัน เริ่มต้นทำเหตุให้ดี ระหว่างทางจะเป็นอย่างไร ยากจะคาดเดา แต่ผลลัพธ์จะดีเอง หากเป็นนักลงทุนผู้มั่งคั่ง แต่เกิดความทุกข์จากการที่มีทรัพย์มาก ก็คงไม่ใช่คำตอบของชีวิต ใช้ความรู้ในการหาทรัพย์ ใช้ธรรมะเป็นตัวประคองสติ เป็นนักลงทุนที่มั่งคั่งพอประมาณ แต่มีความปกติสุข อาจดีเสียกว่า
1
📌ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นบทความนี้ ความรู้สึกของ “การเป็นส่วนหนึ่ง” คงสำคัญมากจริงๆ สำหรับชีวิตมนุษย์ ผมเชื่อว่าเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้ “สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)” ยืนหยัดมาจนมีอายุอานามร่วม 20 ปี มีสมาชิกเรือนหมื่นคน นั่นคือบรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยความรู้สึกของการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ความรู้สึกเหล่านั้นผ่องถ่ายไปสู่นัยยะ “ความหมายของการมีชีวิตอยู่”
หากจำเป็นต้องอธิบายในรูปแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่น นั่นคือ “การมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ สิ่งธรรมดาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน ใส่ใจในรายละเอียด กระทำต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเสมือนว่ามันจะเกิดขึ้นแค่เพียงครั้งเดียว” ส่งผลให้เรามอบความหมายอันลึกซึ้งต่อบรรดาเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม สำหรับผมแล้วนี่คือนิยามของ “นักลงทุนเน้นคุณค่า” ในอีกด้านหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งนอกเหนือไปจากโลกแห่งการลงทุนอันวุ่นวาย
🙏ขอขอบคุณ “สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)” และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับนิยามความหมายของการมีชีวิตอยู่
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 😊
โฆษณา