19 มี.ค. 2023 เวลา 11:28 • ธุรกิจ

Theranos เลือดชั่ว : ลับ ลวง วงการสตาร์ทอัพในซิลิคอนแวลลีย์

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักว่า Theranos คือใคร?
Theranos เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดย Elizabeth Holmes
เธอเข้าเรียนที่สาขาวิศวกรรมเคมี ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ระหว่างเรียน เธอมีจินตนาการว่า ถ้ามนุษย์ทุกคนสามารถตรวจเลือดเองที่บ้าน และรู้ผลได้เลยที่บ้าน ด้วยเครื่องตรวจที่วางอยู่ที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เข็มขนาดใหญ่แทงเข้าไปที่ตัว เพื่อดูดเลือดออกมา 5-10 ซีซี
แต่ใช้เข็มเล็กๆ เจาะที่ปลายนิ้ว ได้เลือดหยดเดียว เอามาตรวจผ่านเครื่องวิเคราะห์ผลเลือดที่มีขนาดเล็ก จะดีแค่ไหน เพราะนั่นหมายความว่า ทุกคนจะมีสิทธิ์เข้าถึงการตรวจสุขภาพในบ้านตัวเอง
จินตนาการของเธอนั้นยิ่งใหญ่ แต่เธอผลักดันจินตนาการนั้นอย่างไร?
ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากเป็น Tech Startup หลังจากเรียนไปได้แค่ 2 เทอมเธอตัดสินใจดร็อปเรียน
เพื่อออกมาตั้งบริษัทชื่อว่า Theranos ในปี 2003 ตอนนั้นเธออายุแค่ 19 ปี แต่อยากพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า เธอสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่มีคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ให้สำเร็จ
 
เธอก่อตั้งธุรกิจ ชื่อว่า Theranos ซึ่งมาจากการผสมระหว่าง คำว่า Therapy และ Diagnosis
หลังก่อตั้งบริษัท ด้วยอุดมการณ์ที่ใครฟังก็โดนใจ
ทำให้ในปี 2003-2004 ระดมทุนได้ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
พอปี 2005 ระดมทุนได้ 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
คนที่ยอมลงทุนให้ มองว่าโลกนี้ต้องการ Disruptor คนที่เขย่ารูปแบบเดิมๆ ของการตรวจสุขภาพ แถมคนที่มาลงทุนยังเรียกเธอว่า Super Disruptor
เพราะเชื่อว่า ถ้าเธอผลิตเครื่องตรวจสุขภาพได้โดยเลือดหยดเดียว
จะพลิกโฉมการตรวจสุขภาพของโลก ใครที่เป็นนักลงทุนต้องรวยมหาศาล
เธอกลายเป็นจุดสนใจ และอยู่ในจุดโฟกัสของสื่อมวลชนทุกแขนง
ที่ต่างมองว่า เธอจะกลายมาเป็นสตาร์ทอัปหญิงคนแรก ที่จะเป็นอัครมหาเศรษฐีที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยตัวเอง
และยังเป็นว่าที่สตาร์ทอัพระดับ Decacorn (หมายถึง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 10 billion หรือ 1 หมื่นล้านเหรียญ อย่างเช่น Dropbox, SpaceX, Flipkart และ Pinterest) ที่เป็นผู้หญิงคนแรกในซิลิคอน แวลลีย์ในเวลานั้น
1
การที่สื่อสาดสปอร์ตไลท์ไปที่เธอ เหมือนเป็นการกรุยทางที่ทำให้ไปเจอนักลงทุนใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Rupert Murdog, Walton Family, Carlos Slim Helu มหาเศรษฐีโทรคมนาคมชาวเม็กซิกัน ไปจนถึงบุคคลระดับสูงในอเมริกาที่สามารถเชิญมาเป็นบอร์ดบริษัท เช่น
-George Shultz อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในยุคโรนัลด์ เรแกน -Henry Kissinger อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
-William Perry อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ
เธอยังได้กระทบไหล่กับบุคคลสำคัญ อย่างบิล คลินตัน
แม้แต่โจ ไบเดน ตอนที่ยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดี ยังเคยไปพบเธอ และบอกว่าเธอคืออนาคตของสหรัฐ
ในช่วงที่เธอรุ่งโรจน์สุดๆ ปัญหาคือ Theranos มีแต่ความฝัน ยังผลิตเทคโนโลยีไม่ได้จริง
ใครจะคิดว่าเธอยังไม่สามารถทำ​ Prototype ของไอเดียที่สวยหรูออกมาได้ด้วยซ้ำ
แต่เธอกลับสามารถขายจินตนาการต่อไปได้เรื่อยๆ จนสามารถทำสัญญากับเครือข่ายร้านค้ายาที่ใหญ่ที่สุดของของอเมริกา อย่าง Walgreens เพื่อที่จะเป็นตัวแทนแรกที่จะได้ขายสินค้าที่เรียกว่าเป็น Super Disruptor ในอุตสาหกรรมการแพทย์
โดยกลไกคือ เก็บตัวอย่างเลือดจากอุปกรณ์ของเธอ ซึ่งก็คือ 1 หยด จากนั้น จะให้ Walgreens ที่รับตัวอย่างเลือด 1 หยด ส่งกลับมาที่แล็บของ Theranos
เพื่อทดสอบ และส่งผลกลับไปให้ลูกค้าทาง Walgreens
ปัญหาคือ Theranos ไม่ได้มีเทคโนโลยีของตัวเอง แต่อาศัยเทคโนโลยีของเจ้าอื่นในการตรวจ ซึ่งที่ผ่านมา ต้องใช้เลือดมากกว่า 1 หยด
ดังนั้น หาก Theranos เจอปัญหาว่า ตัวอย่างเลือดที่ได้มา มีปริมาณไม่เพียงพอสำหรับการตรวจ เธอจะนำตัวอย่างเลือดหยดเดียวไปละลายน้ำ
ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาคลาดเคลื่อน อย่างไม่ต้องสงสัย
เหตุการณ์แบบนี้ ทำให้หนึ่งในพนักงานในห้องแล็บที่พบความผิดสังเกต ทนไม่ไหวและเห็นว่าสิ่งที่บริษัททำเป็นอันตราย
เพราะผลการตรวจที่คลาดเคลื่อนอย่างรุนแรง อาจทำให้ ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นอะไรและละเลยการดูแลสุขภาพ
จึงเลือกที่จะเปิดโปงเรื่องนี้ ด้วยการติดต่อนักหนังสือพิมพ์ของ The Wall Street Journal ชื่อว่า John Carreyrou
เขาค่อยๆ สืบจนมั่นใจว่า Theranos หลอกลวง จึงได้มีการตีพิมพ์รายงานที่เปิดโปงพฤติกรรมของ Theranos
รายงานชิ้นนี้ ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลการแพทย์ของสหรัฐ ต้องเข้าไปตรวจสอบห้องแล็บ Theranos และพบว่า สิ่งที่Theranos ไม่ได้ทำได้แบบที่จินตนาการกันไว้
ในที่สุด หน่วยงาน CMS ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานของสาธารณสุขต้องประกาศว่า แล็บของ Theranos ไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ และต้องปิดการดำเนินการในปี 2016 ทำให้มูลค่าการตลาดของTheranos ดิ่งลง
จากในปี 2015 เป็นปีพีคที่สุด มีมูลค่าบริษัท 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นเหลือศูนย์
พนักงานจากหลักพันเหลือหลักร้อยจนสุดท้ายต้องสลายตัวจนหมด
Elizabeth Holmes และแฟนถูกฟ้องร้อง 2 ข้อหา
ข้อหาแรก คือ ​การส่งข้อมูลสุขภาพอันเป็นเท็จ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
แต่สุดท้ายรอดข้อหานี้ เพราะยังไม่มีใครได้รับผลกระทบเชิงสุขภาพอย่างรุนแรง
ข้อหาต่อมา คือ ฉ้อโกง โกหก หลอกลวงเงินจากนักลงทุนให้มาร่วมลงทุน
ทั้งนี้​ ศาลชั้นต้น ตัดสินให้เธอจำคุก 135 เดือน หรือ 11 ปี 3 เดือน
เพื่อรับผิดชอบจากการฉ้อโกง ซึ่งมีเหยื่อได้รับผลกระทบมากถึง 10 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดย Elizabeth Holmes ต้องรายงานตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการรับโทษในวันที่ 27 เมษายน 2023
อย่างไรก็ตาม การตัดสินในครั้งนี้ยังอยู่ในขั้นต้น เธอยังมีโอกาสยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคาดว่าเธอน่าจะใช้สิทธิ์นั้น
ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวของสตาร์ทอัพที่จะพลิกโฉมโลกทั้งใบ แต่สุดท้ายก็แค่จินตนาการ..
ที่มา
-Wealth History EP.8

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา