24 มี.ค. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

การทำงานบ้านช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้จริงหรือ

เมื่ออายุมากขึ้น คุณต้องการให้สมองของคุณยังคงเฉียบคมเหมือนตอนวัยรุ่นอยู่หรือไม่ หรืออยากให้สมองของคุณยังคงปกติและไม่เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมหรือเปล่า ถ้าคำตอบของคุณคือ “ใช่” วันนี้เราขอนำเสนอวิธีง่าย ๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องกินยาอะไรเพิ่มเติม ที่ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อ ที่จะช่วยให้สมองของคุณยังคงมีประสิทธิภาพ แม้ว่าคุณจะแก่ตัวลงก็ตาม
เพียงแค่คุณ "ทำงานบ้าน" อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นล้างจาน ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน จัดบ้าน ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ หรือทำสวน คุณไม่ได้ตาฝาดหรือหูแว่วฟังอะไรผิดไปครับ เพราะมีงานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นพบว่า การทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำงานบ้านอย่างสม่ำเสมอในผู้สูงอายุ สามารถลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้
มีงานวิจัยทางการแพทย์ชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้สูงอายุที่ทำงานบ้านเป็นประจำสม่ำเสมอมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมต่ำกว่าคนที่ไม่ได้ทำงานบ้านเป็นประจำ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นพบผลวิจัยในทำนองเดียวกันว่า ในผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็นผู้สูงอายุ การทำงานบ้านเหล่านี้เป็นประจำสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมที่ลดลงเมื่อติดตามไปเป็นระยะเวลามากกว่า 4 ปี
การทำงานบ้านมันวิเศษมากเลยใช่ไหมครับ เดี๋ยวก่อน ทำงานบ้านมันให้อะไรมากกว่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่จะดีต่อสมองของผู้สูงอายุแล้ว มันยังช่วยบ้านของเราสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย นี่มันยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลย!
ดังนั้นแล้ว บ้านไหนมีผู้สูงอายุ อย่าปล่อยให้ท่านกิน ๆ นอน ๆ ไปวัน ๆ ลองหันมาให้พวกท่านทำงานบ้านให้มากขึ้น สม่ำเสมอ อย่ากังวลว่าจะเป็นการเอารัดเอาเปรียบหรือใช้งานผู้สูงอายุ แต่ขอให้คิดว่า นี่เป็นการดูแลป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ เราไม่ต้องรู้สึกผิดครับที่ให้ผู้สูงอายุในบ้านต้องมาทำงานบ้านด้วยตนเอง
เอาละครับ ตั้งแต่วันนี้ มาเริ่มทำงานบ้านกันเถอะครับ อาจเริ่มง่าย ๆ ด้วยการล้างจาน กวาดบ้าน ถูบ้าน ทำให้สม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพของสมองที่ดีและห่างไกลภาวะสมองเสื่อมกันครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Christine M Proulx, PhD, Angela L Curl, PhD, Ashley E Ermer, PhD, Longitudinal Associations Between Formal Volunteering and Cognitive Functioning, The Journals of Gerontology: Series B, Volume 73, Issue 3, March 2018, Pages 522–531, https://doi.org/10.1093/geronb/gbx110
2. Marioni RE, Proust-Lima C, Amieva H, Brayne C, Matthews FE, Dartigues JF, Jacqmin-Gadda H. Social activity, cognitive decline and dementia risk: a 20-year prospective cohort study. BMC Public Health. 2015 Oct 24;15:1089. doi: 10.1186/s12889-015-2426-6. PMID: 26499254; PMCID: PMC4619410.
3. Wang HX, Jin Y, Hendrie HC, Liang C, Yang L, Cheng Y, Unverzagt FW, Ma F, Hall KS, Murrell JR, Li P, Bian J, Pei JJ, Gao S. Late life leisure activities and risk of cognitive decline. J Gerontol A Biol Sci Med Sci. 2013 Feb;68(2):205-13. doi: 10.1093/gerona/gls153. Epub 2012 Aug 9. PMID: 22879456; PMCID: PMC3598354.
4. Xu W, Tan L, Wang HF, Jiang T, Tan MS, Tan L, Zhao QF, Li JQ, Wang J, Yu JT. Meta-analysis of modifiable risk factors for Alzheimer's disease. J Neurol Neurosurg Psychiatry. 2015 Dec;86(12):1299-306. doi: 10.1136/jnnp-2015-310548. Epub 2015 Aug 20. PMID: 26294005.
โฆษณา