24 มี.ค. 2023 เวลา 13:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ทำด้วยหัวใจ อะไรก็เกิดขึ้นได้

Terry Fox Marathon of Hope มาราธอนแห่งความหวัง
อีกหนึ่งเรื่องราวของเด็กหนุ่มในวัยสิบเก้าปีจากประเทศแคนาดาที่ยังคงเป็นตำนาน เป็นแรงบันดาลใจ และส่งต่อทัศนคติที่ดีของการเป็นนักสู้ แม้ในช่วงนั้นของชีวิตเขาจะมีเวลาเหลือเพียงน้อยนิดก็ตาม
เทอรี่ ฟอกซ์ (Terry Fox) เขาเป็นยอดนักกีฬาชาวแคนาดาผู้มีพรสวรรค์ในกีฬาหลากหลายชนิดตั้งแต่เรียนอยู่ในชั้นมัธยม ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล รักบี้ เบสบอล บาสเกตบอล วิ่ง
เขาเป็นดาวในมหาวิทยาลัยและคาดหวังไว้ว่าในอนาคตเขาจะเป็นนักกีฬาอาชีพ
จนวันหนึ่งเหมือนโชคชะตาเล่นตลก คนที่รักการออกกำลังกาย มีสุขภาพแข็งแรง อายุก็ยังน้อยอย่างเขามารู้ความจริงอันโหดร้ายว่าเขาเป็นมะเร็งที่เท้า
คุณหมอบอกกับเขาว่า "ผมเสียใจ เราจำเป็นต้องตัดขาข้างหนึ่งของคุณ ตอนนี้คุณอายุ 19 ปี ดังนั้น คุณช่วยเซ็นชื่ออนุญาตให้ตัดขาข้างนั้นด้วยครับ" เมื่อคุณหมอพูดจบ เทอร์รี่ ก็เซ็นชื่อลงไปในแบบฟอร์มนั้นทันที
ขณะที่นอนรอการผ่าตัดในอีกสามวันข้างหน้านั้น แทนที่เทอรี่จะสิ้นหวังหรือไม่ก็ร้องไห้คร่ำครวญตัดพ้อต่อว่าโชคชะตาที่กลั่นแกล้ง ให้เขาเกิดมามีความสามารถด้านกีฬา แต่ก็ต้องมาถูกตัดขาทิ้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้านั้น
สำหรับคนวัยหนุ่มที่ความฝันแตกสลายไปต่อหน้าต่อตา ตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มต้นด้วยซ้ำ เขาน่าจะเป็นอย่างนั้น
แต่แทนที่เขาจะท้อแท้ในวาสนา เขากลับเชื่อมั่นในคำพูดของโค้ชกีฬาคนหนึ่งที่เคยพูดไว้ว่า "คุณสามารถทำอะไรก็ได้หากคุณทุ่มเททำด้วยหัวใจ"
เทอรี่ตัดสินใจทันทีว่าเขาจะวิ่งข้ามประเทศโดยมีเป้าหมายในการหาเงินช่วยโครงการวิจัยโรคมะเร็งในคนวัยหนุ่มสาว เพื่อให้พวกเขาแคล้วคลาดจากความทุกข์ทรมานด้วยโรคนี้ เขาเขียนเป้าหมายของเขาและใคร่ครวญถึงมันเสมอ
เมื่อเขาออกจากโรงพยาบาลและปรับตัวให้ใช้ขาปลอมได้ดีขึ้นแล้วเทอรี่จึงเดินทางไปพูดชักชวนให้ทุก ๆ คนช่วยเหลือกองทุน "เทอรี่ ฟอกซ์ มาราธอน ออฟ โฮพ" ซึ่งเขาจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาจากความหวังของเขา
หลังจากนั้นเขาได้เข้าไปปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ของเขาเพื่อแจ้งให้พวกท่านทราบถึงวัตถุประสงค์ในการทำงานการกุศลของเขา
แต่คุณพ่อของเขากลับไม่เห็นด้วยและบอกมาว่า
"ลูกรัก ลูกฟังพ่อนะ เรามีเงินสะสมไว้ให้ลูกมากพอสำหรับการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว อย่ากังวลไปเลย ส่วนเรื่องช่วยเหลือคนอื่นนั้น เอาไว้เรียนจบค่อยมาคิดอีกครั้งก็ได้"
เทอรี่เข้าใจความรักความหวังดีที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อเขา แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะทำงานนี้ต่อ
วันต่อมาเขาจึงไปที่สมาคมโรคมะเร็ง เพื่อชี้แจงถึงสิ่งที่เขาตั้งใจทำ เพื่อหาเงินมาช่วยเหลือผู้เป็นโรคมะเร็งโดยการจัดการให้มีการวิ่งมาราธอน
แต่พวกเขาบอกว่ายังมีงานอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องทำอยู่ล้นมือ
และยังได้แนะนำให้เทอรี่ว่า
"พ่อแม่ของคุณคิดถูกแล้ว
ตอนนี้อย่าเพิ่งคิดเรื่องนั้นเลยไว้โอกาสหน้าคุณค่อยกลับมาพบเราอีกครั้งและก็ขอบคุณนะที่คิดเรื่องนี้"
เขากลับไปเรียนหนังสือได้ไม่นาน ก็ปรึกษากับเพื่อนคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าเขาควรพักการเรียนไว้ก่อน ต่อมาทั้งคู่บินไปนิวฟาวน์ดแลนด์
แล้วเทอรี่ก็เริ่มทำสิ่งที่เขาตั้งใจโดยการวิ่งข้ามประเทศโดยเริ่มที่นิวฟาวน์ดแลนด์
เขาวิ่งโดยไม่ต้องพึ่งไม่ค้ำยันรักแร้
เทอรี่เป็นคนขาวจากบริติชโคลัมเบีย ดังนั้นในช่วงแรกที่เขาเริ่มวิ่งจึงไม่มีสื่อมวลชนมาสนใจเขา
เวลาผ่านไปหลายวัน เขาเดินทางได้วันละ 31 ไมล์
และนั่น นับเป็นการทำสถิติได้ไกลกว่าบริติช มาราธอน
ถึงตอนนี้บนใบหน้าของเขาบอกให้รู้ว่า เขาปวดบริเวณขาที่ถูกตัด ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่ามีเลือดซึมออกมา และนั่นเองเขาจึงตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ และสื่อต่าง ๆ เริ่มเข้ามาให้ความสนใจกับภารกิจการวิ่งเพื่อช่วยหาเงินเข้าโครงการวิจัยโรคมะเร็ง
เทอรี่ได้มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรีทรูโด เพื่อขอรับเงินสนับสนุนโครงการ
มีคนถามเขาว่า "คุณคิดว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ ?
เทอรี่ตอบว่า "ตอนแรกคิดจะหาเงินทุนแค่หลักพันดอลลาร์ แต่ท่านครับ ถ้าผมได้รับความช่วยเหลือจากท่าน เราสามารถยึดเป้าหมายออกไปได้ถึงหนึ่งล้านดอลลาร์เชียวนะครับ"
เขาได้รับเงินสนับสนุนจากท่านนายกรัฐมนตรีทรูโด ที่ตอนแรกนั้นก็ไม่ได้สนใจจะเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ด้วยความสามารถในการสื่อสารของเทอรี่ทำให้มียอดเงินบริจาคเพิ่มเข้ามาจำนวนมากขึ้น
และเรื่องราวของเขาก็ขยายออกไปเรื่อย ๆ เมื่อ "รีล พีเพิล" รายการทีวีจากอเมริกาที่มีผู้ชมมากที่สุดในช่วงเวลานั้น ได้มาติดตามถ่ายภาพของเขา
เหล่าผู้ชมรายการทีวียิ่งตื่นตาเข้าไปอีกเมื่อพวกเขาเห็นเหล่านักฮอกกี้น้ำแข็ง เช่น เวย์น เกร็ตสกี้ ช่วยกันแบกร่างของเทอรี่ข้ามลานฮอกกี้ ขณะนั้นยอดเงินบริจาคก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เทอรี่มุ่งหน้าสู่ธันเดอร์ เบย์ ในออนตาริโอ ที่นั่นเขามีปัญหามากเกี่ยวกับระบบหายใจ และเมื่อคุณหมอมาตรวจดูอาการให้เขา สิ่งที่คุณหมอบอกกับเขาก็คือ "คุณต้องเลิกวิ่ง"
เทอรี่เสียใจมากที่ได้ยินคุณหมอบอกแบบนั้น แต่เขาก็ยังยืนยันว่าจะวิ่งต่อไป
"คุณไม่รู้หรอกว่าคุณกำลังพูดกับใครอยู่ พ่อแม่ของผมเคยห้ามผมแล้ว พวกเขาบอกว่าผมทำไม่ได้หรอก แต่ผมก็ทำ
จนถึงวันนี้ สมาคมโรคมะเร็งก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมบอกพวกเขา แต่ผมก็ไม่ฟัง
เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ขอให้ผมหยุด เพราะการวิ่งของผมกีดขวางเส้นทางจราจร ถึงอย่างนั้นผมก็ยังคงวิ่งไม่หยุด
ผมยังคงก้าวไปข้างหน้า ในขณะที่หลาย ๆ คนบอกให้ผมหยุด แม้ในตอนแรกนายกรัฐมนตรีก็ไม่สนใจสนันสนุนผม แต่ผมก็ทำให้เขาเห็นว่าผมได้เงินมาแล้ว
จนเขาให้ความช่วยเหลือเรามารวบรวมได้เป็นล้านดอลลาร์ และหมอ คุณฟังผมนะ หลังจากที่ผมออกไปจากออฟฟิศของคุณ ผมจะขอเงินชาวแคนาดาคนละหนึ่งดอลลาร์ "
คุณหมอเข้าใจเทอรี่และสนันสนุนเขาให้ทำงานนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ด้วยจรรยาบรรณแพทย์ และผลจากการรักษาที่พบว่า ตอนนี้มะเร็งกำลังลุกลามอย่างหนักในทรวงอกของเขา
คุณหมอยังได้กล่าวยกย่องที่เทอรี่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ จนสามารถทำลายอุปสรรคทางภาษาและทำให้ไม่มีการแบ่งขอบเขตของรัฐ เขาคือฮีโร่ระดับชาติไปแล้ว
และพ่อแม่ของเขาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับอาการบาดเจ็บของลูกชาย
เครื่องบินเจ็ตของกองทัพอากาศแคนาดาจอดรอเทอรี่อยู่ที่ลานวิ่ง เพื่อนำตัวเขากลับแวนคูเวอร์
เขาต้องเข้าห้องฉุกเฉินทันที
แต่ก็ยังมีนักข่าวหนุ่มไฟแรงคนหนึ่ง ตรงเข้าไปถามเทอรี่ว่า "คุณเทอรี่ครับ คุณกำลังคิดจะทำอะไรต่อไป"
เทอรี่มองจ้องมาที่หน้ากล้อง แล้วพูดว่า "คุณช่วยวิ่งต่อจากผม ให้ถึงจุดหมายปลายทางได้มั๊ย"
หลังจากนั้นไม่นานเทอรี่ก็จากโลกนี้ไป ทิ้งไว้เพียงตำนานให้คนรุ่นหลังได้เล่าขาน และเงินที่เขาสามารถหาเข้ากองทุนได้มากถึง 24.1 ล้านดอลลาร์
ข้อมูลเพิ่มเติม
Terry Fox Marathon of Hope
1
เทอรี่ ฟอกซ์ วิ่ง 143 วัน
ระยาทาง 5,375 กิโลเมตร
เสียชีวิตเมื่อ มิถุนายน 1981
1
เพื่อเป็นการให้เกียรติ และระลึกถึงความดีที่เทอรี่ได้ทำไว้
ปัจจุบันทางรัฐบาลแคนาดาจัดงานวิ่งเพื่อระลึกถึงเขาทุกปี
มีชื่อภูเขาที่ตั้งตามชื่อเขา 1 ลูก
ถนน 32 สาย
โรงเรียน 14 แห่ง
อาคารราชการ 14 แห่ง
อนุสาวรีย์ 7 แห่ง
1
มีเงินบริจาคเข้าถึงทุกวันนี้ประมาณพันล้านเหรียญ ++
1
เรื่องที่น่าประทับใจของเขาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี คศ. 1983 ชื่อเรื่อง The Terry Fox Story
ถ้าใครสนใจ ลองเข้าไปชมได้เลยในลิงก์นี้ค่ะ
1
ประวัติเพิ่มเติมของเทอรี่
ขอบคุณค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา