5 เม.ย. 2023 เวลา 13:08 • ประวัติศาสตร์

ฉายาของประเทศต่าง ๆ : EP.4 Eastern Europe

สวัสดีครับทุกคน วันนี้ Kang's Journal มาต่อกับเรื่องราวของฉายาของประเทศต่าง ๆ กันนะครับ ครั้งนี้ขอพาข้ามโลกมายังยุโรปตะวันออกกัน ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันได้เลยครับ
4
1. ยูเครน : Ukraine, The Bread Basket of Europe
ขอเริ่มที่ประเทศที่กำลังอยู่ในกระแสข่าวอย่างยูเครน ที่ตอนนี้กำลังทำสงครามกับรัสเซีย และนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาให้กับประเทศแห่งนี้ ซึ่งเราก็คงได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะจบลงอย่างสันติโดยเร็วที่สุด
1
กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน (Source: Avoin Tourism)
สำหรับฉายา “The Bread Basket of Europe : ตะกร้าขนมปังแห่งยุโรป” ที่ยูเครนได้มาครอบครองนั้นเป็นเพราะกว่า 70% ของยูเครน เป็นพื้นที่ทำการเกษตร และพืชที่ชาวยูเครนปลูกมากที่สุดได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด และดอกทานตะวัน
1
แม้ยูเครนจะไม่ได้เป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง แต่เนื่องจากประชากรของยูเครนมีไม่มาก ทำให้สินค้าเกษตรเหล่านี้ถูกส่งออกไปทั่วยุโรป ในทุก ๆ ปี ยูเครนจะติด Top10 ผู้ส่งออกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดเสมอ ซึ่งสินค้าเกษตรเหล่านี้คือส่วนประกอบสำคัญในการทำขนมปัง และนี่ก็นำมาซึ่งฉายาตะกร้าขนมปังแห่งยุโรปนั่นเอง
2
ปี 2022 จากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน คาดว่าการส่งออกข้าวสาลีจะลดลงถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 2021 (Source: Forbes)
ส่วนน้ำมันดอกทานตะวันนั้น ยูเครนครองอันดับหนึ่งมาเป็นเวลานาน เพราะกว่า 20% ของน้ำมันดอกทานตะวันที่ใช้กันทั่วโลกในขณะนี้ ผลิตขึ้นที่ประเทศยูเครน
ในตอนนี้เนื่องจากการทำสงครามกับรัสเซีย ทำให้ภาคการเกษตร และขนส่งของยูเครนต้องชะงักไปโดยปริยาย ปริมาณการส่งออกข้าวสาลีลดลงจาก 5 ล้านตันต่อเดือน เหลือเพียง 0.5 ล้านตันต่อเดือน และนี่เองคือหนึ่งในสาเหตุที่ราคาอาหารของโลกดีดตัวสูงขึ้นกันอย่างพร้อมหน้า ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อไปทั่วโลก เพราะอย่าลืมว่า ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์จากทานตะวัน คือส่วนผสมสำคัญในการทำแป้ง ขนมปัง เบียร์ รวมไปถึงอาหารสัตว์ ที่นำไปเลี้ยงสัตว์ที่ใช้ผลิตเนื้อ นม ไข่ อีกต่อหนึ่ง
4
ยูเครน เป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันเป็นอันดับ 1 ของโลก (Source: Tasting Table)
มีเรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าใครสังเกตธงชาติยูเครน จะเห็นว่ามีสีเหลืองที่ครึ่งล่าง และสีฟ้าที่ครึ่งบน ว่ากันว่าคนออกแบบธงนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากทุ่งข้าวสาลีสีเหลืองกว้างใหญ่สุดลุกหูลุกตาที่มีอย่างมากมายในยูเครน ภายใต้ท้องฟ้าสีครามสดใสนั่นเอง
2
ทุ่งข้าวสาลี ภายใต้ท้องฟ้าสีคราม แรงบันดาลใจของธงชาติยูเครน (Source: Lancaster Farming)
ตอนนี้เราก็ได้แต่หวังว่าผู้ผลิตขนมปังแห่งยุโรป จะสามารถออกจากภาวะสงครามได้โดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะช่วยหยุดอัตราเงินเฟ้อ และเพื่อให้เศรษฐกิจโลกสามารถกลับมาดำเนินต่อไปได้อีกครั้ง
1
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่หวังว่าจะจบลงโดยเร็ว (Source: ABC NEWS)
2. สโลวาเนีย : Slovenia, The Sunny Sides of the Alps
สโลวาเนีย อีกหนึ่งประเทศในยุโรปตะวันออกที่มีเมืองหลวงที่ออกเสียงยากมากอย่าง Ljubljana หรือ ลูเบลียน่า ประเทศนี้อาจจะไม่ได้เป็นที่นิยมมากสำหรับคนไทยเหมือนกับฮังการี หรือสาธารณรัฐเชค ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะประเทศนี้มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มากมาย
2
ทะเลสาบ Bled หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในเขตเทือกเขาแอลป์ (Source: Earth Trekkers)
และหนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจเหล่านั้นคือธรรมชาติอันสวยงามของสโลวาเนีย จริง ๆ แล้วฉายา “The Sunny Sides of the Alps : เทือกเขาแอลป์ในฝั่งที่พระอาทิตย์สดใส” เป็นฉายาที่รัฐบาลของสโลวาเนียคิดขึ้นเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวของประเทศ ไม่ใช่เพราะว่าเทือกเขาแอลป์ในบริเวณนี้มีอากาศดีกว่าที่อื่นแต่อย่างใด
1
ฉายานี้ตั้งขึ้นโดยมีเหตุผลว่า ทางภาคเหนือของประเทศจะมีภูเขา Alps กั้นเป็นพรมแดนระหว่างสโลวาเนีย และออสเตรียอยู่ ทำให้พื้นที่ในบริเวณนี้จะเต็มไปด้วยภูเขาสูง ทะเลสาบสีเทอร์คอยซ์ และป่าสน รวมถึงทุ่งดอกไม้ป่าที่จะแข่งกันบานเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาเยือน ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของสโลวาเนีย และเมื่อออกจากเขตภูเขาก็จะเจอกับที่ราบกว้างใหญ่ทอดยาวไปจนถึงพรมแดนของโครเอเชีย
ความสวยงามของเทือกเขาแอลลป์ในเขตประเทศสโลวาเนีย (Source: KimKim)
และการที่มีเทือกเขา Alps กั้นอยู่ ทำให้แม้จะเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออสโตร-ฮังกาเรียนมาก่อน สโลวาเนียก็ยังคงความมีเอกลักษณ์ของตนเองเอาไว้ได้อย่างชัดเจน วัฒนธรรมของชาวสลาฟที่เป็นชนพื้นเมืองของสโลวาเนีย หรือตึกรามบ้านช่องที่ดูจะมีความเป็นโซเวียต ก็ยังคงมีอยู่ให้เห็นในปัจจุบัน ถือเป็นอีกด้านหนึ่งของเทือกเขาแอลป์ที่ทำให้สโลวาเนียมีความโดดเด่น และแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน
3
ดังนั้น The Sunny Sides of the Alps ก็เหมือนเป็นการเล่นคำแบบกวน ๆ ว่าลองมาเที่ยวสโลวาเนียสิ เพราะทางฝั่งนี้ของเทือกเขาแอลป์นั้นสดใสและแปลกใหม่กว่านั่นเอง
1
Ljubljana เมืองหลวงของสโลวาเนีย (Source: Visit Ljublijana)
3. เบลารุส : Belarus, The White Rus
เบลารุส อาจจะเป็นประเทศที่ไม่คุ้นหูชาวไทยมากนัก ประเทศนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน และก่อนหน้านั้นก็เคยเป็นส่วนหนึ่งจักรวรรดิรัสเซียเช่นกัน โดยฉายา “The White Rus : ชาวรุสขาว” ในภาษารัสเซียจะอ่านว่า Belaya Rus ซึ่งก็คือที่มาของชื่อ เบลารุส นั่นเอง
1
ชุด และการละเล่นพื้นเมืองของชาวเบลารุส (Source: Belarus Travel)
ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า Rus ไม่ได้หมายถึง Russia นะครับ แต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกชาวพื้นเมืองที่อาศัยในยุโรปตะวันออกในยุคกลางประมาณศตวรรษที่ 6-10 ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวไวกิ้งในยุโรปเหนือ เพราะคำว่า Rus ในภาษาโบราณแปลว่า “ผู้ที่พายเรือ”
1
เมื่อเวลาผ่านไป ชาว Rus ก็เริ่มกระจายตัวไปทั่วบริเวณยุโรปตะวันออก ไปจนถึงพื้นที่ของประเทศรัสเซียในปัจจุบัน และค่อย ๆ แยกตัวออกจากกันเป็นชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย เป็นก๊ก เป็นเหล่า ต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มของ White Rus นั่นเอง
แผนที่โบราณ ส่วนที่เป็นสีขาวคือส่วนที่เป็นดินแดนของกลุ่มคนที่เรียกว่า White Rus (Source: Wikipedia)
ในสมัยก่อนดินแดนเบลารุส เป็นส่วนหนึ่งของราชรัฐลิทัวเนีย (Lithuania) และชาวรัสเซียจะเรียกคนจากราชรัฐนี้ว่า White Rus ดังนั้นตอนที่ราชรัฐลิทัวเนีย ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย บรรดาพระเจ้าซาร์ที่ปกครองรัสเซียต่อมาก็จะเรียกดินแดนในบริเวณนี้ว่า The White Rus นั่นเอง
1
คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมต้องสีขาว บางทฤษฏีบอกว่าในสมัยที่เจงกิสข่านเข้ามารุกรานดินแดนในบริเวณนี้ กองทัพของพวกเขาได้พบเจอกับคนขาวที่มีลักษณะแตกต่างจากชาวเอเชีย เลยเรียนดินแดนแถบนี้ว่าดินแดนคนขาว อีกทฤษฎีบอกว่าเป็นเพราะคนในบริเวณนี้มักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีขาว
เมือง Minsk เมืองหลวงของเบลารุส (Source: State Magazine)
อีกทฤษฎีบอกว่าเนื่องจากดินแดนแถบนี้ติดกับยุโรปตะวันตก ทำให้ผู้คนหันมานับถือศาสนาคริสต์กันเป็นเวลานาน ในขณะที่พื้นที่อื่น ๆ ของจักรวรรดิรัสเซียยังนับถือนิกายเพกันกันอยู่ โดยคนเหล่านั้นจะถูกเรียกว่า “Black Rus” นอกจากนี้ยังมีทฤษฎียิบย่อยอีกมากมายที่ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
ในปี 2022 เบลารุสอยู่ในพาดหัวข่าวทั่วโลก หลังจากที่ทางรัฐบาลบังคับให้สายการบิน Ryan Air เที่ยวบินหนึ่งที่เดินทางผ่านน่านฟ้าเบลารุสลงจอด เพื่อจับกุมตัวนักข่าวที่ทำข่าวต่อต้านรัฐบาล ซึ่งนำมาซึ่งคำประนามหยามเหยียดจากทั่วโลก
เหตุการณ์ที่สายการบิน Ryan Air ถูกบังคับลงจอดในขณะที่บินผ่านน่าฟ้าของเบลารุส (Source: ABC NEWS)
4. แอลเบเนีย : Albania, The Land of the Eagles
“The Land of the Eagles : ดินแดนแห่งอินทรี” จริง ๆ แล้วนกอินทรีดูจะเป็นตัวแทนของประเทศอเมริกา เพราะเป็นนกที่สื่อถึงอิสรภาพ แต่เรื่องราวระหว่างความสัมพันธ์ของนกอินทรี กับชาวแอลเบเนียนั้นน่าสนใจกว่ามาก (อย่างน้อยก็ในความคิดของผู้เขียนนะ)
ธงชาติแอลเบเนียที่มีรูปนกอินทรีอยู่ตรงกลาง (Source: Balkan Insight)
เรื่องราวมีอยู่ว่า มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งเห็นนกอินทรีกำลังคาบงูตัวหนึ่งกลับไปที่รัง เขาเลยตัดสินใจวิ่งตามนกตัวนั้นไป และปรากฏว่าเขาได้ไปพบกับลูกนกอินทรีตัวหนึ่งอยู่ในรัง ส่วนแม่นกนั้นน่าจะออกไปหาอาหารมาเพิ่ม
แต่งูตัวนั้นกลับยังมีชีวิตอยู่ และกำลังจะทำร้ายลูกนก เด็กชายเห็นท่าไม่ดีเลยตัดสินใจฆ่างูและนำลูกนกกลับบ้าน เมื่อแม่นกมาเห็นเข้าจึงพยายามอ้อนวอนขอลูกตนเองคืน แต่เด็กผู้ชายก็ไม่ยอม
แอลเบเนีย ดินแดนแห่งอินทรีย์ (Source: Invest in Albania)
เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน แม่นกเลยสัญญากับเด็กผู้ชายว่า จะมอบความแข็งแรง และสายตาอันเฉียบคมให้กับเขา และในอนาคตทุกคนจะเรียกเขาว่า “อินทรี” เขาเลยยอมคืนลูกนกให้กับแม่นกโดยดี
ในเวลาต่อมาเด็กผู้ชายคนนี้ เติบโตมาเป็นชายหนุ่มที่มีรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแกร่ง และมีความเก่งกาจ จนได้มาเป็นผู้นำดินแดนในบริเวณแอลเบเนียในปัจจุบัน โดยมีลูกนกตัวนั้นเป็นลูกสมุนคู่ใจ
เมือง Berat หนึ่งในเมืองที่สวยที่สุดของแอลลบาเนีย (Source: Travelearth)
แม้เรื่องราวด้านบนอาจจะดูเหมือนเป็นนิทานกล่อมเด็ก แต่ในปัจจุบันชาวแอลเบเนียเรียกตนเองว่า Shqiptar และเรียกประเทศตนเองว่า Shqipëri ซึ่งแปลว่า Land of the Eagles ดังนั้นเรื่องราวที่เล่ามาอาจจะมีความจริงบางอย่างแฝงอยู่ก็เป็นได้
นกอินทรีนอกจากจะเป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศแล้ว ยังปรากฏอยู่บนธงชาติ และตราแผ่นดินของประเทศอีกด้วย นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติของแอลเบเนีย ถ้าสามารถยิงประตูได้ ก็จะทำท่านกอินทรี เรียกได้ว่าสมกับชื่อ The Land of the Eagles จริง ๆ
นักฟุตบอลทีมชาติแอลบาเนีย จะทำท่านกอินทรีเมื่อทำประตูได้เสมอ (Source: The Mirror)
5. อาร์มีเนีย : Armenia, The Land of Noah
สำหรับชาวอาร์มีเนีย ไม่น่าจะมีสถานที่ไหนที่มีความสำคัญมากไปกว่า Mount Ararat หรือ ภูเขา Ararat อีกแล้ว เพราะสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญอย่างมากกับคริสตศาสนา และอาร์มีเนียเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ
Tatev Monastery หนึ่งในโบสถ์มากมายที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอาร์มีเนีย (Source: RCTC)
ถ้าลองไปดูที่ตราแผ่นดินของอาร์มีเนียจะมีรูปของภูเขา Ararat อยู่ ภูเขาหิมะแห่งนี้เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวอาร์มีเนียเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของเหล่าบรรดาทวยเทพ และเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอาร์มีเนียโบราณมาอย่างยาวนาน
ตราแผ่นดินของอาร์มีเนีย ที่ตรงกลางจะมีรูปภูเขา Ararat ที่มีเรือจอดอยู่ด้านบน (Source: Wikipedia)
และตามคัมภีร์ไบเบิ้ล ในวันที่พระเจ้าลงโทษมนุษย์ โดยการตัดสินใจดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลกขึ้น โนอาห์ตามบัญชาของพระเจ้า ได้ต่อเรือของเขาที่รู้จักกันในชื่อ Noah’s Ark และได้บรรทุกบรรดาสรรพสัตว์และมนุษย์บางส่วนเพื่อหนีน้ำ จนสุดท้ายเรือก็มาจอดเกยอยู่บนยอดเขา Ararat ซึ่งตอนนั้นอยู่ในพื้นที่ของอาณาจักรอาร์มีเนีย และเมื่อน้ำลดลง สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เหล่านั้นก็กลับไปใช้ชีวิตและกลายมาเป็นบรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตบนโลกในปัจจุบัน
ส่วนโนอาห์ และครอบครัวก็ตัดสินใจลงหลักปักฐานในบริเวณภูเขา Ararat และชาวอาร์มีเนียเชื่อว่าพวกเขาคือลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากยาเฟท หนึ่งในบุตรชายสามคนของโนอาห์ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ประเทศแห่งนี้จะได้รับฉายาว่า “The Land of Noah” นั่นเอง
1
โนอาห์ ครอบครัวพร้อมกับเหล่าสรรพสัตว์ เดินทางลงมาจากเขา Ararat หลังน้ำแห้ง (Source: Flickr)
แม้ในปัจจุบันภูเขา Ararat จะอยู่ในพื้นที่ของประเทศตุรกี แต่ถ้ามองจากกรุงเยเรวาน เมืองหลวงของอาร์มีเนียในวันที่อากาศแจ่มใส เราก็จะได้เห็นภูเขา Ararat เป็น Background อยู่เสมอ และไม่ว่าจะไปที่ไหนในอาร์มีเนีย เราก็มักจะเห็นภาพของภูเขา Ararat ติดอยู่ตามฝาผนังบ้าน โรงแรม หรือร้านอาหาร เพราะในใจของชาวอาร์มีเนีย พวกเขาคือลูกหลานของโนอาห์ ผู้รับสารจากพระเจ้า ที่อาศัยอยู่ในแถบเทือกเขา Ararat นั่นเอง
ภาพของกรุงเยเรวาน เมืองหลวงของอาร์มีเนียที่มีภูเขา Ararat เป็นฉากหลัง (Source: Armenia Travel)
6. บัลแกเรีย : Bulgaria, The Land of the Roses
บัลแกเรีย ดินแดนต้นกำเนิดของโยเกิร์ต หนึ่งในอาหารที่ขึ้นชื่อว่ามีประโยชน์มากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุที่บัลแกเรียได้ฉายานี้มาจากการที่ผู้ค้นพบแบคทีเรียที่ทำให้นมกลายเป็นโยเกิร์ต คือนักวิทยาศาสตร์ชาวบัลแกเรียนามว่า Dr. Stamen Grigorov
2
แบคทีเรียชนิดนั้นมีชื่อว่า แลคโตปาซิลลัส ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้สามารถสกัดออกมาได้จากพืชบางชนิดที่เติบโตในพื้นที่ของบัลแกเรียเท่านั้น
บัลแกเรีย ถือเป็นดินแดนต้นกำเนิดของโยเกิร์ต (Source: Pinterest)
แต่ที่หลายคนไม่รู้คือนอกจากโยเกิร์ตแล้ว ชาวบัลแกเรียยังภาคภูมิใจในดอกกุหลาบของพวกเขาเป็นอย่างมาก เพราะที่นี่จะมีบริเวณที่เรียกว่า Rose Valley หรือหุบเขากุหลาบ ซึ่งมีการปลูกกุหลาบมานานหลายศตวรรษ จนในปัจจุบันเกือบ 75% ของน้ำมันดอกกุหลาบที่ใช้กันทั่วโลก หรือประมาณ 3 ตัน ถูกผลิตขึ้นในหุบเขาแห่งนี้
และถ้าสงสัยนะครับว่าหุบเขาแห่งนี้ปลูกกุหลาบมากขนาดไหน ในการทำน้ำมันกุหลาบ 1 กิโลกรัม จะต้องใช้กลีบกุหลาบมากถึง 4000 กิโลกรัม ลองคำนวณดูกันนะครับว่าต้องใช้กุหลาบกี่ดอกกัน
ภาพของสาวเก็บดอกกุหลาบ ถ่ายเมื่อปี 1932 (Source: https://bulgarianroseotto.com)
ทุก ๆ ปีในเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม จะเป็นฤดูเก็บเกี่ยว ทุ่งกุหลาบกว้างใหญ่จะเต็มไปด้วยสีสันสวยงาม ในตอนเช้าบรรดาสาวน้อยสาวใหญ่ที่ทำหน้าที่เก็บดอกกุหลาบก็จะออกไปยังทุ่ง และใช้วิธีดั้งเดิมคือการตัดดอกกุหลาบทีละดอก ทีละดอก ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก แล้วนำใส่ตะกร้ามายังโรงกลั่นเพื่อมาทำน้ำมัน
1
ในปัจจุบันการเก็บดอกกุหลาบก็ยังคงใช้วิธีโบราณอยู่ (Source: Traventuria)
และนักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ ก็สามารถเข้าไปร่วมในการเก็บดอกกุหลาบได้เหมือนกันนะครับ ซึ่งหุบเขากุหลาบในปัจจุบันกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของบัลแกเรีย และฉายา "The Land of the Roses : ดินแดนแห่งดอกกุหลาบ" ก็น่าจะอยู่กับประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ไปอีกนานแสนนาน
1
การกลั่นน้ำมันดอกกุหลาบ ซึ่งน้ำมัน 1 กิโลกรัม ต้องใช้กลีบกุหลาบมากถึง 4000 กิโลกรัม (Source: iStock)
7. โรมาเนีย : Romania, The Land of Count Dracula
สำหรับฉายาของโรมาเนีย น่าจะเป็นที่รู้จักของใครหลาย ๆ คนอยู่แล้ว เพราะถ้าถามคนส่วนใหญ่ว่านึกถึงโรมาเนียแล้วนึกถึงอะไร หลายคนก็น่าจะตอบว่าเคานต์แดรกคูลา หรือแวมไพร์ ผีดูดเลือดหน้าตาหล่อเหลาที่มักจะล่อลวงหญิงสาวมากัดคอ เพื่อดูดเลือดของพวกเธอไปเป็นอาหาร
เคานต์แดรกคูลา ตัวละครจากนิยายของ Bram Stoker (Source: Pinterest)
เคานต์แดรกคูล่า เป็นตัวละครจากงานเขียนของ Bram Stoker โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับผีดิบตนหนึ่งที่เป็นอมตะ อาศัยอยู่ในปราสาทแห่งหนึ่งในดินแดนทรานซิลเวเนีย ซึ่งเป็นอาณาจักรเก่าแก่ของโรมาเนีย และสืบเชื้อสายมาจากเจงกิสข่าน ว่ากันว่าจริง ๆ แล้ว Stoker ได้แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องแดรกคูล่า มาจากเจ้าชายองค์หนึ่งที่มีนามว่าเจ้าชาย Vlad ที่ 3 ที่มีฉายา Vlad, the Impaler ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยตรง ๆ คือ Vlad นักเสียบ
Bran Castle ปราสาทที่ได้ขึ้นชื่อว่าคือต้นแบบของปราสาทแดรกคูลา (Source: Bran Castle Official)
ฉายาแปลกประหลาดนี้มีที่มาจากการที่ Vlad ใช้ความโหดร้ายทารุณในการปกครองดินแดน Wallachia ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณของโรมาเนีย ในตอนนั้นอาณาจักรของพระองค์ถูกรุกรานโดยอาณาจักรออตโตมันอย่างหนัก ดังนั้นพระองค์จึงต้องใช้ไม้โหดในการกำจัดศัตรูทางการเมืองเพื่อให้แผ่นดินของพระองค์มีความแข็งแกร่ง และสิ่งที่พระองค์มักจะทำคือนำศัตรูของพระองค์มาเสียบประจานไว้ตามกำแพงเมือง หรือทุ่งนา แล้วปล่อยให้คนคนนั้นค่อย ๆ ตายไป
1
Vlad ที่ 3 หรือ Vlad, the Impaler (Source: Pinterest)
เรื่องราวความโหดร้ายนี้กระจายไปทั่วทวีปยุโรป และแน่นอนย่อมมีการใส่สีตีไข่จนในที่สุดพระองค์ก็ได้ฉายาว่า Vlad นักเสียบ ผู้ชื่นชอบการทารุณกรรมมนุษย์ แถมมิหนำซ้ำชื่อจริง ๆ ของพระองค์คือ Vlad Dracula ซึ่งดันไปตรงกับชื่อตัวละครของ Stoker อีก
ในปัจจุบันสำหรับชาวโรมาเนีย Vlad, the Impaler มีฐานะเป็นฮีโร่ เพราะแม้พระองค์จะโหดร้าย แต่พระองค์ก็สามารถทำให้อาณาจักร Wallachia ของพระองค์สามารถยืนหยัดต่อต้านการรุกรานของออตโตมันได้เป็นเวลานาน ดังนั้นอย่างน้อยฉายา “The Land of Count Dracula : ดินแดนแห่งเคานต์แดรกคูล่า” ก็อาจจะไม่ได้ดูเลวร้ายนักสำหรับชาวโรมาเนียซักเท่าไร
กรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวงของประเทศโรมาเนีย (Source: Itinari)
8. Czechia, The Land of the Bohemian Crown
สาธารณรัฐเช็ค หรือประเทศเช็คเกียในปัจจุบัน เป็นอีกจุดหมายปลายทางที่หลายคนอยากไปเยือนให้ได้สักครั้ง ประเทศนี้ได้รับการขนานนามว่า “The Land of the Bohemian Crown : ดินแดนแห่งโบฮีเมีย” มาเป็นเวลานานแล้ว
ความสวยงามของประเทศเช็คเกีย (Source: Broganabroad)
สำหรับคนไทย อาจจะเคยได้ยินคำว่า "โบฮีเมีย" จากสไตล์การแต่งตัวของผู้หญิงที่มีลักษณะเป็นชุดกระโปรง ที่มีผ้าพริ้ว ๆ ลายดอกไม้สีสันสดใส คล้าย ๆ กับชุดของปาล์มมี่ นักร้องชื่อดังของไทย หรือการแต่งบ้านแบบไม้ ๆ แล้วตกแต่งด้วยผ้าคลุม หรือเครื่องประดับสีสันสดใส
1
เสื้อผ้าสไตล์โบฮีเมีย (Source: Pinterest)
แต่ความจริงแล้วโบฮีเมีย เป็นชื่ออาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่มากในอดีตกาลโดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 11-13 ก่อนที่จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออสโตร-ฮังการี และหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง พื้นที่ของอาณาจักรโบฮีเมีย ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเชคโกสโลวาเกีย ซึ่งต่อมาก็แยกออกเป็นสาธารณรัฐเช็ค และสโลวาเกียในที่สุด
แผนที่ของอาณาจักรโบฮีเมียโบราณ (Source: Wikipedia)
ในปัจจุบันพื้นที่ด้านตะวันตกกว่า 50% ของประเทศเช็คเกียคือดินแดนโบฮีเมียเก่า ทำให้ประเทศแห่งนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับอาณาจักรโบฮีเมียเก่ามาก โดยเฉพาะเรื่องโบราณสถานต่าง ๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ทำให้คนส่วนใหญ่มักจะขนานนามประเทศเช็คเกียว่า The Land of the Bohemian Crown นั่นเอง
แล้วชาวโบฮีเมียแต่งกายด้วยชุดแบบโบฮีเมียที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันรึป่าว คำตอบคือไม่ใช่ครับ เพราะจากการค้นคว้าพบว่าการแต่งกายแบบโบฮีเมีย เป็นคำที่ชาวฝรั่งเศสนิยามขึ้นมาในศตวรรษที่ 15 โดยเป็นการแต่งกายที่เลียนแบบการแต่งกายของยิปซี หรือชนเผ่าเร่ร่อนในยุโรป ที่มักจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส เชื่อในเรื่องโชคลาง และธรรมชาติ พร้อมทั้งใช้ชีวิตแบบสมถะ
การแต่งกายแบบยิปซี ที่เป็นที่มาของการแต่งกายแบบโบฮีเมีย (Source: Quora)
ในตอนนั้นชาวยิปซีส่วนมากที่จะเข้ามายังฝรั่งเศส จะต้องเดินทางผ่านอาณาจักรโบฮีเมีย ทำให้บรรดาชาวปารีสทั้งหลายคิดว่า การแต่งกายแบบนี้มาจากโบฮีเมียนั่นเอง
1
จบไปแล้วนะครับกับฉายาของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก อาจจะไม่ครบทุกประเทศนะครับ เพราะบางประเทศก็ไม่ได้มีฉายาที่แน่นอน และไม่เป็นที่นิยม ครั้งหน้าเรายังคงอยู่ในทวีปยุโรปกัน แต่จะเป็นยุโรปส่วนไหน ฝากติดตามกันด้วยนะครับ
สามารถติดตามอ่านบทความ ฉายาของประเทศต่าง ๆ บทความอื่นได้ที่ด้านล่างนี้นะครับ :)
Source:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา