7 เม.ย. 2023 เวลา 12:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Catch Me if You Can : ถอดรหัสเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับกลโกงของมิจฉาชีพ

ถ้าพูดถึงหนังเกี่ยวกับการต้มตุ๋น การโกง การใช้เล่ห์เหลี่ยมสารพัดอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ Catch Me if You Can ต้องเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่เข้ามาในหัวของหลายๆ คน
เรื่องราวที่สร้างมาจากเค้าโครงเรื่องจริงของคุณ Frank Abagnale อดีตนักต้มตุ๋นเลื่องชื่อที่ผันตัวมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการป้องกันการฉ้อโกงและความปลอดภัยทางไซเบอร์
แนวโน้มที่จะฉ้อโกงนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์เรา นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กัน มนุษย์ก็พยายามหลอกหลวงและหากลโกงซึ่งกันและกัน
รู้หรือไม่ในทุกๆ ปี ทั้งตัวบุุคคล บริษัท หน่วยงานการกุศล รัฐบาล และอื่นๆ สูญเสียเงินไปเกือบเท่ากับขนาดของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร หรือเยอรนี ไปกับการถูกฉ้อโกง ถ้าประมาณการเป็นตัวเลขก็เรียกได้ว่าเป็นภาระทางการเงินทั่วโลกกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
📌 ตรวจจับธุรกรรมฉ้อโกงด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
ถ้าเรานึกถึงรูปแบบการฉ้อโกงแบบใกล้ตัวมากๆ ก็อาจจะเป็นการถูกขโมยบัตรเครดิตไปทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ หรือถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง ซึ่งสร้างความเสียหายในระดับบุคคลมากเช่นกัน แต่กลับไม่ค่อยมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที
การจะออกแบบเครื่องมืออะไรสักอย่างเพื่อให้สามารถจัดการกับการฉ้อโกงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จำเป็นจะต้องเข้าใจความคิดของมิจฉาชีพเสียก่อน เลยเป็นที่มาของการนำเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจของมิจฉาชีพ เพื่อที่จะหาวิธีตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติและรับมือได้ทัน
📌 Loss aversion เล่นกับการ “กลัวการสูญเสีย”
จากการศึกษาพบว่าการคนเราจะพยายามเพื่อไม่ให้สูญเสียบางสิ่ง มากกว่าพยายามเพื่อให้ได้บางสิ่งมา นั่นหมายถึงว่าโดยธรรมชาติแล้วคนจะกลัวการสูญเสียสิ่งที่เป็นของเรา
อย่างขบวนการฉ้อโกงบัตรเครดิต โดยมากมักจะเริ่มจากการที่มีอาชญากรไซเบอร์นำข้อมูลบัตรที่ถูกขโมยไปขาย แล้วมิจฉาชีพก็ไปซื้อข้อมูลดังกล่าวมา จากนั้นก็จะอยากลองซื้อสินค้าจนกว่าจะเต็มวงเงิน ส่วนโอกาสที่ธนาคารเจ้าของบัตรจะปฏิเสธธุรกรรม ก็คือโอกาสที่มิจฉาชีพจะสูญเสียเงินที่ลงทุนซื้อข้อมูลดังกล่าวมา
ดังนั้นมิจฉาชีพจึงมักจะมีพฤติกรรมพยายามทำธุรกรรมซ้ำๆ ซึ่งผิดวิสัยจากเจ้าของบัตรที่แท้จริงที่หากถูกปฏิเสธธุรกรรม ก็คงจะลองใช้บัตรใบเดิมอีกแค่ครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้บัตรเครดิตอีกใบแทน การติดตามพฤติกรรมธุรกรรมในรูปแบบนี้ จึงสามารถใช้ตรวจจับการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้นได้
1
📌 Anchoring effect อาการ “เชื่อปักใจ”
Anchor หรือ สมอ เปรียบเหมือนกับการที่เราปักความคิดไว้กับบางสิ่ง เคยมั้ยที่บางครั้งเราเห็นของราคาแพง ตั้งอยู่ข้างกับของที่ราคาถูกกว่า เราจะปักใจยึดติดกับชิ้นที่ราคาสูงกว่าไปแล้ว ทำให้รู้สึกว่าอีกอันที่ราคาถูกกว่ามันน่าดึงดูดใจ ดูคุ้มค่ากว่า
ในการฉ้อโกงก็พบพฤติกรรมลักษณะนี้ คือเมื่อมิจฉาชีพพยายามทำธุรกรรมฉ้อโกงได้ ก็จะเริ่มไต่ระดับมูลค่าธุรกรรมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีธุรกรรมแรกเป็น anchor และในขณะเดียวกัน หากธุรกรรมนั้นถูกปฎิเสธ ก็มีแนวโน้มที่มิจฉาชีพจะลดมูลค่าการทำธุรกรรมลงทีละน้อยๆ เพื่อให้ต่ำกว่าค่าที่ระบบตรวจจับการฉ้อโกงจะสังเกตได้แล้วแจ้งเตือนขึ้นมา ซึ่งรูปแบบการทำธุรกรรมเช่นนี้จะต่างจากเจ้าของบัตรตัวจริง ที่มักไม่มีรูปแบบการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างตายตัว
📌 Psychological profiling ทำความเข้าใจคนด้วยการ “เข้าใจบุคลิกภาพ”
จากการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ได้มีการทำการทดลองมากมายเพื่อให้เข้าใจลักษณะการตัดสินใจของผู้บริโภค และข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวเหล่านั้น ก็สามารถถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อระบบตรวจสอบการฉ้อโกงได้ หากรูปแบบการใช้สินค้านั้นแตกต่างไปจากบุคลิกภาพทั่วไปของลูกค้าจริงๆ ที่เคยเป็นมาโดยตลอด
เช่น ลูกค้าที่กลัวความเสี่ยง แต่กลับใช้บัตรเครดิตซื้อเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี หรือคนที่ค่อนข้างเข้มงวดทางการเงิน ชอบเก็บเงินเสมอๆ แต่กลับซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพงๆ
📌 Authority bias เชื่อข้อมูลเพราะผู้มีอำนาจบอก
ถ้ายกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด มีการหลอกขโมยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผ่านอาชญากรที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือผู้ให้บริการวัคซีน เนื่องจากคนมีแนวโน้มที่จะเชื่อคนที่เรารู้สึกว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีอำนาจ ดังนั้นมิจฉาชีพจึงมักจะแอบอ้างเป็นบุคคลที่มีอำนาจ เช่น ผู้จัดการธนาคาร แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน กรมสรรพากร
และอาศัย “ภาวะสมองตัน (cognitive overload)” ของคน เข้ามาบีบให้เกิดการตัดสินใจด้วยความกลัวและเร่งด่วน ด้วยชันเชิงที่พยายามสร้างความเครียดมากๆ แก่เหยื่อ ทำให้เหยื่อตัดสินใจอย่างไร้เหตุผลและตกหลุมพรางการฉ้อโกงในที่สุด (ในเรื่องก็จะเห็นว่าคุณ Frank Abagnale ก็ใช้วิธีประมาณนี้เช่นกัน)
จากการสำรวจของ PwC การฉ้อโกง การคอร์รัปชั่น และอัตราการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่ปี 2018 มีเพียง 46% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจเท่านั้นที่รายงานว่าถูกฉ้อโกงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
และองค์กรส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์ถูกฉ้อโกงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 40% มักจะเป็นการฉ้อโกงในรูปแบบที่เชื่อมกับแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น
แม้ว่าแพลตฟอร์มบนโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ หรือแพลตฟอร์มบริการรถ ที่พัก จะสร้างความสะดวกสบายมากมายให้แก่เรา แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการเปิดประตูสำหรับรูปแบบการฉ้อโกงใหม่ๆ และเพิ่มความเสี่ยงอาชญากรรมทางเศรษฐกิจขึ้นมา
ดังนั้นหากเรารู้เท่าทันกลไกพฤติกรรมการตัดสินใจของมิจฉาชีพ และรู้เท่าทันพฤติกรรมของตนเอง ก็อาจจะช่วยปิดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงได้น้อยลง
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา