7 เม.ย. 2023 เวลา 15:08 • กีฬา

ลาก่อน...แชมป์มงกุฎเพชร!

เดือนมกราคม 2519
วงการมวยได้สูญเสียยอดนักสู้ในอดีตไปถึงสามรายซ้อน เริ่มด้วย พรชัย ส.ท่ายาง อดีตแชมป์ผู้เรืองนามจากชุมพร ถูกยิงตายอย่างน่าอนาถที่ระนอง รายต่อมา อาจารย์ผล พระประแดง กระทิงเปลี่ยวแห่งสังเวียนผู้ผ่านการรณรงค์มากว่าห้าร้อยครั้ง พบวาระสุดท้ายด้วยโรคอัมพาต ท่ามกลางความหนาวเหน็บ และรายล่าสุดท้ายส่งท้ายปลายเดือน ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์ “กำแพงเมืองจีน” ผู้สุดแสนทรหดก็วายปราณไปด้วยโรคร้าย
ล่วงเข้าเดือนกุมภาพันธ์ได้เพียงสิบวัน
วงการมวยก็ต้องพบกับความสูญเสียอีกครั้ง เป็นการสูญเสียอันใหญ่หลวงยิ่งกว่าครั้งใดที่ผ่านมา นั่นก็คือ อดุลย์ ศรีโสธร อดีตแชมป์มงกุฎเพชร พบมรณะสยองด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำ ถูกไฟคลอกตายหมู่ถึงสี่ศพซ้อน
อดุลย์ ศรีโสธร เกิดที่ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2483 เริ่มชกมวยเมื่ออายุได้สิบห้าชนะน็อคคู่ต่อสู้ยกที่สาม ได้เงินรางวัลมาสิบสองบาท
เดินทางเข้ามาสร้างชื่อเสียงในเมืองกรุง ด้วยการเข้าร่วมทีมศรีโสธร มาพบกับทีมสุขสวัสดิ์จากเพชรบูรณ์ ชนะน็อคยกสาม ได้เงินรางวัลมาร้อยห้าสิบบาท และชัยชนะคราวนี้เองที่อาจารย์เจือ จักษุรักษ์ ประธานกรรมการฝ่ายเทคนิคของเวทีราชดำเนิน ได้ เห็นลีลาการชกแล้วถึงกับออกปากว่า
“เด็กคนนี้ฝีมือดีเหลือเกิน ทั้งฉลาด ทั้งมีไหวพริบ ผมเชื่อว่าจะต้องเป็นนักมวยชั้นแม่เหล็กใหญ่ในวันข้างหน้า ถ้าไม่คิดท้อถอยเลิกราไปเสียก่อน”
และคำทำนายทายทักของอาจารย์เจือก็เป็นความจริง เพราะอีกไม่กี่ปีต่อมา อดุลย์ ศรีโสธร ก็ก้าวขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ จากการชกครั้งแรกได้รางวัลสิบสองบาท มาเป็นมากมายหลายหมื่นต่อการชกแต่ละครั้ง
เขาได้ครองชนะเลิศรุ่นนวมทอง (112 ปอนด์) ได้ครองชนะเลิศรุ่นจ้าวแผ่นดิน (126 ปอนด์) ได้รางวัลแหนบทองคำฝังเพชร เลยได้รับสมญาว่าแชมป์จ้าวมงกุฎมานับแต่บัดนั้น
ได้ครองแชมป์มวยไทยรุ่นเฟเธอร์เวทของเวทีลุมพินีและครองแชมป์มวยไทยรุ่นไลท์เวททั้งสองเวที และก่อนหน้านั้นก็ได้ครองแชมป์รุ่น “ครองแผ่นดิน” ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับที่ดิน 50 ตารางวาเป็นกรรมสิทธิ์
ต่อมาหาคู่ชกในแบบมวยไทยไม่ได้ ก็หันไปเอาดีทางมวยสากล ได้ครองแชมป์สากลรุ่นไลท์เวททั้งสองเวที และได้เข้าอันดับรองแชมป์โลกรุ่นเดียวกัน
อดุลย์พลาดหวังในการชิงแชมป์ภาคตะวันออกที่มะนิลา และสังขารเริ่มทรุดโทรมเมื่อหันกลับมาชกมวยไทยก็ไม่ดีเหมือนเดิม เขาจึงได้ประกาศแขวนนวม หลังจากใช้ชีวิตบนผืนผ้าใบมาถึงสิบหกปีเต็ม
อดุลย์ได้เคยครองถ้วยพระราชทาน ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต เคยเดินทางไปชกที่ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเคยไปชกโชว์ศิลปมวยไทยที่สหรัฐ และได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดมวยไทยที่เฟื่องฟูถึงขีดสุด จึงหาคู่ต่อกรได้ยากเย็นเหลือประมาณ
เขาสำเร็จจากโรงเรียนช่างกลปทุมวัน แล้วไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิค เข้ารับราชการเป็นตำรวจสังกัดดับเพลิง ได้เลื่อนยศเป็นนายตำรวจ แล้วย้ายไปเป็นผู้บังคับหมวดอยู่ที่พัทลุง ถูกยืมตัวไปเป็นครูผู้ฝึกสอนมวยไทยให้ตำรวจตระเวนชายแดน แล้วย้ายกลับมาเป็นสารวัตรฝ่ายปราบปรามที่นครปฐม และถูกยืมตัวอีกครั้ง
คราวนี้มาเป็นนายตำรวจติดตามอารักขา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มียศเป็นร้อยตำรวจโท และในวันที่เขาพบมรณะสยองนั้น เขากลับจากราชการที่เชียงใหม่กับข้าราชการกระทรวงเกษตรอีกสามคน และเสียชีวิตเพราะถูกไฟคลอกทั้งหมด
เดือนตุลาคม 2518
 
อดุลย์ ศรีโสธร ล่องใต้ไปหาดใหญ่กับข้าพเจ้า(ผู้เขียน) และได้ที่นอนอยู่ติดกัน เราจึงมีโอกาสได้สนทนากันเกือบค่อนคืน
มีผู้ถามถึงเงินรางวัลทั้งหมดที่เขาได้รับ ซึ่งประมาณกันว่าร่วมล้านบาท แต่มันเป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น อดุลย์ก็ตอบว่า
“ถ้าผมไม่มาชกมวย ผมก็ยังพอมีกิน เพราะพ่อแม่ของผมเป็นชาวนา มีนาอยู่หลายไร่ แต่ที่ผมมาชกก็เพราะต้องการชื่อเสียงแต่เพียงอย่างเดียว เรื่องเงินจะได้มากได้น้อยผมจึงไม่คำนึงถึง และผมก็ไม่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้อีก เพราะอย่างน้อย ทุกคนก็มีส่วนได้สร้างผมขึ้นมา เขาก็ย่อมจะมีส่วนได้เสียในเงินรางวัลของผม แต่จะได้มากหรือน้อยนั้น เป็นอีกเรื่องครับ”
มีผู้ถามอีกว่าระหว่างที่เป็นผู้บังคับหมวด เขาเคยมีส่วนได้เสียจากบ่อนพนัน หรือจากแหล่งอบายมุขต่างๆ บ้างหรือไม่ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่าตำรวจตั้งแต่ชั้นผู้กำกับลงมาจนถึงผู้หมวด บางแห่งจะมีรายได้จากแหล่งเหล่านี้เป็นประจำ
อดุลย์ก็ตอบว่า
“ผมไม่เคยเข้าไปยุ่ง หรือไปมีรายได้อะไรกับเขาหรอกครับ จะว่าผมเป็นคนโง่ผมก็ยอมรับ แต่ผมก็รักเครื่องแบบรักศักดิ์ศรีของผมมาก โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ฝากฝังผมมา ผมจะไม่ทำอะไรที่ทุจริตต่อหน้าที่เป็นอันขาด ยอมเป็นตำรวจจนๆ อย่างนี้ต่อไปดีกว่า ไปขอข้าวบ้านไหนเขาก็มีให้กิน เพราะผมถือว่าเป็นตำรวจของประชาชนไม่ใช่นายประชาชน”
ข้าพเจ้าถามเขาว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการในชีวิต เขาตอบว่า
“แต่ก่อนนั้นผมชกมวยก็อยากเป็นแชมเปี้ยนมีชื่อเสียง อยากได้รับถ้วยพระราชทาน ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต ผมก็ได้รับมาแล้ว เมื่อผมจะเลิกมวย ผมก็มีความต้องการอยู่อย่างเดียว คืออยากเป็นนายร้อยตำรวจ”
เขาบอกต่อไปว่า
“เมื่อได้เป็นนายตำรวจสมใจแล้ว สิ่งที่ต้องการอีกอย่างหนึ่งก็คือนาฬิกามิโดเรือนทองรูปไข่ ที่ผมเห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ผมก็ใฝ่ฝัน อยากจะได้มาเป็นสมบัติ แต่ไม่มีปัญญาซื้อ ถึงแม้ว่าราคาของมันจะเพียงแค่สามพันบาทก็ตาม แต่แล้วผมก็ได้มาเหมือนกับฝันไป”
“ผมไปช่วยราชการสอนมวยให้ ต.ช.ด. กับชาวบ้านที่นราธิวาส และในหลวงท่านก็ทรงรับอุปถัมภ์ในเรื่องอุปกรณ์การฟิตซ้อม ต่อมาผมก็ได้จัดมวยถวายหน้าพระที่นั่ง ท่านทรงโปรดมาก และพระราชทานรางวัลนาฬิกาเรือนทองที่ผมอยากได้ มันเหมือนกับเรื่องฝันไปจริงๆ ครับ และเป็นของสิ่งเดียวที่ผมภาคภูมิใจและหวงแหนที่สุด”
เขาชูมือให้คนดูนาฬิกาเรือนนั้น สีทองของมันเป็นประกายสุกปลั่ง เหมือนนัยน์ตาของเขาที่บอกถึงความปิติปราโมทย์อย่างเหลือประมาณ
“ได้นาฬิกาเรือนนี้มาผมก็ไม่ต้องการอะไรอีกแล้วครับ” นั่นเป็นคำสุดท้ายของเขา ก่อนที่เราจะอำลาจากกัน
เมื่อได้ทราบข่าวร้ายว่า อดุลย์ ศรีโสธร พบอุบัติเหตุจนสิ้นชีวิตเมื่ออายุได้เพียงสามสิบหกปี ข้าพเจ้าเกือบจะคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่เขาจะต้องพบจุดจบอย่างน่าสยดสยองเช่นนั้น
เพราะชั่วชีวิตของเขาเคยสร้างแต่คุณงามความดีเป็นสุภาพบุรุษทั้งในและนอกสังเวียน ยอมรับความชอกช้ำผิดหวังแบบนักกีฬา และให้อภัยต่อทุกคนที่ขูดรีดหรือกอบโกยรายได้จากหยาดเหงื่อและหยดเลือดของเขาไปอย่างไม่เป็นธรรม
อดุลย์ ศรีโสธร จากไปก็แต่ร่างกายและวิญญาณ ส่วนชื่อของเขาจะยืนยงคงอยู่ต่อไปอีกนานแสนนานทีเดียว !
***คอลัมน์ "สังเวียนชีวิต" นิตยสาร เดอะริง โดย เดชา ปราการะนันท์
#มวยไทย #มวยดังในอดีต #ประวัตินักมวย #เดอะริง #เดชาปราการะนันท์ #อดุลย์ศรีโสธร #สังเวียนชีวิต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา