17 เม.ย. 2023 เวลา 14:50 • สุขภาพ

NOCEB0

ในตอนที่แล้ว มินนี่ได้สัญญาว่าจะมาเล่ากรณีตัวอย่าง จากหนังสือเรื่อง คุณคือพลาซีโบ ให้ฟังนะคะ  เป็น case ที่น่าสนใจทีเดียว
.
เฟร็ด เมสัน (นามสมมุติ) เริ่มเป็นโรคซึมเศร้า ตั้งแต่ตอนที่เขาถูกแฟนสาวบอกเลิก เขาเห็นโฆษณาเกี่ยวกับการทดลองยารักษาโรคซึมเศร้าตัวใหม่ เลยตัดสินใจเข้าร่วมการทดลอง เขามีอาการมาแล้ว 4 ปี ขณะนั้นแพทย์ได้รักษาอาการซึมเศร้าชื่อ amitryptyline ให้ แต่เมสัน ถูกบังคับให้หยุดยา เพราะว่ามีอาการง่วงซึมอย่างหนักและมีอาการมึนงง เขารู้สึกว่ายานั้นแรงเกินไปและหวังว่ายาตัวใหม่ จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่า
หลังจากเข้าร่วมงานวิจัยได้ประมาณ 1 เดือนเขาตัดสินใจโทรหาแฟนเก่า ทั้งสองคนทะเลาะกันหนักมาก  และหลังจากที่เมสันวางสาย เขาคว้าขวดยาที่ได้จากการทดลอง และรับประทานไปยาที่เหลือในขวด ทั้งหมด 29 เม็ด  เพื่อพยายามฆ่าตัวตาย ทันใดนั้น เขาก็รู้สึกผิดและไม่อยากตาย วิ่งออกไปข้างนอกห้องเพื่อขอความช่วยเหลือ เพื่อนบ้านได้ยินเสียงร้อง และพบว่าเขากำลังนอนอยู่บนพื้น ดิ้นทุรนทุราย เขาบอกเพื่อนบ้านว่า เขาทำพลาด ได้กินยาเกินขนาดไป แต่เขายังไม่ต้องการที่จะตายจริงๆ ขอให้เพื่อนบ้านพาเขาไปโรงพยาบาล
.
เมื่อไปถึงห้องฉุกเฉิน เมสันมีภาวะความดันโลหิตตก อัตราการเต้นหัวใจ 140 ครั้งต่อนาที หายใจเร็วและพูดซ้ำๆว่าผมไม่อยากตาย
แพทย์ตรวจไม่พบอาการผิดปกติอะไรเลยนอกจากความดันต่ำและหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วกว่าปกติ
แต่ถึงกระนั้น เขาก็ดูเซึ่องซึม และพูดไม่รู้เรื่อง แพทย์จึงทำการใส่สายน้ำเกลือ เก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะไป ถามว่าเขากินยาอะไรเข้าไป เขาไม่สามารถจำชื่อยาได้ เขาบอกกับหมอว่า ยาที่กินเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทดลอง เขาส่งขวดยาเปล่า ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองให้กับแพทย์ ซึ่งแพทย์ทำได้เพียงรอผลจากห้อง Lab และสังเกตอาการ โดยหวังว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะสามารถติดต่อนักวิจัยได้ 
.
4 ชั่วโมงต่อมาผลจากห้อง lab พบว่าปกติทุกอย่าง และติดต่อเจ้าหน้าที่ในโครงการวิจัยได้ เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงโรงพยาบาล เขาตรวจสอบรหัสจากฉลากยา และตรวจดูบันทึกการทดลองได้แจ้งว่า ที่จริงแล้วเมสันได้รับยา พลาซีโบ หรือ"ยาแป้ง" สิ่งที่เขากินไม่ได้ มีตัวยาใดๆทั้งสิ้น
.
และหลังจากนั้น ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจของเมสัน ก็กลับมาเป็นปกติ เมสันตกเป็นเหยื่อของ Nocebo สารที่ไม่เป็นอันตรายใดๆ แต่เนื่องจาก  การที่เขาตีความ และให้ความหมาย กับยาตัวนั้นว่า เป็นยารักษาซึมเศร้า จึงทำให้เกิดอาการต่างๆดังกล่าวตามที่เขาคิด
**Nocebo effect เป็น ปรากฏการณ์ที่ทัศนคติของคนไข้เป็นลบต่อยา หรือ การรักษา จึงทำให้เกิดอาการแพ้ยา หรือ เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ของยา ที่ร้ายแรงกว่าความเป็นจริงได้ ทั้งที่ได้รับเพียง ยาหลอกเท่านั้น ตัวอย่างเช่นถ้าหาก ผู้ให้ยา Placebo กับคุณ ระบุว่าอาจจะมีอาการปวดศีรษะ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น คุณก็อาจมี อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นได้ ทั้งที่คุณรับประทาน ยาหลอก ก็ตาม
.
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมา ยังมีการยกตัวอย่างมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาและไม่ใช้ยาทั้งปรากฏการณ์พลาซีโบ และ โนซีโบ
.
ขอบอกว่า หนังสือเล่มนี้น่าสนใจทีเดียว เพราะผู้เขียน ได้เขียนอธิบายในแนววิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจ กับร่างกาย เราจะเยียวยารักษาร่างกายให้หายได้อย่างไร โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ทั้งนี้ เป็นวิจารณญาณส่วนบุคคล ถ้าสนใจสามารถซื้อมาอ่าน หรือติดตามผู้เขียน ดร.โจ ดิสเพนซ่า ทางช่องทางอื่น เช่น ใน youtube
.
และขอสรุปในมุมมองของคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับยาว่า เราก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาอยู่ แต่การที่เรารู้ว่าจิตใจของเรา มีผลกับเรามากกว่าที่เราคิด  ถึงแม้ว่า ยาจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าทัศนคติของคนไข้ไม่ดีต่อยา หรือ ต่อการรักษา  ยาวิเศษแค่ไหนก็ช่วยไม่ได้อยู่ดี การใช้ยาที่ถูกต้อง ควบคู่ กับ การมีคุณภาพของจิตใจที่ดี จึงจะทำให้การรักษาได้ผลและมีประสิทธิภาพคะ
**หนังสือเล่มนี้ มีเนื้อหาที่น่าสนใจอีกมาก ถ้ามีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังอีกนะคะ
.
ข้อมูลอ้างอิง
1.หนังสือ คุณคือพลาซีโบ ทำความคิดให้ออกฤทธิ์กับสุขภาพ โดย ดร.โจ ดิสเพนซ่า
2.เมื่อคนไข้คิดว่ายาแพง ยิ่งรู้สึกมีผลข้างเคียงรุนแรงขึ้น - BBC News ไทย
#เรื่องเล่าจากห้องยา
#คุณคิอพลาซีโบ
โฆษณา