21 เม.ย. 2023 เวลา 12:48 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

Kim Ji Young, Born 1982 : ความเจ็บปวดของ “ผู้หญิง” ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่

Kim Ji-Young, Born 1982 สร้างมาจากนิยายซึ่งทำยอดขายมากกว่า 1 ล้านเล่ม โดยมีตัวดำเนินเรื่องหลักคือ คิมจียอง คุณแม่ลูกหนึ่งวัย 30 ปี ซึ่งลาออกจากงานมาเพื่อเลี้ยงลูกสาววัย 2 ขวบ หากดูเผินๆ แล้วเรื่องนี้ก็เหมือนจะเป็นเพียงชีวิตประจำวันธรรมดาๆ แต่ในหนังกลับค่อยๆ ฉายให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในเกาหลี
ทั้งในครอบครัวและในที่ทำงาน อีกทั้งยังแอบใส่รายละเอียดเหล่านี้ไว้ในบทพูดของตัวละครต่างๆ ที่ทำให้หลายคนฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า เคยได้ยินคนอื่นพูดกับตนเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อหนังเรื่องนี้ออกฉาย จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และสั่นสะเทือนสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ฝังรากลึกในเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะพาผู้อ่านไปเจาะลึกถึงความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิง และมนุษย์แม่วัยทำงานต้องเผชิญ ซึ่งสะท้อนถึงโครงสร้างปัญหาในสังคม ผ่านวัฒนธรรมที่หล่อหลอมมาหลายชั่วอายุคนในเกาหลีใต้
แม้เกาหลีใต้จะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี 1970 แต่อัตราการมีส่วนร่วมกำลังแรงงาน (Labor Force Participation Rate) ของผู้หญิงกลับน้อยกว่าผู้ชายอย่างมีนัยยะสำคัญ และช่องว่างนี้ยังแตกต่างกันมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม OECD โดยข้อมูล OECD
2
ในปี 2011 พบว่าอัตราการมีส่วนร่วมกำลังแรงงานของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 23.4% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD อยู่ที่เพียง 17.5%
📌 เหตุใดผู้หญิงจึงอยู่ในตลาดแรงงานน้อยกว่าผู้ชาย...การศึกษา หรือ ค่านิยม?
สุภาษิตเกาหลีโบราณกล่าวไว้ว่า “มีลูกสาวคนเดียวก็เพียงพอแล้ว แต่มีลูกชาย 3 คนยังน้อยเกินไป”
ต้องขอบอกก่อนว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่รับแนวคิดขงจื๊อมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้มีกรอบแนวคิดแบบปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่) ลูกชายมีค่ามากกว่าลูกสาวเนื่องจากสามารถสืบสกุลและเป็นผู้สักการะบรรพบุรุษได้ ทำให้การทำแท้ง เพื่อเลือกเพศเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคมสมัยนั้น
1
ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาสัดส่วนทารกเพศชายต่อเพศหญิงเมื่อแรกคลอดสูงขึ้นอย่างผิดปกติเนื่องจากเทคโนโลยีที่ทำให้เลือกเพศได้แพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งคนไม่อยากมีลูกหลายคนแต่ก็ยังชอบลูกชายมากกว่าอยู่ดี
สัดส่วนของทารกเพศชายเมื่อแรกคลอดต่อทารกเพศหญิง 100 คน ในปี 1990 จึงสูงถึง 116.5 คน จากที่ควรอยู่ราวๆ 105-106 คน
เมื่อลูกสาวไม่เป็นที่ต้องการเท่าลูกชาย พวกเธอจึงไม่ได้รับการศึกษาสูงนัก เหมือนที่แม่ของคิมจียองต้องออกจากโรงเรียนทั้งที่เรียนเก่ง เพื่อมาทำงานหาเงินส่งพี่ชาย 4 คนเรียนหนังสือ
1
ในปี 1990 จำนวนปีการศึกษาโดยเฉลี่ยของผู้หญิงอายุ 30 ปี อยู่ที่ 10.4 ปี ในขณะที่สำหรับผู้ชายอยู่ที่ 11.8 ปี จนกระทั่งในปี 2010 ค่าเฉลี่ยนี้ใกล้เคียงกันมากขึ้นคือ 13.9 ปี สำหรับผู้หญิง และ 14.1 ปี
สำหรับผู้ชาย เนื่องจากในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ทางรัฐบาลได้บรรจุนโยบายการศึกษาของผู้หญิงไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (1987-1991)
โดยหวังที่จะลดความไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิง ในการเข้าสู่ระบบการศึกษา และขยายโอกาสทางการศึกษาให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าถึงการศึกษาระหว่างเพศหญิงและชายมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ในตลาดแรงงานมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากปราการด่านสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกเข้าทำงานก็คือ เพศของเธอ และถึงแม้จะเข้าไปทำงานได้ ก็มักจะได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าผู้ชาย อีกทั้งยังมีปัญหาถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานอยู่บ่อยครั้ง
1
จากข้อมูลพบว่าในปี 2010 ช่องว่างของค่าจ้างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเกาหลีใต้สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD
ผู้หญิงที่จบปริญญาตรีได้รับค่าจ้างประมาณ 66% ของค่าจ้างผู้ชายที่มีคุณสมบัติพอๆ กัน
ในอาชีพที่ต้องมีความเชี่ยวชาญอย่างหมอ หรือทนาย ก็พบว่าผู้หญิงได้รับค่าจ้างเพียง 61.7% ของค่าจ้างที่ผู้ชายได้รับเท่านั้น
1
📌 ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน...คือ ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับผู้หญิง
หัวหน้าของคิมจียอง น่าจะเป็นตัวละครหญิงเพียงคนเดียวในเรื่องที่ยังทำงานประจำต่อ แม้จะมีลูกแล้ว โดยให้แม่ของตนเป็นคนดูแลลูกแทน เธอเป็นผู้หญิงที่ทำงานเก่งมากแต่บริษัทไม่ค่อยให้โอกาสก้าวหน้าในที่ทำงาน อีกทั้งยังถูกดูหมิ่นว่าเป็นแม่ที่บกพร่องต่อหน้าที่ เพียงเพราะไม่ได้เลี้ยงลูกเอง
1
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของสังคมเกาหลี ที่ยังคงคาดหวังให้แม่จะต้องเป็นหลักในการเลี้ยงลูก และส่งผลให้เกิดความลำเอียง (Bias) ในการรับสมัครพนักงานหรือเลื่อนตำแหน่ง เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้หญิงจะลาออกหลังแต่งงานหรือมีลูก
จากข้อมูลในปี 2009 ผู้หญิงเพียง 49.2% มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของผู้ชายที่สูงถึง 73.1%
ผู้หญิงที่ทำงานในระดับสูง ๆ หรือเป็นหัวหน้างาน คิดเป็นเพียง 20.6% ของผู้หญิงในตลาดแรงงานเพียงเท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อมองลึกลงไป กว่า 80.8% ของผู้หญิงที่อยู่ในตลาดแรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นไม่ได้แต่งงาน
มีงานวิจัยยังได้เสริมให้เห็นว่า หากปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศนี้ได้รับการแก้ไข เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้กว่า 15% โดยเฉลี่ยเลยทีเดียว และนโยบายรัฐที่จะช่วยได้ดีที่สุดคือการเข้าไปแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงาน
อีกทั้ง หาทางช่วยปลดภาระในบ้าน และการเลี้ยงลูกให้แก่ผู้หญิงผ่านนโยบายช่วยเหลือในการเลี้ยงดูลูก การสร้างศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ
เมื่อปัญหาการกีดกันทางเพศในตลาดแรงงานลดลง การพัฒนาทางด้านการศึกษาถึงจะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา