9 พ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ธุรกิจ

The Rise of the Chief Wellbeing Officer

เมื่อองค์กรทั่วโลกเริ่มสนใจแต่งตั้งตำแหน่ง Chief Wellbeing Office เพื่อดูแลสุขภาวะของพนักงาน
โดยตำแหน่งนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีบางองค์กรเคยแต่งตั้งตำแหน่งที่คล้ายกันนี้อยู่แล้ว โดยมักเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับงานทรัพยากรบุคคลหรือเกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวในองค์กรอื่นเริ่มเป็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเมื่อมีการให้ความสำคัญกับสุขภาวะของพนักงานมากขึ้นจากผลกระทบของโควิด
ปัจจุบันมีพนักงานเกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลกกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลเรื้อรังก็ทำให้ทั่วโลกสูญเสียผลิตผลทางเศรษฐกิจไปมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จึงมีการคาดการณ์ว่าประเด็นสุขภาพจิตและการมีสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจและกระบวนการจัดการวงจรชีวิตการทำงานของพนักงานในองค์กร
Chief Wellbeing Office มักเกี่ยวข้องกับงานทรัพยากรบุคคล งานกลยุทธ์องค์กร และงานบริหารจัดการภาพลักษณ์องค์กรและผู้บริหาร เพื่อทำหน้าที่วางวิสัยทัศน์และกรอบนโยบาย กำหนดกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ และสวัสดิการขององค์กร สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ รวมถึงสร้างและส่งเสริมให้พนักงานเกิดพฤติกรรมที่ส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี
ทั้งในมิติการทำงานและชีวิตส่วนตัว เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานเกิดภาวะหมดไฟและลดภาวะเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น การกำหนดนโยบายการทำงาน การจัดการสภาพแวดล้อมที่ทำงาน การจัดกิจกรรมรณรงค์และโครงการ เป็นต้น เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์กรสามารถรักษาและพัฒนาพนักงานศักยภาพสูงเอาไว้ได้ทั้งในเชิงการทำงานและความเป็นพลเมืองขององค์กร และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรเพื่อดึงดูดพนักงานใหม่ต่อไป
โดยใช้แนวคิด เช่น PRISM คือ การมองเห็นและคาดการณ์อนาคต (Prospection with foresight: P) ความยืดหยุ่นและความว่องไวทางความคิด (Resilience and cognitive agility: R) ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and innovation: I) การสร้างความสัมพันธ์ที่รวดเร็วเพื่อสร้างการสนับสนุนทางสังคม (Rapid rapport to build social support: S) และการสร้างความหมายและความสำคัญ (Meaning and mattering: M) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในทีมสื่อสารภายในองค์กร จากการสำรวจพบว่า 60% ของพนักงานทั่วโลกต้องการทราบแนวคิดและความคิดเห็นของผู้บริหารในองค์กรที่ตนทำงานอยู่เกี่ยวกับประเด็นด้านสังคมและการเมืองที่พวกเขาสนใจ
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- นักจิตวิทยาและพนักงานทรัพยากรบุคคลทั่วโลกจะมองเห็นโอกาสการทำงานใหม่ในองค์กร จะเกิดบริษัทที่ปรึกษาและธุรกิจบริการด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะแบบองค์รวมเพื่อลูกค้าองค์กร (B2B) มากขึ้น และกลายเป็นตลาดที่น่าจับตามองในอนาคต
- องค์กรนอกสายงานด้านสุขภาพจะหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาวะของพนักงานในองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายงานที่ทำงานกับเทคโนโลยี การมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องจักรกลและปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงนักพัฒนาซอฟต์แวร์
Sources: HR Executive, Spencer Stuart
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofWork #WellBeing #MQDC
โฆษณา