10 พ.ค. 2023 เวลา 13:00 • การ์ตูน

ตัวร้ายดี ๆ เป็นยังไง (ตอนต้น)

ในเรื่องราววรรณกรรมต่าง ๆ เนื้อเรื่องมักดำเนินตามตัวละกรพระเอกหรือนางเอก และในเรื่องราวต่อสู้ไม่ว่าจะต่อสู้แบบกายภาพหรือแบบอื่น ตัวเอกมักจะต้องมีคู่ปรับ ซึ่งหากจะพูดกับอย่างคร่าว ๆ ก็คือ พระเอกหรือนางเอกของเรื่องของตัวดี (Hero) ส่วนคู่ปรับเป็นตัวร้าย (Villain) บล็อกนี้พูดถึงการสร้างตัวละครที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับตัวเอกที่ยอดเยี่ยมผ่านตัวอย่างวรรณกรรมต่าง ๆ
คำว่าตัวร้ายก็คงไม่ถูกต้องทีเดียว ใช้คำว่าคู่ปรับ (Antagonist) จะถูกต้องมากกว่า เพราะคำว่าดี-ร้ายมีความ-ร้ายมีความแตกต่างกันไม่มากนัก ฝ่ายหนึ่งที่คิดว่าตัวเองดีก็อาจจะถูกมองว่าเป็นตัวร้ายในสายตาคนอื่นฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น เอาเป็นว่า คู่ปรับ หมายถึงตัวละครที่อยู่ตรงข้ามกับตัวเอกของเรื่อง และตัวเองของเรื่องหมายถึงตัวละครที่เราใช้เพื่อติดตามเรื่องราวที่นำเสนอในเรื่อง
การเป็นคู่ปรับของตัวเอกที่ดีนั้นมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่าง แต่ก่อนที่จะพูดถึงองค์ประกอบเหล่านั้น เรื่องราวจะต้องวางรากฐานตัวละครเอกเอาไว้ก่อนเป็นอย่างแรก เพื่อที่จะให้ผู้ชมเข้าใจและเข้าถึงจิตใจและสำนึกคิดของตัวเอก เช่น ตัวเอกทำอะไรต่าง ๆ ไปเพื่ออะไร หากพระเอกต่อสู้กับองค์กรอะไรสักอย่างหนึ่ง ตัวเอกจะต้องมีจุดประสงค์อะไรสักอย่างที่ทำให้ตัวเอกต่อสู้
ในการ์ตูนวัยเด็กของพวกเราที่เติบโตมากับกระบวนการห้าสีเจ็ดสี เรื่องราวเหล่านี้ดูและเข้าใจง่ายเพราะความต้องการของตัวเองชัดเจน นั่นคือ เพื่อปกป้องโลก ในเรื่องราวแบบนี้จึงต้องมีตัวร้ายที่ขัดขวางเป้าหมายของตัวเอก เช่นมนุษย์ต่างดาวที่มีจุดประสงค์ที่ต้องการทำลายล้างโลกหรือครองโลก เมื่อคู่ปรับของเรื่องมีจุดประสงค์ที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกและผู้ชมอย่างเห็นได้ชัด เราจึงกล่าวได้ว่า มนุษย์ต่างดาวเป็นตัวร้าย
เหล่ากีกี้ แห่งขบวนการช้อกเกอร์
ที่เราเรียกคู่ปรับพระเอกแนวนี้ว่าตัวร้ายได้เพราะว่าจุดประสงค์ของตัวเอกตรงกับผู้ชม และผู้ชมสามารถเข้าถึงจุดประสงค์และเป้าหมายของตัวเอกได้ แต่ในทางกลับกัน เมื่อคู่ปรับเป็นมนุษย์ต่างดาวที่ต้องการทำลายล้างโลก มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่ผู้ชมจะไม่เชียร์ตัวละครเหล่านั้น เพราะผู้ชมเองก็อยู่บนโลก และคงไม่ต้องการใช้สิ่งมีชีวิตโลกโลกเข้ามาทำลายที่อยู่อาศัยหนึ่งเดียวของเรา
แต่เมื่อเรื่องราวอื่น ๆ มีเนื้อหาที่ยุ่งยากมากขึ้น กล่าวคือ ตัวร้ายไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป เพราะคู่ปรับของตัวเอกมีจุดประสงค์ที่ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ เมื่อนั้น คู่ปรับของตัวเอกก็ไม่ใช่ตัวร้ายในสายตาคนดูทุกคน เขาอาจถูกมองว่าเป็นตัวดีได้ และตัวเอกต่างหากที่เป็นคนไม่ดีเพราะขัดขวางแผนการและเป้าหมายของตัวละครคู่ปรับ ดังนั้นตัวดีก็ไม่ใช่ตัวดี และตัวร้ายก็ไม่ใช่ตัวร้ายเสียทีเดียว
ดังนั้น องค์ประกอบแรกคือการสร้างตัวละครคู่ปรับที่มีจุดประสงค์ที่ตรงกันข้ามกับตัวเอก ทำให้ผู้ชมสามารถเลือกได้ว่าจะเชียร์ตัวละครใด และใช้รากฐานทางศีลธรรมที่แตกต่างกันออกไปตัดสินเลือกว่าตนเองนั้นอยู่ฝ่ายใด แต่การนำเสนอแบบนี้ก็มีข้อจำกัดของมัน เพราะภาพติดตาว่าตัวเอกคือคนดี และคู่ปรับคือตัวร้าย หนึ่งในเรื่องราวที่สร้างคู่ปรับพระเอกที่ตรงข้ามกับจุดประสงค์ของพระเอกที่ดีมากคือ Joker ของ Batman
Joker โดย Heath Ledger ใน The Dark Knight
Joker เป็นตัวละครที่มีเสน่ห์อย่างมาก เมื่อตัวละครนี้ถูกสร้างขึ้นในตอนแรก นักเขียนไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เป็นตัวละครตัวร้ายที่สำคัญหรือเป็นตัวหลักของเรื่องแต่อย่างใด แต่เพราะความแตกต่างของตัวละครตัวนี้เมื่อเทียบกับ Batman แล้ว ความต่างคั่วนั้นมันชัดเจน และกลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่ดีที่สุดที่เคยถูดสร้างมาในวรรณกรรม แต่จะเข้าใจความซับซ้อนของตัวละครนี้ เราต้องเข้าใจ Batman ก่อน
Batman เป็นฮีโร่ (และไม่ใช่ซุปเปอร์ฮีโร่) ที่เป็นนักสืบ ได้ชื่อว่าเป็นนักสืบที่เก่งที่สุดในโลก และสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความเป็นนักสืบคืออาชญากร ซึ่ง Joker ก็เป็นอาชญากรนั่นเอง ความต่างคั่วนี้เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ความซับซ้อนอยู่ที่หลักคิดของสองตัวละครที่ต่างกันคนละคั่ว ซึ่งในภาพยนตร์เรื่อง The Dark Knight ของ Christopher Nolan นำเสนอแง่มุมนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม
Batman เป็นฮีโร่ที่มีจุดประสงค์ในการสร้างระเบียบและรักษาความสงบสุขของเมืองก็อทแธม สิ่งที่ตรงกันข้ามกับระบบระเรียบคือความวุ่นวาย ซึ่ง Joker คือผู้แทนของความวุ่นวาย (Agent of Chaos) ดังที่เขากล่าวไว้ ก็อทแธมมีแต่วายร้ายที่มีจุดประสงค์เรียบง่าย เช่นการฆ่าฟันชิงปล้นเพื่อเงินทอง แต่จุดประสงค์ของ Joker ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง แต่คือความวุ่นวาย
นอกจากจุดประสงค์ที่ตรงกันข้ามกับ Batman แล้ว Joker เป็นคู่ปรับที่ยอดเยี่ยมที่สุดเพราะเขาต้องการท้าทายกฎเหล็กของตัวเอก Batman มีกฎอยู่ข้อเดียวที่สำคัญ นั่นคือ การไม่ฆ่า ซึ่ง Joker ต้องการจะทำลายกฎนั้นของ Batman เพราะกฎนี้ Batman ในโลกการ์ตูนจึงไม่เคยฆ่า Joker คู่ปรับคนนี้จึงรอดทุกครั้งแล้วกลับมาฆ่าผู้อื่นอีก ทางเดียวที่จะหยุดเขาได้คือต้องฆ่าเท่านั้น แต่ Batman ไม่ทำ
วิธีคิดแบบนี้คือกรณีนิยม หรือ หน้าที่นิยม (Deontology) ที่พูดถึงหน้าที่หรือการกระทำนั้นดีหรือไม่ดีในตัวของมันเองโดยไม่ต้องพูดถึงหรือผลลัพธ์ ซึ่งแนวคิดตรงกันข้ามคือผลลัพธ์นิยม (Consequentialism) ที่เถียงว่าการกระทำจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่เกิดจากการกระทำนั้น ซึ่งข้อถกเถียงของทั้งสองค่ายนี้มีเยอะแยะมากมาย และผมจะไม่เข้าถึงมันในวันนี้
Immanuel Kant เจ้าของทฤษฎีกฎเด็ดขาด (Categorical Imperative) หนึ่งในทฤษฎีหน้าที่นิยม
Batman ยึดกฎเหล็กของตนเองโดยไม่สนใจผลลัพธ์ว่าการไว้ชีวิต Joker นั้นจะนำพาความเสียหายมามากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเถียงกันในทางจริยศาสตร์แบบนี้ ผมคิดว่ามันจะง่ายดายเกินไป เพราะเป็นการถกเถียงที่มีมานานมากแล้วในประวัติศาสตร์ความคิดของมนุษย์ ดังนั้น สิ่งที่ Joker ทำไม่ใช่การท้าทายผลลัพธ์มีค่ามากกว่าการกระทำ ความวุ่นวายไม่ได้หมายความถึงผลลัพธ์อะไรทั้งนั้น
ความวุ่นวายที่ Joker ปรารถนาเป็นผลลัพธ์ในตัวเองมันเอง ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าอะไร ไม่ได้มีเหตุผลว่าทำไมความวุ่นวายจึงดีกว่าความเป็นระเบียบ Joker คือความวุ่นวายเองด้วยซ้ำ เขาไม่ได้ต้องการทดสอบแนวคิดกรณีนิยมของ Batman เขาต้องการหักล้างความเชื่อของ Batman ขนาดว่า ถ้า Batman มีความคิดแบบผลลัพธ์นิยม Joker ก็จะท้าทายความคิดนั้น Joker ไม่ใช่ปรปักษ์ของแนวคิด แต่เป็นปรปักษ์ของ Batman
Joker ในฐานะตัวแทนแห่งความวุ่นวายไร้ระเบียบ
องค์ประกอบที่สองคือความเหมือนกันในทางความคิดของตัวเอกและคู่ปรับ Joker ทำให้เราเห็นความตรงกันข้ามแบบสุดขั้วระหว่างเขากับ Batman แต่ Bane แสดงถึงความไม่เหมือนกับ Joker เขาเหมือนกับ Batman ในทางความคิด Bane ต้องการความเป็นระเบียบไม่ต่างจาก Batman แล้วเขาสู้กันทำไมในเมื่อทั้งสองมีความต้องการหรือจุดประสงค์แบบเดียวกัน
เราจึงต้องพูดถึงความต่างกันของระดับ จริงอยู่ว่า Batman ต้องการความเป็นระเบียบของสังคม แต่ไม่ได้สุดขั้วเหมือนกับ Bane Batman ไม่ได้ต้องการจะบังคับทุกสิ่งทุกอย่างและทุกคนในเป็นระเบียบแบบที่ Bane ทำใน The Dark Knight Rises นี่คือตัวอย่างของความเหมือนที่แตกต่างในแนวคิดของตัวเอกและคู่ปรับ
Bane โดย Tom Harder ใน The Dark Knight Rises ตัวแทนแห่งความเป็นระเบียบเรียบร้อย
แต่คู่ปรับก็สามารถมีจุดประสงค์แบบเดียวกับตัวเอกก็ได้เหมือนกัน เช่นยอดมังงะและอนิเมะอย่างเรื่อง Death Note ที่นำเสนอแง่มุมมองเรื่องของความยุติธรรม ทั้งสองฝ่าย นั่นคือ คิระ และ แอล กล่าวว่าตัวเองคือความยุติธรรม แล้วทำไมทั้งสองจึงขัดแย้งกันจนตายกันไปข้างหนึ่ง นั่นก็เพราะว่า ความหมายและนิยามของจุดประสงค์ต่างกัน และทั้งสองสู้เพื่อความหมายของจุดประสงค์นั้น
ยากามิ ไลท์ หรือ คิระ ใน Death Note
ในแง่นี้ ผมขอเรียกคิระ หรือ ไลท์ ยากามิว่าตัวเอก คิระสังหารคนไปมากมายในนามของความยุติธรรม แต่ความยุติธรรมนั้นมันเกิดขึ้นแบบศาลเตี้ย จริง ๆ แล้วไม่ต่างจาก Batman แต่ที่ต่างกันคือ Batman ไม่ได้ฆ่าคนเหล่านั้น เพียงแต่จับกุมและส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่คิระไม่ได้ส่งใครเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เขาฆ่าคนเหล่านั้นด้วยพลังของเขาเอง
แท้จริงแล้วแอลก็ไม่ต่างกัน หากเราคำนึงแต่เรื่องของผลลัพธ์และการกระทำ ผลลัพธ์ที่ทั้งสองต้องการนั้นเหมือนกัน พวกเขาต้องการความยุติธรรม การกระทำก็ไม่ต่างกันเหมือนกัน เพราะแอลเองก็ยอมรับว่าเขาสังเวยคนไปมากมายเพื่อให้เขาจับตัวคนร้ายได้ ขนาดเอาชีวิตตัวเองมาเสี่ยงด้วยซ้ำ ดังนั้น ในแง่ผลลัพธ์และการกระทำนั้นไม่ต่างกัน แล้วมันต่างกันตรงไหน
L ใน Death Note
สิ่งที่ทั้งสองต่างกันแบบคนละข้างก็คือนิยามของความยุติธรรม ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว ซึ่งนิยามหรือความหมายของความยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างมากมายในทางปรัชญา แต่ที่ประเด็นนี้แตกต่างของกรณีของ Batman ก็คือ ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องของจริยศาสตร์ว่าอะไรถูกหรือผิด Death Note นำเสนอเรื่องความของความยุติธรรมที่ไม่ได้ผูกโยงกับเรื่องถูกผิดแบบที่เข้าใจทั่วไป
สิ่งที่ทำให้ประเด็นของความยุติธรรมมันเด่นชัดขึ้นมาในเรื่อง Death Note คือเรื่องของกระบวนการยุติธรรม Death Note เล่นกับเรื่องของกฎไว้อย่างมากมาย เช่น กฎของการใช้ Death Note เอง แต่ความยุติธรรมของคิระนั้นต่างจากแอล เพราะของคิระเราเรียกว่า ความยุติธรรมเบ็ดเสร็จ กล่าวคือ ความยุติธรรมมีแบบเดียว แบบอื่นไม่นับว่าเป็นความยุติธรรม
ของแอลไม่ใช่แบบนั้น แอลเข้าใจดีว่าความยุติธรรมเบ็ดเสร็จมันไม่มี และเขาไม่ได้ต้องการที่จะฆ่าคิระแบบที่คิระฆ่าคนอื่น จริงอยู่ว่าคิระฆ่าคนอื่นเพื่อจุดประสงค์ของความยุติธรรม แต่แอลไม่ได้ฆ่าคนอื่นเพื่อความยุติธรรม การฆ่าคิระไม่ใช่เส้นทางสู่ความยุติธรรม แต่การนำคิระสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งผลของประบวนการนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่
การที่ให้แอลเป็นนักสืบนั้นเป็นทางเลือกที่ดีมาก เพราะหน้าที่ของนักสืบ ตามที่เข้าใจกันก็คือการสืบหาและตามจับคนร้าย แต่แท้จริงแล้ว หน้าที่ของนักสืบคือการตามหาความจริง และความจริงนั้นคือจุดประสงค์ของแอลในฐานะนักสืบคนหนึ่ง แอลไม่รู้หรอกว่าเมื่อความจริงเปิดเผยแล้วว่าใครคือคิระแล้วมันจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญต่อความยุติธรรมที่สุดคือความจริง
แง่มุมนี้อยู่ใน Subtext ของเรื่อง ในขณะที่แอลตั้งใจเปิดโปงความจริงว่าใครคือคิระ ความจริงคือสิ่งที่แอลต้องการ ขนาดยอมเปิดหน้าตาที่แท้จริงให้เห็นกันเลย แต่คิระทำทุกวิถีทางเพื่อปกปิดความจริง ในแง่นี้ เราเห็นได้ว่า ความยุติธรรมของเรื่องนี้อยู่บนรากฐานของความจริง
"ฉันคือ L"
เมื่อพูดถึงความยุติธรรมและความจริง อีกคำหนึ่งผุดขึ้นมา นั่นคือคำว่า เสรีภาพ สองคำนี้เป็นรากฐานทฤษฎีความยุติธรรมของฮันส์ เคลเซ่น (ผมไม่พูดถึงสักวันคงไม่ได้จริง ๆ) ที่เขาเองก็ยอมรับว่าเขาไม่รู้ว่าความยุติธรรมคืออะไร แต่อย่างน้อยที่สุด สำหรับเขา ความยุติธรรมหรือเสรีภาพและความจริง แล้วเสรีภาพมันเกี่ยวยังไงกับเรื่อง Death Note
มันเกี่ยวที่เรื่องของความยุติธรรมเบ็ดเสร็จ ใครเป็นคนตัดสินว่าอะไรยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม? นั่นคือคำถาม หากในกระบวนการกฎหมาย (ซึ่งผมละคำว่า กระบวนการยุติธรรม) ผู้พิพากษาตัดสินไปตามกฎหมาย เพราะกฎหมายว่าอย่างนี้ ดังนั้นโทษจึงเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมโดยตรง เพราะคำตัดสิน แม้ว่าจะเป็นไปอย่างชอบธรรมตามกฎหมาย ก็อาจจะไม่ยุติธรรมก็ได้ แต่นั่นก็คือคำตัดสินที่ชอบธรรมอยู่ดี
ท่านอาจารย์ Joseph Raz ผู้ยืนหยัดทฤษฎี Exclusive Legal Positivism ที่เคร่งหลักการแยกพิจารณาความเป็นกฎหมายและความยุติธรรม
ใน Death Note ผู้ตั้งกฎ พิจารณา และตัดสินเป็นคนเดียวกันทั้งสิ้น นั่นคือ คิระ การที่เขาเรียกตนเองว่าความยุติธรรมนั้น แท้จริงแล้ว คิระเล่นเป็นพระเจ้า ซึ่งนั่นไม่ใช่บทบาทของเขา ไลท์เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ได้ยืมพลังของพระเจ้าแห่งความตายมา ในอนิเมะ เราเห็นภาพของเทพ และเจ้ามากมายเพื่อสื่อถึงข้อความว่าคิระมองว่าเขาคือพระเจ้าของโลกใหม่
แต่เนียร์ยืนยันว่าเขาไม่ใช่พระเจ้า เขาเป็นเพียงแค่ฆาตกร มนุษย์ธรรมดา ๆ คนหนึ่งเท่านั้น เขาเป็นใครจะมาตัดสินคุณค่าของพระเจ้าแก่มนุษย์ระดับเท่า ๆ กัน ในสายตาของกฎหมายแล้ว เขาเป็นเพียงแค่ฆาตกรที่ขลาดคนหนึ่งเท่านั้น จงอย่าสับสนระหว่างมนุษย์และพระเจ้า ดังที่กล่าวไว้ใน Mathew 22:21 “ของของซีซาร์จงถวายแด่ซีซาร์ และของของพระเจ้าจงถวายแด่พระเจ้า”
Tribute Money โดย Masaccio ปี 1425 "render unto Caesar the things that are Caesar's and unto God the things that are God's" - Matthew 22:21
เรายังอยู่กันที่เรื่องของนักสืบ ดังนั้นคงจะไม่พูดถึงนักสืบที่โด่งดังตลอดกาล และตัวละครที่ผมชื่นชอบมากที่สุดในวรรณกรรมทั้งหลายไม่ได้ นั่นคือ Sherlock Holmes และแน่นอนว่าคู่ปรับของเขาก็คือศาสตราจารย์ Moriarty ซึ่งชื่อนี้กลายเป็นชื่อที่โด่งดังไม่แพ้กับ Holmes เลย แม้ว่าในเนื้อเรื่องดั้งเดิมแล้ว ชื่อของศาสตราจารย์ไม่ได้ปรากฏบ่อยครั้ง และการต่อสู้กันจัง ๆ มีเพียงครั้งเดียวในเรื่อง The Final Problem
ทำไมศาสตราจารย์ Moriarty จึงเป็นคู่ปรับที่ยอดเยี่ยมและน่าสนใจ เพราะก่อนที่เราจะรู้จักกับคู่ปรับตลอดกาลนี้นี้ ผู้อ่านรู้ถึงความสามารถเหนือคนของ Holmes (ขนาดถูกจัดว่าเป็น “ซุปเปอร์” ฮีโร่) ดังนั้น หากใครจะเป็นคู่ปรับยอดหนักสืบติดยาคนนี้ได้ คนนั้นจะต้องมีสติปัญญาและมันสมองไม่ต่างกัน ดังนั้น องค์ประกอบถัดมาคือความสามารถที่ทัดเทียมกับตัวเอก
Sherlock Holmes และ Prof. James Moriaty โดย Sidney Paget ปี 1893 ใน The Final Problem
ทั้งสองทัดเทียมกันขนาดไหน ทัดเทียมขนาดว่า Conan Doyle เขียนให้ทั้งสองสู้กันแบบกายภาพจนตายคู่ เพราะมันสมองที่สูสีกันอย่างมาก ทางเดียวที่จะจบความขัดแย้งของทั้งสองได้จึงต้องลงไม้ลงมือกัน แล้วในทางแนวคิดละ? จริง ๆ แล้ว Moriarty ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไรที่เพ่งเล็งไปที่ตัวหรืออุดมการณ์ของ Holmes ขนาดว่าเขามาเตือนให้ Holmes อยู่ห่าง ๆ แผนการของเขา
ดังนั้น คู่ปรับแนวนี้จึงเป็นคู่ปรับที่ไม่ได้อยู่บนรากฐานของอุดมการณ์ ซึ่ง Holmes เองไม่ได้มีอุดมการณ์แบบ Batman ที่ต้องการสร้างความสงบสุขอย่างเป็นระเบียบ หรือ แอลที่ต้องการความยุติธรรมที่ต่างจากคิระ Holmes เพียงทำเพื่อหายเบื่อเท่านั้น เพื่อแค่ต้องการใช้สมอง ขนาดว่าเขาภาวนาให้เกิดคดียาก ๆ ขึ้นมา เพื่อให้เขาไขปริศนาด้วยซ้ำ
คู่ปรับแนวนี้คือคู่ปรับในทาง Concept ศาสตราจารย์เองก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายว่าอยากจะใช้สติปัญญาอะไรแบบ Holmes หรือเพื่อท้าทายอะไร เขาก็แค่ทำธุรกิจผิดกฎหมายของเขาไปเท่านั้น แต่เพราะ Concept ของเรื่องนี้คือสติปัญญาและความฉลาดของตัวละคร การที่ Holmes บอกว่า Moriarty เป็น Napoleon of Crimes หมายถึงว่า Moriarty มีมันสมองในอาชญกรรม ซึ่งตรงข้ามกับเขาที่มีมันสมองในการสืบสวนอาชญากรรม
อีกตัวอย่างหนึ่งของคู่ปรับในทาง Concept ของเรื่องของลิโป้ในเรื่องสามก๊ก อันนี้เขียนยากหน่อย เพราะว่าเมื่อเวลาผ่านไป คนเริ่มตั้งคำถามว่าใครในเรื่องคือคนดี ในทางประวัติศาสตร์ เราคงเถียงกันได้ไม่รู้จบ แต่ในทางวรรณกรรม ตัวเอกของเรื่องก็คือเหล่าจ๊กก๊ก หรือก็คือพวกของเล่าปี่ แล้ว Concept ของเรื่องคืออะไร? สิ่งนั้นคือรากฐานทางศีลธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ความภักดี
กวนอู โดย ลู่ซู่หมิง ใน สามก๊ก ปี 1994
เล่าปี่ถูกนำเสนอว่าเป็นพ่อพระ เป็นคนดี เพราะว่ามีจุดประสงค์ต้องตรงกับความภักดี กล่าวคือ ภักดีต่อราชวงศ์ฮั่น หรืออย่างกวนอู ที่ได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ก็เพราะว่าเขาภักดีต่อเจ้านาย นั่นคือเล่าปี่ Theme หรือ Concept คือความภักดีนั่นเอง ซึ่งเราวนเวียนอยู่กับเรื่องนี้เพื่อแสดงถึงความเป็นคนดีของเหล่าจ๊กก๊ก ขนาดที่ว่าไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนนายบ่อย ๆ ของกาเซี่ยงด้วยซ้ำ เพราะว่ากาเซี่ยงไม่ได้รับผลร้าย
เพื่อที่จะแสดงออกว่าความภักดีเป็น Concept และเป็นคุณค่าที่สำคัญ เรื่องราวจึงนำเสนอตัวละครที่ไม่มีความภักดีและได้รับผลร้ายให้เป็นตัวร้ายของเรื่อง ผู้นั้นคือ ลิโป้ เจ้าของฉายาลูกสามพ่อ (พ่อคนแรกคือพ่อผู้ให้กำเนิด คนที่สองของตั๋งโต๊ะ และคนที่สามคืออ้องอุ้น) ลิโป้ไม่มีความภักดีกับใครทั้งนั้น หักหลังเจ้านายตัวเองทุกครั้งที่มีโอกาส ขนาดอยู่ใต้เล่าปี่ยังหักหลังเล่าปี่แล้วชิงเมืองมาได้อีก
ลิโป้ โดย จางกวงเป่ย ใน สามก๊ก ปี 1994
เมื่อโจโฉและเล่าปี่ร่วมมือกันจนจับลิโป้ได้แล้ว ลิโป้โอดร้องขอชีวิต ซึ่งโจโฉก็คิดอยู่เพราะว่าลิโป้มีฝีมือมาก แต่เล่าปี่ส่ายหน้า ทำให้ลิโป้โกรธอย่างมาก และถูกประหารไป แน่นอนว่าโจโฉต้องการคนเก่ง ๆ มารับใช้ ดังนั้นเรื่องราวของกวนอูจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับลิโป้ ขณะที่ลิโป้ไม่มีความภักดี กวนอูภักดีต่อเล่าปี่มาก ขนาดเมื่อโจโฉจับได้แล้วไม่ฆ่า กวนอูรับคำเตียวเลี้ยวว่าจะยอมรับใช้โจโฉจนกว่าจะเจอกับเล่าปี่
สามก๊กนำเสนอความแตกต่างนี้ด้วยผลลัพธ์ของความภักดีและความไม่ภักดีของกวนอูและลิโป้ เพราะลิโป้เคยหักหลังเล่าปี่ เมื่อเขาถูกจับ เล่าปี่จึงไม่ไว้ชีวิต เพราะกวนอูมีความภักดี เมื่อเขาถูกโจโฉจับ โจโฉเลือกที่จะไม่ประหาร และเมื่อกวนอูล้อมโจโฉได้หลังผาแดง กวนอูตอบแทนโจโฉด้วยการปล่อยโจโฉไป (และขงเบ้งไม่ประหารกวนอูเพราะรู้อยู่แล้วว่ากวนอูจะปล่อยโจโฉ ซ้ำเพราะต้องการสมดุลที่ภาคเหนือ)
Kaiki Deishu (Best Girl) ใน Koimonogatari ใน Monogatari second season
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นตัวละครที่ถูกนำเสนอว่าเป็นตัวร้ายที่มีมุมมองของความเป็นคู่ปรับตัวเอกที่ดีที่สุดมากจากซีรีส์ Monogatari ในภาค Nisemonogatari นั่นคือตัวละครของไคคิ เดชู ซึ่งการวิเคราะห์ตัวละครนี้มีความซับซ้อนมาก และการเรียบเรียงก็ยุ่งยากไม่แพ้กัน ดังนั้น ผมจึงขอตัดแยกเอาไว้เป็นพาร์ทที่สองครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา