11 พ.ค. 2023 เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จากชาติที่ถูกฉีกขาดด้วยสงคราม เวียดนามพลิกเศรษฐกิจจนเป็นดาวรุ่งได้อย่างไร

ถ้ามองย้อนกลับไปในปี 1975 ปีที่ไซง่อนแตกรายได้ประชาชาติของเวียดนามอยู่ที่ 200-300 ดอลลาร์ ขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศอยู่ที่หลัก 10,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
อะไร คือ จุดพลิกผันจากประเทศ War Torn Country หรือถูกฉีกขาดด้วยสงคราม ที่ยืดเยื้อกว่า 20 ปี พลิกฟื้นมาเป็นดาวรุ่งในวันนี้
กุญแจดอกสำคัญ คือ โด๋ยเม้ย (Đổi Mới) ก่อนจะเฉลยว่า โด๋ยเม้ย (Đổi Mới) คือ อะไร ย้อนไปในยุคที่เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส มายาวนานก่อนที่เวียดนามจะเริ่มมีความหวัง ฝรั่งเศสจะปลดปล่อยพวกเขาเป็นประเทศอิสระตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลายเป็นว่าฝรั่งเศสให้เอกราชแค่กับกัมพูชา และ สปป.ลาว ยกเว้นเวียดนามทำให้กองกำลังปลดแอกเวียดนาม ภายใต้การนำชื่อ “เวียดมินห์” นำโดยโฮจิมินท์ และผู้บัญชาการทหารอีกคน ต้องเปิดศึกไล่เจ้าอาณานิคมออกไป
ในที่สุด​สามารถผนึกศึกเอาชนะฝรั่งเศสได้เด็ดขาดในปี 1954 ในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ซึ่งอยู่ตรงตะเข็บชายแดนระหว่างสปป.ลาวและเวียดนาม
ในเวลานั้น แทนที่เวียดนามจะได้เอกราช และพัฒนาประเทศตัวเองกลายเป็นว่าฝรั่งเศสเดินเกมในประชาคมนานาชาติ นำเรื่องของเวียดนามเข้าสู่การประชุม Conference Of Geneva
โดยที่ประชุม มีมติให้เวียดนามเป็นเอกราช แต่ต้องถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและใต้ ภายใต้เส้นขนานหมายเลข 17
เวียดนามใต้ปกครองด้วย 2 ตระกูล คือ ตระกูลเหงียน และ ตระกูลโงโง อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐขณะที่เวียดนามเหนือ เลือกอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ท่ามกลางบรรยากาสสงครามเย็นเวลานั้น ทำให้ประเทศเวียดนามต้องอยู่ภายใต้สงครามเวียดนามที่ยืดเยื้อถึง 19 ปี ผ่านมาถึง 5 รัฐบาลของสหรัฐจนสุดท้าย สหรัฐต้องยอมแพ้ เมื่อเวียดกงยึดไซง่อน ของเวียดนามได้ในปี 1975 ในปี 1976 เวียดนามกลายมาเป็นรัฐเอกราชหนึ่งเดียว
การกลับมาของประเทศที่ถูกทำลายโดยสงครามมาร่วม 20 ปีไม่ง่ายเลยบอกกับนโยบายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างเป็นการวางแผนจากส่วนกลางเอกชนประกอบธุรกิจไม่ได้ เพราะไม่อนุญาตให้ถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคล
นอกจากนี้ การปฏิบัติการทางการทหาร ซึ่งเวียดนามส่งกำลังพลไปบุกยึดกัมพูชา ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามขับเคลื่อนไม่ได้
ในแง่การค้าระหว่างประเทศ ช่วงปี 1978-1991 เวียดนามได้เข้าร่วมเครือข่ายเศรษฐกิจ The Council for Mutual Economic Assistance ซึ่งเป็นการรวมตัวของรัฐบริวารของโซเวียต ด้แก่ สหภาพโซเวียต เยอรมันตะวันออก โปแลนด์ บัลแกเรีย โรมาเนีย เช็กโกสโลวาเกีย อัลบาเนีย คิวบา ฮังการี มองโกเลีย​ และ เวียดนาม
ซึ่งรวมกันแล้วถือว่าเป็นเค้กก้อนที่เล็กมากของเศรษฐกิจโลก
ซ้ำร้าย เวียดนามยังถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯและเวทีโลก ในฐานะผู้รุกรานกัมพูชาทำให้เวียดนามไม่มีทางออกในการพัฒนาเศรษฐกิจ
หลังเวียดนามเปิดประเทศได้ 8 ปี ในปี 1984 เศรษฐกิจมีขนาดเล็กมาก ประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปัจจุบัน ประมาณ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชากรอยู่ที่ 200-300 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีชายฝั่งยาว 3,000 กิโลเมตร ทำให้เวียดนามเจอภัยธรรมชาติต่อเนื่อง ผลผลิตทางการเกษตรที่แทบจะเป็นที่พึ่ง 1 เดียวก็มีจำกัดแถมยังเจอวิกฤตเงินเฟ้อ 700% ในปี1984
มาถึงปี 1986 เล สวน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ถึงแก่อสัญกรรมและเปลี่ยนผู้นำใหม่เป็น เจื่อง จิญ พร้อมตั้งเลขาธิการพรรคคนใหม่ คือ เหงียน วัน ลิญเป็นผู้นำสายปฏิรูป โดยมีการพลิกนโยบายครั้งสำคัญ และมีการเปิดแผนปฏิรูปในเชิงเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า โด๋ยเม้ย (Đổi Mới) แปลตรงตัวว่า สร้างสรรค์สิ่งใหม่เปลี่ยนเศรษฐกิจจากสังคมนิยมไปสู่แบบตลาด
ใจความสำคัญของโด๋ยเม้ย คือ ยกเลิกการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง อนุญาตให้ภาคการเกษตรสามารถค้าขายกับเอกชนได้ แทนที่จะต้องผ่านรัฐอย่างเดียวอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการของตัวเองได้ ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กของเวียดนามเริ่มต้นตั้งธุรกิจ
1 ปีถัดมา รัฐบาลเวียดนามได้มีการตรากฎหมายการลงทุนต่างประเทศในเวียดนาม เพื่อดึง FDI หรือการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงเข้าเวียดนาม
ปี 1990 ตรากฎหมายธุรกิจเอกชน รวมถึงกฎหมายระดมทุน เพื่อปูพื้นฐานสู่การตั้งตลาดทุนของเวียดนาม และให้ธนาคารโลกเข้าไปจับระบบการปฏิรูปการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประเทศ
ปี 1992 ความตึงเครียดจากสงครามเย็นผ่อนคลาย เวียดนามยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เข้าสู่ระดับปกติหลังจากมึนตรึงกันมาเป็นทศวรรษ
ปี 1996 เวียดนามมีการจดทะเบียนบริษัททั้งหมด 8,900 แห่ง บทบาทของเอกชนในภาคบริการ ปรับตัวจาก 41% เป็น 76%
และมีระบบให้เมืองต่างๆ บริหารเศรษฐกิจในเมืองของตัวเองได้มากขึ้น เพื่อให้เมืองต่างๆ แข่งขันกันดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ถือเป็นการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของแต่ละเมือง ซึ่งเติบโตได้จากการลงทุน
เช่น เมืองหวิญฟุก (Vĩnh Phúc) เมืองบนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม และ เมืองบิ่ญถ่วน (Bình Thuận) อยู่ไม่ไกลจากนครโฮจิมินห์
จากวันนั้นสู่วันนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว 40% ของเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วย SMEs ส่วนบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Vingroup เติบโตอย่างรวดเร็วไปไกลระดับโลก ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 5% ของ GDP เวียดนามทั้งประเทศ
จุดที่น่าสนใจคือ แม้ในเชิงการเมือง เวียดนามยังเป็นสังคมนิยม แต่ในเชิงเศรษฐกิจต้องยอมรับว่าโด๋ยเม้ย คือ จุดเริ่มต้นสำคัญที่พาเศรษฐกิจเวียดนาม กลายเป็นหนึ่งในอาเซียนที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง
โดย ในปี 2022 เวียดนาม มีเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคถึงกว่า 8%นอกจากนี้เวียดนามตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะเป็นประเทศที่มีรายได้กลางสูง (GDP Per Capita) ภายในปี 2030 และมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นระดับสูง ภายในปี 2045
ที่มา : | WEALTH HISTORY EP 23

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา