22 พ.ค. 2023 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไมปู่ วอร์เรน บัฟเฟต ถึงเข้าซื้อหุ้น น้ำมันดิบเรื่อยๆ

วันนี้จะมาชวนคิดกันว่า อะไรหรือสาเหตุใด ที่ทำให้ ปู่ วอร์เรน บัฟเฟต เข้าซื้อหุ้นเกี่ยวกับน้ำมันดิบ อย่างต่อเนื่อง ปู่กำลังเห็นอะไรอยู่กันแน่
โดยในบทความนี้จะ ยกตัวอย่างในกรณีของสหรัฐบางส่วน และปัจจัยบางส่วน มานำเสนอเท่านั้น
มีเหตุผลอยู่หลายประการที่มีผลกระทบให้ ราคาน้ำมันดิบมีการเปลี่ยนแปลง
แต่สิ่งที่มีผลกระทบ มากที่สุดนั้นคงหนีไม่พ้น
คำว่า "อุปสงค์และอุปทาน (Demand and Supply)"
ต้องขอย้อนความไปสมัยก่อนในช่วงที่ ราคาน้ำมันดิบของโลกเรานั้นยัง ค่อนข้างที่จะเคลื่อนไหวตามกฏของ อุปสงค์และอุปทาน
กระทั่งช่วงปี 2002 ในสหรัฐฯ หลังการเกิดวิกฤตฟองสบู่ตลาดหุ้น (DotCom Crisis) สหรัฐฯได้เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย และประเทศอื่นๆในโลก เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหลายแห่ง ทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลง
หลังจากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำการพิมพ์เงินเพื่อที่ จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยครั้งนั้น นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ "วัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นรอบใหม่" ของสหรัฐฯ
และนั้นก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ "ฟองสบู่ของอุตสาหกรรมน้ำมันดิบ" ของสหรัฐฯเช่นกัน โดยฟองสบู่ลูกนี้เกิดขึ้นด้วยหลายปัจจัย และหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน
  • ความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจและ อัตราการเกิดของประเทศจีน ได้เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจในหลายๆประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการด้านพลังงานนั้น "เพิ่มเป็นเงาตามตัว" ไปด้วย
  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายในประเทศสหรัฐฯเอง
การกลับตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบของสหรัฐฯ นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน
  • การลดปริมาณกำลังการผลิตน้ำมัน ของกลุ่มประเทศโอเปก (OPEC)
จากความต้องการน้ำมันดิบของหลายๆประเทศที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน "ช่วงแรก" ลดลง กลุ่มประเทศโอเปกจึงได้ตัดสินใจ ที่จะลดกำลังการผลิตลง เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบไว้
จากที่กล่าวข้างต้น ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มดีดตัวสูงขึ้น
และขณะที่กลุ่มประเทศโอเปก ลดกำลังการปริมาณผลิตน้ำมันนั้น
ทางประเทศสหรัฐฯ ได้มีการลงทุนใน น้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Oil shale) เพิ่มขึ้น ทำให้ช่วงนั้นก็เป็นช่วงยุคทอง ของอุตสาหกรรมน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เช่นกัน
Oil shale (น้ำมันจากชั้นหินดินดาน) ของสหรัฐฯ นั้นเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะ (Fracking) ราคาน้ำมันดิบที่เริ่มสูงขึ้นตามความต้องการ และนโยบายของรัฐบาลที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมน้ำมันดิบ ในเวลานั้น
เพื่อให้ทันต่อความต้องการ ในเวลานั้นมีการจัดตั้ง บริษัทน้ำมันดิบมากมายในสหรัฐฯ และนี้ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของ ''ฟองสบู่ของอุตสาหกรรมน้ำมันดิบ'' ลูกนี้
1
เพราะในลักษณะการดำเนินงานของธุรกิจน้ำมันดิบนั้น มีต้นทุนที่สูง ภาระหนี้ที่สูง และต้องมีการลงทุนใหม่เรื่อยๆ การจะบริหารความเสี่ยงเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่เพื่อที่จะจัดตั้งบริษัทและบริหารความเสี่ยงธุรกิจน้ำมันดิบให้ได้ บริษัทจำเป็นต้องหาเงินทุนและเงินหมุน จำนวนมากด้วยวิธีต่างๆ การกู้ธนาคาร การระดมทุน การออกตราสารหนี้ต่างๆ และอีกมากมาย และนำเงินนั้นมาบริหารธุรกิจ ทำให้ฟองสบู่ลูกนี้มีขนาดที่ "ใหญ่ขึ้น" ไปอีก
และด้วยปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ จึงนำไปสู่ "การเก็งกำไร" ของราคาน้ำมันของ
นักลงทุุนทั้งรายย่อยและสถาบัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงยิ่งขึ้นไปอีก
จนกระทั่งถึงจุด All Time High ของราคาน้ำมันดิบในสหรัฐที่ประมาณ 140 กว่าดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล
"ฟองสบู่ของอุตสาหกรรมน้ำมันดิบลูกนี้ก็ได้แตกลง" ในวิกฤตการเงินสหรัฐ ปี 2008 (Subprime Crisis)
การเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐ ทำให้ทั้งตลาดหุ้น ราคาน้ำมันดิบ ร่วงลงอย่างรุนแรง และสหรัฐก็ได้กลับเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง
นั้นทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมันดิบของสหรัฐฯ "ล้มละลาย" เป็นจำนวนมาก เนื่องจากการบริหารหนี้ที่ไม่ดี และราคาน้ำมันที่ร่วงอย่างรุนแรง
และถึงแม้ว่า อุตสาหกรรมน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะเผชิญกับวิกฤตหลายต่อหลายครั้ง
แต่ก็ยังฟื้้นตัวและกลับมาลงทุนใหม่ได้ อีกหลายครั้ง และก็ยังคงมีบริษัทน้ำมันดิบในสหรัฐ ที่ยื่นล้มละลายจากปัญหาหนี้ให้เห็นอยู่บ้าง
หรือจะบอกว่าบริษัทน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันตอนนี้นั้น ค่อนข้างที่จะมีความสามารถในการทนต่อแรงกดดัน และการแก้ไขปัญหาต่างๆในการดำเนินงานได้ดีก็ได้
  • หลังจากปี 2008 ผ่านไปอุตสาหกรรมน้ำมันดิบของโลกเรา ก็ได้เจอเหตุการณ์อะไรที่คล้ายๆแบบนี้ อีกหลายครั้ง
ตัวอย่างเช่น
วิกฤตเงินเฟ้อในปี 2014
จากการที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้อง มีการปรับดอกเบี้นนโยบายเพื่อปราบเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบกับราคาน้ำมันดิบ และการดำเนินงานของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมันดิบด้วยเช่นกัน
วิกฤตโรคระบาด (Covid-19) ในปี 2020
เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากผู้คนต้องอยู่บ้านและธุรกิจหยุดชะงัก
จากหลายๆปัจจัย ความต้องการใช้น้ำมันดิบจึงลดลง และเกิดเหตุการณ์ที่ว่า "น้ำมันดิบล้น จนไม่มีที่จะเก็บ"
ซึ่งมันก็ได้กระทบกับการดำเนินงานบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมันดิบด้วยเช่นกัน
และราคาก็ได้กลับมาพุ่งขึ้นสูงหลังจาก ยกเลิกมาตรการ Covid-19
วิกฤตสงครามรัสเซียยูเครน ในปี 2022
สงครามรัสเซียยูเครน นำไปสู่มาตรการลงโทษรัสเซีย (Sanction) ส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาน้ำมันดิบ
รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และสงครามทำให้การส่งออกน้ำมันดิบหยุดชะงัก สิ่งนี้นำไปสู่การลดลงของ ปริมาณน้ำมันดิบทั่วโลกซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้น
นอกจากนี้ สงครามได้เพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตลาดพลังงานทั่วโลก ซึ่งทำให้ ราคาน้ำมันดิบจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มสงคราม และเริ่มลดลงจากความกังวล เรื่องสงครามรัสเซียยูเครนนั้นเริ่มเบาบางลง
วิกฤตเงินเฟ้อในปัจจุบัน (2023 ถึงปัจจุบัน)
จะคล้ายปี 2014 แต่รุนแรงกว่ามากจากการที่โลกของเรา ได้เผชิญกับวิกฤตหลายต่อหลายครั้งต่อเนื่องในเวลาที่ผ่านมา
ภาวะเงินเฟ้อและสงครามรัสเซียยูเครน ที่ยังไม่จบสามารถนำไปสู่ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น
และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในหลายประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(Climate Change)
กฎระเบียบเหล่านี้อาจนำไปสู่ต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับบริษัทน้ำมันดิบ เนื่องจากพวกเขาต้องลงทุนในเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ
และนำไปสู่ความไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนใหม่อุตสาหกรรมน้ำมันดิบ
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ของพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก นั้นก็ยัง "ไม่มากพอ" ที่จะมาทดแทนพลังงานแบบดั้งเดิมได้
ถึงแม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันดิบได้ลดลงมาบ้างพอสมควรแล้ว
แต่นั้นก็เป็นเพราะว่า ความกังวลเรื่องสงครามรัสเซียยูเครนนั้นเริ่มเบาบางลง บวกกับการที่รัฐบาลสหรัฐฯได้นำ คลังน้ำมันสำรองออกมาใช้ "มากที่สุดในรอบ 40 ปี"
ทดแทนในส่วนที่หายไปในตลาด และนำออกมาเพื่อปราบเงินเฟ้อที่มาจากพลังงาน
แล้วรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องซื้อน้ำมันดิบเก็บกลับ เข้าคลังสำรองใหม่หรือไม่?
กลุ่มประเทศโอเปกจะลดปริมาณกำลังการผลิตอีกมั้ย?
สงครามรัสเซียยูเครนและปัญหาเงินเฟ้อจะจบลงเมื่อใด?
อนาคตกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความเข้มงวดมากขึ้นหรือไม่?
เมื่อไหร่ที่การเงินและเศรษฐกิจของโลกจะกลับมาสู่จุด ที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมน้ำมันดิบ อีกครั้ง?
หรือในอีกความหมายหนึ่งคือ
ขณะที่ Demand นั้นหายไปแค่ชั่วคราวและความต้องการน้ำมันดิบกลับตัวมาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
แต่ Supply กลับอ่อนแอลง และมีความผันผวนหรือหายไปเลยจากปัจจัยหลายๆอย่างที่กล่าวมา และยังไม่มีอะไรที่มี ปริมาณและเสถียรภาพมากพอ ที่จะมาทดแทนตรงนี้ได้
เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าแล้ว "อะไรจะทำให้ น้ำมันดิบ แพงขึ้น ในอนาคต"
  • เราจะมาสรุปกันเป็นข้อๆ ให้เข้าใจง่ายโดยหลักๆ ปัจจัยมีอยู่ 5 ประการ
1. การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทาน
หากอุปสงค์ทั่วโลกของน้ำมันดิบยังคงเพิ่มขึ้นในขณะที่อุปทานยังค่อนข้างคงที่หรือลดลง ราคาของน้ำมันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น
ปัจจัยต่างๆ เช่น การเติบโตของประชากร การพัฒนาเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่สามารถนำไปสู่ความต้องการใช้น้ำมันดิบที่สูงขึ้น
2. ปริมาณสำรองน้ำมันดิบของโลกที่ลดลง
น้ำมันดิบเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ด้วยปัจจัยต่างๆ การเพิ่มปริมาณสำรองใหม่จะกลายเป็นเรื่องยากและท้าทายมากขึ้น
3. ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์
ความขัดแย้งหรือการหยุดชะงักในภูมิภาคที่ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ การเมืองโลก สงคราม หรือการคว่ำบาตรในประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่สำคัญ อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบให้สูงขึ้น
4. กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน
ด้วยความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(Climate Change) และการผลักดันให้มีแหล่งพลังงานที่สะอาดขึ้น
รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศจึงใช้ กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น กฎระเบียบเหล่านี้อาจนำไปสู่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริษัทน้ำมันดิบ
เช่น การใช้เทคโนโลยีควบคุมมลพิษหรือการจ่ายภาษีคาร์บอน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนไปสู่แหล่งพลังงานอื่นนั้น อาจลดความต้องการน้ำมันดิบในระยะยาว
แต่การลงทุนเริ่มต้นที่จำเป็นจำนวนมาก สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อาจส่งผลกระทบที่ดีต่อราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นถึงระยะกลาง
5. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
โดยปกติแล้ว น้ำมันดิบจะซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา จากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อปราบเงินเฟ้อ
หากค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ประเทศที่ใช้สกุลเงินเหล่านั้นจะอาศัยจังหวะที่ดอลล่าสหรัฐอ่อนค่าซื้อน้ำมันดิบ อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนในช่วงเวลาหนึ่ง มานำเสนอ สาเหตุและปัจจัยที่จะทำให้ ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นนั้นมีมากมาย
แค่ในระยะสั้นและกลาง ยังไม่มีอะไรสามารถมาทดแทนสิ่งนี้ได้
เหมือนที่ ปู่ วอร์เรน บัฟเฟต พูดไว้ในการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire ครั้งล่าสุด
ว่า "ยังไงมันก็คือสิ่งที่จำเป็น ผู้คนยังต้องใช้"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา