2 มิ.ย. 2023 เวลา 04:39 • อสังหาริมทรัพย์

การออกแบบห้องน้ำ

จากโพสที่แล้ว เราได้รู้จักลักษณะของห้องน้ำกันแล้ว ว่าหลักๆมี 2 แบบคือ แบบมีที่อาบน้ำ(จะเป็นฝักบัว หรือจะเป็นอ่างอาบน้ำ หรือทั้งสองอย่างก็สุดแท้แต่) ในโพสนี้ เราจะว่ากันถึงองค์ประกอบต่างๆที่อยู่ในห้องน้ำที่เราควรคำนึงถึง
ประตูห้องน้ำ
1.ขนาด โดยปกติก็ไม่ควรเล็กกว่า 60 ซม. (ไม่รวมวงกบนะครับ) ถ้าจะให้ดี ก็ซัก 75 ซม.ขึ้นไปก็จะดี เดินเข้าออกสะดวก แต่ถ้าห้องน้ำนี้จะคิดการเผื่อไปถึงอนาคตอันยาวหรือการมีผู้สูงอายุต้องใช้ด้วย ก็ควรจะมีขนาด 8-90 ซมเป็นอย่างน้อย เพื่อให้การเข้าออกของผู้สูงอายุในกรณีที่ต้องมีคนช่วยพยุง หรือใช้ walker ช่วยจะทำได้ค่อนข้างสะดวกหน่อย แต่ถ้าเป็นรถเข็น อันนี้ควรมีซัก 1 เมตรและควรเป็นบานเลื่อนนะครับ
2.วัสดุ ห้องน้ำเป็นห้องที่มีความชื้นสูงหรือเปียกน้ำได้บ่อย ดังนั้นประตูควรเป็นวัสดุที่ทนน้ำ เช่น PVC , uPVC หรือ wPVC สำหรับห้องน้ำที่มีส่วนเปียกหรือประตูมักจะโดนน้ำ
แต่ถ้าเราสามารถจัดวางห้องน้ำให้แยกส่วนเปียกส่วนแห้งได้เป็นอย่างดี การใช้ประตูประเภทอื่นๆ เช่นไม้จริง ไม้อัดกันชื้นก็สามารถทำได้ เพียงแต่ในการล้างห้องน้ำสไตล์ไทยๆเราไม่ว่าจะส่วนเปียกหรือส่วนแห้ง เรามักจะราดน้ำให้ทั่ว ลงน้ำยาและขัดๆๆ ซึ่งประตูก็มักจะโดนน้ำกระเซ็นใส่ ซึ่งในที่สุดประตูไม้ก็อาจจะเกิดการผุและขึ้นราที่ส่วนล่างของประตู
ดังนั้น ถ้าเราเลือกที่จะใช้วัสดุประเภทไม้ ก็ควรปรับเปลี่ยนวิธีการล้างซักหน่อยนะครับ แต่ถ้าเกิดจะใช้ไม้จริงๆ ก็มีวิธีที่จะชะลอการผุกร่อนแบบง่ายๆ แบบ diy ได้ คือการหาสติกเกอร์ที่เป็น PVC กันน้ำมาติดหุ้้มส่วนล่างของบานในทุกๆด้าน (ด้านหน้า ด้านหลัง ขอบข้าง ขอบล่างของบาน) สูงขึ้นมาจากขอบล่างประตูซัก 45 ซม. ก็ช่วยชะลอการผุได้
3.ทิศทางหรือตำแหน่งการวางประตูห้องน้ำ
มีข้อควรคำนึงเล็กๆ คือเมื่อเปิดประตูห้องน้ำแล้ว สิ่งแรกที่ควรเห็นคือ อ่างล้างหน้า เพราะมักจะเป็นภาพที่น่าดูกว่าเห็นชักโครก
ตำแหน่งของประตู ควรจะติดแล้ว เปิดประตูได้ 90 องศาขึ้นไป ไม่ควรมีอะไรมาอยู่ที่ด้านหลังประตูจนทำให้ไม่สามารถเปิดได้สุด
ออกแบบโดย เจ้าของโพส
อ่างล้างหน้า
อ่างล้างหน้า ในท้องตลาดตอนนี้มีรูปแบบตามการติดตั้ง ดังนี้
1.แบบแขวนผนัง เห็นได้ทั่วไปครับ ไม่ต้องมี counter
2.แบบฝัง counter ซึ่งมีแยกย่อยอีก 2 แบบคือ ฝังจากด้านบน ขอบอ่างทับบน counter อีกแบบคืออ่างติดอยู่ใต้ counter ซึ่งอันนี้ เราจะไม่เห็นขอบอ่างใดๆ จะเห็นอ่างเหมือนเป็นหลุมขนาดใหญ่แทน ในกรณีนี้ counter ควรกว้าง 60 ซม.
3.แบบฝั่งครึ่ง counter แบบนี้จะคล้ายๆกับแบบที่ 2 เพียงแต่ใช้ความกว้าง counter น้อยกว่า 60 ซม.(ระยะ A) ซึ่งเหมาะกับห้องที่มีพื้นที่ไม่พอที่จะทำ counter กว้าง 60 ซม. (ตามรูป)
4.แบบวางบน counter คือมีลักษณะคล้ายดังรูป
ซึ่งมีหลากหลายหน้าตา ตามแต่ความชอบ
ที่มา https://www.americanstandard.co.th/th/bathrooms/wash-basins/signature-550mm-vessel
ชักโครก
แบ่งตามการติดตั้ง หลักๆมี 2 แบบ คือแบบแขวนผนัง(รูปที่ 1) แบบตั้งพื้น (แบบโถ 2 ชิ้น) ตามรูปที่ 2 แบบตั้งพื้น(โถชิ้นเดียว) รูปที่ 3
https://www.cotto.com/th/blog/อัปเกรดห้องน้ำสวยแถมสมาร์ท-เลือกสุขภัณฑ์ยังไงให้ตอบโจทย์กับพื้นที่
แต่ละแบบก็จะมีแยกย่อยลงไปที่ระบบ Flush หรือระบบชำระล้าง ผมขอแนบลิงค์อธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ ของ Cotto ไว้ กดตามลิงค์ข้างล่างได้เลยครับ
นอกจากนี้ยังมีระบบออโต้ต่างๆที่มาสนับสนุนความสะดวกสบายในการใช้ของเรา อันนี้ผมขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ ขึ้นกับกำลังทรัพย์ของแต่ละท่านละกันครับ
ทั้ง 2 รูปแบบในการติดตั้งมีข้อดีข้อเสียต่างกันนิดหน่อย
แบบตั้งพื้น ข้อเสียที่ผมได้ยิยนจากลุกค้าคือเรื่องของการทำความสะอาดได้ยากในส่วนด้านหลังฐานชักโครกและรอยยาแนวชักโครกกับพื้น เพราะจะเป็นบริเวณที่ขึ้นราและเห็นได้ชัดเจนมากเนื่องจากรอยยาแนวจะค่อนข้างใหญ่
แบบแขวนผนังจะหมดปัญหาเรื่องการทำความสะอาดและความไม่น่าดูของยาแนว แต่ความสำคัญอยู่ที่การติดตั้งตัวชักโครกนั้น ต้องติดตั้งได้ตามมาตราฐานที่ผู้ผลิตแนะนำมาในคู่มือซึ่งจะปลอดภัยในการใช้งานและการรับน้ำหนักคนที่ใช้จะได้ตามที่ผู้ผลิตกำหนด (ผู้ผลิตจะขายตัวชักโครกพร้อมอุปกรณ์โครงในการติดตั้งต่างๆมาให้ครบ)
การเดินท่อน้ำดีและท่อน้ำทิ้งต้องได้ตำแหน่งตามที่ผู้ผลิตกำหนดจะทำให้การต่อไม่มีปัญหารั่วซึมแต่อย่างใด
ฝักบัว
มีหลากหลายแบบและหน้าตา
ที่เห็นในท้องตลาดก็จะมีแบบปกติที่ทั่วไปใช้กับแบบที่เรียกว่า Rain shower ถ้าอยากได้ Rain shower ผมแนะนำแบบที่เป็นก้านท่อพร้อมสวิทซ์สลับระหว่างฝักบัวปกติและหัว rain shower จะดีกว่าแบบที่เป็นแต่หัวแต่ส่วนท่อนั้นฝังในผนัง เหตุผลคือสะดวกในการดูและ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ง่าย ลดปัญหาเรื่องท่อแตกไป 1 จุด และในส่วนหัวฝักบัวแบบปกติมักจะปรับระดับสูงต่ำได้ตามความต้องการ (ไว้จะคุยเรื่องตำแหน่งการติดตั้งอีกครั้งนะครับ)
กระจกเงา
อันนี้ก็มีหลากหลายรูปแบบครับ พอจำแนกได้ดังนี้
1.ซื้อสำเร็จรูปมาใช้ ขนาดและรูปทรงลวดลาย แล้วแต่ความชอบครับ ส่วนเรื่องตำแหน่งในการติด คร่าวๆคือกึ่งกลางของกระจกควรสูงจากพื้นห้องน้ำ 1.50 เมตร (เป็นความสูง ระดับสายตามาตราฐานของคนไทย หากผู้ใช้มีความสูงหรือเตี้ยมากกว่านี้ อาจจะต้องพิจารณาตำแหน่งให้ดี ไว้มาคุยในรายละเอียดอีกทีนะครับ)
นอกจากนี้ ยังมีแบบที่เป็นตู้สำเร็จด้านหลังกระจกเงา อันนี้ก็จะดีสำหรับคนที่ห้องนำเล็กและไม่มีพื้นที่เก็บของในห้องน้ำ
2.ให้ช่างทำตามรูปแบบหรือขนาดที่ต้องการ
ในกรณีนี้ คือการสั่งกระจกเงามาแล้วให้ช่างติดตั้งลงบนผนังห้องน้ำเลย มีข้อควรระวังคือ กระจกเงาควรติดลงบนแผ่นไม้อัดหรือแผ่นซีเมนต์บอร์ดก่อน ไม่ควรติดตั้งลงบนผนังโดยตรงเพราะจะทำให้ปรอทด้านหลังเสียหายได้ง่าย
ข้อเสียถ้าเทียบกับแบบแรกคือ การจะเปลี่ยนจะทำได้ยุ่งยากกว่าแบบข้อ 1 มาก แต่ข้อดีคือสามารถเลือกขนาดให้เข้ากับพื้นที่ผนังที่เหลือและความต้องการของเราได้
ผลพลอยได้ของกระจกเงาใหญ่จะช่วยให้ความรู้สึกว่าห้องน้ำเรากว้างด้วย
อ่างอาบน้ำ
จริงไม่อยากแนะนำให้ติดตั้ง เพราะ
1.เสียพื้นที่ในห้องน้ำมาก
2.หลายๆกรณีที่เคยทำให้ลูกค้า สุดท้ายใช้งานน้อยมาก ต้องรื้อออก เพราะการใช้งานต้องเปลืองน้ำ และต้องการแชมพูดเฉพาะเพื่อช่วยให้เกิดฟองลอยละล่องเต็มอ่าง
3.อันตรายในการเข้าออกอ่างอาบน้ำ จำเป็นต้องมีการติดตั้งราวจับเพิ่มเติม โดยเฉพาะเมื่อเราแก่ตัวไปหรือมีผู้สูงอายุใช้งานร่วม โดยเฉพาะบางครั้งต้องการประหยัดที่ ก็จะรวมส่วนฝักบัวอาบน้ำอยู่ในบริเวณอ่างด้วย ยิ่งอันตรายมากขึ้น
4.เมื่อเกิดการรั่วซึมใต้อ่าง การซ่อมจะทำได้ค่อนข้างยาก
5.กรณีมีเครื่องฉีดฟองหรือที่เรียกว่าอ่าง Jaguzzi หรือ อ่างที่มีระบบน้ำวน ต้องมีการทำพื้นที่ใต้อ่างให้สามารถ service ได้ ระบบไฟฟ้าใต้อ่างต้องติดตั้งเป็นอย่างดี
การแบ่งพื้นที่ส่วนเปียกและส่วนแห้ง
มีทั้งแบบที่ก่อผนังถาวรพร้อมกรุกระเบื้องเซรามิค หรือแบบกั้นด้วยกระจก หรือจะซื้อชุดตู้อาบน้ำสำเร็จมาใช้ อันนี้ได้ทุกกรณีตามความเหมาะสมของกระเป๋าตังค์และความชอบ
การก่อผนังพร้อมกรุกระเบื้อง ลงทุนทีเดียวจบไม่ต้องดูแลเยอะ จะถูกจะแพงขึ้นกับชนิดและลวดลายกระเบื้องที่นำมาปู
กั้นด้วยกระจก (จะมีหรือไม่มีประตูก็ได้) อันนี้มีข้อควรคำนึงคือกระจกต้องเป็นกระจกเทมเปอร์เท่านั้น เพราะเวลาแตกจะเป็นเม็ดๆไม่บาดคนใช้งาน แต่การดูแลคราบสบู่บนกระจกไม่ง่ายสำหรับคนที่ไม่ชอบการทำความสะอาดห้องน้ำ
ไม่อยากให้เลือกทีเป็นอะคริลิค เพราะเกิดคราบติด ขัดออกยากและมีโอกาสเป็นรอย ยิ่งทำให้ความสวยงามลดลง
ตู้อาบน้ำสำเร็จ อันนี้ต้องระวังตอนติดตั้ง ต้องทำให้ถูกต้องตามคู่มือการติดตั้งและคำแนะนำของผู้ผลิต บริเวณใต้ฐานควรมีการทาซีเมนต์กันซึมเพิ่มเพื่อความแน่ใจว่าหากมีน้ำรั่วจากตู้จะไม่รั่วลงไปห้องข้างใต้ได้
ราวแขวนผ้า และขอแขวนผ้า
มีหลากหลายหน้าตา หลายขนาด วัสดุหลักๆจะมี เหล็กชุบ กับที่เป็นสแตนเลส 304
ผมขอแนะนำให้เลือกซื้อที่เป็นสแตนเลสเลยครับ ใช้งานได้ยาวนานกว่าในราคาที่สูงกว่าไม่มาก แต่ใช้จนลืม ไม่งั้นถ้าใช้แบบเหล็กเคลือบซักพักจะเป็นสนิมครับ (ไว้จะคุยเรื่องตำแหน่งการติดตั้งอีกครั้งนะครับ)
สายฉีดชำระ
สายฉีดชำระควรอยู่ในตำแหน่งที่หยิบจับได้สะดวก แต่ไม่โดดเด่นจนเกินไป เพื่อความสวยงามน่ามอง ส่วนจะอยู่ซ้ายหรือขวาของชักโครก อันนี้ปัญหาโลกแตกครับ แล้วแต่ความถนัด แต่ที่ควรมีเลยคือวาล์วปิดเปิด เพราะสายฉีดชำระเป็นอุปกรณ์ที่เสียบ่อยมาก
ที่ใส่กระดาษทิชชู
อยู่ในบริเวณที่ติดตั้งชักโครก และไม่ควรอยู่ใกล้ส่วนเปียกหรือตำแหน่งที่โดนน้ำกระเซ็นโดนได้่ การติดตั้งควรจะวัดจากปลายชักโครกออกไปข้างหน้าอีกประมาณ 15-20 ซม.ถ้าทำได้หรือมีระยะให้ติดตั้งได้ แต่ถ้าไม่ได้ มีข้อทดลองง่ายๆคือ ลองสมมติว่าเรานั่งอยู่ที่ชักโครก เราจะเอื้อมไปหยิบที่ระยะไหนได้สะดวก เพราะประสบการณ์เจอบางทีติดค่อนไปข้างหลังมากไปหน่อย ต้องเอี้ยวตัวไปหยิบ ลำบากดีแท้
ข้อควรคำนึงในการเลือกกระเบื้อง
มีข้อควรคำนึงเล็กน้อย ดังนี้ครับ
1.กระเบื้องพื้นและผนังถ้าได้ขนาดที่เท่ากัน จะทำให้เกิดรอยยาแนวที่ตรงกันเป็นตารางที่สวยงาม เช่นกระเบื้องพื้นและผนังเป็น 30x30 ซม. ทั้งหมด หรือเป็นแบบ 30x60 ผสม เพราะยังสามารถจัดให้รอยต่อมันตรงกันได้
2.ไม่ควรเอากระเบื้องผนังมาปูพื้น เพราะเวลาเปียกน้ำและคราบสบู่จะลื่นได้ (ระวังคำแนะนำของคนขายบางคนชอบบอก ใช้แทนกันได้)
3.กระเบื้องพื้นควรเป็นกระเบื้องที่ออกแบบมาสำหรับปูพื้นโดยเฉพาะ หรือให้ดูที่ค่า R ควรมีค่าตั้งแต่ 10 ขึ้นไป
โพสนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ โพสหน้าจะมาคุยรายละเอียดอื่นๆในการทำห้องน้ำ เป็นห้องเล้กๆที่ไม่เล็กเลยครับ
หวังว่าคงเป็นประโยชน์บางนะครับ
ใครมีอะไรสงสัยหรือมีประเด็นอื่นที่จะถาม ทิ้งไว้ในคอมเมนต์ได้เลยครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา