7 มิ.ย. 2023 เวลา 12:27 • หนังสือ

"กรอบความคิดแบบช่างฝีมือ"กับ"กรอบความคิดแบบยึดความหลงใหล"

ช่วงนี้กำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ครับ ชื่อหนังสือคือ "SKILL BEFORE PASSION" ของคุณ Cal Newport ปัจจุบันยังอ่านไม่จบ แต่ผมจะขอหยิบหนึ่งในประเด็นสำคัญของหนังสือมาเขียนเป็นบทความนี้ เพราะค่อนข้างชอบเนื้อหาทีเดียวครับ
หน้าปกหนังสือครับบ
ในหนังสือเล่มนี้ Cal ได้เน้นย้ำเรื่องความสำคัญของกรอบความคิดแบบหนึ่งครับ ก็คือ "กรอบความคิดแบบช่างฝีมือ" ซึ่งเป็นกรอบความความคิดที่ควรจะมีสำหรับการทำงานและการดำเนินชีวิตครับ
นิยามของกรอบความคิดแบบช่างฝีมือคือ กรอบความคิดที่ให้ความสำคัญกับตัวผลงานเป็นหลักและให้ความสำคัญกับคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการทำงานของตัวเอง กล่าวคือ กรอบความคิดแบบช่างฝีมือจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่คุณจะมอบให้กับโลกใบนี้
โดยผู้เขียนได้ยกกรอบความคิดอีกแบบหนึ่งคือ "กรอบความคิดแบบยึดความหลงใหล" นิยามคือ กรอบความคิดที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ตัวเองได้รับจากการทำงานและให้ความสำคัญกับสิ่งที่โลกจะมอบให้กับคุณ
กรอบความคิดแบบช่างฝีมือนั้นมุ่งเน้นให้เราพัฒนาตัวเองให้มากพอจน"เก่งแบบไม่มีใครกล้าเมิน" ในขณะที่กรอบความคิดแบบยึดความหลงใหลนั้นยึดหลักที่ว่า งานที่เรากำลังทำนั้นตอบโจทย์ชีวิตหรือทำให้ตัวเองมีความสุขได้หรือไม่
ในสังคมยุคปัจจุบัน หนึ่งในแนวคิดที่มีมาตลอดและผู้คนมักจะได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งคือ "การทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก" นี่เป็นหนึ่งในรูปแบบของกรอบความคิดแบบยึดความหลงใหล แน่นอนครับว่าฟังแล้วอาจดูดี แต่แนวความคิดนี้มีข้อถกเถียงอยู่ครับ
เพราะในโลกความจริงแล้วมีผู้คนจำนวนน้อยมากๆที่จะได้ทำงานในสิ่งที่เรารักอย่างแท้จริง และยิ่งอ้างอิงจากหนังสือแล้ว ผู้เขียนได้กล่าวว่า กลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จหลายๆคนก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จจากการเลือกทำสิ่งที่ตัวเองรัก
หากแต่เป็นการรักในสิ่งที่ตัวเองทำมาอยู่ตลอดจนเกิดความเชี่ยวชาญ และสุดท้ายก็กลายเป็นการชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ
การยึดตามแนวคิดทำในสิ่งที่ตัวเองรักนั้นจะทำให้เราตั้งข้อสงสัยกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นมันทำให้เรามีความสุขหรือไม่ ซึ่งไปๆมาๆแล้วความคิดเหล่านั้นก็น่าจะทำให้เรามีความทุกข์หนักกว่าเดิม
บางทีอาจถึงขั้นรู้สึกผิดกับตัวเองที่ไม่สามารถหาสิ่งที่ตัวเองชอบและรักในการทำงานได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักตั้งแต่เริ่มแรกเหมือนกัน
ดังนั้นกรอบความคิดแบบช่างฝีมือนั้นจึงสนับสนุนให้เราพัฒนาทักษะและความสามารถของตัวเองในด้านที่ถนัดและมีคุณค่าแก่สังคมให้มากๆเพื่อสั่งสมสิ่งที่เรียกว่า "ต้นทุนทางอาชีพ" เพราะเมื่อเรามีต้นทุนทางอาชีพมากพอ เราจะเปิดโอกาสในการทำสิ่งต่างๆได้มากขึ้นจากความรู้ความสามารถและทักษะที่เรามีครับ
เมื่อเราเก่งในทักษะใดทักษะหนึ่งแล้ว เราก็จะมีแนวโน้มรักในสิ่งที่เราทำไปเอง ซึ่งแตกต่างกับการตามหางานที่เรารักที่เราก็จะมีแนวโน้มตามหางานนั้นไปเรื่อยๆ และแน่นอนว่านั่นจะทำให้เราไม่ได้มีเวลาใช้ไปกับการพัฒนาทักษะของตัวเองได้เลย
เพราะเราเสียเวลาไปกับการตามหางานที่เรารัก จนไม่ได้มีเวลาไปพัฒนาทักษะและฝีมือของตัวเองให้ชำนาญพอที่จะมีคุณค่าและเกิดประโยชน์ต่อสังคมครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้นในหนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงหลักการอื่นๆที่จะเชื่อมโยงกับกรอบความคิดแบบช่างฝีมือครับ ซึ่งถ้าเอามาเขียนทั้งหมดเกรงว่าบทความนี้จะเป็นบทความที่ยาวมาก แนะนำให้ไปลองหามาอ่านดูครับ ส่วนตัวผมค่อนข้างชอบเลยทีเดียว
Credit รูป : Gencraft (AI)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา