9 มิ.ย. 2023 เวลา 12:50 • หนังสือ

การสั่งสมต้นทุนทางอาชีพ

บทความนี้อ้างอิงเนื้อหาหลักๆมาจากหนังสือ "SKILL BEFORE PASSION" ครับ ณ ปัจจุบันตอนนี้ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ก็เลยมาเขียนสรุปด้วยสำนวนตัวเองในฉบับที่ตัวเองเข้าใจครับ
คำว่า "ต้นทุนทางอาชีพ" มีความหมายคือ ทักษะและความสามารถของตัวเราเองที่ได้มีการสั่งสมมาเป็นระยะเวลายาวนานพอจนเกิดความเชี่ยวชาญในทักษะนั้นๆ
ในหนังสือ "SKILL BEFORE PASSION" ผู้เขียนได้กล่าวว่าการมีต้นทุนทางอาชีพนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่จะต่อยอดการทำงานต่อไปในชีวิต เพราะการมีต้นทุนทางอาชีพที่สูงพอในด้านใดด้านหนึ่งจะทำให้เราเปรียบเสมือนว่ามีแต้มต่อในการทำงานที่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนทางอาชีพของตัวเราเอง
ทั้งนี้คำว่าต้นทุนทางอาชีพไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ทักษะที่เป็นรูปแบบ Hard Skills เท่านั้น แต่คำว่าต้นทุนทางอาชีพได้ครอบคลุมไปในทุกๆเรื่องที่ทำให้เรามีความสามารถและแต้มต่อที่ได้เปรียบกว่าคนอื่น
อาจเรียกว่า Soft Skills ได้เช่นเดียวกัน แต่ความเห็นส่วนตัวผมว่ามันครอบคลุมไปมากกว่าแค่คำสองคำครับ
ยกตัวอย่างสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นต้นทุนทางอาชีพได้ : ทักษะทางด้านภาษา การเจรจาต่อรอง การมีประสบการณ์ในการทำงานที่ไม่เหมือนใครอื่น การรู้จักผู้คนเยอะมากๆและมีช่องทางการติดต่อด้วย(Connections) การมีความรู้หรือแหล่งความรู้ที่เป็นเรื่่องใหม่ๆและเราเข้าใจในเรื่องนั้น และอื่นๆอีกมากมายครับที่ผมมองว่าสามารถนับว่าเป็นต้นทุนทางอาชีพได้ทั้งนั้น
ตัวผู้เขียนเองได้กล่าวไว้ว่า การมีต้นทุนทางอาชีพที่มากพอจะทำให้เราสามารถนำต้นทุนทางอาชีพเหล่านั้นไปแลกกับงานที่มีความหมายได้ กล่าวคือ ผู้เขียนสนับสนุนให้เราพัฒนาทักษะของตัวเราเองให้มากพอจนมีสิ่งที่เรียกว่าแต้มต่อ แล้วค่อยนำทักษะเหล่านั้นไปทำงานหรืออาชีพที่เราคิดว่าเป็นความชอบหรือ Passions ของเราได้
เพราะการที่เราไม่มีต้นทุนทางอาชีพที่มากพอจะส่งผลเสียค่อนข้างมาก ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างถึงนักการตลาดคนหนึ่ง ที่ตัวเองมีต้นทุนทางอาชีพในด้านการตลาดอยู่แล้ว แต่มี Passions ในเรื่องของการเต้น จึงตัดสินใจที่จะลาออกจากงานของตัวเองแล้วไปลงเรียนคอร์สการเต้น แล้วมาเปิดเป็นโรงเรียนสอนเต้นเพราะคิดว่านี่เป็นงานที่ตัวเองตามหาและใฝ่ฝันมาตลอด
ปรากฏว่า นักการตลาดคนนี้ก็พบกับความล้มเหลวในการเปิดโรงเรียนสอนเต้น ทั้งที่ตัวเขาได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักแล้ว แต่ทำไมถึงยังประสบพบเจอกับความล้มเหลวในการเปิดโรงเรียนสอนเต้น
นั่นก็เพราะว่าเค้าไม่มีต้นทุนทางอาชีพในด้านการเต้นที่มากพอจะมาเปิดโรงเรียนสอนเต้นเองครับ และจากเรื่องราวนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากทีเดียวที่นักการตลาดคนนี้ได้ตัดสินใจลาออกมาทันทีเพื่อมาทำตามความฝัน แต่เพราะไม่มีต้นทุนทางอาชีพที่มากพอจึงไม่ประสบความสำเร็จ
นี่จึงเป็นความสำคัญของต้นทุนทางอาชีพครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื้อหาในบทความนี้เป็นมุมมองของตัวผู้เขียนกับมุมมองของตัวผมเองผสมปนเปอยู่ด้วย ถ้าอยากที่จะ Discuss ก็สามารถทำได้เต็มที่ครับ
ผมเชื่อว่าการได้ถกเถียงกันอย่างมีเหตุผลจะทำให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้าได้มากยิ่งขึ้นครับ
Credit รูป : Gencraft (AI)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา