20 มิ.ย. 2023 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

การส่งออกทั่วโลกยังคงดูจะซบเซาต่อไปสักพัก

การส่งออกทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มจะชะลอตัวแม้ตัวเลขการส่งออกในหลายประเทศจะฟื้นตัวขึ้นบ้างในช่วงต้นปี 2566 ข้อมูลล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกในหลายพื้นที่เริ่มกลับมาหดตัวอีกครั้ง
ยกตัวอย่างเช่นสหรัฐฯ ที่การส่งออกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลดลงไปอยู่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ 249,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า(แผนภูมิ 1)
โดยสาเหตุหลักก็มาจากความต้องการทั่วโลกที่อ่อนแอลง เช่นเดียวกัน การส่งออกของจีนในเดือนพฤษภาคมก็หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ -7.5% (แผนภูมิ 2)
และการส่งออกของไต้หวันก็หดตัวมาติดต่อกันเป็นเวลา 9 เดือนแล้วเนื่องจากความต้องการซื้อสินค้าเทคโนโลยีทั่วโลกที่ลดลง โดยเฉพาะจากจีน โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ -14.1% (แผนภูมิ 3)
ส่วนการส่งออกของญี่ปุ่น แม้จะโตขึ้น 2.6% ในเดือนเมษายน แต่ตัวเลขนี้ก็เป็นการเติบโตที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 ซึ่งสาตุหลักก็มาจากการส่งออกไปประเทศจีนที่ลดลง (แผนภูมิ 4)
ในช่วงถัดไป การส่งออกทั่วโลกก็ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความต้องการที่ลดลงท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ ที่ยังคงต้องสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงและตลาดแรงงานที่ตึงตัวอยู่ ก็มีแนวโน้มว่าจะลดดอกเบี้ยได้ช้ากว่า
อันที่จริงแล้ว สหรัฐฯ ก็อาจจะเพิ่งตัดสินใจเลื่อนการหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปหลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนเมษายนยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ อาจจะขึ้นดอกเบียนโยบายเป็น 5.25 – 5.50% ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
จากรายงานของ Capital Economics สหรัฐฯ น่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า ในขณะที่ยุโรปและอังกฤษจะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2567 นี่แปลว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงอาจยังคงกดดันความต้องการทั่วโลกต่อไป
นอกจากนี้ การส่งออกในบางประเทศที่ดูดีขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนแรกของปี ก็มาจาการส่งออกยานยนต์เป็นหลัก อย่างในจีน การส่งออกยานพาหนะในเดือนมีนาคม เพียงแค่เดือนเดียว ก็โตถึง 110% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้าแล้ว โดยการส่งออกรถยนต์ในไตรมาส 1 ของจีนเพิ่มขึ้น 70%
ในทำนองเดียวกัน การส่งออกรถยนต์ของเกาหลีใต้แตะระดับสูงสุดที่เคยมีมาในไตรมาส 1 ปี 2565 โดยโตขึ้น 40% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนใหญ่น่าจะมาจากการที่ปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายและความต้องการซื้อของคนที่อัดอั้นมาในช่วงการระบาดถูกปลดปล่อยในช่วงต้นปี ซึ่งปัจจัยบวกเหล่านี้มีแนวโน้มจะหายไปเมื่อเจอกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงและเศรษฐกิจทั่วโลกที่ซบเซา
ดังนั้น การฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงต้นปีจึงไม่น่าจะใช่สัญญาณที่บอกว่าภาคการส่งออกทั่วโลกนั้นกลับมาแล้ว พูดได้ว่าการส่งออกทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายในปีนี้และน่าจะยังคงอ่อนแอไปอีกสักพัก ทั้งนี้การฟื้นตัวน่าจะมาหลังจากที่นโยบายการเงินในหลายประเทศเริ่มผ่อนคลาย
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา