Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
4 ก.ค. 2023 เวลา 00:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ อีกหนึ่งความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลก
ในช่วงต้นปี หลายคนคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ความต้องการซื้อทั่วโลกกลับมา แต่มุมมองนี้เริ่มดูเป็นไปได้ยากขึ้นหลังจากที่แรงกดดันมากมายเริ่มก่อตัวในประเทศ
แรงกดดันอย่างแรก คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังยกเลิกมาตรการควบคุมโรคที่ดูจะแผ่วลงเร็วกว่าที่คาด รายงานจากสำนักงานสถิติของจีน ชี้ให้เห็นว่าอัตราการว่างงานล่าสุดของหนุ่มสามวัย 16-24 ปี ในเดือนพฤษภาคม แตะระดับสูงสุดที่เคยมีที่มากกว่า 20%
ในขณะที่อัตราว่างงานของคนทุกวัยอยู่ที่ 5.2% ในเดือนเดียวกัน นอกจากนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจมากมายก็ออกมาต่ำกว่าที่คาดด้วย อย่างการค้าปลีกก็โตขึ้น 12.7%
ซึ่งต่ำกว่าที่ Reuter Polls คาดไว้ที่ 13.6%
ส่วนดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้น 3.5% และ 4.0% ตามลำดับ
ซึ่ง Reuter Polls คาดไว้ว่าทั้งสองดัชนีจะโตเร็วกว่านี้ที่ 3.6% และ 4.4% ตามลำดับ แม้การฟื้นตัวที่แผ่วลงน่าจะทำให้รัฐบาลจีนวางแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่านี่คงใช้เวลาสักพัก เพราะการออกโยบายต้องมีการเตรียมการมากมายกว่าที่จะได้เริ่มใช้จริงๆ
แรงกดดันที่สอง คือการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงอ่อนแอ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเจอปัญหาหนักหลังจากที่รัฐบาลออกนโยบายจำกัดหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ และทำให้บริษัทมากมายหาเงินมาหมุนไม่ทันจนต้องผิดนัดชำระหนี้กันยกใหญ่
มิหนำซ้ำการระบาดของโควิด 19 ก็มาทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนในภาคอสังหาฯ อีกด้วย ซึ่งแม้จะมีมาตรการช่วยเหลือออกมา มีการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังยกเลิกการล็อกดาวน์
และมีอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่ค่อนข้างถูก ความต้องการซื้อบ้านก็ยังคงดูจะไม่ฟื้นตัวดีสักเท่าไร เห็นได้จากราคาบ้านใหม่ในเดือนพฤษภาคมที่โตขึ้นเพียง 0.1% หลังจากที่หดตัว 0.2% ในเดือนก่อนหน้า (แผนภูมิ 1)
นี่แปลว่าการเติบโตของราคาบ้านมีโอกาสอ่อนแอลงกว่านี้อีก ถ้าความต้องการซื้อที่อัดอั้นมาในช่วงล็อกดาวน์แผ่วลงในอนาคต
จากสถานการณ์เหล่านี้ Goldman Sachs ได้คาดการณ์ว่าภาคอสังหาฯ ของจีนจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว L (คือโตช้าเป็นเวลาสักระยะ) ซึ่งถ้าอุตสาหกรรมนี้ยังคงอ่อนแอต่อไปจนทำให้เกิดความกลัวในหมู่ธนาคารและผู้คนทั่วไป เศรษฐกิจจีนก็มีโอกาสฟื้นตัวช้าลงอีกอย่างมาก
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ตึงเครียดก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจีนด้วย แม้ว่าการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ
และจีนในกรุงปักกิ่งในอาทิตย์ที่ผ่านมา จะสร้างความหวังให้คนมากมายว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอาจเริ่มดีขึ้น แต่บริษัทต่างๆ ก็เริ่มย้ายออกจากจีนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเรื่องนี้กันแล้ว
อย่างบริษัท Astra-Zeneca ก็ได้เริ่มวางแผนที่จะย้ายบริษัทออกจากจีนไปตั้งที่ฮ่องกงแทน ส่วนธุรกิจเงินร่วมลงทุน Sequoia ก็เพิ่งประกาศแผนการย้ายถิ่นฐานที่คล้ายกันไป
พูดง่ายๆ คือ ไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะดีขึ้นหรือไม่ บริษัทมากมายก็น่าจะยังคงหาที่ใหม่ๆในการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเนื่องจากผลลัพธ์ของการเจรจายังคงไม่แน่นอน ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ ก็จะยังคงเป็นความเสี่ยงใหญ่สำหรับจีนและทั่วโลก
จากแรงกดดันเหล่านี้ ธนาคารและศูนย์วิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ (ตาราง 1) ยกตัวอย่างเช่น Goldman Sachs ที่เพิ่งลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนในปี 2566 จาก 6.0% เหลือ 5.4%
แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดูอ่อนแอของประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอย่างจีน ได้เพิ่มความเสี่ยงที่ความต้องการซื้อทั่วโลกจะชะลอตัวลงอีก จากเดิมที่ความต้องการซื้อทั่วโลกเจอปัญหาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอยู่แล้ว นี่อาจแปลว่าการค้าระหว่างประเทศจะยังคงอ่อนแอไปอีกสักพัก
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
เศรษฐกิจจีน
ข่าวเศรษฐกิจ
จีน
3 บันทึก
14
2
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Global Economic Update
3
14
2
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย