23 มิ.ย. 2023 เวลา 11:10 • ประวัติศาสตร์
ปราก

เรื่องที่ 2: Powder tower หอคอยฝุ่นคลุ้งและนาฬิกาที่หายไป

ถ้าจะแปลตรงตัว Powder tower ก็หมายถึงหอคอยแห่งฝุ่น แต่ชื่อมันจะแปลกๆสักหน่อย เลยขอใช้ชื่อบทว่าหอคอยฝุ่นคลุ้ง ซึ่งที่มาของชื่อนี้ได้มาจาก 1 ในเรื่องเล่าจากอดีต ในยุคที่ผู้คนเดินทางด้วยรถม้าและยังไม่มีถนนปูอิฐหรือราดยางมะตอย
Powder tower แห่งนี้เป็นประตูสำคัญที่สร้างขึ้นในช่วงปี 1470 เป็นประตูเมืองสำคัญที่ใช้ตรงเข้าย่านเมืองเก่า โดยเฉพาะการเดินทางจากโบฮิเมียตะวันออก และยังสามารถเดินทางผ่านบนถนนราชวงศ์ (Royal road) เพื่อตรงถึงโบสถ์ St. Vitus Cathedral ที่ตั้งอยู่บริเวณปราสาทปราก ทำให้มีผู้ใช้งานประตูทางเข้าแห่งนี้จำนวนมาก ทำให้ถนนและบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยฝุ่นที่ปลิวว่อนตามแรงวิ่งของรถม้า จนเป็นที่มาของชื่อ Powder tower จนมาถึงทุกวันนี้นั้นเอง
แต่เดี๋ยวก่อน... เมื่อกี้ใช้คำว่า 1 ในเรื่องเล่า เพราะฉะนั้นมันยังมีอีกเรื่องนึง ในเรื่องเล่าที่สองนี้ เราอาจจะต้องเปลี่ยนชื่อตอนจากหอคอยฝุ่นคลุ้งเป็นหอคอยดินปืนแทน เพราะ Powder จะไม่ได้หมายถึงฝุ่นหรือผงธรรมดาทั่วไป แต่หมายถึง Gunpowder หรือดินปืนนั่นเอง เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 หอคอยแห่งนี้เคยถูกใช้เป็นที่เก็บดินปืนจริงๆ และไม่สามารถสรุปได้ว่าชื่อ Powder tower แห่งนี้ ถูกขนานนามไว้ในช่วงไหน ทำมห้ไม่ทราบว่าที่มาของชื่อหอคอยแห่งนี้มาจากฝุ่นที่ฟุ้งกระจายหรือจากการที่เป็นที่เก็บสะสมดินปืนในอดีต
แม้ว่าปริศนาเรื่องชื่อจะไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่เราสามารถเล่าเรื่องสาเหตุของการสร้างหอคอยอันยิ่งใหญ่ที่แม้จะถ่ายด้วยเลนส์ wide แล้วยังต้องหามุม หงายหน้า ถ่ายจนเมื่อยคอได้อยู่นะ
1
เดิมทีปรากเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรื่องและเป็นที่นิยมตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 13 แล้ว ทำให้มีผู้คนสัญจรผ่านไปมาจำนวนมาก และในยุคนั้นก็ยังไม่มีการสร้างหอคอยอันนี้ขึ้น มีเพียงหอคอยเก่าโกโรโกโส ที่เป็นประตูผ่านเข้าทางเมืองเก่า ซึ่งเป็นที่ขัดหูขัดตาของประชาชน รวมถึงราชวงศ์ในยุคนั้นอยู่นาน เพราะขบวนฉลองบรมราชาภิเษกของกษัตริย์โบฮิเมียเองก็จำเป็นที่จะต้องผ่านประตูแห่งนี้ในทุกๆ ปี จนประตูเน่าๆ แห่งนี้แทบจะได้ชื่อว่าประตูราชัน
จนกระทั่งในช่วงปี 1470 ประตูราชัน (เก่าๆ) อันนั้นก็ถูกทุบทิ้งและสร้างใหม่เป็น Powder tower ในปัจจุบัน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากเมืองเก่า เพื่อปรับทัศนียภาพของเมือง
จากเรื่องราวทั้งหมด หอคอยแห่งนี้ดูเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นทั้งประตูเข้าเมืองเก่า สถานที่เก็บดินปืน แต่...รู้หรือไม่ ที่หอคอยแห่งนี้ไม่มีนาฬิกาอยู่เลย อันที่จริงต้องใช้คำว่า (เคย) มีนาฬิกาอยู่ และมันได้หายไปหลังจากเรื่องราวต่อไปนี้
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ววว... อ่ะแฮ่ม ในวันปกติธรรมดาวันหนึ่งของทหารยามประจำ Powder tower ระหว่างเฝ้ายามตรวจเช็กคนเข้าเมือง เขาได้พบกับชายคนหนึ่งที่เข้ามาเร่งเร้าว่า เขาต้องการเข้าเมืองเดี๋ยวนี้ เขามีเรื่องด่วนจำเป็นต้องเข้าพบท่านผู้พิพากษาเป็นการด่วนที่สุด และคนขับรถม้าของชายคนนั้นยังย้ำเพิ่มเติมกับนายทหารหนุ่มว่า พวกเขาจำเป็นต้องเข้าพบท่านผู้พิพากษาก่อนเข็มนาฬิกาจะชี้ไปเป็นเวลาบ่าย เพราะต้องการมอบอัญมณีหายากชิ้นนี้แก่ผู้พิพากษา พร้อมทั้งยื่นหินเม็ดงามที่ส่องประกายแวววาวออกมาเพื่อยืนยันแก่ทหารยาม
แต่ทหารยามกลับรู้สึกไม่ชอบมาพากล จึงตัดสินใจสั่งการให้คนไปหยุดนาฬิกา เพื่อยื้อเวลาบุคคลน่าสงสัยทั้งสองคนนี้เอาไว้ให้นานที่สุด และหลังจากนั้นไม่นาน ท่านผู้พิพากษาก็ได้รับจดหมายลับ ที่ระบุว่า มีนักฆ่าสองคนลกำลังเดินทางเข้าเมือง โดยอ้างว่าจะนำอัญมณีหายากมาให้ แต่แท้จริงแล้วมีเป้าหมายจะสังหารเขา ผู้พิพากษาจึงไม่รอช้า ออกคำสั่งจับกุมนักฆ่าทั้งสองคนทันที
หลังจากเรื่องราวทุกอย่างคลี่คลาย นายหารหนุ่มจึงตัดสินใจไปเปิดนาฬิกาอีกครั้ง แต่กลับพบว่านาฬิกาเรือนนั้นได้เสียลงไปแล้ว แม้ว่าจะเชิญช่างซ่อมนาฬิกามา ก็ไม่สามารถซ่อมได้ จึงได้ปลดนาฬิกาเรือนนั้นออกไป และ วันนั้นจึงเป็นวันสุดท้ายของนาฬิกาประจำ Powder tower
REFERENCE: Magdalena Wagnerova (2007). Old Prague Legends. translated by Ivan Gutierrez in 2008. published by Plot Publishing House, Prague. ISBN: 978-80-86523-87-3

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา