Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
24 มิ.ย. 2023 เวลา 12:24 • ประวัติศาสตร์
“ไททานิค” เรือที่(ไม่)มีวันจม บทเรียนสำคัญของความปลอดภัยในทะเล
ในที่สุด “เรือไททัน” ที่ดำลงไปสำรวจซากของ “ไททานิค” ก็ถูกค้นพบแล้วในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมาในลักษณะของซากเรือพร้อมกับผู้โดยสารทั้ง 5 คนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมทางทะเลที่เกิดขึ้นล่าสุดในศตวรรษที่ 21
ตำนานของไททานิค หรือเรือยักษ์ที่ไม่มีวันจมนับได้ว่าเป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่คลาสสิคอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกบอกเล่า และนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่เคยทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ได้สร้างเรื่องราวและมนต์ขลังให้กับเรือยักษ์ลำนี้ ที่คอยดึงดูดความสนใจของผู้ที่รักในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดีการจมของเรือไททานิคก็ยังสร้างแรงกระเพื่อมให้เห็นถึงความสำคัญในด้านความปลอดภัยทางทะเลในศตวรรษที่ 20 ด้วย
ซึ่งในวันนี้ Bnomics All About History จะมาพาทุกท่านไปรู้จักกับเรือไททานิค ตำนานเรือยักษ์ที่ไม่มีวันจม ก่อนที่จะพาไปรู้จักกับอนุสัญญาฉบับสำคัญที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาหลังจากเหตุการณ์ไททานิคและถูกใช้จนถึงปัจจุบันกัน
📌 ไททานิค เรือที่(ไม่)มีวันจม
เรือไททานิค หรือ R.M.S Titanic ถูกต่อขึ้นมาที่อู่ต่อเรือในเมืองเบลฟาสต์, ไอร์แลนด์เหนือในปี 1909 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเรือขนส่งโดยสารของบริษัทไวท์สตาร์จากเมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ ไปยังเมืองนิวยอร์ค โดยขนาดที่ใหญ่ยักษ์ของตัวเรือด้วยระวางขนาด 46,300 ตัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรือเดินสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นทำให้ “เธอ” (ตามธรรมเนียมสากล ถือว่าเรือเป็นเพศหญิง ซึ่งคล้ายกับความเชื่อแม่ย่านางของคนไทย) ได้ชื่อว่า ไททานิค ซึ่งมาจากเทพไททันในตำนานกรีก
นอกจากนี้ไททานิคยังมีชั้นผู้โดยสารแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ทำให้เป็นเรือที่หรูหราอันดับต้น ๆ พร้อมกับพ่วงฉายาว่า “เรือที่ไม่มีวันจม” มาด้วย
ไททานิคถูกปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ปี 1911 ซึ่งเท่ากับว่าใช้เวลาสร้างเพียง 2 ปีเท่านั้น โดยในวันที่ปล่อยไททานิคลงน้ำนั้นมีผู้คนเข้ามาเป็นสักขีพยานนับแสนคน แต่อย่างไรก็ดี ไททานิคกลับมีจุดด้อยอยู่หลายจุดด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือจำนวนเรือชูชีพที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสารซึ่งจะนำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่
วันที่ 10 เมษายน ปี 1912 ไททานิคได้เคลื่อนตัวออกจากเมืองเซาแธมป์ตันเพื่อไปรับผู้โดยสารเพิ่มเติมที่เมืองแชร์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส และไปรับผู้โดยสารจากควีนทาวน์ที่ไอร์แลนด์ก่อนที่จะเดินทางไปยังนิวยอร์คในวันที่ 11 เมษายน ปี 1912 พร้อมกับลูกเรือและผู้โดยสารกว่า 2,240 ชีวิต ไททานิคยังคงเดินทางมาได้อย่างราบรื่นจนกระทั่งวันที่ 14 เมษายน
📌 ดำดิ่งสู่เบื้องลึก
ในเช้าวันที่ 14 เมษายนนี่เอง เป็นวันที่ไททานิคเดินเรือด้วยความเร็วที่ “เกือบ” จะเต็มพิกัดเนื่องจากไฟไหม้ถ่านหินเร็วเกินที่จะควบคุมได้ อีกทั้งไม่ได้ซักซ้อมการอพยพอย่างที่ควรทำด้วย ซึ่งในวันเดียวกันนี้เองที่มีโทรเลขมากมายเข้ามาที่เรือเพื่อเตือนภัยเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งแต่ไททานิคก็ยังคงแล่นด้วยความเร็วเพราะโทรเลขเหล่านั้น “ไม่เคยถูก”นำมารายงานให้กัปตันทราบ
ก่อนอื่นต้องอธิบายระบบการสื่อสารในการเดินทะเลเสียก่อน ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือกับเรือ เรือกับบกผ่านทางโทรเลขเป็นหลัก ทว่าบนเรือไททานิคนี้ โทรเลขกลับมีไว้เพื่อให้ผู้โดยสารติดต่อกับคนบนบกเป็นหลัก ทำให้พนักงานโทรเลขต้องวุ่นอยู่กับผู้โดยสารจนแทบไม่มีเวลามาใส่ใจกับโทรเลขสื่อสารระหว่างเรือ ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าโทรเลขจะไปถึงมือกัปตันหรือไม่
เหตุการณ์ดำเนินต่อไปจนกระทั่งเวลา 23.39 น. ก็ได้รับแจ้งจากลูกเรือว่าพบภูเขาน้ำแข็ง แต่เนื่องจากความกะทันหันทำให้ไททานิคพุ่งชนภูเขาน้ำแข็งในเวลา 1 นาทีหลังจากนั้น
น้ำเริ่มทะลักเข้าท่วมเรือจากส่วนหัวทำให้หัวเรือที่เคยสูงใหญ่เริ่มจมน้ำ เหล่าผู้โดยสารพากันตื่นตระหนกและแย่งกันขึ้นเรือชูชีพ ในเวลา 2.05 น. เรือชูชีพก็ได้รับการปล่อยออกไปจนหมดแล้ว ทว่ายังเหลือคนบนไททานิคอีกกว่า 1,500 ชีวิต จนกระทั่งในเวลา 2.18 น. ไททานิคก็ได้ขาดออกเป็นสองท่อน และจมดิ่งสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนืออย่างสมบูรณ์ในเวลา 2 นาทีให้หลังที่ความลึก 12,500 ฟุต
ผู้โดยสารที่ลอยคออยู่กลางมหาสมุทรก็เสียชีวิตลงด้วยอากาศหนาวเย็น โดยสรุปแล้วเหลือผู้รอดชีวิตเพียง 710 คนเท่านั้น โดยผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรีเนื่องผู้ชายสละที่นั่งบนเรือชูชีพให้ นับว่าเป็นเหตุการณ์การศูนย์เสียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ซึ่งจะนำมาสู่การตระหนักรู้ถึงการให้ความปลอดภัยในการเดินเรือในช่วงหลัง
1
📌 บทเรียนจากไททานิคและการถือกำเนิดของ SOLAR
การอับปางของเรือไททานิคสร้างความตกตะลึงไปทั่วทั้งโลก เนื่องด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตมากมายนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเล โดยสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นหลังจากการอับปางของไททานิคก็คือการจัดตั้งอนุสัญญาโซลาส หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ในปี 1914
โดยอนุสัญญาโซลาส (SOLAS) เกิดขึ้นหลังจากการประชุมระดับนานาชาติเกี่ยวกับความปลอดภัยทางทะเลในกรุงลอนดอน ปี 1913 โดยมีการกำหนดให้เรือทุกลำต้องมีจำนวนเรือชูชีพให้ครบตามจำนวนความจุสูงสุดของผู้โดยสาร พร้อมกับต้องมีการซ้อมอพยพ มีการกำหนดให้เฝ้าวิทยุสื่อสารตลอด 24 ชั่วโมง และมีการจัดตั้งกองลาดตระเวนสากลเพื่อตรวจการณ์ แจ้งเตือนเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็ง รวมไปถึงการทำลายภูเขาน้ำแข็งด้วย แต่อย่างก็ตาม อนุสัญญาโซลาสฉบับแรกนี้กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1
1
ต่อมาในปี 1948 ได้มีการจัดตั้งองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ขึ้นมา ซึ่งองค์การนี้ก็ได้รื้อฟื้นอนุสัญญาโซลาสขึ้นมาเป็น 1 ใน 4 เสาหลักสำคัญขององค์การ โดยสามารถรื้อฟื้นและพัฒนาจนสำเร็จในปี 1960 และบังคับใช้จริงในปี 1965
เมื่อถึงปี 1974 ก็ได้เกิดอนุสัญญาโซลาสฉบับสมบูรณ์ขึ้นและถูกบังคับใช้เรื่อยมา อย่างไรก็ดีการติดต่อทางทะเลยังคงใช้รหัสมอร์สที่ความแม่นยำต่ำอยู่ จนกระทั่งในปี 1988 ก็ได้มีการอัปเดตครั้งสำคัญคือการเปลี่ยนจากรหัสมอร์สมาเป็นระบบที่เรียกว่า GMDSS หรือ ระบบสื่อสารเพื่อการป้องกันภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล
📌GMDSS เทคโนโลยีช่วยชีวิต
GMDSS คือระบบเตือนภัยผ่านทางดาวเทียม ซึ่งมีผลการบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ในปี 1992 โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการค้นหาและกู้ภัย มีเจ้าหน้าที่บนฝั่งคอยสำรวจและประสานการช่วยเหลือให้กับหน่วยงานรับผิดชอบในทั้ง 16 เขตทั่วโลก อีกทั้งยังกระจายข่าวสารเพื่อความปลอดภัย เช่น คำเตือนเกี่ยวกับการเดินเรือ ข่าวอุตุนิยมวิทยา ข่าวฉุกเฉินต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่เรือเดินทะเล เป็นต้น
GMDSS นับว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่นำเอาการสื่อสารผ่านดาวเทียมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการช่วยเหลือชีวิตคนทั่วโลก การส่งสัญญาณผ่านทางดาวเทียมจะทำให้เรือช่วยเหลือสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุทางเรือลดลงได้อย่างมาก
📌 บทสรุปของบทเรียนจากไททานิค
โศกนาฏกรรมไททานิคนับว่าเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ทางทะเล แต่มันก็นำมาสู่การตระหนักรู้ในด้านความปลอดภัยของชีวิตในทะเลจนกระทั่งมีการจัดตั้งองค์การและอนุสัญญาเพื่อที่จะรักษาความปลอดภัยของผู้คนในทะเลที่แสนกว้างใหญ่เกินกว่าจะสำรวจได้หมดให้มีการสูญเสียที่น้อยที่สุด
นอกจากนี้ไททานิคยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราได้เห็นว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นบทเรียนล้ำค่าที่ให้มนุษย์ได้เรียนรู้และแก้ไขไม่ให้มันเกิดซ้ำได้อย่างไร
เรื่องราวไททานิคนับว่าเป็นมนต์ขลังที่ดึงดูดเหล่าผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงไททานิคจะเป็นเรือที่มีวัน “จม” แต่ในห้วงความคิดและการบอกเล่า ไททานิคอาจจะยังคงโลดแล่นอยู่ในมหาสมุทรแห่งประวัติศาสตร์บอกเล่าที่ถูกเล่าขานต่อไปเรื่อย ๆ ก็เป็นไปได้
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
●
http://jproc.ca/radiostor/titanic.html
●
https://www.history.com/topics/early-20th-century-us/titanic
●
https://www.noaa.gov/gc-international-section/rms-titanic-history-and-significance
●
https://safety4sea.com/cm-remembering-titanic-the-tragedy-behind-solas/
●
https://www.ucsbkk.com/technology/GMDSS
●
https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/view_activities/1312/80987
●
http://www.ftc.navy.mi.th/km/e-books/585.pdf
ไททานิก
ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า
5 บันทึก
7
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
All About History
5
7
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย