1 ก.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

ย้อนประวัติศาสตร์ สกอตแลนด์ ‘เพื่อนบ้านที่ดีที่สุด’ ของอังกฤษ (?)

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายฮัมซา ยูซาฟ (Humza Yousaf) นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ได้ประกาศ
‘ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเอกราชแห่งสกอตแลนด์’ ไปเป็นที่เรียบร้อย
ความพยายามนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะสกอตแลนด์เคยทำประชามติขอแยกตัวจาสหราชอาณาจักรในปี 2014 แต่ไม่สำเร็จประชาชนกว่า 55% ลงมติไม่เห็นชอบ และจะมีการทำประชามติอีกครั้งในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
.
สกอตแลนด์มีประวัติศาสตร์เคียงคู่กับอังกฤษมายาวนานนับหลายร้อยปีถือเป็นเพื่อนเก่าแก่ก็ว่าได้ ดังนั้น การขอแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษของสกอตแลนด์ จึงมีความน่าสนใจและจุดประกายมาเป็นบทความ Bnomics ในวันนี้
⭐️ รู้จัก ‘สกอตแลนด์’ ฉบับย่อ
ว่ากันว่าพื้นที่บริเวณสกอตแลนด์มีมนุษย์อาศัยอยู่ย้อนไปราว 12,000 ปี โดยคำว่าสกอตแลนด์ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในบันทึกของชาวโรมันราวปี ค.ศ. 43 ที่เข้าบุกรุกเกาะบริเตนใหญ่และสามารถครอบครองดินแดนอังกฤษและเวลส์ในปัจจุบันได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถที่จะยึดครองสกอตแลนด์ได้
โดยชื่อ ‘สกอตแลนด์’ มาจากชาว Scoti หรือ Scotti ซึ่งใช้ ‘ภาษากาลิก’ (Scottish Gaelic) ในการสื่อสาร และปัจจุบันยังมีคนใช้ภาษานี้กันอยู่แต่มีเพียง 60,000 คนเท่านั้น องค์การยูเนสโกจึงขึ้นทะเบียนภาษากาลิกให้เป็น ‘ภาษาใกล้สูญหาย’ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ภาษาเก่าแก่นี้ไว้
1
ก่อนหน้าที่จะถูกปกครองโดยอังกฤษ ชาวสกอตแลนด์อยู่กันเป็นชนเผ่าหลายกลุ่มและมีหัวหน้าเผ่าเป็นผู้ปกครอง แต่ละเผ่าก็จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันเห็นได้จากเสื้อผ้าและเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ผ้าทาร์ทัน’ หรือ คนไทยเรียกติดปากว่า ‘ผ้าลายสก็อต’ นั่นเอง
สกอตแลนด์และอังกฤษมีประวัติศาสตร์ทั้งซับซ้อนเป็นไม้เบื่อไม้เมาร่วมกันมากว่าหลายร้อยปี เช่น ในช่วงปี 1200-1300 อังกฤษประกาศตนเองเป็นผู้ปกครองชาวสกอต โดยอาศัยช่วงที่สกอตแลนด์ยังเกิดปัญหาเรื่องตำแหน่งกษัตริย์ ทำให้เกิดความไม่พอใจทุกแว่นแคว้นจนกลายเป็นสงครามที่สลับกันแพ้ชนะไม่รู้จบ
และได้เกิดวีรบุรุษคนสำคัญของชาวสกอตซึ่งต่อสู้ขับไล่อังกฤษอย่างวิลเลียม วอลเลซ (William Wallace) จนถูกนำไปสร้างเป็นหนังโด่งดังเรื่อง Braveheart ในปี 1995
แต่จุดเชื่อมที่ชัดเจนที่สุดก็คือทั้งสองดินแดนถูกปกครองด้วยกษัตริย์พระองค์เดียวกันในปี 1603 หรือเรียกว่า Union of Crowns และถึงแม้สกอตแลนด์ถูกปกครองโดยอังกฤษ หากแต่กษัตริย์พระองค์แรกที่ปกครองทั้งสองดินแดนเป็นชาวสกอตแลนด์ โดยใช้ชื่อตำแหน่งทั้งกษัตริย์เจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์และเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ซึ่งขึ้นครองราชย์หลังพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 สิ้นพระชนม์และไม่มีรัชทายาทจึงตกทอดมาที่พระเจ้าเจมส์แทน
แม้จะมีประมุขร่วมกันแต่มีรัฐบาลบริหารปกครองแยกกัน จนกระทั่งปี 1707 ได้เกิดพระราชบัญญัติสหภาพระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์ (Acts of Union) โดยตกลงจะรวมการบริหารประเทศไว้ร่วมกันภายใต้ ‘รัฐสภาแห่งบริเตนใหญ่’ เพียงแห่งเดียว ดังนั้น รัฐสภาสกอตแลนด์และรัฐสภาอังกฤษแต่เดิมจึงถูกยุบลง
2
จนกระทั่งปี 1997 มีการลงมติให้สกอตแลนด์มีรัฐสภาเป็นของตนเองเพื่อแบ่งอำนาจการบริหารปกครอง และในปี 1999 ถือเป็นการเปิดประชุมสภาครั้งแรกในรอบ 300 ปีของหน้าประวัติศาสตร์สกอตแลนด์
⭐️ ความเจริญทั้งทาง ‘ปรัชญา’ และ ‘เศรษฐกิจ’ ของสกอตแลนด์
ในช่วงที่โลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการตื่นรู้ (Enlightentment) ก่อกำเนิดนักคิดนักปราชญ์มากมายเราคงนึกภาพคนเหล่านั้นว่าเป็นชาวอังกฤษ เยอรมนี หรือฝรั่งเศส หากแต่สกอตแลนด์ก็ผลิตนักปราชญ์เหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาลมาช้านานเช่นเดียวกัน และถือเป็นผู้บุกเบิกพรมแดนสติปัญญาและนวัตกรรมใหม่ ๆ ของโลกจนทำให้สกอตแลนด์ถูกกล่าวถึงในฐานะ ‘แหล่งเพาะพันธุ์อัจฉริยะ’
1
อาจกล่าวได้ว่าในช่วงทศวรรษ 1700-1800 ชาวสกอตแลนด์ได้รับการศึกษาและประกอบอาชีพสำคัญเช่น แพทย์ อาจารย์ นักคิดนักเขียน ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับความเชื่อเดิมและค้นพบคำตอบใหม่ ส่งผลให้สังคมเกิดความก้าวหน้าในทางความคิดและก้าวข้ามความเชื่อในอดีตที่ไม่ได้มีการพิสูจน์
ยกตัวอย่างเหล่านักคิดผู้โด่งดังชาวสกอตแลนด์ ได้แก่ อดัม สมิธ (Adam Smith) นักเศรษฐศาสตร์ เจ้าของทฤษฎีมือที่มองไม่เห็น เดวิด ฮูม (David Hume) นักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชื่อในการค้าแบบเสรี เซอร์ วอลเตอร์ สก็อต (Sir Walter Scott) นักเขียนนิยายประวัติศาสตร์ผู้โด่งดัง และโรเบิร์ต เบิร์นส์ (Robert Burns) กวีแห่งชาติสกอตแลนด์ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
ในแง่มุมทางเศรษฐกิจของสกอตแลนด์ ราวปี 1850 - 1950 โลกกำลังเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 แม้สงครามจะสร้างความเสียหายแต่กลับนำความเจริญมาสู่เศรษฐกิจของสกอตแลนด์อย่างมาก โดยสกอตแลนด์มุ่งเน้นการทำอุตสาหกรรมหนักไม่ว่าจะเป็นการต่อเรือ การทำเหมืองถ่านหิน เหล็กและแร่เหล็ก การสร้างหัวรถจักร เพื่อสอดรับกับความต้องการของตลาดโลก แต่ไม่นานหลังสงครามสิ้นสุด เศรษฐกิจก็จมดิ่งตกต่ำลงอย่างมาก
ในปี 1970 ความหวังทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง เมื่อมีการค้นพบน้ำมันดิบบริเวณทะเลเหนือ ซึ่งสิ่งนี้ช่วงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ มากมายให้สกอตแลนด์ โดยปัจจุบัน สกอตแลนด์มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งแนวหน้าของโลกในหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นการเงิน ธุรกิจ พลังงานหมุนเวียน และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
หลังการการประกาศร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเอกราชแห่งสกอตแลนด์ กลายมาเป็นประเด็นน่าจับตามองบนเวทีโลกอีกครั้ง โดยนายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะนำอำนาจอธิปไตยมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
และสาเหตุสำคัญที่ต้องขอแยกตัวเป็นเพราะรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ขอบเขตกว้างเกินไป ส่งผลให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่เหมาะกับบริบททางสังคมของสกอตแลนด์ ดังนั้น การขอแยกตัวเป็นอิสระจึงอาจเป็นทางออกที่ดี นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศทันสมัยสอดรับกับประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
1
แม้ว่าการประกาศเช่นนี้จะดูเหมือนตัดขาดมิตรกับอังกฤษ แต่นางนิโคลา สเตอร์เจียน อดีตนายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ได้ให้ความเห็นว่า การที่สกอตแลนด์ขอแยกตัวเป็นอิสระมิได้เป็นการตัดขาด แต่จะนำมาซึ่งมิตรภาพที่แน่นแฟ้นมากขึ้น และยังจะเป็น ‘มิตรที่ดีที่สุด’กับอังกฤษต่อไป
ไม่ว่าจะลงเอยอย่างไร การทำประชามติแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวสกอตแลนด์ในเดือนตุลาคมนี้เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง เราคงต้องรอดูว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไรกับการขอแยกตัวจากอังกฤษ จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หรือเหตุการณ์จะซ้ำรอยกับปี 2014 ที่ประชาชนไม่เห็นชอบหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา