8 ก.ค. 2023 เวลา 12:35 • ประวัติศาสตร์

ลัทธิพาณิชยนิยมศตวรรษที่ 16-18 บอกอะไรกับเราในสงครามเย็นยุคใหม่ 2.0

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ต้องจับตามองกับการก้าวขึ้นมาเทียบเคียงสหรัฐฯ ของจีนในทุกด้านจนเกิดเป็นสงครามการค้า (Trade War) สงครามชิป (Chip War)
จนอาจบอกได้ว่าโลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นครั้งที่ 2 แต่เปลี่ยนบทผู้เล่นจากโซเวียตมาเป็น ‘จีน’
กล่าวได้ว่าสงครามเย็นครั้งนี้มาพร้อมกับลัทธิพาณิชยนิยมใหม่ที่ถูกพัฒนามาจากพาณิชนิยมเดิมในช่วงศตวรรษที่ 16-18 ที่มหาอำนาจแข่งขันกันล่าอาณานิคมเพื่อผลประโยชน์ของตน
2
แล้วลัทธิพาณิชยนิยมศตวรรษที่ 16-18 บอกอะไรกับเราในสงครามเย็นยุคใหม่ 2.0?
⭐ ลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantilism) คืออะไร?
ลัทธิพาณิชยนิยม (Merchanilism) คือ นโยบายเพื่อควบคุมอำนาจทางเศรษฐกิจ การค้า และความเป็นมหาอำนาจ จึงเกิดความพยายามแสวงหากำไรเพื่อสะสมความมั่งคั่งให้ชาติตนเอง โดยแนวคิดนี้เริ่มมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 โดยสามารถจำแนกกระบวนการได้ ดังนี้
1️⃣ การสำรวจทางทะเลเพื่อการค้า
สเปนและโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เริ่มสำรวจทางทะเลอย่างเอาจริงเอาจังจนเกิดเป็น
‘สนธิสัญญาทอร์เดซิยาส’ หรือ สนธิสัญญาแบ่งโลกในปี 1494
ซึ่งสเปนได้สิทธิทางฟากตะวันตกส่วนอีกฟากเป็นของโปรตุเกส การสำรวจทางทะเลส่งผลให้มีเส้นทางการค้าขายใหม่ ๆ มีการจัดตั้งเมืองศูนย์กลางการค้า เช่น เกาะโมลักกะ เกาะฟิลิปปินส์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนสินค้าอย่าง กาแฟ ชา น้ำตาล โกโก้ ขนสัตว์ ผ้า เป็นต้น
2️⃣ การขยายอาณาเขตการค้า
การสำรวจและค้นพบเส้นทางใหม่ นำไปสู่การล่าอาณานิคมขยายอาณาเขตการค้า โดยเฉพาะเครื่องเทศที่สร้างกำไรให้ประเทศแม่เป็นกอบเป็นกำ ช่วงแรกสเปนและโปรตุเกสเป็นมหาอำนาจจนชาติอื่นไม่สามารถเข้ามามีบทบาทได้ภายหลังจึงเปิดโอกาสให้ชาติอื่นสามารถจัดตั้งบริษัทร่วมหุ้นเพื่อรับผลกำไรได้
จนปี 1602 ฮอลันดาจัดตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกในเอเชียตามด้วยอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีการจัดตั้งในอเมริกาและออสเตรเลียด้วยเช่นกัน
3️⃣ การนำแร่โลหะมาที่ยุโรป
การค้นพบโลกใหม่ - ทวีปอเมริกาถือเป็นขุมทรัพย์มหาศาลที่พาให้ชาติยุโรปตักตวงแร่เงินและทองไปยังทวีปยุโรปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้รูปแบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากการใช้สินค้าแลกเปลี่ยนเป็นใช้เงินแทนที่ นอกจากนี้ยังนำไปสู่ ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ อย่างรุนแรงจากปริมาณของแร่เงินที่มากเกินไปในระบบ
1
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เหล่ามหาอำนาจพยายามสะสมความมั่งคั่งและมั่นคงทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจถูกอธิบายในลัทธิพาณิชย์นิยมเช่นเดียวกัน แต่เปลี่ยนผ่านสู่ ‘ลัทธิพาณิชย์นิยมใหม่’ (Neo-Mercantilism)
จากการให้ความสำคัญกับแร่เงินทอง แสวงหาดินแดนอาณานิคมใหม่ เปลี่ยนเป็นการใช้นโยบายการค้าเสรี สร้างความร่วมมือระดับพหุภาคีพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น หรืออาจใช้นโยบายกีดกันทางการค้าเพื่อไม่ให้ชาติอื่นสะสมความมั่งคั่งได้ เห็นได้จากท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนตั้งแต่สมัยโดนัล ทรัมป์ จนถึงยุคไบเดนที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ
⭐ สงครามเย็นยุคใหม่ (Cold War 2.0) คืออะไร?
ปัจจุบัน เราจะเห็นการห้ำหั่นระหว่างจีน-สหรัฐ บางคนก็มองว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่จีนกำลังจะแซงสหรัฐในไม่ช้า บางคนก็มองว่าเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่จีนเริ่มรุดหน้าจนน่าตกใจที่ใกล้ตัวที่สุดคงเป็นแพลตฟอร์มอย่าง Tiktok
แต่ใด ๆ ทั้งมวลก็อธิบายได้ว่า จีนกำลังสั่นคลอนความมั่นคงของสหรัฐในทุกด้านจึงเป็นที่มาของท่าทีระหว่างสองมหาอำนาจที่พยายามแข่งขันและกีดกันอีกฝ่ายออกไปจนเรียกกันว่าเป็น สงครามเย็นครั้งใหม่ หรือ สงครามเย็น 2.0
1
ย้อนกลับไปหลังปี 1945 โลกเดินหน้าเข้าสู่ ‘สงครามเย็น’ อุดมการณ์ถูกแบ่งออกเป็นสองฟากระหว่างประชาธิปไตย (อเมริกา) และคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) การแข่งขันขึ้นมาสู่มหาอำนาจโลกถูกพิสูจน์ด้วยไม่เพียงแต่แนวคิดการปกครอง
1
แต่รวมถึงการค้า เศรษฐกิจ เทคโนโลยี โดยเฉพาะการแข่งขันทางอวกาศ (Space Race) ที่ดุเดือดไม่มีใครยอมใคร จนเกิดเป็นวีรชนผู้โด่งดังของโลกมากมายอย่าง ‘ยูริ กาการิน’ นักบินอวกาศชาวรัสเซียผู้ออกนอกโลกเป็นคนแรก และ ‘นีล อาร์มสตรอง’ ชาวอเมริกันผู้เหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรกของโลก
.
และนี่ก็คือการเปลี่ยนศัตรูตัวร้ายของสหรัฐฯ จากโซเวียตมาเป็น ‘จีน’ และเปลี่ยนเวทีสงครามจากที่เคยมุ่งเน้นยุโรปกลายเป็น ‘เอเชีย’ แทน
⭐ ลัทธิพาณิชยนิยมศตวรรษที่ 16-18 บอกอะไรกับเราในสงครามเย็นยุคใหม่ 2.0
ลัทธิพาณิชยนิยมศตวรรษที่ 16-18 คือการรักษา ‘ความมั่งคงทางเศรษฐกิจ’ เป็นหลัก ในขณะที่พาณิชนิยมใหม่ยุคสงครามเย็น 2.0 สหรัฐมองจีนเป็นภัยคุกคามไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่มองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงในทุกด้าน สหรัฐฯ เชื่อว่าจีนมีความพยายามสอดแทรกอารยธรรม ระบบ ความคิดความเชื่อแบบจีนที่ต่างจากตะวันตก
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเส้นทางสายไหมใหม่ Belt and Road Initiative (BRI) ให้เป็นเส้นทางการค้าหลักของโลก หรือการเข้าไปสนับสนุนโครงการสร้างทางรถไฟลาว-จีน ถูกมองว่าเป็นความพยายามครอบงำในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากเศรษฐกิจ
และความพยายามอีกมากมายของจีนไม่ว่าจะเป็นการผลักดันสกุลเงิน ‘หยวน’ ให้เป็นสกุลเงินสากลจนเมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมา สำนักข่าว Reuters รายงานว่าเงินหยวนแซงหน้าดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการทำธุรกรรมของจีน หรือการจัดตั้งธนาคาร AIIB เพื่อแข่งขันกับ World Bank
ยิ่งไปกว่านั้น การก้าวขึ้นมา HUAWEI นวัตกรรมเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตของจีนที่รุดหน้ากว่าสหรัฐฯ รวมถึงแพลตฟอร์มมากมายไม่ว่าจะเป็น Baidu (เหมือน Google), Tencent (คล้าย Facebook) หรือ Alibaba (คล้าย Amazon) เรียกได้ว่าจีนเป็นคู่แข่งที่ไม่ได้หลีกหนีจากสหรัฐฯ แต่เดินตามรอยเท้าสหรัฐฯ แทบทุกด้าน
ดังนั้น ความขัดแย้งของจีน-สหรัฐฯ จึงแตกต่างออกไปสมัยสเปน-โปรตุเกส อังกฤษ-อเมริกา และเราจะเห็นความพยายามกีดกันภายใต้พาณิชยนิยมใหม่ที่ไม่ได้นัยยะแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่หมายถึงความมั่นคงในผลประโยชน์ของแต่ละมหาอำนาจ
ผู้เขียน : ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ : Flickr โดย Gage Skidmore และ Press Service of the President of the Russian Federation / Roman Kubanskiy (Wikimedia Commons)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา