Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต
•
ติดตาม
24 มิ.ย. 2023 เวลา 17:43 • ไลฟ์สไตล์
ปฏิทินดวงดาว
การดูฤกษ์ยามในศาสตร์ฮวงจุ้ย ถือเป็นอีกสายวิชาหนึ่ง ที่มีความพิสดารลึกลับซับซ้อนมาก การจะได้มาซึ่ง ฤกษ์ยามที่ดี มีความเป็นมงคล จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในสายวิชาดังกล่าว ในการถอดรหัสและจัดหาฤกษ์ยามให้ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น จำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนเรียนรู้เป็นเวลายาวนาน กว่าจะมีความเชี่ยวชาญในระดับใช้งานได้ จึงเป็นเรื่องยากสำหรับ คนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรของสายวิชาเหล่านั้น จะสามารถเข้าถึงความลึกซึ้งในการกำหนดฤกษ์ยามได้
ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการช่วยย่นย่อ เนื้อหาวิชาในการคำนวณหาฤกษ์ยามดังกล่าว ให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ จะสามารถมีความรู้พื้นฐานเพียงพอ ที่จะพอหาฤกษ์ยามที่ดีมาใช้งานด้วยตัวเอง แม้ว่าจะมิได้ยามมงคลระดับเลอเลิศ ดังที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจะกระทำให้ ก็ยังถือว่า เป็นฤกษ์ยามที่พอจะนำไปใช้ได้ โดยไม่เป็นโทษภัย ประมาณว่า แม้ไม่เลอเลิศ แต่ยังราบรื่น
หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะเริ่มตั้งข้อสงสัยในใจว่า เมื่อจำเป็นต้องอาศัยหลักวิชาที่ซับซ้อน เพื่อกำหนดฤกษ์ยามที่ดี และต้องอาศัยการฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ จึงจะกระทำได้ แล้วคนธรรมดาทั่วไป จะสามารถจัดหาฤกษ์ยามที่ดี โดยขาดหลักการที่ลึกล้ำเช่นนั้นได้อย่างไร ก็ต้องขอตอบข้อข้องใจประเด็นนี้เสียก่อนว่า แน่นอนว่า เรายังคงต้องอาศัยหลักวิชาที่ซับซ้อนดังกล่าวนั้น เพียงแต่ย่นย่อเวลาลงไป
โดยใช้ปฏิทินที่มีการคำนวณมาให้อย่างสำเร็จรูปแล้ว เป็นการยกปัญหาความลึกลับของสายวิชา ไปให้ผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้จัดทำปฏิทินดังกล่าวขึ้น ซึ่งปฏิทินที่จะนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการมองหาฤกษ์ยามที่ดี ขอย้ำเน้นอีกครั้ง เป็นการมองหาเท่านั้น เพราะผู้สร้างปฏิทินได้เตรียมข้อมูลจำเป็นเอาไว้ให้ ค่อนข้างครบถ้วนดีแล้ว โดยปฏิทินที่จะใช้นี้ เป็นของค่ายหนานหยาง (南陽) หรือ น่ำเอี้ยง ราคาอยู่เพียงหลักร้อยเท่านั้น เชื่อว่าทุกท่านคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะจัดหามาได้ เพราะมีการจัดทำออกมาจำหน่ายในทุกปี
รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างหน้าของปฏิทินจีนน่ำเอี้ยง
จากภาพที่ 1 ได้แสดงให้เห็นตัวอย่างหน้าหนึ่ง ของปฏิทินน่ำเอี้ยง ซึ่งมีทั้งระบบปฏิทิน จีน ไทย และ สากล ทำให้ง่ายต่อการนำมาใช้งาน และต้องถือเป็นทางออกที่สะดวกง่ายดายที่สุด สำหรับคนที่ต้องการมองหาฤกษ์ยามมงคล ที่พอจะนำมาใช้ได้ ซึ่งตามหลักการปกติแล้ว สิ่งแรกที่คนทั่วไปจะมองหา ก็คือวันธงไชย โดยปฏิทินจะแสดงเอาไว้ตรงด้านล่างของหน้าที่เป็นวันธงไชยดังกล่าว
จากนั้นก็จะดูที่รูปของนักษัต ซึ่งในภาพตัวอย่างนี้ นักษัตบนจะเป็นรูปกระต่าย หรือ ปีเถาะ ซึ่งถือเป็นนักษัตประจำวัน ที่ตรงกับราศีเบ้า (卯) โดยหลักการ ลิ่วชง (六沖) หรือ หลักชง ตัวราศีเบ้า จะชงกับ ราศีอิ้ว (酉) หรือนักษัตระกา ที่ในปฏิทินแสดงเป็นรูปไก่ นั่นหมายความว่า วันนี้เป็นวันเถาะ ห้าม คนเกิดปีระกาใช้งาน เพราะเป็นวันที่ชงกับนักษัตดังกล่าว คนปีระกาจึงควรเลี่ยงใช้วันนี้ ในการกระทำการใดๆ
หากจะดูให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก็ต้องใช้หลักวิชามหาทักษา โดยพิจารณาจากวันในสัปดาห์ (Day of week) ดังในตัวอย่างปฏิทินแสดงเป็นวันพุธ ซึ่งตามหลักวิชามหาทักษา วันพุธจะเป็นกาลากิณีของคนวันเสาร์ ดังนั้น คนเกิดวันเสาร์ แม้จะไม่เกิดปีนักษัตที่ชงกับวันดังกล่าว ก็ควรเลี่ยงใช้วันนี้เช่นกัน
กล่าวโดยสรุปแล้ว คนวันเกิดวันอาทิตย์ห้ามใช้วันศุกร์ คนเกิดวันจันทร์ห้ามใช้วันอาทิตย์ คนเกิดวันอังคารห้ามใช้วันจันทร์ คนเกิดวันพุธห้ามใช้วันอังคาร คนเกิดวันพฤหัสห้ามใช้วันเสาร์ คนเกิดวันศุกร์ห้ามใช้วันพุธช่วงกลางคืน (หลัง 18.00 น.ของคืนวันพุธ ไปจนถึง 6.00 น.ของเช้าวันพฤหัส) คนเกิดวันเสาร์ห้ามใช้วันพุธ
คราวนี้จะมีประเด็นปลีกย่อยในหลักวิชามหาทักษาอีกเล็กน้อย นั่นคือ เฉพาะวันพุธ จะมีการแบ่งเป็น พุธกลางวัน คือช่วงเวลา 6.00-18.00 น.ของวันพุธ และพุธกลางคืน คือช่วงเวลา 18.00 น.ของคืนวันพุธ ไปจนถึง 6.00 น.ของเช้าวันพฤหัสดังกล่าว โดยคนที่เกิดวันพุธกลางวันให้ห้ามใช้วันอังคาร ดังกล่าวไว้ข้างต้น แต่คนเกิดวันพุธกลางคืนห้ามใช้วันพฤหัส
จากหลักการสามขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น คือ 1.เลือกวันธงไชย 2.เลี่ยงวันชงนักษัตปีเกิด 3.เลี่ยงวันกาลากิณีของวันเกิด เพียงสามขั้นตอนดังกล่าวนี้ ก็เพียงพอจะเลี่ยงร้ายรับดีได้ในระดับพื้นฐานแล้ว ในขั้นตอนต่อไป เพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้ท่านผู้อ่านเพิ่มมากขึ้น ก็จะขอบรรยายถึง หลักการในทางปฏิทินจีนกันอีกเล็กน้อย จากรูปที่ 1 ตรงที่ล้อมไว้ด้วยรูปสี่เหลี่ยมสีเขียวนั้น จะเป็นช่วงยามทั้ง 12 ของจีน โดยจะแทนชื่อเรียกแต่ละยาม ตามราศีนักษัต
ยกตัวอย่างจากหน้าปฏิทินในรูปที่ 1 ยามแรกคือ 23.00 น.ของวันอังคาร จนมาถึง 1.00 น. ของวันพุธ ซึ่งปกติจะเขียนเป็น 23.00-1.00 น.เรียกว่ายาม จื้อ (子) ดังปรากฏเป็นตัวอักษรล่างของคู่ราศี ทางด้านขวาบนของกรอบสี่เหลี่ยมสีเขียว แล้วไล่เรียงลำดับไปทางซ้าย เป็นยามสอง คือ 1.00-3.00 น.เป็นยาม ทิ่ว (丑) ยามสามคือ 3.00-5.00 น.เป็นยาม อิ้ง (寅) ยามสี่คือ 5.00-7.00 น.เป็นยาม เบ้า (卯) ยามห้าคือ 7.00-9.00 น.เป็นยาม ซิ้ง (辰) ยามหกคือ 9.00-11.00 น.เป็นยามจี๋ (巳)
จากนั้นก็ลงไปนับต่อทางขวาล่าง เริ่มด้วย ยามเจ็ดคือ 11.00-13.00 น.เป็นยามโง่ว (午) ยามแปดคือ 13.00-15.00 น.เป็นยาม บี่ (未) ยามเก้าคือ 15.00-17.00 เป็นยาม ซิง (申) ยามสิบคือ 17.00-19.00 น.เป็นยาม อิ้ว (酉) ยามสิบเอ็ดคือ 19.00-21.00 น.เป็นยามสุก (戌) และ ยามสิบสองคือ 21.00-23.00 น.เป็นยาม ไห (亥) แล้วก็วนเวียนไปเป็นยามจื้อของวันต่อไป ซึ่งในตัวอย่างนี้ก็คือ วันพฤหัส
โดยชื่อยามที่ใช้เรียกนี้ เป็นภาษาแต้จิ๋ว เพื่อให้ท่านที่พอมีความรู้ ได้คุ้นเค้ย เพราะเป็นชื่อที่ใช้เรียกชื่อยามกันเป็นปกติ ในแวดวงฮวงจุ้ยประเทศไทย สำหรับตัวเวลาที่แสดงไว้แบบชนต่อกันไปเรื่อยข้างต้น เป็นการทำให้ดูง่าย แต่แท้จริงแล้ว ในแต่ละช่วงยาม จะเริ่มต่อจากเวลาเริ่ม ดังแสดงไว้เป็นต้นไป อาทิเช่น ยามทิ่วที่ต่อจากยามจื้อ ก็จะเริ่มตั้งแต่วินาทีที่ 1 ที่ต่อจาก 1.00 ซึ่งบางครั้งจะแสดงเป็นช่วงยามคือ 1.01-3.00 น.
ซึ่งก็ต้องบอกว่า ไม่ต่างจากที่แสดงไว้ข้างต้น เพราะเป็นการปัดเศษไปเป็นหนึ่งนาที ทั้งที่จริงแล้วยามจะเริ่มตั้งแต่ 1 วินาทีแรกแล้ว ในที่นี้จึงเรียนชี้แจงให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจไว้พอประมาณ ไม่ต้องไปเคร่งเครียดอะไรมากนัก เพราะในการใช้งานจริง เพื่อให้ฤกษ์เข้าเต็มที่ ก็มักจะเริ่มกระทำการหลังเวลาล่วงเข้ายามที่ต้องการไปแล้ว ประมาณ 15-30 นาที ยกตัวอย่าง ยามทิ่วข้างต้น ก็จะได้ช่วงฤกษ์ยามใช้งานอยู่ประมาณ 1.15-2.45 น. หรือ 1.30-2.30 น.
ผู้อ่านหลายท่าน อาจเริ่มสงสัยต่ออีกว่า ช่วงเวลาเพียง 1 ชั่วยาม หรือ 2 ชั่วโมงนี้ บางกิจกรรมอาจไม่สามารถกระทำได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ภายในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ขอเรียนชี้แจงว่า อย่าเพิ่งด่วนกังวลไป ปกติแล้วการเริ่มกระทำการในฤกษ์ยามทั้งหลาย จะถือเป็นการเริ่มต้น และกระทำต่อเนื่องไปได้จนกว่าจะเสร็จ เพียงแต่ต้องไม่ทิ้งช่วงการกระทำการเกิน 1 วัน บางสำนักอาจให้ถึง 3 วัน ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนถือว่า ยาวนานเกินไป
เอาเป็นว่าเพื่อความปลอดภัย และเป็นการรักษาฤกษ์ยามให้ต่อเนื่องไว้ ก็ไม่ควรเว้นเกินหนึ่งวัน ซึ่งมักจะต้องใช้กับกิจกรรมที่ต้องใช้เวลามาก อย่างเช่น งานก่อสร้าง ส่วนกิจกรรมอื่นๆ เช่น เปิดกิจการใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ ก็ไม่ควรเว้นช่วง ให้กระทำการต่อเนื่องไปจนจบพิธีทั้งหมด จะถือว่าดีที่สุด กล่าวโดยสรุปแล้ว ท่านผู้อ่านก็เพียงเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อม พอฤกษ์ยามเข้าช่วงเวลาดังกล่าว ก็ให้เริ่มประกอบพิธีการ หรือ กิจกรรม ได้เลย แล้วก็ทำต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นครบถ้วนโดยสมบูรณ์
ต่อไปเราจะมาคุยกันในเรื่องที่ว่า เมื่อยามมีถึง 12 ยาม แล้วควรจะเลือกยามไหนดี ก็ยังพิจารณากันอยู่ในกรอบสี่เหลียมสีเขียวนั้น ท่านจะพบว่า ข้างใต้ของตัวอักษรบอกชื่อยามทั้ง 12 นั้น จะมีตัวอักษรจีนอีกหนึ่งตัว แต่จำแนกได้เป็น 3 อักษรด้วยกันคือ ตัว จี๋ (吉) หมายถึง โชคดี, ตัว จง (中) หมายถึง กลางๆ และ ตัว ซง (凶) ในที่นี้ขอหมายถึง โชคร้าย ดังนั้นเมื่อต้องการเลือกยามที่เป็นมงคล ก็ควรเลือกยามที่เป็นตัวอักษร จี๋ รองมาก็เป็นตัว จง
ในกรณีที่เลือกยามที่เป็น จี๋ ไม่ได้จริงๆ และควรเลี่ยงตัว ซง อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะจำเป็นเพียงใดก็ตาม อ่านกันมาจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้เขียนก็เชื่อว่า ท่านผู้อ่านก็คงพอจะได้หลักการเบื้องต้น ที่จะใช้เป็นแนวทางในการหาฤกษ์ยาม ที่พอใช้งานได้ เพื่อกระทำการตามความประสงค์ ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า เป็นฤกษ์ยามที่พอใช้งานได้เท่านั้น ไม่ใช่ฤกษ์ยามที่ดี แต่ก็ยืนยันว่า ไม่ใช่ฤกษ์ยามที่เสียหายโดยสิ้นเชิงแต่อย่างไร ก็เอาเป็นว่า ถ้าท่านมีซินแสที่สามารถหาฤกษ์ยามที่ดีให้ได้ ก็ให้ใช้บริการของซินแสท่านนั้น
แต่สำหรับท่านที่ไม่มี ก็สามารถใช้หลักการทั้งหมดที่ผ่านมา ในการเลือกฤกษ์ยามของท่านเอง ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการฮวงจุ้ยมาหลายสิบปี และได้แนะนำหลักการเหล่านี้ไปให้ผู้คนจำนวนมาก ก็ยังไม่เคยพบปัญหาแต่อย่างไร แต่เพื่อความไม่ประมาท ท่านก็ควรเตรียมการทุกอย่างไว้ให้พร้อม อย่าให้เกิดความฉุกละหุก
ดังที่หลายคนเรียกกันว่า ฤกษ์สะดวก ซึ่งผู้เขียนขอใช้คำว่า ฤกษ์สบาย แทน คือทำได้โดยสบายง่ายดาย เพราะเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมมูลหมดแล้ว ทั้งข้าวของเครื่องใช้ และฤกษ์ยามที่เหมาะสม แน่นอนว่า ถ้าท่านไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับการหาฤกษ์ยามเลย ท่านก็ใช้เวลาที่ท่านพร้อมที่สุด หรือ สะดวกที่สุด แต่ถ้าท่านพอจะมีความรู้บ้าง หรือ มีผู้รู้อยู่ใกล้ๆ ก็ไม่เสียหลาย ที่จะเพิ่มฤกษ์ยามมงคล เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความพร้อมของท่าน
เพื่อเพิ่มความแหลมคมของอาวุธทางปัญญา ในการหาฤกษ์ยาม ของท่านผู้อ่านให้มากขึ้น เราจะมาพูดถึงสิ่งที่ปรากฏอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน ในภาพตัวอย่างที่ 1 ดังกล่าว โดยข้อมูลในกรอบนั้น จะถือเป็นรายละเอียด ที่จะช่วยให้ท่านเลือกสรรฤกษ์ยามที่เป็นมงคล และมีความเหมาะสมกับกิจกรรม หรือ พิธีการ ที่ท่านต้องการกระทำได้สมบูรณ์มากขึ้น
เราเรียกข้อมูลเหล่านี้ว่า ดาวเทพ และ ดาวอสูร หรือในหลักวิชาเรียกว่า เสินซา (神殺) หรือ ซิ้งสัวะ ซึ่งดาวเทพอสูรเหล่านี้ จะมีหลักการคำนวณที่ซับซ้อน ดังที่โปรยหัวไว้ข้างต้น และผู้สร้างปฏิทินน่ำเอี้ยง ก็ได้ดำเนินการแทนพวกเราไว้เรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของเรา ก็เพียงรู้ความหมายของดาวแต่ละดวง แล้วเลือกใช้ให้เหมาะสม โดยไม่ต้องไปปวดหัวกับที่มาของดวงดาวเหล่านี้ ซึ่งความหมายและบทบาทของแต่ละดวงดาว จะนำเสนอต่อไป กล่าวคือ
กลุ่มดาวสุ้ย (歲) เน้นบทบาทด้าน ผลตอบสนองการกระทำ หรือการเก็บเกี่ยวผลที่เคยกระทำไว้ ประกอบด้วย ดาวสุ้ยเต๋อ (歲德) จะตอบสนองเฉพาะผลการกระทำที่ดี ดาวสุ้ยชี้ (歲支) จะตอบสนองทุกผลการกระทำ ไม่ว่าดีหรือร้าย และดาวสุ้ยลู่ (歲祿) จะตอบสนองแต่เรื่องของโชคลาภเงินทอง
ดาวกลุ่มนี้จึงเหมาะที่จะใช้เปิดกิจการใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ หรือประกอบพิธีที่เป็นมงคล โดยเฉพาะงานบุญกุศล การกระทำในวันที่ดาวกลุ่มนี้สถิต จะให้ผลตอบสนองที่รวดเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะดาวสุ้ยชี้ ถ้าทำด้านร้ายในวันที่ดาวนี้สถิต ไม่ว่ารู้หรือไม่รู้ จะถูกผลตอบสนองอย่างรวดเร็วเช่นกัน
กลุ่มดาวสือ (時) เน้นบทบาทด้าน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับกระทำการ หากเลือกกระทำการที่สอดคล้องกับพลังของดาว จะได้ผลสำเร็จเต็มกำลัง ประกอบด้วย ดาวสือหยาง (時陽) จะเน้นการกระทำที่เปิดเผย สามารถให้สาธารณชนรับรู้ได้ ดาวสือหยิน (時陰) จะเน้นการกระทำที่ต้องซ่อนเร้น เช่น พิธีกรรมด้านไสยศาสตร์ หรืออาถรรพ์พิธีต่างๆ ขอเน้นให้กระทำในด้านดีเท่านั้น
หากกระทำด้านร้ายในยามนี้ แม้จะสอดคล้องกับพลังซ่อนเร้นของดาว แต่จะเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในมิติของดาว ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ จึงอาจถูกลงทัณฑ์อย่างรุนแรงได้ และดาวสือเต๋อ (時德) เหมาะมากสำหรับประกอบพิธีงานบุญกุศล เพราะจะทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมรับรู้เช่นกัน
กลุ่มดาวยื่อ (曰) เป็นพลังของดาวเทพสุริยัน ที่โชติช่วงบรรเจิดกระจ่าง เป็นกลุ่มดาวที่สว่างไสว มีบทบาทเปิดเผย ให้ผลแรงกล้า ชัดเจน ประกอบด้วย ดาวหวางยื่อ (王曰) เหมาะที่จะทำพิธีเปิดตัวประธาน หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการชื่อเสียง ให้เป็นที่รู้จัก หรือประกาศตัวผู้บริหารระดับสูง จะช่วยเสริมสง่าราศี และอำนาจบารมี ดาวเหอยื่อ (合曰) เหมาะใช้เปิดตัวสมาคม คณะทำงาน หรือเปิดบริษัทใหม่ ให้ผลด้านสมัครสมานกลมเกลียว
ดาวเซียงยื่อ (相曰) เหมาะใช้เปิดตัวสินค้า ดารา นักแสดง นักการเมือง ที่ต้องการให้เป็นที่รู้จักชัดแจ้งในสังคม ดาวกวนยื่อ (官曰) คล้ายกับดาวหวางยื่อ แต่ฐานะต่ำกว่า ใช้กับการเลื่อนตำแหน่งระดับรองลงมาจากประธาน ดาวหลินยื่อ (臨曰) เหมาะกับการเปิดตัวสินค้า หรือบุคคล ที่ต้องการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดหรือสังคม เป็นฤกษ์ที่เหมาะกับการประจัญหน้า มีกำลังกล้าแข็ง เพิ่มโอกาสเอาชนะคู่แข่งได้
ดาวโฉ่วยื่อ (守曰) สมัยโบราณ จะใช้เป็นฤกษ์ในการตั้งทัพ เพราะมีพลังด้านการพิทักษ์รักษา ปัจจุบันอาจใช้ในการออกรถใหม่ได้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ดาวหมินยื่อ (民曰) เหมาะกับการเปิดตัวเฉพาะบุคคลโดยตรง และดาวเต๋อยื่อ (德曰) เหมาะใช้ประกอบการกุศล มีพลังแรงกล้า เป็นที่แจ้งประจักษ์ของฟ้าดิน
กลุ่มดาว เยว่ (月) เป็นพลังดาวเทพจันทรา ที่อ่อนโยน นุ่มนวล และเร้นลับ เป็นบทบาทซ่อนเร้น ประกอบด้วย ดาวเย่วเต๋อ (月德) เป็นพลังด้านดีของดาวจันทรา เหมาะใช้ประกอบพิธีกรรม ที่ต้องการพลังที่แรงกล้า เน้นพิธีที่ซ่อนเร้น ไม่เผยตัวต่อสาธารณะ มีพลังในการพิทักษ์ปกป้องแบบลับๆ ด้วย
ดาวเยว่เอิน (月恩) เป็นพลังด้านมนตรามหาเสน่ห์ ที่มีพลังดึงดูดใจอันแรงกล้า เหมาะใช้เปิดตัวสินค้าประเภทความสวยความงาม ไม่แนะนำให้ใช้ทำพิธีเสน่ห์ใดๆ เพราะดาวเอินทั้งหมด จะเน้นพลังด้านชื่นชมยินดีด้วยใจจริง จึงไม่ได้ผลในการบังคับให้ชื่นชม และดาวเยว่คง (月空) เป็นพลังแห่งความว่างเปล่า ที่ไร้ขอบเขต เหมาะใช้เป็นฤกษ์สำหรับคนที่ต้องการบวช เพื่อตัดความข้องเกี่ยวในโลกอย่างแท้จริง มีพลังในการสะบั้นความสัมพันธ์ สามารถใช้ทำพิธีอาถรรพ์ เพื่อลืมเลือนคนที่ทำให้เราเจ็บช้ำ หรือพิธีตัดชะตาสัมพันธ์
กลุ่มดาวเทียน (天) เป็นพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ ที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง การใช้ฤกษ์ที่มีดาวกลุ่มนี้สถิต จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น จากการเกื้อหนุนค้ำชูของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้หลักผู้ใหญ่ ประกอบด้วย ดาวเทียนเต๋อ (天德) เหมาะใช้ประกอบพิธีกรรมแบบเปิดเผย เช่น พิธีบวงสรวงเทพยดา เน้นทำช่วงกลางวัน มีพลังการพิทักษ์ปกป้องแบบชัดแจ้งด้วย ดาวเทียนเอิน (天恩) เหมาะประกอบพิธีการมงคลทุกประการ จะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วยดี เป็นพลังแห่งไมตรีจิตร
ดาวเทียนอี (天醫) เป็นพลังแห่งการบำบัดรักษา เหมาะใช้เป็นฤกษ์ในการผ่าตัด หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การย้ายคนไข้ ดาวเทียนสี่ (天喜) คล้ายดาวเทียนเอิน แต่เน้นไปในทางดึงดูดความชื่นชมยินดีทั่วสารทิศ รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย
ดาวเทียนโหว (天后) เป็นพลังความดึงดูดใจที่ยากต้านทาน เหมาะใช้เปิดตัวดารา นักการเมือง โดยเฉพาะเพศหญิง หรือสินค้าบริการด้านความงาม ท้ายสุดดาวเทียนเช่อ (天赦) เป็นพลังแห่งการให้อภัย จากเบื้องบน เหมาะใช้ทำพิธีแก้บน พิธีขอขมา บนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือทำพิธีบรวงสรวงต่อฟ้าดิน
กลุ่มดาวเสิน (神) เป็นพลังของสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยตรง การใช้ฤกษ์ที่ดาวกลุ่มนี้สถิต จะมีพลังแรงกล้ากว่าปกติ ทำให้บรรลุผลสำเร็จได้รวดเร็ว และเต็มกำลัง แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไข ของการกระทำบนพื้นฐานจิตใจที่ดีงาม มิเช่นนั้น นอกจากจะไม่เป็นคุณแล้วยังอาจได้รับโทษทัณฑ์ ประกอบด้วย ดาวจิ้นเสิน (進神) เป็นพลังความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว บางครั้งเรียกกันว่า ดาวดัง จึงเหมาะต่อการเปิดกิจการใหม่ เปิดร้านค้า เปิดตัวบุคคล สินค้า บริการ หรือแม้แต่เว็บไซท์ เพื่อให้มีความคืบหน้า เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว
ดาวฉูเสิน (除神) เป็นพลังแห่งการลบเลือน เหมาะใช้ทำพิธีขอขมาโดยตรง ให้ลืมเลือนความหลังที่พ้นผ่าน มีพลังที่ทำให้ผู้อื่นให้อภัยและยกโทษให้ และดาวเจี่ยเสิน (解神) เป็นพลังแห่งการแก้ไข ทุกสิ่งที่ผิดพลาด จึงเหมาะสำหรับการปรับปรุงกิจการใหม่ เช่น เปิดตัวร้านเก่าหลังจากปรับปรุงใหม่ ไม่เหมาะกับการเปิดร้านใหม่โดยตรง หรือการซ่อมแซมอาคารเก่า
กลุ่มดาวหม่า (馬) เป็นพลังของการเคลื่อนไหว อย่างกระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวา เหมาะใช้กับทุกกิจกรรมที่ต้องการพลวัตรของการเคลื่อนที่ ไม่หยุดนิ่ง อาทิเช่น การเดินทาง การเปิดงานกีฬา ประกอบด้วย ดาวอี้หม่า (驛馬) เป็นพลังแห่งพละกำลังที่พรักพร้อม หลังการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เหมาะใช้เปิดตัวกองคาราวาน หรืองานที่ต้องเคลื่อนตัวออกไปทำงานภายนอก การออกเดินทางของคณะทัวร์ ทั้งท่องเที่ยวและกิจกรรมอื่น
ดาวเทียนหม่า (天馬) เป็นพลังการเคลื่อนไหว ที่ได้รับแรงผลักดันจากอำนาจพิเศษ ไปจนถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง สมัยก่อนใช้เป็นฤกษ์ยามหนึ่งในการเคลื่อนทัพ แต่ต้องประกอบกับดาวอื่นที่มีพลังในการปกป้อง เข้ามาร่วมสถิตด้วย
กลุ่มดาวถาง (堂) เป็นพลังของอาณาบริเวณ เพราะพลังของดาวกลุ่มนี้จะแสดงผลในขอบเขตจำกัดเฉพาะเท่านั้น มิได้เปิดกว้างทั่วไป ประกอบด้วยดาวยวี่ถาง (玉堂) เป็นพลังของสตรี จึงเหมาะสำหรับเพศหญิงใช้งานเท่านั้น เช่น การย้ายห้อง การเปิดตัว หรือเปิดร้าน ดาวจินถาง (金堂) เป็นพลังของบุรุษ จึงเหมาะสำหรับเพศชายใช้ และดาวหมิงถาง (明堂) เป็นพลังของความสมดุลย์ เพราะประกอบด้วยหยินหยางครบถ้วน เหมาะใช้กับกิจกรรมที่ต้องการความกลมเกลียว ถือเป็นพลังกลางๆ ไม่ดีไม่ร้าย
กลุ่มดาวพลังมงคล เป็นการรวมดาวที่ให้ผลทางด้านสิริมงคล ความมั่งคั่งร่ำรวย และความสำเร็จ เหมาะใช้เปิดกิจการใหม่ เปิดอาคารใหม่ หรือขึ้นบ้านใหม่ ประกอบด้วย ดาวซื่อเซียง (四相) เป็นพลังที่ครบถ้วนทุกด้าน อำนวยแต่ความสำเร็จ ดาวอู่ฟู่ (五富) เป็นพลังแห่งความมั่งคั่งแบบรวมศูนย์ ส่งผลด้านฐานะมั่นคงร่ำรวย ดาวเซินชี่ (生氣) เป็นพลังแห่งความเจริญรุ่งเรือง ไม่เสื่อมถอยโดยง่าย และดาวหมู่ชาง (母倉) เป็นพลังแห่งขุมคลังอันอุดมสมบูรณ์ ส่งผลด้านการบำรุงเลี้ยง บริบูรณ์ไม่ขาดแคลน
กลุ่มดาวพลังอัปมงคล เป็นพลังแห่งความเสื่อมถอย ขาดแคลน สูญเสีย ไม่เหมาะใช้กระทำการใดๆ หากเจอดาวกลุ่มนี้สถิตในวันใด ให้หลีกเลี่ยง ประกอบด้วย ดาวจินกุ่ย (金匱) เป็นพลังแห่งการขาดแคลน โดยเฉพาะด้านโชคลาภเงินทอง ดาวหมิงเฟย (鳴吠) เป็นพลังของความดุร้าย ขู่กรรโชก ทำลายล้าง ดาวเฟยตุ้ย (吠對) เป็นพลังแห่งการลงทัณฑ์ เป็นความรุนแรงที่ถูกต้อง ไม่สามารถเรียกร้องใดๆ ได้ และดาวปู้เจี่ยง (不將) เป็นพลังแห่งการห้ามปราม หยุดยั้ง มิให้เกิดการกระทำใดๆ แม้มีก็จะต้องสิ้นสุดยุติ
ดาวเทพอสูรจริงๆ นั้นมีมากกว่านี้ แต่ที่นำมาเสนอนี้ เป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่ง ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้กำหนดฤกษ์ยาม ในทุกกิจกรรมที่มีดำเนินกันอยู่ทั่วไป ซึ่งตามหลักวิชาแล้ว ก็ต้องชี้แจงเพิ่มเติมสักเล็กน้อยว่า ไม่มีดาวดวงใดเป็น ดาวเพทหรืออสูร โดยสิ้นเชิง แต่ขึ้นกับบริบท ที่ดาวแต่ละดวงมามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน เกินกว่าจะอธิบายให้คนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้ผ่านการเรียนรู้หลักวิชาที่แท้จริงจะเข้าใจได้
สำหรับท่านที่พอมีความรู้อยู่บ้าง ผู้เขียนก็ขอเสนอแนะให้ ลองไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของคู่ราศี ที่ประกอบขึ้นเป็นดวงดาวเหล่านั้น โดยมีหลักการคร่าวๆ ว่า ถ้าคู่ราศีเกิดภาคี หรือ เหอ (合) กันก็จะส่งเสริม ถ้าปะทะ หรือ ชง (沖) กันก็จะตัดทอน ด้วยหลักการนี้ จึงทำให้ดาวแต่ละดวง ไม่มีบทบาทเป็นดาวเทพหรืออสูรอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่อาจเปลี่ยนแปลงกลับกลายไปได้ ขึ้นกับแต่ละบริบทของปฏิสัมพันธ์ดาวดังกล่าว เป็นไปตามหลักการของเต๋าที่ว่า “ในหยินมีหยาง ในหยางมีหยิน” หรือ “หยินโหย่วหยาง หยางโหย่วหยิน” (陰有陽 陽有陰)
(มิติทางหลักปรัชญา ep.1 ปฏิทินดวงดาว)
1 บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มิติทางหลักปรัชญา
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย