24 มิ.ย. 2023 เวลา 18:35 • บ้าน & สวน

โครงการจัดสรร

ปกติแล้วแนวทางการออกแบบโครงการจัดสรร ไม่ว่าจะเป็น บ้าน หรือ คอนโดมีเนียม ล้วนเน้นที่การใช้พื้นที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่ดินในตัวเมืองใหญ่ ที่มักจะมีราคาสูง ทำให้ทุกตารางนิ้วของพื้นที่ กลายเป็นสิ่งมีค่า และไม่อาจละเลยหรือมองข้ามไปได้ ด้วยเหตุนี้ โครงการจัดสรรส่วนใหญ่ แม้จะมีการคำนึงถึงสัดส่วนของที่ว่าง (Space) และอาคารสิ่งปลูกสร้าง (Building) จึงมักจะไม่สมดุลย์กัน เพื่อให้คงหลักการ ใช้พื้นที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ซึ่งในที่นี้ย่อมจะเลี่ยงไม่พ้น การคืนกลับมาเป็นตัวเงิน ที่สามารถสร้างผลกำไรสูงสุด ให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของโครงการ พื้นที่ว่างโดยส่วนมาก จึงมักจะมีน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมักจะกลายเป็นเพียงของประดับโครงการ ที่มิได้เป็นจุดประสงค์หลักในการจัดทำโครงการโดยตรง แน่นอนว่า นี่คงมิใช่สิ่งที่จะปฏิเสธได้โดยง่าย และบทความนี้ก็ย่อมจะมิได้มีจุดประสงค์ ที่จะไปต่อต้านหรือขัดแย้งแต่อย่างไร เพราะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า เป็นเรื่องของการทำธุรกิจ
ซึ่งเป็นปกติที่นักธุรกิจ ผู้ลงทุนกระทำ ย่อมต้องหวังผลกำไรกลับคืนสูงสุดเป็นเรื่องธรรมดา ด้วยเหตุนี้ แนวทางการออกแบบโครงการจัดสรร ที่ทำกันทั่วไป ดังที่ยกมาพูดคุยกันข้างต้น จึงมิได้อยู่ในวัตถุประสงค์ของบทความนี้แม้แต่น้อย เพราะเรากำลังจะพูดคุยกันถึง แนวทางการออกแบบ ที่ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางปกติทั่วไป แต่เป็นการออกแบบที่มุ่งตรงไปสู่ ผู้อยู่อาศัย มากกว่าการแสวงหาผลกำไร เป็นแนวทางที่เน้นคำนึงถึงการเข้าอยู่อาศัยในโครงการเหล่านั้นของผู้คนที่มีความประสงค์
โดยแนวทางที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ จะเป็นการใช้หลักวิชาด้านศาสตร์ตรีสัมพันธ์ หรือ ที่คนทั่วไปมักจะรู้จักกันในนามของ หลักวิชาฮวงจุ้ย (Feng Shui) มาทำการออกแบบโครงการ ที่มีพลังปราณที่ดี และเอื้อประโยชน์ต่อผู้อยู่อาศัยโดยตรง เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้น ได้ประโยชน์จากการลงทุนที่จ่ายไป ในการซื้อบ้านหรือห้องในคอนโดฯ เหล่านั้น เป็นผลประโยชน์ที่จะหวนคืนไปให้แก่ผู้อยู่อาศัยเหล่านั้นเป็นหลัก
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ก็ต้องขอบอกกล่าวไว้ล่วงหน้าว่า มิใช่ว่าบทความนี้จะมิได้สนใจ ผลตอบแทนที่เจ้าของโครงการจะได้รับ เพียงแต่อาจกล่าวได้ว่า เป็นประเด็นรองลงไปในการออกแบบโครงการ ที่ต่างจากแนวทางที่สถาปนิกทั่วไปนิยมใช้ คือมุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ของเจ้าของโครงการเป็นสำคัญ เนื่องจากว่า ปรัชญาของบทความนี้ มีความเชื่อว่า หากผู้อยู่อาศัย สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข มีความเจริญรุ่งเรือง ยั่งยืนสถาพร สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเป็นผลประโยชน์ ในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่เจ้าของโครงการจะได้รับ
นอกเหนือไปจากมูลค่าที่ตีเป็นตัวเงินตามปกติ และต้องขอเน้นย้ำไว้ตรงนี้ว่า แนวทางที่จะนำเสนอในบทความนี้ จะมิได้ทำให้นักธุรกิจเจ้าของโครงการ ต้องขาดทุนแต่อย่างไร เพียงแต่อาจต้องลดผลกำไรลงบางส่วน เพื่อแลกมากับความสุขของผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยในโครงการของท่าน
ซึ่งบทความนี้มองว่า น่าจะเป็นผลดีต่อทั้งเจ้าของและผู้ซื้อโครงการทั้งสองฝ่าย ทั้งยังมีความเชื่อว่า จะทำให้การขายโครงการ จะกระทำได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และความปรารถนาดี ที่เจ้าของโครงการได้เจือจานเผื่อแผ่แก่ผู้ซื้อ ตามหลักการที่กล่าวไว้ในหลักวิชาว่า “ให้ก่อนจึงย้อนคืน” หรือ “เซียงเก่ย โฮ่วโซ้ว” (先給 後收)
ถ้าจะพูดไป แนวทางการออกแบบโครงการจัดสรร ที่กำลังจะบรรยาถึงในบทความนี้ ก็ยังเลี่ยงไม่พ้น ต้องอาศัยหลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรมทั่วไป ในที่นี้ขอจำกัดไว้แค่การออกแบบโครงการเท่านั้น ยังไม่ลงลึกไปในรายละเอียดของการออกแบบตัวอาคาร หรือการตกแต่งภายในอาคารเหล่านั้น เพราะมันจะทำให้เนื้อหาที่ต้องบรรยาย มีรายละเอียดมากเกินไป และก็มิได้เป็นวัตถุประสงค์ของบทความนี้แต่อย่างไรด้วย
แน่นอนว่า สุดท้ายแล้ว ก็ยังคงต้องคำนึงถึง ความงาม ทัศนียภาพ บรรยากาศ และ ประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ภายในโครงการ เพียงแต่นั่นเป็นกระบวนการขั้นที่สอง ต่อจากการออกแบบผังพลังปราณในขั้นตอนแรกเสร็จสิ้นไปแล้ว จะพูดไปก็คงไม่ต่างจาก เงื่อนไขหรือข้อกำหนดเบื้องต้น (Primary Criteria) ที่เจ้าของโครงการให้เป็นโจทย์แก่สถาปนิกแต่อย่างไร
เพียงแต่ในระดับของเงื่อนไขเบื้องต้นเหล่านี้ จะมิได้ถูกกำหนดโดยตัวเจ้าของโครงการโดยตรง แต่เป็นการวิเคราะห์และคำนวณจากผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ตรีสัมพันธ์ เมื่อได้ผังพลังปราณที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จของทั้งพื้นที่แล้ว จึงส่งมอบให้สถาปนิก ทำการออกแบบให้สอดคล้องกับผังพลังปราณดังกล่าวนั้นอีกทอดหนึ่ง
ก่อนจะไปลงลึกในรายละเอียด ก็คงต้องยกประเด็นความจำเป็นที่ต้องทำการออกแบบ ผังพลังปราณ เป็นขั้นตอนแรก เนื่องมาจาก ตามหลักวิชาของศาสตร์ตรีสัมพันธ์นั้น พลังงานที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่นั้น นอกจาก สายลม แสงแดด และ สายน้ำ แล้ว ก็ยังมีพลังงานชนิดอื่นผสมผสานอยู่ร่วมด้วย แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีอุปกรณ์ หรือ เทคโนโลยี ใดที่จะตรวจวัดได้
แต่ก็สามารถพบเห็นหรือสังเกตได้จาก ภาพสะท้อนที่พลังงานเหล่านั้น แสดงออกหรือมีปฏิสัมพันธ์ กับภูมิสภาพ และบรรยากาศโดยรอบ เรื่องนี้ก็มิได้เป็นสิ่งเร้นลับแต่ประการใด เชื่อว่าทุกท่านคงไม่ปฏิเสธว่า เมื่อท่านต้องไปยืนอยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้า กับ ยืนอยู่ใต้เงาของแมกไม้ที่ร่มรื่น ท่านย่อมจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่แปลกแยกแตกต่างกัน นั่นคือสิ่งที่บทความนี้กำลังจะพูดถึง
เพียงแต่ในที่นี้ เราคงยังมิได้ลงลึกในรายละเอียด ของกลไกการทำงาน ที่ทำให้พลังงานแฝงเหล่านั้น มีปฏิสัมพันธ์ต่อความรู้สึกของผู้คน เอาเป็นว่า มีบางอย่างที่มากกว่า ความร้อนแรงของแสงแดด และ ความสงบเย็นของร่มเงาไม้อย่างแน่นอน
แนวทางการออกแบบโครงการ ด้วยศาสตร์ตรีสัมพันธ์ จึงเป็นการตอบสนองต่อพลังงานแฝงเหล่านั้น ซึ่งในบทความนี้จะเรียกว่า พลังปราณ และนำพลังเหล่านั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อตัวเจ้าของโครงการเอง และ ผู้ซื้อที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในโครงการ หลักการเบื้องต้น ก็คือการวิเคราะห์ตรวจหา ปริมาณ คุณภาพ และ ประเภทของพลังปราณทั้งหมด ที่ปรากฏมีอยู่ในพื้นที่จัดทำโครงการ
จากนั้นจึงค่อยหาทาง ขจัดหรือควบคุมพลังปราณที่ไม่ดี และกระตุ้นพลังปราณที่ดี ให้ตื่นตัวและเกิดประสิทธิภาพเต็มที่ โดยการใช้หลักวิชาในศาสตร์ตรีสัมพันธ์ มาทำการคำนวณหาผังของพลังปราณในพื้นที่ ทั้งที่เป็นพลังปราณสถิต (Static Prana) และ พลังปราณพลวัตร (Dynamic Prana) ซึ่งผลการคำนวณดังกล่าวนี้ จะแสดงให้เห็นทั้งตำแหน่ง ทิศทาง ปริมาณ คุณภาพ และประเภทของพลังปราณเหล่านั้นออกมาอย่างชัดแจ้ง
จากนั้นผู้เชี่ยวชาญ ก็จะเริ่มทำการจัดระบบ (Systemetic) ให้กับพลังปราณเหล่านั้น พร้อมการกดข่มละกระตุ้นพลังปราณทั้งร้ายและดี ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ จะให้ตำแหน่งของการจัดวางอาคารสิ่งปลูกสร้างท้งหมด รวมไปถึงพื้นที่ส่วนกลาง ที่เป็นสวนสาธารณะ หรือ พื้นที่สีเขียว พร้อมตำแหน่งและรูปทรงของสระน้ำ หรือ ทะเลสาบที่จะมีอยู่ในโครงการดังกล่าว
รูปที่ 1 แสดงผังโครงการที่ออกแบบด้วยศาสตร์ตรีสัมพันธ์
เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้โดยง่าย จากรูปที่ 1 ข้างต้น ขั้นตอนแรกในการออกแบบ จะต้องทำการหาจุดศูนย์รวมพลังของพื้นที่ให้ได้เสียก่อน ในหลักวิชาเรียกศูนย์พลังนี้ว่า ไท่จี๋ (太極) แนวทางง่ายๆ ก็คือการวาดรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบพื้นที่โครงการไว้ แล้วลากเส้นทแยงมุมทั้งสองเส้น จุดที่ตัดกันระหว่างเส้นทแยงมุมทั้งสอง ก็คือจุดไท่จี๋ หรือ ศูนย์รวมพลังปราณ โดยประมาณ
เมื่อได้ตำแหน่งของจุดดังกล่าวแล้ว ก็มีหลักการที่ระบุเอาไว้ว่า ศูนย์พลังนี้จะต้องไม่ถูกวัตถุ หรือ สิ่งที่มีน้ำหนักมากๆ กดทับ นั่นหมายความว่า จะต้องไม่เป็นภูเขาจำลอง ที่ทำด้วยหิน คอนกรีต หรือ ประติมากรรมที่มีน้ำหนักมากๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เป็นสระน้ำหรือทะเลสาบ เพราะน้ำมีสภาพที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ซึ่งจะทำลายสภาวะสงบนิ่งของศูนย์รวมพลังดังกล่าวลงได้
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ พลังปราณที่ผุดออกมาจากศูนย์รวมพลังนี้ จะถูกน้ำเก็บกักไว้ ไม่สามารถชักนำให้กระจายตัว ไปใช้งานได้อย่างทั่วถึงทั้งพื้นที่โครงการ ที่สำคัญหากไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ เมื่อคุณภาพน้ำแย่ลง ก็จะส่งผลให้คุณภาพของพลังปราณที่เก็บกักไว้ เสียหายไปด้วยโดยปริยาย ซึ่งนั่นย่อมส่งผลเสียในภาพรวมตลอดทั้งโครงการได้เลยทีเดียว
แต่ศูนย์รวมพลังดังกล่าวนี้ สามารถสร้างอาคารปิดทับไว้ได้ โดยยังอาศัยข้อกำหนดที่ว่า ตำแหน่งของจุดไท่จี๋ต้องไม่มีอะไรกดทับหรือเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยให้ความสำคัญกับชั้นล่างสุด หรือชั้นที่หนึ่งที่อยู่ระดับพื้นดิน จึงไม่นับชั้นใต้ดิน อาคารดังกล่าว จะถูกใช้เป็นอาคารประธานของโครงการ โดยจะเป็นตัวกำหนด ผังพลังปราณใหม่ที่ต้องการให้บังเกิดขึ้นในพื้นที่ด้วย อาศัยหลักการของ “หน้าหันหลังอิง” หรือ “เมี่ยนตุ้ย โฮ่วเหลย” (面對 後羸) ของตัวอาคารก็จะคำนวณผังพลังปราณที่ดีออกมาได้
แต่ก่อนอื่นจะต้องคำนวณผังพลังปราณดั้งเดิม ดังที่กล่าวไว้ในย่อหน้าก่อน โดยอาศัยถนนที่ผ่านพื้นที่โครงการ และจะใช้เป็นจุดเข้าออกหลักของโครงการ ซึ่งสามารถคำนวณหาตำแหน่งที่มีพลังปราณี่ดีได้ และจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนด ทิศหันหลังอิง ของตัวอาคารประธานได้ด้วย เพื่อให้ได้ผังพลังปราณที่สมบูรณ์พร้อมที่สุด สำหรับทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ในขณะเดียวกัน หากพบว่า ตำแหน่งใจกลางที่จุดไท่จี๋สถิตอยู่
จากผังพลังปราณดั้งเดิม เป็นตำแหน่งที่มีพลังปราณร้ายปรากฏ ก็ต้องทำการปรับแก้อย่างเหมาะสม เพื่อกำจัดหรือควบคุมพลังปราณร้ายเหล่านั้น ก่อนที่จะทำการสร้างอาคารประธานดังกล่าว ซึ่งควรใช้เป็นอาคารส่วนกลาง อาทิเช่น สโมสรของโครงการ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ จากพลังประธานนี้โดยถ้วนหน้า
จากในรูปที่ 1 ข้างต้น หากผังพลังปราณ เอื้อต่อการสร้างสระน้ำ หรือทะเลสาบรายรอบเกาะใจกลางซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารประธานได้ ก็ขอแนะนำให้กระทำ เพื่อให้บ้านทุกหลังที่อยู่ใกล้ ได้ใช้ประโยชน์จากทางน้ำ หรือ แอ่งน้ำดังกล่าวอย่างทั่วถึง และยังเป็นประโยชน์ที่เอื้ออำนวยต่อการกระจายพลังปราณได้อย่างดีเยี่ยม เพื่อให้ทั้งโครงการมีพลังปราณที่ดีโดยสม่ำเสมอทั่วทั้งพื้นที่นั้น จากในรูปท่านจะเห็น พื้นที่สีเขียวล้อมรอบโครงการ
นั่นก็คือ พื้นทีซึ่งจะจัดทำเป็นสวนสาธารณะส่วนกลาง ที่ทุกคนในโครงการจะสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึง เช่น อาจทำเป็นทางสำหรับวิ่งออกกำลังกาย หรือ ทางจักรยานที่วิ่งวนได้ตลอดทั้งโครงการ เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า เจ้าของโครงการอาจไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะเหมือนจะเป็นการสูญเสียพื้นที่อันมีค่า ไปโดยเปล่าประโยชน์ แน่นอนว่าในแง่มุมของนักธุรกิจผู้เป็นเจ้าของ ย่อมต้องมองเช่นนั้น แต่ในฐานะของผู้อยู่อาศัย ย่อมจะมองต่างไป เพราะนั่นคือสิ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น ทั้งกายและใจ
ทว่าเหตุผลเบื้องลึกของการจัดวาง พื้นที่สีเขียวล้อมรอบทั่วทั้งขอบเขตของโครงการนั้น นอกจากจะทำให้บรรยากาศของโครงการมีความร่มรื่นมากขึ้น ตามหลักวิชาในศาสตร์ตรีสัมพันธ์ ยังถือเป็นการสร้างแนวล้อม โดยอาศัยแนวไม้ยืนต้น ช่วยเก็บกักพลังปราณที่ได้รับการปรับแต่งให้มีคุณภาพที่ดี ให้หมุนเวียนอยู่ภายในโครงการ ไม่ให้เล็ดลอดสูญหายออกไปภายนอก
อีกเหตุผลหนึ่งทางหลักวิชา ก็เนื่องมาจาก ภัยคุกคามหรือพิฆาต ที่มาจากสภาพแวดล้อมรอบด้าน อาทิเช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง หรือ อาคารสูง ที่มีสภาพคุกคาม ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหลักวิชา ได้ระบุไว้ว่า ต้องเว้นพื้นที่โดยรอบอย่างน้อยเท่ากับความสูงของตัวอาคาร ที่อยู่ติดกับชายขอบของพื้นที่โครงการ ก็จะสามารถลดทอนอิทธิพลการคุกคามของพิฆาตภายนอกเหล่านั้นได้ ยิ่งเว้นพื้นที่ห่างได้มากเพียงใด ก็จะยิ่งลดทอนได้มากเพียงนั้น
แต่อย่างน้อยการทิ้งระยะห่างเท่าความสูงของอาคาร บวกกับความกว้างของถนน ก่อนถึงสวนส่วนกลางดังกล่าว ก็จะช่วยลดทอนอิทธิพลคุกคามภายนอกไปได้ไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้แนวไม้ยืนต้นที่ปลูกเอาไว้ในพื้นที่ดังกล่าวนั้น เมื่อถูกสายลมพรมพัด ก็จะเกิดสภาพเคลื่อนไหว ที่ช่วยสลายหรือหันเห ความเข้มข้นของการคุกคามลงไปได้อีกทอดหนึ่งด้วย เรียกว่า มีแนวป้องกันถึงสองชั้นด้วยกัน โดยชั้นแรกคือ ขนาดของพื้นที่ว่าง และสองคือสภาพเคลื่อนไหวของทิวไม้ที่รายรอบอยู่นั้น
การมีสระน้ำ หรือทะเลสาบ รายรอบเกาะใจกลาง ที่ตั้งของอาคารประธาน ย่อมต้องมีการสร้างสะพานเชื่อมต่อข้ามเหนือท้องน้ำดังกล่าว ตำแหน่งที่จะใช้วางสะพาน ก็ต้องคำนวณอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากผังพลังปราณในภาพรวม ที่เกิดจากการผสมผสานผังปราณ ระหว่างผังดั้งเดิมของพื้นที่ และ ผังใหม่ที่เกิดจาก หน้าหันหลังอิง ของตัวอาคารประธาน การวางตำแหน่งสะพานผิด ย่อมสร้างความเสียหายในภาพรวมได้
จึงเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบผังพลังปราณ จะต้องให้ความใส่ใจอย่างถี่ถ้วนรอบครอบ ในกรณีที่เป็นตำแหน่งห้ามมีน้ำ ก็สามารถทำเป็นท่อลอดผ่านไปข้างใต้ได้ หรือจะปิดทึบเป็นพื้นปกติก็ได้เช่นกัน เมื่อได้โครงสร้างหลักในภาพรวม คือ สวนส่วนกลาง สระน้ำ และ อาคารประธานแล้ว ผังพลังปราณรวม จะเป็นตัวกำหนด ตำแหน่งที่ตั้งของอาคารรองอื่นๆ เช่น ถังน้ำที่จะใช้ส่งน้ำเข้าสู่ระบบกระจายน้ำของโครงการ รวมไปถึง ประติมากรรม หรือแม้แต่แนวของถนนหนทาง ทั่วทั้งโครงการด้วย
รูปที่ 2 แสดงภาพผัง 24 ภูมิของระบบนาเจีย
เมื่อได้โครงสร้างหลักทั้งหมดแล้ว ต่อไปก็เป็นการวางตำแหน่งของอาคารย่อย ซึ่งจะใช้เป็นที่อยู่อาศัย ในกรณีนี้ขอใช้ตัวอย่างเป็นโครงการบ้านจัดสรรแทน เนื่องจากมีรายละเอียดมากกว่า คอนโดมีเนียม ซึ่งในระดับโครงสร้างหลัก เพียงแค่ตำแหน่งที่มีพลังปราณดีสุด แล้วกำหนด หน้าหันหลังอิง ก็สามารถจัดวางตำแหน่งของอาคารคอนโดฯ ดังกล่าวได้แล้ว
เพียงแต่คอนโดฯ จะมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาแตกต่างไปจากโครงการบ้านจัดสรรทั่วไป คือต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับการออกแบบห้องในแต่ละชั้นของอาคารคอนโดฯแทน ในที่นี้เมื่อเราใช้ตัวอย่างเป็นโครงการบ้านจัดสรร หลักวิชาในศาสตร์ตรีสัมพันธ์ที่จะใช้ จึงต้องอาศัย ผัง 24 ภูมิของระบบนาเจีย (纳甲) มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนด หน้าหันหลังอิง ของบ้านแต่ละหลัง โดยจากรูปที่ 2 เป็นแผนภาพ 24 ภูมิดังกล่าว
ซึ่งจะใช้แบ่งกลุ่มของบ้านออกได้ถึง 24 กลุ่ม หรือ 24 ทิศอิงได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ ผู้อยู่อาศัยทุกคน ได้เข้าพักในบ้านที่มีพลังปราณเหมาะสมกับชะตาคน ของแต่ละคน ซึ่งตามหลักวิชา จะเน้นไปที่หัวหน้าครอบครัว หรือ ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านเป็นหลัก โดยอาศัยหลักการที่ว่า “ผู้นำดี ผู้ตามย่อมดี” หรือ “ห่าวหลิงต่าว ห่าวซิ่งถู (好領導 好信徒)
โดยหลักเกณฑ์ในการคำนวณ หาบ้านที่เหมาะสมต่อเจ้าของบ้าน ก็จะใช้ ปี ค.ศ.ที่เกิด ของเจ้าบ้านดังกล่าวนั้น มาทำการคำนวณหา รหัสชะตา หรือ กั้วหมิง (卦名) ของเจ้าของบ้านนั้น เมื่อได้แล้วก็จะนำมาคำนวณร่วมกับแผนภาพ 24 ภูมิข้างต้น เพื่อหาบ้านที่ดี หรือ เหมาะสมที่สุด ต่อรหัสชะตานั้น จากนั้น จึงค่อยเข้าไปออกแบบตัวบ้าน พร้อมการตกแต่งทั้งภายในและภายนอก ของบ้านดังกล่าว ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องต่อชะตาคนของเจ้าบ้านผู้นั้น
รวมทั้งคนในครอบครัว ที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านนั้น เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ในชัยภูมิ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อชะตาคน ของพวกเขาเหล่านั้นให้มากที่สุด นอกจากนี้ด้วยหลักการเกี่ยวกับ ธาตุทิศ หรือ ฟางสิง (方行) ของบ้านแต่ละหลัง ยังสามารถให้รายละเอียดในการออกแบบ รูปทรงและสีสันของตัวบ้านได้อีกมากมาย รวมไปถึงสีสันและชนิดของต้นไม้ ที่จะปลูกรายล้อมตัวบ้านด้วย
จากที่บรรยายมาทั้งหมด เชื่อว่า น่าจะพอเป็นแนวทางในการออกแบบโครงการจัดสรรได้บ้าง แม้จะยังมิได้ลงลึกในรายละเอียดมากนักก็ตาม เนื่องจากจุดประสงค์ของบทความนี้ ก็เพียงต้องการนำเสนอ แนวทางและมุมมองที่แตกต่างไปจาก แนวทางการออกแบบ ที่ใช้กันทั่วไปในหลักการทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ความนิยมในด้านศาสตร์ตรีสัมพันธ์ หรือ ฮวงจุ้ย เริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
ยิ่งประเทศจีนมีการพัฒนาก้าวหน้ามากเพียงใด คนจีนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จนกลายเป็นเศรษฐีมีมากขึ้น และเมื่อคนเหล่านั้นเดินทางไปอยู่ในประเทศใด ก็ย่อมนำพาเอาคติความเชื่อเกี่ยวกับศาสตร์ฮวงจุ้ยเหล่านี้ติดตัวไปด้วย ดังนั้นโครงการจัดสรรใด ที่สร้างโดยอิงอาศัยอยู่บนพื้นฐานของศาสตร์ดังกล่าว ก็ย่อมเป็นที่สนใจต่อคนจีนเหล่านั้น มากกว่าโครงการที่มิได้คำนึงถึงศาสตร์ฮวงจุ้ยนี้
และนั่นย่อมหมายความว่า โครงการที่ใส่ใจในหลักการฮวงจุ้ย ย่อมจะสามารถปิดการขายโครงการได้เร็วกว่าเป็นธรรมดา และหากมีการออกแบบทางด้านสุนทรียศาสตร์ที่ดี ก็จะสามารถตั้งราคาที่สูงได้ เพื่อเป็นการชดเชย พื้นที่ที่ต้องเสียไป เพื่อความอยู่ดีมีสุขของผู้อยู่อาศัยทุกคน แล้วท่านเจ้าของโครงการก็จะเข้าใจ หลักการ ให้ก่อนจึงย้อนคืน ได้ดียิ่งขึ้นในที่สุด
(มิติทางเคหะสถาน ep.1 โครงการจัดสรร)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา