28 มิ.ย. 2023 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

การคิดในรูปแบบของ "ความน่าจะเป็น"

อ้างอิงจากหนังสือหลายๆเล่ม โดยหลักของการคิดและการตัดสินใจของมนุษย์นั้นจะแบ่งหลักๆอยู่เป็น 2 รูปแบบคือ แบบที่ตัดสินใจทันทีโดยใช้สัญชาตญาณ และการคิดแบบที่ต้องค่อยๆไตร่ตรองและคิดแบบมีหลักการ
บทความนี้จะมากล่าวถึงหนึ่งในรูปแบบการคิดที่ต้องมีการคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจ ซึ่งมักจะใช้เวลาและพลังงานค่อนข้างสูง นั่นก็คือการคิดแบบ "ความน่าจะเป็น"
ในที่นี้เราจะอ้างอิงถึงบริบทในโลกของการตัดสินใจในการลงทุนเป็นหลัก ทั้งนี้สามารถประยุกต์ไปใช้กับสิ่งอื่นๆในชีวิตได้เช่นเดียวกัน
การคิดในรูปแบบของความน่าจะเป็นนั้นเป็นการคิดที่เราจะต้องมีการคำนวณความน่าจะเป็นของสิ่งที่จะเกิดขึ้นและสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้น ฟังดูง่าย และเราอาจจะคิดว่าใครๆก็คิดได้ในรูปแบบของความน่าจะเป็น
เช่น เวลาที่เราทำข้อสอบแบบปรนัยที่อาจจะมี 4 ตัวเลือก มีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ 1 ข้อ ดังนั้น ความน่าจะเป็นที่เราจะตอบข้อสอบถูกจะอยู่ที่ 25% หรือหนึ่งในสี่ แน่นอนว่าเราสามารถคิดในรูปแบบของความน่าจะเป็นได้ง่ายๆเลย
แต่พอมาในบริบทของโลกความเป็นจริงแล้ว นี่เป็นการคิดที่ท้าทายจิตใจของเราอย่างมาก เพราะโลกความเป็นจริงนั้นไม่ได้มีตัวเลือกให้เราเห็นแบบชัดๆ และบางทีคำตอบที่ถูกก็มีมากกว่า 1 คำตอบ บางทีคำตอบอาจจะไม่มี หรือบางทีคำตอบอาจจะมีการถูกเปลี่ยนดื้อๆด้วยซ้ำ
คนเราจึงมีขอบเขตกาารรับรู้เกี่ยวกับความน่าจะเป็นน้อยกว่าที่คิด และมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถรับมือกับภาวะทางจิตใจในรูปแบบนี้ได้
ขอยกตัวอย่างเรื่องการลงทุนเพราะอาจจะเห็นภาพได้ง่ายครับ สมมติว่าเรามีเงิน 1 ล้านบาท เราตัดสินใจที่จะลงทุนซื้อหุ้น 10 ตัวๆละ 100,000 บาท โดยคาดหวังว่าถ้ามีหุ้นอย่างน้อยหนึ่งตัวให้ผลลัพธ์การลงทุนเท่ากับ 2,000,000 บาท ต่อให้เราขาดทุนกับหุ้นที่เหลืออีก 9 ตัวจนมูลค่าหุ้นเหลือ 0 เราก็ยังได้กำไรอยู่ดี
แต่ประเด็นคือ ถ้าลำดับของผลลัพธ์การลงทุนนั้น เราขาดทุนตั้งแต่หุ้นตัวแรกจนมาถึงหุ้นตัวที่ 9 แล้วค่อยมาได้เงิน 2,000,000 บาทตอนครั้งสุดท้าย โดยผลลัพธ์สุทธิเราก็กำไรเหมือนเดิม แต่เราจะสามารถทนกับการแพ้ติดๆกันขนาดนั้นได้หรือไม่ แน่นอนว่ายากมากครับที่เราจะไม่มีอารมณ์ร่วมไปกับมัน
และด้วยเหตุการณ์แบบนี้อาจจะทำให้เราตัดสินใจลงทุนผิดพลาด ลงทุนแก้แค้น หรือทำอะไรที่อาจแย่ไปกว่านั้นอีกครับ ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำไมผมถึงมองว่าคนเรานั้นมีแนวโน้มที่จะรับมือกับความน่าจะเป็นได้ยากนั่นเองครับ
การจะรับมือกับความน่าจะเป็นเบื้องต้นนั้น เราอาจจะต้องเริ่มเปลี่ยนความคิดของตัวเองก่อนว่า "อะไรก็เกิดขึ้นได้" ทุกการตัดสินใจที่เราตัดสินใจนั้น ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราตัดสินใจดีแค่ไหน แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้กับความไม่แน่นอนที่โลกที่นี้มีอยู่ครับ
แต่เราต้องมีความเชื่อว่า ทุกการตัดสินใจที่เราตัดสินใจไปนั้น เป็นการตัดสินใจที่ผ่านการคิดและไตร่ตตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดต่อจากนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะต้องยอมรับมันครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา