Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อรรถเสวนา
•
ติดตาม
28 มิ.ย. 2023 เวลา 18:06 • ปรัชญา
ปฐมบทแรกอุบัติ
มนุษย์ชาติเฝ้าตั้งคำถามเกี่ยวกับ ปฐมบทแรกกำเนิดของพวกตนมาเป็นเวลายาวนาน เรียกได้ว่าแทบจะตลอดทุกอารยธรรมของมนุษย์ก็ว่าได้ และต่างก็มีคำอรรถาธิบายที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ความเข้าใจหรือจุดประสงค์ของผู้อธิบาย ที่ต้องการให้ผู้คนโน้มเอียงเชื่อตามไปในทิศทางใด บ่อยครั้งที่คำตอบเกี่ยวกับความเป็นมาแรกอุบัติของมนุษย์นั้น จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทั้งทางการเมืองและศาสนจักร เพื่อควบคุมความเชื่อของมวลชนให้อยู่ในขอบเขตที่ผู้ปกครอง หรือผู้นำทางจิตวิญญาณของสังคมนั้นๆ ต้องการ
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ คำอธิบายเกี่ยวกับปฐมบทแรกอุบัติของมวลมนุษย์ จึงมักจะมีความแตกต่างกันไปหลากหลายเรื่องราว และผู้เขียนก็เชื่อว่า ท่านผู้อ่านหลายท่านที่ยังมีข้อสงสัยในเรื่องนี้อยู่ ก็คงจะเคยได้รับรู้หรืออ่านเจอบทความที่เป็นคำตอบเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้มาไม่น้อย
อาจกล่าวได้ว่า แทบจะทุกศาสนาที่ยังดำรงคงอยู่ในโลกปัจจุบัน ก็ล้วนมีคำอธิบายในเรื่องเหล่านี้ไว้แทบทั้งสิ้น และบทความนี้ก็คงจะไม่เข้าไปก้าวก่าย หรือหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างไร เพียงแต่จะลองพาท่านผู้อ่านไปรับรู้ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ต่างออกไป แม้จะไม่ใช่ข้อมูลที่แปลกใหม่แต่ประการใดก็ตาม
เราทั้งหลายเป็นใคร นี่เป็นคำถามยอดนิยม ที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของแทบจะทุกชาติศาสนา ผู้คนจำนวนไม่น้อยล้วนต้องการทราบว่า ตนเป็นใครมาจากไหน และกำลังจะไปไหน ชีวิตและความตายแท้จริงคือสิ่งใด คำถามเหล่านี้ก้องดังอยู่ในทุกความสงสัยมาตลอดกาลเวลาแห่งอารยธรรมของมวลมนุษย์
และแท้จริงแล้วก็มีการตอบคำถามนี้ไปในหลายทัศนะ ตามหลักปรัชญาของแต่ละศาสนธรรมและคติความเชื่อ บ้างก็ตอบว่า เราคือจิตวิญญาณ ที่มายังโลกนี้เพื่อฝึกฝนตนเอง ให้เข้าใจและเข้าถึงหลักธรรมที่แตกต่างกันไปตามจุดมุ่งหมายของแต่ละศาสนา อาทิเช่น ในศาสนาพุทธก็มุ่งเน้นที่การเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ หรือที่เรียกกันว่า พระนิพพาน เป็นการสิ้นสุดยุติของการเวียนว่ายตายเกิด
ขณะที่ในคริสต์ศาสนา ก็ต้องการเข้าถึงชีวิตนิรันดร์ร่วมกับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งไม่ว่าจะมีจุดมุ่งหมายใด ก็ล้วนดำเนินไปตามครรลองแห่งการเป็นศาสนิกชนที่ดี ที่น่าสังเกตุก็คือ ศาสนาส่วนใหญ่จะมีจุดมุ่งหมายไปที่ความเป็นนิรันดร์ เป็นชีวิตที่ไม่มีการเกิดตายอีกต่อไป
เพื่อที่จะอธิบายความเรื่องนี้ให้กระจ่างเกี่ยวกับคำถามที่ว่า เราคือใคร มาจากไหน กำลังจะไปไหน ชีวิตและความตายคืออะไร ผู้เขียนก็จะข้อตั้งเป็นสมมติฐานขึ้นประการหนึ่ง แล้วค่อยทำการขยายความในแต่ละส่วนต่อไป โดยอิงอาศัยหลักปรัชญาของพระพุทธศาสนา เพราะมีข้อมูลหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนในการสนับสนุนสมมติฐานของผู้เขียน แต่ก็ยังมิใช่ข้อเท็จจริงแต่ประการใด
เพียงต้องการตั้งเป็นทฤษฎีให้ผู้อ่านลองพิจารณาใคร่ครวญดู ไม่เกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อหรือไม่เชื่อ ถูกหรือผิด แต่เป็นการสนทนาพาทีกันตามปกติธรรมดาทั่วไปเท่านั้น โดยสมมติฐานของผู้เขียนที่พูดถึงนั้น มีใจความสำคัญว่า "เราคือคนที่ยังหลับฝันอยู่ จึงไม่มีการมาการไป เพราะคนที่นอนอยู่และฝันว่าไปที่นั่นที่นี่ แท้จริงก็ยังนอนอยู่บนเตียงมิได้ไปจริง
ชีวิตที่แท้จึงไม่มีในความฝัน การเกิดการตายจึงไม่มีอยู่จริง เพราะเป็นเพียงแค่ฝันว่าเกิดและตายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่า พุทธะ คือผู้ที่ตื่นแล้ว เป็นผู้ที่เข้าใจแล้วว่า สรรพเหตุการณ์ที่ผ่านมาล้วนเป็นเพียงความฝันชั่วคืน ไม่มีสิ่งใดเป็นจริง"
ก่อนจะตอบคำถามที่ว่า หรือชีวิตจะเป็นเพียงความฝัน นี้ ท่านผู้อ่านลองวางใจเป็นกลางๆ เปิดใจให้กว้างแล้วลองหันมองดูสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว แล้วท่านจะพบเองว่า ไม่มีอะไรที่ควบคุมได้แม้แต่น้อย แม้แต่ตัวเราเองก็ยังควบคุมไว้ไม่ได้ สุดท้ายแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ และตายไปจากโลกนี้ เพื่อวนเวียนไปเกิดตายในโลกอื่นๆ ต่อไป
จนมีบทกวีที่พรรณาถึงชีวิตไว้หลากหลายรูปแบบ แม้สำนวนถ้อยคำจะแตกต่างกันไป แต่เนื้อหาสาระและความหมายกลับสอดคล้องกันอย่างน่าประหลาด โดยผู้เขียนจะขอยกมาบทหนึ่ง ความว่า "สรรพสิ่งในโลกีย์ ประดุจวิมานความฝัน ดั่งสายหมอกเลือนลาง บุปผาในกระจก จันทรากลางสายวารี"
บทกวีที่ยกมานี้ ใช่ว่าจะเลือกมาอย่างเลื่อนลอย เพียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนมมติฐานของผู้เขียนข้างต้นเท่านั้น แต่ทว่าเป็นหนึ่งในกวีนิพนธ์หลายบทที่มีความหมายสอดคล้องกับหลักปรัชญาของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ดังปรากฏอยู่ในท้ายพระสูตรที่มีนามว่า วัชรปรัชญาปารมิตา
โดยเนื้อหาที่ผู้เขียนจะยกมานี้เป็นฉบับที่แปลโดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ที่เป็นเหมือนการสรุปของพระพุทธองค์ความว่า "เพราะว่าสังขตธรรมทั้งปวง มีอุปมาดั่งความฝัน ดั่งภาพมายา ดั่งฟองน้ำ ดั่งเงา ดั่งน้ำค้าง และดั่งสายฟ้าแลบ พึงเพ่งพิจารณาโดยอาการอย่างนี้"
เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจ เกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนก็จะขออนุญาติอธิบายขยายความเพิ่มเติมดังนี้คือ สังขตธรรมทั้งหลาย ก็คือ สรรพธรรมที่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุปัจจัย อันมีธรรมชาติฝ่ายโลกียะหรือโลกที่เราดำรงอยู่นี้เป็นตัวอย่าง ทุกสิ่งในโลกหรือแม้แต่ในจักรวาล ก็ล้วนประกอบไปด้วยองค์ประกอบย่อยๆ ที่มารวมตัวกัน
จนก่อเกิดเป็นวัตถุธาตุที่พวกเราพบเห็นกันอยู่เป็นปกติทุกวี่วัน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั่นเอง ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า เป็นเหมือนความฝันหรือมายาภาพที่ไม่มีอยู่จริง เหมือนฟองน้ำที่ผุดพรายแล้วแตกสลาย เหมือนน้ำค้างที่สกาวเพียงชั่วข้ามคืนเมื่อต้องแสงสริยาก็มิแต่จะระเหยเหือดแห้งไป หรือเหมือนกับสายฟ้าแลบที่สว่างวาบเพียงชั่ววูบ ไม่สามารถยึดถือเป็นจริงจังได้
นอกจากนี้ในหลักธรรมของพระหฤทัยสูตร ที่เป็นบทสรุปจากวัชรปรัชญาปารมิตานั้น ก็มีการกล่าวเป็นเชิงสรุปไว้ในทำนองเดียวกันอีกว่า "ธรรมทั้งปวงว่างเปล่า ไม่มีรูป ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มัวหมอง ไม่ผ่องแผ้ว ไม่เพิ่ม ไม่ลด ในความว่างเปล่าไม่มีรูป ไม่มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ไม่มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่มีฌาน ไม่มีการบรรลุ เพราะไม่มีอะไรให้บรรลุ"
ถ้อยคำเหล่านี้คล้ายจะเป็นการเน้นย้ำในเรื่องเดียวกันอย่างน่าประหลาด ท่านต้องการบอกอะไรเรา คำว่าธรรมทั้งปวง ย่อมมีความหมายรวมถึงทุกสรรพสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจักรวาล ซึ่งย่อมกินความถึงชีวิตด้วย เหตุใดจึงมีการปฏิเสธอยู่เช่นนี้ตลอดเวลาในหลายกาละเทศะ หรือชีวิตจะเป็นเพียงความฝันจริงๆ เพราะเหตุนี้หรือไม่ศาสนาพุทธ จึงใช้คำว่าพุทธะ ซึ่งหมายถึงผู้ที่ตื่นขึ้น มาเป็นนามของพระศาสนา
จะเป็นการแฝงนัยบางประการหรือไม่ที่จะสะกิดเตือนให้พวกเราทุกคนได้ตระหนักว่า ชีวิตที่แท้แล้วหามีความหมายอะไรมากไปกว่ามายาภาพในความฝันเท่านั้น ดังที่ท่านฮวงโป ผู้เป็นบุรพาจารย์สายปรัชญามหายานที่เลื่องชื่อในอดีต ได้กล่าวตอบคำถามของผู้ที่สงสัยเรื่องการบรรลุธรรมไว้ว่า "ไม่มีอะไรจะต้องบรรลุถึง เพียงแต่ลืมตาตื่นเท่านั้นสิ่งๆ นั้นก็จะปรากฏแก่เธอ"
ความจริงแล้วแนวความคิดที่ว่า ชีวิตเป็นเพียงความฝันนั้น ก็มิได้มีเพียงในปรัชญาหรือศาสนาทางซีกโลกตะวันออกนี้เท่านั้น จะเห็นได้จากปัจจุบันที่กระแสปรัชญามีการถ่ายทอดถึงกันอย่างทั่วถึงไปทั้งโลก แนวคิดนี้ก็ได้ไปปรากฏในซีกโลกตะวันตกด้วย หลายท่านอาจเคยได้ชมภาพยนต์แนววิทยาศาสตร์อิงปรัชญาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกชื่อเมตริก (Metrix)
ซึ่งผู้สร้างต้องการนำเสนอในแนวคิดที่ว่า ชีวิตที่ปรากฏอยู่ในโลก ความจริงแล้วก็คือความฝันของคนที่แท้ ซึ่งยังนอนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แนวคิดนี้แม้จะเป็นเพียงภาพยนต์เพื่อความบันเทิง แต่ก็ให้มุมมองแง่คิดที่น่าสนใจ และยังสอดคล้องกับหลักคำสอนโบราณที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อได้ปูพื้นความรู้ให้ท่านผู้อ่านมาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านคงพอจะตามติดแนวคิดของผู้เขียนได้บ้างไม่มากก็น้อย สมมติว่าเมื่อชีวิตเป็นความฝัน ประเด็นคำถามต่อไปก็คือ แล้วใครกันที่เป็นคนที่กำลังหลับฝันอยู่ในขณะนี้ ถ้าตอบคำถามนี้ได้ พวกเราก็จะพบเองว่า ตัวตนที่แท้ของเราก็คือคนที่กำลังนอนอยู่นั้น มิใช่คนที่กำลังโลดแล่นอยู่ในความฝันขณะนี้
พูดในอีกทางหนึ่งก็คือ พวกเราทั้งผู้เขียนและท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้ แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงกายในฝัน มีใช่ตัวตนที่แท้ของตัวเราที่กำลังนอนอยู่ในที่ไหนสักแห่งหนึ่ง เพียงคิดถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านก็อาจจะเริ่มเกิดความสงสัยหรือไม่ก็กำลังงุนงงว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าตัวเราในขณะนี้ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เพื่อตอบคำถามนี้ เราจะมาลองพิจารณาบทความบางตอนในหนังสือคำสอนท่านฮวงโปกันอีกสักครั้ง ความว่า
"จิต ล้วนๆ นี้ ซึ่งเป็นที่กำเนิดของสิ่งทุกสิ่ง ย่อมส่องแสงอยู่ตลอดกาล และส่องความสว่างจ้าแห่งความสมบูรณ์ของมันเองลงบนสิ่งทั้งปวง แต่ชาวโลกไม่ประสีประสาลืมตาต่อมัน ไปมัวเข้าใจเอาแต่สิ่งซึ่งทำหน้าที่ดู ทำหน้าที่ฟัง ทำหน้าที่รู้สึก และทำหน้าที่คิด ว่านั่นแหละคือ จิต เขาเหล่านั้นถูกการดู การฟัง การรู้สึก และการนึกคิดของเขาเอง ทำเขาให้ตาบอด เขาไม่รู้สึกต่อแสงอันสว่างจ้าของสิ่งซึ่งเป็นต้นกำเนิดทางฝ่ายจิต"
จากคำสอนดังกล่าว ท่านฮวงโปต้องการบอกอะไรต่อเรา แท้จริงแล้วสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นตัวเรานั้น กลับมิใช่ประสาทสัมผัสทั้งหมดที่เรารับรู้หรือมีอยู่ แต่เป็นบางสิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้น และในทางตรงกันข้ามเรากลับถูกประสาทสัมผัสเหล่านี้คือ การดู การฟัง การรู้สึก และการคิด ปิดกั้นจนทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดไปจากธรรมชาติดั้งเดิมที่ควรจะเป็นตัวเรา
ซึ่งท่านใช้คำว่า จิตเดิม และยังย้ำว่า เป็นสิ่งที่มีแสงสว่างแห่งความสมบูรณ์ในตัวเอง ความสมบูรณ์ก็คือความบริบูรณ์ไม่ขาดไม่เกิน จะด้วยเหตุนี้หรือไม่ จึงปรากฏคำกล่าวในพระหฤทัยสูตรข้างต้นที่ว่า “ไม่มีการบรรลุ เพราะไม่มีอะไรให้บรรลุ” หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ไม่มีทุกข์จึงไม่ต้องมีการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า แท้จริงแล้วทุกข์ทั้งหลายนั้นไม่มี
เพราะตัวตนที่แท้ของเราคือจิตเดิมนั้น เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เพียงเพราะหลับฝันอยู่ จึงเข้าใจว่าชีวิตที่แท้มีแต่ความทุกข์ กระทั่งเมื่อลืมตาตื่นขึ้น จึงพบว่า ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการหลับฝันไปเท่านั้น ทุกข์ที่เข้าใจว่ามีจึงไม่มี เมื่อไม่มีทุกข์จึงไม่ต้องมีการแสวงหาหนทางเพื่อการพ้นทุกข์แต่อย่างไร
เราได้รู้แล้วว่า ชีวิตที่เราเข้าใจว่าเป็นความจริงแท้นั้น ที่แท้ก็เป็นเพียงความฝันที่ไร้ความหมาย และได้เรียนรู้แล้วว่า ตัวตนที่แท้ของเราก็คือบางสิ่งที่กำลังนอนหลับอยู่ ในที่นี้ขอใช้ศัพท์บัญญัติที่เรียกหากันทั่วไปคือ จิตเดิม ไปพลางๆ เพื่อแทนตัวตนของคนที่กำลังหลับฝันอยู่ คำถามต่อไปก็คือ แล้วอะไรที่ทำให้จิตเดิมนั้นต้องหลับฝัน ในเมื่อจิตเดิมมีความสมบูรณ์เป็นปกติ เหตุใดจึงยังไม่รู้สึกตัว
เพื่อตอบคำถามเรื่องนี้ ผู้เขียนได้พยายามสืบค้นข้อมูลอยู่นาน แต่ยังไม่พบว่า มีสมมติฐานหรือทฤษฎีใดที่จะอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นพูดตั้งแต่ภายหลังที่มีการหลับฝันแล้วทั้งสิ้น คงมีแต่สมมติฐานในบทความแรกของ ไขรหัสลับปริศนา ชื่อ จักรวาลทั้งสาม ที่กล่าวถึง จักรวาลที่อยู่ของบรรดาจิตเดิมดังกล่าว โดยได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า จักรวาลนี้เต็มไปด้วยธาตุรู้อันบริสุทธิ์สมบูรณ์ที่มารวมตัวเข้าด้วยกันเป็นมวลรู้หรือจิตเดิมนั้น
และเพราะคุณสมบัติของธาตุรู้ดังกล่าวจึงทำให้จิตเดิมมีความบริสุทธิ์และสมบูรณ์ตามไป ส่วนที่ว่าทำไมต้องหลับฝัน ก็ได้อธิบายความไว้ว่า "เมื่อธาตุรู้เข้ามารวมตัวกันในสภาวะแรกเริ่ม จนเกิดเป็นสภาวะของมวลรู้ขึ้นแต่ยังไม่สมบูรณ์ ทว่ากลไกการรับรู้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว สภาวะในแรกเริ่มนี้จึงทำให้มวลรู้เหล่านั้นอยู่ในสภาวะที่อาจเรียกว่า การหลับฝัน เพราะยังไม่รู้สึกตัวจึงมีสภาพเหมือนหลับอยู่ แต่กลไกความรู้ได้เริ่มทำงานแล้ว จึงเกิดสภาพของความฝันขึ้น"
ข้อความที่ยกมานี้ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ ในระดับนี้ก็ขอให้ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งในสมมติฐานที่นำเสนอให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณา สำหรับท่านที่สนใจในเรื่องของจักรวาลทั้งสามดังกล่าว ก็สามารถอ่านในรายละเอียดได้จากบทบทความในเพจนี้ โดยได้อธิบายไปจนถึงการเกิดขึ้นของจักรวาลแห่งมวลพลังงานและมวลสาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสรรพสิ่งที่เรารู้จักคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
และถ้าจะกล่าวไป แนวคิดดังกล่าวนี้ก็มิใช่จะเลื่อนลอยเสียทีเดียว เพราะไปตรงกับหลักปรัชญาของทางมหายาน ดังปรากฏในหนังสือสูตรของเว่ยหล่าน ผู้เป็นสังฆปรินายกองค์ที่หกของพุทธศาสนานิกายเซ็น ความว่า "ธรรมญาณ เป็นรากฐานเดิมตามธรรมชาติแท้ของจิต ยากที่จะอธิบายสภาวะนั้นด้วยภาษาคน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า จิตเดิมแท้ แต่ในที่นี้เรียกว่า ธรรมญาณ อันเป็นญาณที่มาจากธรรมชาติดั้งเดิมแท้"
สังเกตุได้ว่า ท่านเว่ยหล่านใช้คำว่า ธรรมญาณ ซึ่งหมายถึงความรู้ เป็นรากฐานเดิมของจิต ซึ่งตรงกันอย่างน่าประหลาดกับธาตุรู้และมวลรู้ในบทความดังกล่าว โดยธาตุรู้ก็เปรียบได้กับธรรมญาณที่ประกอบขึ้นเป็นมวลรู้ ที่เทียบได้กับจิตเดิมแท้ในความหมายของท่านเว่ยหล่านนั้น ทั้งยังอธิบายสภาวะของธาตุรู้ได้ใกล้เคียงกับความหมายของธรรมญาณ ที่บรรยายไว้หนังสือสูตรของเว่ยหล่านด้วย ความว่า
"ธรรมญาณเป็นของบริสุทธิ์เหนือความบริสุทธิ์ใดๆ ...ธรรมญาณเป็นอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของการเกิดและดับสูญอย่างแท้จริง ...ธรรมญาณเป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองอย่างแท้จริง ...ธรรมญาณอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์แห่งความเปลี่ยนแปลง ...สรรพสิ่งที่ปรากฎออกมานี้ล้วนมาจากธรรมญาณ ตัวจริงคือธรรมญาณที่อาศัยอยู่ในตัวปลอม มีสภาวะเป็นอสังขตธรรมไร้การปรุงแต่ง ...
เพราะฉะนั้น จึงมิอาจเอากฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขใดๆ ไปกำหนดได้เลย และสรรพสิ่งมิอาจเข้าไปมีอิทธิพลบงการใดๆ ไม่มีสิ่งใดเพิ่ม ขึ้นหรือลดลงด้วยสภาพเช่นนี้เอง ธรรมญาณจึงเป็นต้นธาตุ ต้นธรรม อันแท้จริง"
จากข้อความที่ยกมาข้างต้นนี้ ก็เป็นหลักฐานที่ช่วยสนับสนุนว่า จิตเดิมที่เป็นผลพวงจากธรรมญาณเป็นบ่อเกิดของทุกสรรพสิ่งรวมทั้งตัวของจักรวาลเอง เมื่อจิตเดิมที่ธาตุรู้หรือธรรมญาณเดิมยังรวมตัวไม่สมบูรณ์ก็จะก่อให้เกิดสภาวะของบทบาทจากความไม่รู้สึกตัว หรืออาจเรียกว่าเป็นความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ หรืออวิชชาก็สุดแล้วแต่
และบทบาทเหล่านี้เองที่เป็นที่มาของจักรวาลและสรรพสิ่งที่ติดตามมา มีคำกล่าวสนับสนุนข้อความนี้อยู่ในหนังสือสูตรของเว่ยหล่านอีกเช่นกัน ความว่า "สรรพสิ่งล้วนมาจากธรรมญาณทั้งสิ้น ความว่างเป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง หากปราศจากความว่างเสียแล้ว ดวงดาวในจักรวาลมิอาจสร้างขึ้นมาได้เลย สภาวะแห่งธรรมญาณอันเป็นธรรมชาติเดิมแท้นั้นเป็นความว่างอันยิ่งใหญ่ มีอานุภาพสร้างสรรพสิ่งให้เกิดขึ้นมากมาย
เหมือนอย่างที่ท่านเหลาจื้อพูดถึงเต๋าว่า เต๋าอยู่นิ่งๆ ไม่เกิดสรรพสิ่ง แต่พอเต๋าขยับตัว สรรพสิ่งจึงเกิดขึ้น เต๋าคือธรรมะสภาพเดิมเป็นความว่าง ไม่มีสรรพสิ่งอะไรอยู่เลย เหมือนอย่างสภาวะแห่ง ธรรมญาณอยู่นิ่งๆ เป็นความว่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอขยับตัวคือ เริ่มต้นคิด จึงเกิด..."
สรุปแล้วจักรวาลหรือสรรพสิ่งก็เกิดมาจาก กระบวนการของความคิดนั่นเอง การคิดที่แท้ก็คือการปรุงแต่ง มนุษย์สร้างสรรค์ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ขึ้นจากความคิดและจินตนาการ จักรวาลก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่เกิดจากความคิดของสิ่งที่มีพลังอำนาจเหนือกว่ามนุษย์ หากจะพูดไปก็คือตัวจิตเดิมที่กำลังหลับไหลนั่นเอง หรืออาจกล่าวได้ว่า บทบาทของจิตที่หลับไหลเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งสร้างสรรค์เป็นจักรวาลและสรรพสิ่งขึ้น
โดยผู้เขียนขอใช้ศัพท์บัญญัติในการเรียกหาเช่นเดียวกับว่า วิญญาณคือบทบาทของจิตที่หลับไหล และตัววิญญาณนี่เองที่มีพื้นฐานมาจากความไม่รู้คืออวิชชาดังกล่าว วิญญาณจึงเป็นตัวรู้ที่ไม่รู้ความจริง มันจึงได้แต่คิดปรุงแต่งไปตามประสาความไม่รู้ของตัว จนก่อเกิดเป็นสมมติต่างๆ ขึ้นมามากมาย และวิญญาณเหล่านั้นก็เข้าไปเสพสมมติที่ตนปรุงแต่งขึ้นมานั้น ก่อเกิดเป็นวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่จบสิ้นขึ้น ไม่ต่างจากความฝันของผู้คน ที่สามารถสร้างสิ่งต่างๆ เหมือนเป็นจักรวาลส่วนบุคคลขึ้น
ดังนั้นการที่คนเราเฝ้าแสวงหาหนทางออกจากห้วงทุกข์หรือโลกียะนี้ เพื่อไปสู่สภาวะอันเป็นนิรันดร์ที่เป็นเหมือนบ้านอันแท้จริงของตน เพราะเป็นที่บังเกิดและที่อยู่ของธรรมญาณและจิตเดิม คนเหล่านี้จึงไม่ต่างจากคนที่กำลังนอนอยู่บนเตียงในบ้านของตน และฝันไปว่า กำลังหลงทางหาทางกลับบ้านไม่ถูก แล้วก็เฝ้าวนเวียนหาทางอยู่เช่นนั้น
โดยไม่รู้ว่า ที่แท้แล้วตนมิได้ออกจากบ้านไปยังที่ใดเลย ยังคงหลับนอนอยู่บนเตียงของตัวเองตลอดเวลา ดังนั้นการจะเข้าถึงภาวะนิรันดร์ดังกล่าวนั้น ก็แค่ลืมตาตื่นขึ้นเหมือนที่ท่านฮวงโปกล่าว หรือการเข้าถึงพุทธภาวะคือการตื่นขึ้นนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ในพุทธศาสนานิกายเซ็นจึงยืนยันอยู่เสมอมาว่า สรรพสัตว์ล้วนมีพุทธภาวะคือการตื่น สมบูรณ์พร้อมอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น
(สัจจธรรมวิสัชนา Ep.1 ปฐมบทแรกอุบัติ)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สัจจธรรมวิสัชนา
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
โฆษณา
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย