30 มิ.ย. 2023 เวลา 13:13 • ปรัชญา

ทางสายมัชฌิมา

เรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางนี้ เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ผู้เขียนต้องคอยตอบข้อข้องใจของท่านผู้อ่านและคนรู้จักอยู่บ่อยครั้ง และดูเหมือนว่าความเข้าใจในเรื่องมัชฌิมานี้ยังค่อนข้างจะแตกต่างกันไปในหลายความหมาย บ่อยครั้งคนที่รับรู้มาแล้วแทนที่จะเข้าใจ กลับกลายเป็นสับสน จนไม่รู้จะนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างไร
สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนนั้น กลับมิได้ทุ่มความสนใจอยู่ที่ความหมายของมัชฌิมา แต่เน้นที่จะนำวิถีแห่งมัชฌิมานั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในเชิงปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดมากกว่า บทความในส่วนนี้จึงมิได้มีจุดประสงค์ที่จะโต้เถียงคัดง้างในเรื่องของความหมาย แต่จะเป็นความพยายามที่จะอธิบายความเกี่ยวกับมัชฌิมา และการนำไปใช้ในทางปฏิบัติโดยตรง
ความจริงแล้วการเรียนรู้ในเรื่องของมัชฌิมา ก็ไม่ใช่สิ่งยากเย็นหรือซับซ้อนแต่ประการใด ใครก็ตามที่สามารถเข้าใจคำกล่าวที่ว่า “จงอย่ากบฏต่อสัจจะแห่งตน” คนผู้นั้นก็ย่อมดำรงชีวิตอยู่บนเส้นทางแห่งมัชฌิมาได้โดยสมบูรณ์ การไม่กบฏต่อสัจจะแห่งตน ถ้าแปลความกันง่ายๆ ก็คือ การยอมรับความเป็นจริงในสถานภาพแห่งตนนั่นเอง ด้วยการไม่หลอกตัวเอง หรือฝันลมๆ แล้งๆ ไปวันๆ
ผู้ที่มองเห็นสัจจะหรือความจริงของตนเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าใจและเข้าถึงความพอดีของชีวิต ตามแต่อัตภาพที่ตนดำรงอยู่ เมื่อนั้นเขาย่อมสามารถเห็นทางมาและรู้ทางไปของตนได้อย่างกระจ่างชัด โดยไม่ต้องให้ใครมาชี้แนะ ส่วนจะเป็นมัชฌิมาระดับโลกียะหรือโลกุตระนั้น ต้องมาพิจารณากันอีกที
ในซีกด้านของโลกียะที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบของเหตุปัจจัยสารพัน ความหมายของมัชฌิมาจึงย่อมมีความแตกต่างออกไปจากฝั่งของโลกุตระเป็นธรรมดา และตามที่ทราบกันมา ผู้รู้หลายท่านก็ได้ให้คำอรรถาธิบายไว้ว่า มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ก็คือการประพฤติปฏิบัติตนอย่างพอดี ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป
ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ยอมรับในคำอธิบายนี้ เพียงแต่มีความประสงค์จะช่วยขยายความให้มันกว้างขวางครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยขอนิยามความหมายของมัชฌิมาไว้ว่า "มัชฌิมาคือการรวมองค์ความรู้ทั้งหมดที่มี เพื่อยังประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความพอดีตามอัตตภาพ"
ดังนั้นหากพิจารณาตามนิยามความหมายข้างต้น มัชฌิมาจึงไม่ใช่เรื่องของการไม่ทำอะไรที่ตึงไปหรือหย่อนไปเท่านั้น แต่กลับหมายถึงความพอดีในแต่ละโอกาสและสถานภาพด้วย ยกตัวอย่างเช่น เครื่องสายดนตรีอย่างกีตาร์ โน้ตที่มีเสียงต่ำสายจะใหญ่และค่อนข้างหย่อน แต่โน้ตที่มีเสียงสูงสายจะเล็กและค่อนข้างตึง ด้วยเหตุนี้มัชฌิมาจึงเป็นภาพรวมของการบรรสานสอดคล้องระหว่างดุลยภาพของความตึงและความหย่อน
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อโอกาสใดควรตึงก็ต้องตึง โอกาสใดควรหย่อนก็ต้องหย่อน ลองกลับไปพิจารณากีตาร์ดังกล่าว เพราะกีตาร์เป็นความกลมกลืนของความตึงและหย่อนที่อยู่ร่วมกัน จึงทำให้เสียงบรรเลงที่ได้ออกมามีความไพเราะ เพราะประกอบไปด้วยตัวโน้ตหรือโทนเสียงที่หลากหลาย หากกีตาร์มีแต่สายที่ขึงพอดีๆ ไม่ตึงไม่หย่อนก็เล่นได้เพียงโน้ตตัวเดียวเท่านั้น จึงย่อมไม่อาจบรรเลงเป็นบทเพลงที่ไพเราะได้
ลองไปดูอีกตัวอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับคนปรุงอาหาร สมมติว่า คนผู้นั้นก่อนจะมาเป็นพ่อครัวหรือแม่ครัวฝีมือดี แรกเริ่มเดิมทีเขาก็เป็นเพียงคนที่สนใจการทำอาหาร แต่เนื่องจากในช่วงต้นนั้นเขายังไม่มีองค์ความรู้ที่เพียงพอในการเป็นมืออาชีพ อาหารที่เขาปรุงออกมาจึงดำเนินอยู่บนมัชฌิมาระดับที่เหมาะสมกับองค์ความรู้ที่เขามีอยู่ในตอนนั้น ต่อมาเมื่อเขาพัฒนาองค์ความรู้ของตนในการทำอาหารให้สูงขึ้นตามลำดับ มัชฌิมาหรือความพอดีในการปรุงอาหารของเขาก็จะพัฒนาขึ้นตาม
และความพอดีที่ไม่ขาดไม่เกินนี้เอง ที่ทำให้รสชาติของอาหารออกมากลมกล่อม และเป็นที่โปรดปรานของคนส่วนใหญ่ เมื่อมัชฌิมาเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ทุกคนจึงย่อมสามารถพัฒนามัชฌิมาของตนเองได้ และด้วยมัชฌิมานี้เอง ย่อมทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงความพอดีในการสร้างสรรผลงานของตน เพราะรู้ว่าควรลงมือเพียงใดจึงจะพอเหมาะพอควร และให้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยมที่สุด
ในฟากฝั่งของโลกุตระที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ คงที่ และเป็นนิรันดร์ ความหมายของมัชฌิมาจึงย่อมไม่จำเป็นต้องอาศัยในเรื่องขององค์ความรู้ใดๆ มายุ่งเกี่ยวอีก เพราะธรรมชาติที่แท้ของโลกุตระเองก็คือมหาปัญญา ที่เป็นองค์ความรู้อันสมบูรณ์พร้อมในตัวเองอยู่แล้ว การดำเนินมัชฌิมาในโลกุตระจึงเป็นไปอย่างปกติ ด้วยความรู้ที่มีอยู่แต่เดิมจนกลายเป็นเรื่องธรรมดานั่นคือ มัชฌิมญาณ หรือปัญญาญาณที่จะรู้ในความพอดีด้วยตัวเอง จึงมีคำกล่าวว่า “โลกียะไม่อาจยึดในสิ่งใด แต่โลกุตระไม่ต้องยึดในสิ่งใด”
ที่กล่าวดังนี้ก็เพราะว่า ในฝั่งโลกียะนั้นล้วนมีแต่ความแปรปรวนจากเหตุปัจจัยที่ไม่เที่ยง คงอยู่ไม่ได้ และต้องเสื่อมสลายสิ้นสูญไปตลอดเวลา จึงกล่าวได้ว่า ในโลกียะไม่อาจยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ตรงกันข้ามในฝั่งของโลกุตระนั้น กลับเต็มเปี่ยมและสมบูรณ์พร้อมด้วยทุกๆ สิ่ง เมื่อมีความปรารถนาเมื่อใด ก็จะได้รับการเติมเต็มอย่างสมบูรณ์ และคงที่อยู่เช่นนั้นจนกว่าจะยุติเลิกราจากความปรารถนานั้น ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ในโลกุตระไม่ต้องยึดในสิ่งใด เพราะมีให้ใช้โดยสมบูรณ์ไม่มีวันจบสิ้น
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายท่านอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า โลกุตระยังมีความปรารถนาอีกหรือ แล้วมันต่างจากความอยากในโลกียะอย่างไร ก็ต้องขอวิสัชนาว่า ในโลกียะที่เรียกความปรารถนาว่าเป็นความอยากนั้น ก็เพราะมันมีสภาพเหมือนความหิวกระหายที่ไม่มีวันสิ้นสุด บางครั้งจึงเรียกว่าความโลภ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า โลกียะนั้นไร้ความสมบูรณ์
สรรพสิ่งล้วนประกอบด้วยเหตุปัจจัย เมื่อเหตุนั้นแปรปรวน ผลก็ย่อมจะแปรผันตามไป ดังนั้นทุกสิ่งในโลกียะจึงไม่คงที่ ทุกความปรารถนาจึงไม่ได้รับการตอบสนองอย่างสมบูรณ์พร้อม เรียกได้ว่า ไม่เคยมีความอิ่มในโลกียะ เพราะธรรมชาติของโลกียะล้วนมีความพร่องหรือไม่สมบูรณ์เป็นธรรมดา
ดังนั้น เมื่อความปรารถนาในโลกียะไม่ได้รับการสนองตอบอย่างครบถ้วน จึงเปลี่ยนสภาพเป็นความกระหายอยากที่ไม่เคยได้รับการเติมเต็มอย่างเพียงพอ วิญญาณที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกียะจึงล้วนเต็มไปด้วยความโลภหรือความไม่พอนั้นอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ฝั่งโลกุตระนั้นเพียบพร้อมไปด้วยความสมบูรณ์ เพราะไม่ประกอบด้วยเหตุปัจจัย จึงไร้ความเสื่อมของเหตุ ทำให้มีแต่ความคงที่เป็นนิรันดร์
ดังนั้นทุกความปรารถนาในโลกุตระจึงล้วนได้รับการเติมเต็มอย่างสมบูรณ์ ทำให้โลกุตระไร้สิ้นซึ่งความอยาก จึงไม่มีความโลภในโลกุตระ ไม่ต่างจากคนที่ได้ทานอาหารจนเต็มอิ่มแล้ว ย่อมไม่มีความต้องการในอาหารใดๆ อีก ผู้ที่เข้าถึงโลกุตระก็มีลักษณาการดุจเดียวกัน คือเข้าถึงความพอ ไม่มีความต้องการใดๆ อีกต่อไป
เส้นทางของมัชฌิมาในโลกุตระ จึงไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่เข้าถึงโลกุตระแล้วเป็นอันเสร็จสิ้นในกิจทั้งหลายอันพึงกระทำ คือไม่มีอะไรต้องทำอีกต่อไป เพราะกิจสุดท้ายที่ควรทำก็ได้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้ว นั่นคือการหลุดพ้นออกไปจากโลกียะอย่างสิ้นเชิง
หนทางแห่งมัชฌิมาของผู้ที่เข้าถึงโลกุตระ จึงไร้สิ้นพันธะภาระใดๆ ที่ต้องกระทำอีก ไม่ต้องพัฒนาองค์ความรู้ใดๆ อีกต่อไป เพราะด้วยมัชฌิมญาณดังกล่าว เขาเหล่านั้นก็ย่อมล่วงรู้ถึงเส้นทางที่ต้องดำเนินไปด้วยความพอดี จนมีคำกล่าวว่า “ผู้เข้าถึงโลกุตระ ย่อมดำรงอยู่ในมัชฌิมา และดำเนินไปตามมัชฌิมา” ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากนั้นอีก
หลายคนเคยถามผู้เขียนว่า การเดินตามมัชฌิมาในทางโลกียะ ย่อมต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้สูงขึ้นตามลำดับ นั่นเป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ แต่ในทางโลกุตระแล้ว การเดินตามมัชฌิมา เหมือนกับว่าไม่ต้องทำอะไร เพราะโลกุตระเป็นทางเดินที่ตรงข้ามกับโลกียะ การจะดำเนินไปสู่โลกุตระ หรือความหลุดพ้นจากโลก
จึงต้องละวางกิจกรรมต่างๆ ในโลกียะ เมื่อเป็นเช่นนั้น มัชฌิมาของผู้เดินโลกุตระ ก็ดูเหมือนจะไม่ต้องทำอะไร เพราะองค์ความรู้ที่มีในโลกียะนั้นจะไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป เนื่องจากกิจกรรมทั้งหลายในโลกียะจะต้องลดน้อยลงให้มากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เดินตามมัชฌิมาในทางโลกุตระ จะไม่ดูเหมือนคนที่ปล่อยตัวเองไปตามยถากรรมหรือ
นี่เป็นคำถามเชิงปรัชญาที่น่าสนใจ ผู้เขียนได้พยายามทำความเข้าใจกับผู้ถามในเรื่องนี้ไปแล้ว แต่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ที่อาจสงสัยในสิ่งเดียวกัน จึงขอนำมาอธิบายเอาไว้ในที่นี้ด้วย โดยขอเริ่มที่ข้อเท็จจริงระหว่าง ผู้ที่ปล่อยตัวตามยถากรรม กับผู้ที่เดินมัชฌิมาแบบโลกุตระ ทั้งสองกรณีนี้มีข้อแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
กล่าวคือ ผู้ปล่อยตามยถากรรม ย่อมไม่สามารถรู้ว่ามีสิ่งใดรออยู่เบื้องหน้าบ้าง เพราะเขาดำเนินอยู่บนความไม่รู้ ไม่ดิ้นรนแม้แต่จะรับรู้ จึงย่อมไม่สามารถรู้ได้ว่า หนทางเบื้องหน้ามีอะไรอยู่บ้าง หรือควรจะเดินไปในทางไหน คนเหล่านี้จึงไม่ต่างจากคนที่เดินทางอยู่ในความมืดมิดโดยไร้จุดหมายปลายทาง
ขณะที่ผู้เดินตามมัชฌิมาในทางโลกุตระนั้น ไม่ต้องรู้ว่ามีอะไรรออยู่เบื้องหน้า เพราะพวกเขาล้วนดำเนินอยู่บนความสมบูรณ์ที่เพียบพร้อม พูดง่ายๆ ก็คือ มัชฌิมาจะเป็นสิ่งที่จัดหาทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาต้องการให้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่ต้องสนใจว่าข้างหน้ามีอะไรอยู่ เพราะพวกเขาดำเนินอยู่บนความรู้ที่แจ้งชัดแล้วว่า สัจจะใดเป็นเช่นใด คนเหล่านี้จึงไม่คาดหวังใดๆ กับโลกียะ และไม่ต้องคาดหวังสิ่งใดในโลกุตระ พวกเขาจึงเหมือนคนที่กำลังเดินทางกลับบ้าน
ด้วยพาหนะที่เที่ยงแท้และมุ่งตรงไปยังจุดหมายปลายทาง โดยที่เขาไม่ต้องรับรู้เรื่องราวใดเกี่ยวกับพาหนะที่ตนโดยสารอยู่ ผู้เข้าถึงมัชฌิมาของโลกุตระ ก็คือผู้ที่เข้าถึงความจริงแท้แห่งตัวตนนั่นเอง เมื่อเข้าถึงความจริงความสงสัยทั้งหลายย่อมสิ้นสูญ และความรู้ในความจริงก็คือความรู้ที่สมบูรณ์ ความสมบูรณ์นี้เองที่เป็นตัวมัชฌิมา เพราะความสมบูรณ์ย่อมบริบูรณ์ไม่มีการขาดหรือการเกินใดๆ จึงกล่าวได้ว่า ผู้เดินสู่โลกุตระ จะดำรงอยู่ในมัชฌิมาและดำเนินไปตามมัชฌิมาดังกล่าว
มีคำถามเข้ามาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในโลก บนพื้นฐานความรู้ที่ว่า เมื่อโลกียะมีความแปรปรวนและพลิกผันอยู่ตลอดเวลา และหนทางสุดท้ายก็คือการเดินไปสู่ความสิ้นสูญจากสรรพกิจกรรมในโลกียะ แล้วการดำเนินชีวิตจะทำไปเพื่ออะไร เมื่อรู้ว่าทุกสิ่งล้วนว่างเปล่าในที่สุด อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นความรู้แบบครึ่งๆ กลางๆ ที่ยังไม่ใช่ความเข้าใจ เพราะหากสามารถเข้าถึงความจริงที่แท้ได้ ย่อมสามารถเข้าใจและรู้ถึงหนทางแห่งการดำเนินชีวิตอย่างพอเหมาะพอควรต่ออัตภาพแห่งตน และนั่นก็คือการเข้าถึงซึ่งมัชฌิมญาณนั่นเอง
เพื่อที่จะตอบคำถามข้อนี้ ก็จะขอท้าวความกลับไปถึงข้อความข้างต้นที่ว่า “จงอย่ากบฏต่อสัจะแห่งตน” เพราะการทำความเข้าใจต่อความจริงของตนอย่างจริงจัง ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่คิดเข้าข้างตัวเอง หรือเฝ้าหลอกตัวเองไปวันๆ ผู้นั้นย่อมสามารถมองเห็นศักยภาพที่แท้ของตนได้อย่างชัดเจน เมื่อนั้นเขาย่อมมีความรู้เกิดขึ้นเป็นปัญญาญาณว่า ตนสามารถทำอะไรได้ และทำอะไรไม่ได้
และผลของการรับรู้ในข้อเท็จจริงเหล่านี้นั่นเอง ที่จะเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตต่อไป เพราะพวกเขาย่อมสามารถเลือกสรรหนทางหรืออาชีพในการเลี้ยงดูตนเองได้อย่างเหมาะสม ไม่ทำอะไรที่เกินกำลังของตน และไม่ใฝ่ฝันจินตนาการจนเกินเลยขอบเขตความสามารถของตนออกไป จึงอาจกล่าวได้ว่า เขาย่อมเข้าถึงความเป็นมัชฌิมาของตนในที่สุด
นอกจากจะรู้ซึ้งในบทบาทและความสามารถของตนแล้ว การยอมรับความจริงดังกล่าว ยังสามารถขยายความไปถึงสภาพความเป็นจริงรอบด้านของตัวเขาเองด้วย เพราะสิ่งเหล่านั้นก็ต้องถือเป็นสัจจะหรือความจริงที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเขาด้วยเช่นกัน ดังนั้นการยอมรับความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของโลกียะที่แปรปรวนเป็นปกติ ย่อมเป็นการเข้าใจในความจริงแท้อีกส่วนหนึ่งที่ตนประสบอยู่
เมื่อนั้นหากพวกเขาสามารถประจักษ์ในข้อเท็จจริงเหล่านี้อยู่ในใจตลอดเวลา พวกเขาย่อมไม่เกิดความสำคัญมั่นหมายโดยเกินเหตุ เมื่อประกอบกับมัชฌิมาที่เขาเข้าถึงในตอนต้น ผลที่ได้ก็จะทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกียะได้อย่างมีความทุกข์ที่น้อยกว่าผู้อื่น เพราะเขารู้ว่า ตนสามารถทำอะไรได้บ้าง และควรเลือกเส้นทางสายไหน ในขณะเดียวกันเขาก็รู้อีกว่า ไม่สามารถคาดหวังกับสิ่งใดๆ
ดังนั้น การเดินทางของเขาจึงย่อมดำเนินไปบนความพอดี ไม่คิดอะไรที่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมจนเกินควร ไม่ยึดติดในสิ่งใดกระทั่งต้องเข้าไปหลงพัวพันจนไร้ทางออก การดำเนินชีวิตในสภาวะดังกล่าวนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นมัชฌิมาของผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลก แน่นอนว่า เขาย่อมยังไม่สามารถเข้าถึงความสมบูรณ์ที่แท้ได้ แต่มันก็ทำให้เขาพอจะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องแบกรับความทุกข์ที่เกินความจำเป็น
หลายคนอาจยังสับสนระหว่างสภาวะของมัชฌิมากับความว่างจากอารมณ์ความคิด เพราะดูเหมือนว่าบางครั้ง การดำเนินไปในมัชฌิมานั้น จะไม่มีความจำเป็นต้องคิดหรือต้องรู้ในสิ่งใดๆ เนื่องจากมัชฌิมาจะเป็นเครื่องเอื้ออำนวยในสิ่งต่างๆ ให้เอง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปขวนขวายหรือใช้ความพยายามในเรื่องใดๆ อีก
ก็ต้องขออธิบายว่า ระหว่างมัชฌิมากับความว่างนั้น ใกล้เคียงกันแต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า “ความรู้แห่งมัชฌิมาล้วนมาจากความว่างที่แท้” โดยความว่างในที่นี้ก็คือความว่างจากธรรมทั้งหลายนั่นเอง ผู้ที่เข้าถึงความว่างดังกล่าวนี้ได้ เขาผู้นั้นก็จะกลายเป็นมัชฌิมาด้วยตัวเขาเองเลยทีเดียว
มีคำกล่าว่า “ก่อนจะว่างได้ต้องวางก่อน” คำพูดนี้มีนัยที่ต้องการบอกให้รู้ว่า ผู้ที่จะเข้าถึงความว่างที่แท้ได้ จะต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวางสรรพสิ่งในโลกียะให้ได้ก่อน ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เขียนคงต้องขอขยายความเพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อยว่า จะต้องวางแม้กระทั่งโลกุตระด้วย เพราะการติดในธรรมใด ก็จะถือว่ายังไม่ได้ปล่อยวางในธรรมนั้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ย่อมไม่อาจเข้าถึงความว่างที่แท้ได้ และเพราะยังติดอยู่ ก็ย่อมไม่สามารถวางตัววางใจเป็นกลางได้อย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจเข้าถึงความเป็นมัชฌิมาโดยปริยาย
เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจถ้อยคำเหล่านี้ได้ดีขึ้น ผู้เขียนก็จะขอยกอีกคำพูดหนึ่งมากล่าวถึงนั่นคือ “ผู้วางโลกียะได้ย่อมเข้าถึงโลกุตระ ผู้วางโลกุตระได้ย่อมเข้าถึงนิพพาน” นี่อาจฟังดูเหมือนเป็นลำดับขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ แต่ต้องขอบอกว่า มันไม่มีลำดับขั้นใดๆ ที่ต้องดำเนินไปตามนั้น เพราะผู้ที่สามารถวางโลกียะและโลกุตระได้ในเวลาเดียวกัน ก็ย่อมเข้าถึงนิพพานในทันที ไม่จำเป็นต้องวางโลกียะก่อน แล้วค่อยวางโลกุตระไปตามลำดับ
ตัวอย่างของคำกล่าวนี้ ก็สามารถพบเห็นได้จากเรื่องราวในพระธรรมบทอันหลากหลาย ตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีคนจำนวนมากที่สามารถบรรลุอรหัตผลในทันที ไม่จำเป็นต้องบรรลุไปตามขั้นตอนคือ นับไปตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี และอนาคามี ตามลำดับแต่อย่างไร ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่บรรลุในโสดาบันก่อน แล้วค่อยกระโดดไปอรหัตเลยก็มี หรือไปตามขั้นตอนก็เป็นไปได้เช่นกัน เพียงแต่ไม่มีข้อจำกัดบังคับไว้แต่อย่างไร
การวางได้ทั้งสองฝั่งของธรรมชาติดังกล่าว คือทั้งโลกียะและโลกุตระ จึงถือได้ว่าได้ปล่อยวางในธรรมทั้งหลายอย่างสิ้นเชิงแล้ว หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการว่างจากธรรมทั้งหลายโดยแท้ และสภาวะความว่างเช่นนี้เอง ที่จะทำให้ความรู้ในความพอดีหรือมัชฌิมญาณสามารถปรากฏขึ้นได้ เพราะผู้เข้าถึงความว่างและสามารถปล่อยวางในธรรมทั้งหลาย
พวกเขาย่อมมีปัญญาญาณหยั่งรู้ได้ด้วยตนเองว่า สมควรดำรงอยู่ณ.ที่ใดและควรดำเนินไปตามเส้นทางใด ดังนั้นแม้เขาจะยังต้องดำรงชีวิตอยู่ในโลก พวกเขาย่อมไร้สิ้นซึ่งความทุกข์ทั้งหลาย เพราะเขาได้ทำลายแล้วซึ่งสาเหตุแห่งความทุกข์เหล่านั้น นั่นคือความหลงยึดติดผูกพันในธรรมทั้งหลาย จึงมีคำกล่าวว่า “นักเดินเรือที่ดี ย่อมรู้ทางกลับบ้าน”
คำพูดนี้หากพิจารณาให้ดี ท่านจะสามารถเข้าใจในสัจจะแห่งชีวิตที่แท้โดยสมบูรณ์ เพราะผู้ที่ล่องเรืออยู่จะรู้ทางกลับบ้านได้ แสดงว่าเขาต้องรู้เส้นทางที่จะหวนคืนสู่ฟากฝั่งแล้วเท่านั้น ดังนั้นทางเดียวที่ท่านจะอยู่ได้ในโลกียะอย่างไร้สิ้นซึ่งความทุกข์ ท่านจึงต้องขึ้นสู่ฟากฝั่งให้ได้ก่อน เมื่อนั้นทะเลทุกข์สำหรับท่านย่อมไร้ความหมาย เพราะท่านล่วงรู้เส้นทางทั้งหมดอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว
รู้กระทั่งว่า กระแสน้ำไหลเวียนไปทางใด กระแสลมพัดพามาจากทิศทางใดบ้าง ร่องน้ำลึก แนวหินโสโครกที่เป็นอุปสรรคของการเดินเรือปรากฏอยู่ยังที่ใด และยังรู้กระทั่งว่า ทิศทางที่จะหวนคืนสู่ฟากฝั่งนั้นต้องไปทางไหน หากท่านเป็นนักเดินเรือที่สามารถล่วงรู้ในสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว ท่านย่อมเป็นนักเดินเรือที่ดีมีความสามารถพอที่จะโลดแล่นอยู่ในห้วงแห่งมหาสมุทรอันลึกล้ำโดยสวัสดิภาพ
อุปมาดังท่านที่สามารถบรรลุถึงนิพพานแล้ว ท่านทั้งหลายเหล่านี้ย่อมได้ชื่อว่า ท่านสามารถหวนคืนสู่บ้านหรือฟากฝั่งที่แท้ของท่านได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นแม้ท่านจะยังปรากฏรูปนามอยู่ในโลกนี้ ก็ย่อมไม่มีความทุกข์ใดๆ ที่จะกล้ำกรายถึงจิตของท่านได้อีก เพราะจิตนั้นได้พ้นไปแล้วจากความยึดโยงในธรรมทั้งหลาย ดังนั้นแม้ยังมีรูปกายสังขาร ที่มีอันต้องเสื่อมสิ้นสูญไปตามกาล ก็ย่อมไร้ข้อขัดข้องใดๆ ที่จะทำให้จิตของท่านต้องเป็นทุกข์อีก
สรุปความแล้วก็คือ ผู้ที่ว่างจากสรรพธรรมทั้งหลาย ย่อมรู้ซึ้งในมัชฌิมาอย่างกระจ่างแจ้ง ทุกย่างก้าวของท่านเหล่านี้ จึงมีแต่ความสมบูรณ์พร้อม ไม่เข้าไปมีบทบาทอิทธิพลกับที่ใดหรือผู้ใด เพราะความสมบูรณ์ที่แท้ย่อมไม่มีการแต่งเติมหรือตัดทอนออก พระอริยะเจ้าทั้งหลาย จึงย่อมดำรงอยู่บนความบริบูรณ์ในทุกที่ และตัวท่านเองก็คือความหมายของมัชฌิมาที่แท้จริง
(สัจจธรรมวิสัชนา ep.2 ทางสายมัชฌิมา)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา