13 ก.ค. 2023 เวลา 18:43 • ปรัชญา

วิญญาณชิงสภาพ

ความจริงแล้วบทความนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และยากที่จะสังเกตออกโดยง่าย บ่อยครั้งที่กว่าจะรู้ตัวก็มักจะถลำลึกเข้าไปในเล่ห์กลของวิญญาณเสียแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับและทำความเข้าใจให้กระจ่างว่า วิญญาณของแต่ละคนดำรงคงอยู่มาเนิ่นนาน นับภพชาติที่เวียนว่ายตายเกิดไม่ถ้วน จึงเป็นธรรมดาที่มันจะสั่งสมมายาร้อยแปดพันประการเอาไว้มากมาย
ดังนั้นการจะเรียนรู้ทำความเข้าใจเล่ห์กลของวิญญาณ เพื่อที่จะเท่าทันและควบคุมมันได้จึงมิใช่เรื่องง่าย และคนที่จะทำได้เช่นนั้น ก็จะเป็นผู้ที่เดินไปสู่ความบรรลุหลุดพ้นได้อย่างแท้จริง ดังคำกล่าวที่ว่า “ชนะผู้ใดก็มิเท่าชนะใจตัวเอง” โดยใจในที่นี้ก็คือบทบาทของตัววิญญาณนั่นเอง
การชิงสภาพของวิญญาณ สามารถปรากฏขึ้นได้มากมายหลายรูปแบบ บทความนี้จึงขออุทิศให้สำหรับการเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะแห่งมายาการของเหล่าวิญญาณ ผู้มีอวิชชาความไม่รู้เป็นพื้นฐาน และเพราะความไม่เข้าใจตัวเองของวิญญาณจากความไม่รู้ดังกล่าว
ที่เป็นสาเหตุของการชิงสภาพจนทำให้ชีวิตของสรรพสัตว์ ต้องจมอยู่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายและยุ่งยากโกลาหล ในทุกภพชาติที่ต้องไปกำเนิดก่อเกิด ทั้งยังส่งผลให้มิอาจรู้เห็นสภาวะธรรมตามจริง เพราะมายาภาพที่หลอกหลอนจากการชิงสภาพของวิญญาณ ได้บดบังปัญญาญาณและความเข้าใจที่แท้ไปจนหมดสิ้น
ก่อนที่จะทำความเข้าใจสภาวะมายาของวิญญาณ ผู้เขียนจำต้องพาท่านผู้อ่านย้อนทวนไปยังเรื่องราวก่อนหน้าที่เคยนำเสนอไว้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ตัวตนที่แท้ของเรามิใช่วิญญาณแต่เป็นจิตเดิม ที่ดำรงคงอยู่ภายนอกโลกียะ มีความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วเป็นประภัสสรใสกระจ่างไม่มีวันมัวหมอง
ความจริงเรื่องนี้ ผู้เขียนก็มิได้คิดจะกล่าวขึ้นเองลอยๆ แต่อยากยกพุทธภาษิตที่ว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” หรือ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนนั้น มาเป็นประเด็นเริ่มต้นที่จะชี้ให้ผู้อ่านได้แลเห็นมุมมองหรือนัยที่แอบแฝงอยู่ในพุทธพจน์ดังกล่าวนี้
คำถามคือ สิ่งใดที่เป็นอัตตาตัวตนที่พระพุทธองค์ให้ยึดถือเป็นที่พึ่ง แน่นอนว่าย่อมมิใช่เบญจขันธ์ที่ทรงเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า ขันธ์ห้าล้วนมีสภาวะที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะอนิจจังไม่เที่ยงมีความแปรปรวน จึงเป็นทุกขัง คือคงอยู่ตลอดไปไม่ได้ มีแต่ต้องเสื่อมสิ้นสูญไปตามเหตุปัจจัย
สุดท้ายจึงเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนที่จะยึดถือหรือสำคัญมั่นหมายเป็นจริงจังได้ และเพราะสภาวะที่เป็นไตรลักษณ์นี้เอง เบญจขันธ์จึงย่อมมิใช่ตัวตนที่จะยึดถือเป็นที่พึ่งพิงถาวรได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมแสดงว่าจะต้องมีอัตตาตัวตนอื่นที่เที่ยงแท้ถาวร และสามารถใช้เป็นที่พึ่งพิงได้อย่างแท้จริง
ผู้เขียนจะไม่เข้าไปก้าวก่ายตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ในที่นี้จะขอตั้งเป็นสมมติฐานเหมือนเคยว่า เป็นไปได้หรือไม่ อัตตาตัวตนที่พระพุทธองค์ให้ยึดเป็นที่พึ่งพิงนั้น ก็ต้องเป็นสิ่งที่อยู่เหนือออกไปจากโลกียะ และในที่นี้ผู้เขียนขอยกให้เป็นตัวจิตเดิมที่เคยกล่าวถึงในบทก่อนหน้านั้น โดยมีหลายๆ ทัศนะจากผู้รู้และครูบาอาจารย์ในอดีต ที่ยืนยันตรงกันว่า มีบางสิ่งที่อยู่นอกเหนือออกไปจากโลกียะและเป็นตัวตนที่แท้ของเรา
เรื่องนี้ความจริงก็ไม่ถึงกับเลื่อนลอยไร้ข้อมูลหลักฐานเสียทีเดียว ผู้เขียนจะขอยกอีกหนึ่งตัวอย่างในพุทธศาสนาให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณา นั่นคือ สิ่งที่พุทธองค์ทรงแนะนำให้ยึดถือเป็นที่พึ่งได้อีกประการหนึ่งก็คือ พระรัตนตรัย หรือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั่นเอง โดยทั้งสามรัตนะอันประเสริฐนี้ ก็ล้วนหมายเอาสิ่งที่หลุดพ้นไปจากโลกียะแล้วทั้งสิ้น จึงเหมือนเป็นการย้ำเน้นว่า มีแต่สิ่งที่พ้นไปแล้วจากโลกียะนี้ จึงจะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง
สรุปความแล้ว แสดงว่า มีบางสิ่งที่เที่ยงแท้และอยู่นอกเหนือไปจากตัววิญญาณ ที่ยังต้องวนเวียนอยู่ภายในโลกียะแห่งนี้ นั่นคือจิตเดิม โดยในที่นี้ผู้เขียนจะขอขยายความอีกสักนิด เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจ ความสัมพันธ์หรือการประสานเชื่อมต่อระหว่างจิตเดิมที่อยู่นอกโลกียะ กับวิญญาณที่อยู่ในโลกียะ โดยขอเรียกตัวกลางที่ช่วยประสานดังกล่าวนี้ว่า จิตญาณ ไปพลางๆ ก่อน
โดยคุณลักษณ์ของจิตญาณ ก็คือมีหน้าที่รู้และถ่ายทอดตามจริง หากจะอุปมาให้เห็นภาพก็ต้องเปรียบเทียบจิตญาณกับกระจกเงา คือ สะท้อนทุกสิ่งตามความเป็นจริง ไม่มีการปรุงแต่งเสริมต่อหรือตัดทอนแต่อย่างไร สิ่งใดมาปรากฏอยู่เบื้องหน้ากระจก ก็จะถูกสะท้อนตามนั้น และเมื่อสิ่งนั้นจากไป กระจกก็จะกลับไปว่างเปล่าดุจเดิม นี่คือสภาวะที่ใกล้เคียงจิตญาณที่สุด
ซึ่งจากคำกล่าวที่ว่า "วิญญาณคิดแต่ไม่รู้ จิตญาณรู้แต่ไม่คิด" ถือเป็นคำอธิบายสภาวะความแตกต่างระหว่างวิญญาณกับจิตญาณได้อย่างกระจ่างชัดที่สุด เนื่องจากวิญญาณนั้นมีอวิชชาเป็นพื้นฐาน ดังนั้นมันจึงไม่สามารถรู้หรือเข้าใจในความเป็นจริงได้ สุดท้ายมันจึงต้องคิดเองเออเอง หรือปรุงแต่งสมมติไปเรื่อย จึงกล่าวว่า วิญญาณคิดแต่ไม่รู้ เพราะได้แต่คิดแต่ไม่สามารถรู้หรือเข้าใจความเป็นจริงใดๆ ได้
เพราะวิญญาณดำรงอยู่ด้วยสมมติและความไม่รู้เป็นพื้นฐานแต่ต้น ขณะที่จิตญาณนั้นมีพื้นฐานมาจากวิชชา คือความรู้ของจิตเดิม ดังนั้นจิตญาณจึงมีหน้าที่รู้เพียงอย่างเดียว และเมื่อรู้ความจริงที่เที่ยงแท้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องคิดปรุงแต่งหรือสมมติสิ่งใดๆ ขึ้นอีก เพราะรู้ความจริง และความจริงย่อมไม่ขัดแย้งในตัวเอง
ดังนั้นความรู้ของจิตญาณจึงไม่ต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์ใดๆ มาช่วยเสริมแต่งอีก จึงเรียกได้ว่า จิตญาณรู้แต่ไม่คิด คือไม่ต้องคิดเรื่องราวใดอีก และเพราะไม่คิดจึงไม่เลือกที่จะรู้ ความรู้ของจิตญาณจึงสมบูรณ์พร้อมและตรงตามสภาวะธรรมความเป็นจริงโดยปริยาย
ด้วยเหตุนี้หากต้องการหยุดการชิงสภาพของวิญญาณ ก็ต้องพยายามทรงอยู่ที่จิตญาณให้ได้มากที่สุด ซึ่งถ้าจะกล่าวไปแล้ว ผู้เขียนก็จะขอตั้งคำถามเล่นๆ ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พระอริยะบุคคลชั้นสูง คือพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายนั้น จะทรงจิตญาณอยู่เป็นปกติ ท่านจึงมีแต่ความรู้หรือปัญญาญาณที่แท้อยู่ตลอดเวลา และเพราะคุณสมบัติของจิตญาณที่ไม่คิดปรุงแต่งใดๆ อีก จึงไร้เจตนาอันเป็นตัวกรรมที่จะนำเกิดไปสู่ภพชาติใดๆ จึงกล่าวได้ว่า พระอรหันต์ก็คือผู้ที่ได้กระทำกิจอันสมควรทั้งหลายในโลกียะจนจบสิ้นโดยสมบูรณ์แล้ว
ที่สำคัญคือ การจะบรรลุมรรคผลเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ได้นั้นย่อมเป็นการยืนยันรับรองในตัวแล้วว่า อวิชชาของท่านได้สิ้นแล้ว เมื่ออวิชชาซึ่งเป็นปฐมเหตุของวิญญาณได้ดับไปแล้ว ตัววิญญาณจึงมิอาจคงอยู่ได้อีก จึงกล่าวได้ว่า วิญญาณของพระอรหันต์ได้ดับสนิทไปแล้ว ดังคำกล่าวของนิกายเซ็นที่ว่า “จงตายให้สนิท ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่” ความหมายประโยคนี้ ย่อมหมายถึงการดับสิ้นไปของวิญญาณที่เป็นตัวไม่รู้นั่นเอง
เพราะวิญญาณเป็นส่วนหนึ่งของเบญจขันธ์ ที่พระพุทธองค์ทรงยืนยันแล้วว่า ตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ ที่ไร้ความยั่งยืนมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ดังนั้น วิญญาณที่เกิดอยู่ในโลกียะ จึงต้องดับไปในโลกียะนี้ ไม่สามารถออกไปจากโลกียะได้ นี่เป็นตรรกะที่ช่วยเน้นย้ำอีกชั้นหนึ่งว่า วิญญาณมิใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา และเพราะวิญญาณมีพื้นฐานของอวิชชาดังกล่าว
จึงเป็นที่แน่นอนว่า วิญญาณจะไม่สามารถบรรลุหรือเข้าใจในสภาวะธรรมตามจริงใดๆ เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเกิดคำถามว่า แล้วสิ่งใดเล่าที่เป็นผู้ที่สามารถรู้และเข้าใจในสภาวะธรรมนั้นๆ ก็ต้องขอตอบตามสมมติฐานข้างต้นว่า นั่นคือจิตเดิมของเรานั่นเอง โดยแท้จริงแล้วจิตเดิมนั้นมีความเข้าใจอยู่อย่างสมบูรณ์พร้อมในตัว แค่เพียงลืมตาตื่นขึ้นสู่พุทธภาวะ ก็ได้ชื่อว่าบรรลุถึงความหลุดพ้นแล้ว
ดังกล่าวแล้วว่า วิญญาณไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะเป็นบทบาทต่อเนื่องของอวิชชาความไม่รู้ ซึ่งจะต้องดับให้ได้จึงจะสามารถบรรลุธรรมแห่งการหลุดพ้น ดังนั้นวิญญาณจึงต้องดับไปในที่สุด เมื่อวิญญาณดับไปแล้ว บทบาทของวิญญาณคือใจและกาย หรือนามและรูป ก็จะต้องดับตามไปด้วย โดยตัวแรกที่จะดับก็คือใจ ซึ่งประกอบไปด้วยขันธ์อีกสามคือ สังขาร สัญญา และเวทนา
โดยสังขารก็คือการคิดปรุงแต่ง สัญญาก็คือความทรงจำชั่วคราว (เฉพาะในชาติภพนั้น) และเวทนาก็คือตัวอารมณ์ความรู้สึก เมื่อวิญญาณดับไปแล้ว สภาวะทั้งสามที่เป็นบทบาทของวิญญาณก็จะดับตามไปด้วย คงเหลือแต่รูปหรือกาย ที่เป็นขันธ์ตัวสุดท้ายที่ยังคงอยู่ และรอเวลาแห่งการดับไปตามกาล ในภาวะนี้เองสำหรับพระอริยบุคคลระดับพระอรหันต์ ตัวจิตญาณจะเป็นตัวรับรู้และกำหนดพฤติกรรมของรูป
โดยดำเนินไปตามมัชฌิมญาณ คือความรู้ในความพอเหมาะพอควร หรือความพอดีตามอัตภาพ จึงทำให้พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย เป็นผู้ที่ได้นามว่า สุปฏิปันโน คือผู้ที่ประปฏิบัติชอบแล้วนั่นเอง เพราะท่านจะดำรงอยู่ในมัชฌิมา และดำเนินไปตามมัชฌิมา จึงไม่มีทุกข์โทษใดๆ ต่อโลกและตัวท่านเองอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า พุทธธรรมหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมมุ่งตรงไปสู่การปลุกจิตเดิมให้ตื่นขึ้น มิได้มีส่วนใดข้องเกี่ยวกับตัววิญญาณที่ต้องดับไปพร้อมกับอวิชชาหรือความไม่รู้นั้น ด้วยหลักการนี้จะสามารถนำไปอธิบายปรากฏการหลายอย่างที่เกิดขึ้นได้ อาทิเช่น การเล็งข่ายพระญาณเพื่อมองหาสัตว์ที่จะทรงไปโปรด
แน่นอนว่าพระองค์ย่อมไม่ดูไปที่ตัววิญญาณ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจในธรรมของพระพุทธองค์ได้ จึงเป็นไปได้ว่า จะทรงเล็งไปที่จิตเดิมของสัตว์แทน เมื่อเห็นว่าจิตเดิมของผู้ใดสามารถที่จะเข้าใจในพุทธธรรมหรือธรรมที่จะนำไปสู่การเป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วก็จะทรงไปโปรดผู้นั้น และด้วยหลักเดียวกันนี้ การที่ทรงให้พุทธพยากรณ์แก่พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ผู้เป็นิยตะคือเที่ยงแท้แล้วต่อโพธิญาณ พระพุทธองค์ก็ทรงพยากรณ์ในสิ่งที่เที่ยงแท้และเป็นจริง
นั่นคือจิตเดิมของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ดังนั้นพุทธพยากรณ์ดังกล่าว จึงต้องถือเป็นพุทธพยากรณ์เดียวที่ไม่ขัดกับสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอน เพราะเป็นการพยากรณ์สิ่งที่เที่ยงอยู่แล้วว่าเที่ยงแท้ ทำให้ยังสอดคล้องกับหลักธรรมที่ว่า สัจจังเวอมตา หรือ ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย คือไม่เปลี่ยนปลงต้องเป็นเช่นนั้นไปชั่วนิรันดร์
อีกกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับยืนยันการดำรงคงอยู่ของจิตเดิม ก็คือพฤติกรรมก่อนการบรรลุธรรมของพระอรหันต์สาวกหลายท่านด้วยกัน โดยกรณีที่น่าสนใจและสามารถใช้เป็นตัวอย่างของความแตกต่างระหว่างวิญญาณและจิตเดิม รวมถึงจะชี้ให้เห็นสภาวะการชิงสภาพของวิญญาณได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ กรณีของพระองคุลีมาน ทั้งๆ ที่ตัววิญญาณยังชิงสภาพไล่ฟาดฟันสังหารชีวิตผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา แต่ตัวจิตเดิมกลับเพียบพร้อมบริบูรณ์ต่อการตื่นขึ้นแล้ว
ด้วยเหตุนี้เมื่อพระพุทธองค์ทรงเตือนด้วยถ้อยคำสั้นๆ ว่า “เราหยุดแล้ว ท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด” จิตเดิมขององคุลีมานจึงเข้าใจและตื่นขึ้นในทันใดนั้น นี่คือกรณีคลาสิคสำหรับการชี้ให้เห็นการชิงสภาพของวิญญาณ และการตระหนักรู้ในความจริงที่แท้ของจิตเดิมได้อย่างแจ้งชัด ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า สองสิ่งนี้แยกจากกันโดยสิ้นเชิง มีความเป็นอิสระจากกัน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่ยืนยันการคงอยู่ของจิตเดิม และสภาวะการชิงสภาพของวิญญาณดังกล่าว ในที่นี้จะขอยกอีกสักสองตัวอย่างพอให้ประดับความเข้าใจเพิ่มขึ้น กรณีแรกเป็นของพระเถรีองค์หนึ่งผู้มีนามว่า ปฏาจารา ก่อนที่ท่านจะบรรลุธรรม เพราะอกุศลวิบากในอดีตจึงทำให้ท่านต้องบ้านแตก เสียทั้งสามี บุตร และบิดามารดาทั้งหมด จนสติท่านถึงกับวิปลาสกลายเป็นคนบ้าเดินเหินเลื่อนลอยมา
จนได้พบกับพระพุทธองค์ และเพียงแค่ทรงตรัสว่า “จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง” ท่านก็ได้สติกลับคืนมา เป็นการชี้ให้เห็นว่า ขณะที่วิญญาณยังชิงสภาพเป็นคนวิกลจริตไร้สติไม่รับรู้ในเรื่องใดๆ แต่ยังมีบางสิ่งที่สามารถรับฟังและเข้าใจในคำตรัสของพระพุทธองค์
กรณีสุดท้ายที่จะยกมานี้ ก็เป็นเรื่องของพระเทวทัต ที่ถูกธรณีสูบเพราะกระทำอนันตริยกรรมอันยิ่งหลายประการ แต่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ได้สำนึกผิดและขอพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง ในอรรถกถาได้ขยายความว่า ด้วยอนิสงค์แห่งความสำนึกผิดนี้ ท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธะในอนาคต ความข้อนี้หมายความว่าอย่างไร จะกล่าวได้หรือไม่ว่า จิตเดิมของท่านถึงพร้อมแล้วที่จะบรรลุในความเป็นพระปัจเจกพุทธะ ทั้งที่วิญญาณรูปนามยังต้องมอดไหม้อยู่ในอเวจีมหานรก
ตัวอย่างสุดท้ายนี้ ผู้เขียนเพียงต้องการชี้ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่า จิตเดิมกับวิญญาณนั้นแยกขาดจากกันเป็นอิสระ ขณะที่จิตเดิมพร้อมจะตื่นแล้ว แต่วิญญาณก็ยังวนเวียนอยู่ และนี่ก็คือภาวะการชิงสภาพอย่างหนึ่ง กระทั่งวันหนึ่งในอนาคตเมื่อวิญญาณสงบ หรือจิตเดิมได้รับการประจักษ์ในธรรมอันแท้ จิตเดิมก็ย่อมตื่นขึ้น เหมือนดังกรณีของพระองคุลีมานและพระเถรีปฏาจาราที่ยกมาข้างต้นนั้น
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้กับกลุ่มเพื่อน และบุคคลมากหลายที่สนใจมาสนทนากันในเรื่องนี้ทั้งแบบต่อหน้า และผ่านระบบสื่อสารต่างๆ ที่ทันสมัยในปัจจุบัน คำถามหนึ่งที่มักจะต้องตอบก็คือ แล้วจะทรงจิตญาณได้อย่างไร ผู้เขียนจึงขอนำมาตอบในที่นี้อีกครั้ง แบบเป็นลายลักษณ์อักษร เผื่อว่าท่านอื่นที่สนใจจะได้อาศัยเป็นข้อมูลประกอบความเข้าใจต่อไป
สภาวะการทรงจิตญาณนั้น ผู้เขียนขออธิบายด้วยสภาวะทั้งสี่คือ “ว่าง สงบ เย็น เป็นอิสระ” โดยก่อนจะว่างได้ต้องวางก่อน จะสงบได้ก็ต้องว่างก่อน จะเย็นได้ก็ต้องสงบก่อน และจะเป็นอิสระได้จะต้องว่าง สงบ และเย็นก่อน เพราะสภาวะทั้งสามนั้นก็คือผลของการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ พ้นไปจากอำนาจของสิ่งต่างๆ ที่จะมาครอบงำ ความเป็นอิสระแท้จริงก็เป็นภาวะของพระนิพพานในตัวเองด้วย
เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินประโยคทั้งสองนี้ ที่กล่าวถึงสภาวะของพระนิพพาน กล่าวคือ “นิพพานังปรมังสูญญัง” และ “นิพพานังปรมังสุขขัง” โดยผู้เขียนขอถือโอกาสแปลความรวมเลยว่า “นิพพานคือความสุขจากความว่างอันยิ่ง” ซึ่งก็คือความเป็นอิสระนั่นเอง เพราะความอิสระย่อมพ้นไปจากความผูกพันติดยึด ซึ่งเป็นตัวอุปปาทาน สาเหตุสำคัญของการเกิดภพชาติ
ดังนั้นเมื่อสิ้นอุปปาทานความยึดมั่น จิตเดิมย่อมวางสรรพสิ่งในโลกีย์ได้ เมื่อวางได้ก็ย่อมว่าง เมื่อว่างได้ก็จะเข้าถึงความสงบ เมื่อเข้าถึงความสงบย่อมโปร่งเย็น และสภาวะทั้งสามนี้เมื่อรวมเข้าด้วยกัน ก็คือความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ ดังคำกล่าวที่ท่านเว่ยหล่านมักจะพูดไว้ว่า “จงทำจิตให้เป็นอิสระทุกเมื่อ”
ภาวะของจิตเดิมเป็นเช่นไร การทรงภาวะของจิตญาณก็เป็นเช่นนั้น ทำไมจึงกล่าวถึงจิตญาณ เพราะสำหรับคนที่วิญญาณยังไม่ดับ ย่อมแสดงว่าจิตเดิมยังไม่ตื่นเต็มที่ การทรงจิตเดิมจึงยังทำได้ไม่สมบูรณ์ เหมือนคนที่ยังไม่ลืมตาตื่นลุกขึ้นจากเตียง ย่อมกล่าวมิได้ว่า เขาตื่นตัวเต็มที่แล้ว ดังนั้นการจะเชื่อมกับจิตเดิมในภาวะนี้ จึงต้องกระทำผ่านจิตญาณ และเพียงทรงอยู่ที่จิตญาณ
ท่านก็จะพบว่า มีความว่าง สงบ เย็น และเป็นอิสระได้ตามส่วนแห่งการทรงสภาวะนั้นได้มากหรือน้อย การทรงสภาวะของจิตญาณแม้จะว่าง แต่มิใช่ไม่รับรู้ในสิ่งใด ด้วยเหตุนี้ การทรงจิตญาณจึงต่างกับการทรงฌาณ เพราะฌาณจะเน้นการเพ่งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งจนนิ่งแน่นเป็นเอกัคคตา ซึ่งจะไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ เลยในภาวะนั้น ขณะที่จิตญาณจะต่างไป เพราะจิตญาณมีหน้าที่รู้สรรพสิ่งตามจริงโดยธรรมชาติ ดังนั้นภาวะการทรงจิตญาณจึงไม่ใช่การว่างจากอารมณ์
ในทางตรงกันข้าม จิตญาณจะรับรู้ในทุกข้อมูลที่ผ่านเข้ามา ทั้งข้อมูลใหม่ที่เข้ามาทางอยาตนะทั้งหก และข้อมูลเก่าที่ผุดขึ้นมาจากความทรงจำ เพียงแต่จิตญาณจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “รับรู้แต่ไม่รับไว้” คือรู้แต่ไม่เอามาสำคัญมั่นหมายเป็นอารมณ์ เป็นสภาพที่เหมือนกับ การรู้สักแต่ว่ารู้ ด้วยเหตุนี้จึงนิกายเซ็นจึงเปรียบจิตญาณเหมือนดังกระจกเงาดังกล่าว
มีเพื่อนหลายคนที่พยายามจะทำความเข้าใจภาวะของจิตญาณ พวกเขาได้มาพูดคุยกับผู้เขียน ในที่นี้ก็จะขอยกกรณีที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการเพิ่มความเข้าใจให้ท่านผู้อ่านอื่นๆ เป็นกรณีของเพื่อนผู้หนึ่ง เขามาถามผู้เขียนว่า ภาวะที่ใจว่างๆ เบาๆ สบายๆ ถือเป็นจิตญาณหรือไม่ ผู้เขียนก็เลยถามไปว่า ตอนตื่นอยู่นั้นดำรงสภาวะดังกล่าว แล้วเวลาหลับไปยังคงสภาวะนั้นได้หรือไม่ เพื่อนผู้นั้นก็บอกว่า ยามหลับก็รู้สึกว่าตัวเองจะไม่ได้ฝันแล้ว จะถือว่าใช่หรือไม่
ผู้เขียนจึงถามกลับไปว่า แม้จะไม่ฝัน แต่ตลอดช่วงเวลาที่หลับไปนั้น มีความรับรู้อยู่ตลอดหรือไม่ คราวนี้เพื่อนผู้เขียนเริ่มไม่เข้าใจและถามกลับมาว่า หลับไปแล้วจะรู้ตัวได้อย่างไร คำกล่าวของเขาไม่ผิด แต่นั่นเป็นการบอกสภาวะของวิญญาณชิงสภาพ คือ เข้าใจว่าหลับแล้วต้องไม่รู้อะไร หรืออาจกล่าวได้ว่า แม้หลับอยู่แต่วิญญาณยังชิงสภาพอยู่ ถ้าไม่ไปฝันก็จะคิดอยู่ว่าไม่ฝัน ไม่รับรู้ในเรื่องอะไร เหมือนการหลับในฌาณหรือสมาธิ
แต่การหลับของผู้ทรงจิตญาณนั้น ก็คือภาวะที่วิญญาณสงบ ตัวใจหรือนามย่อมยุติบทบาทชั่วคราว จึงไม่มีการฝัน ขณะที่ใจสงบกายก็ย่อมไม่มีพฤติกรรมต้องทำ กายจึงย่อมสงบระงับอยู่ในภาวะที่เรียกว่าการหลับไหล และภาวะที่วิญญาณที่สงบนี้เอง การรับรู้ถึงภาวะการดำรงอยู่ของจิตญาณจะชัดเจนขึ้น ดังนั้นผู้ที่ทรงจิตญาณจะเหมือนคนตื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตญาณเป็นญาณของจิตเดิมหรือผู้รู้ที่ไม่เคยหลับไหล จิตญาณจึงไม่เคยหลับ
ดังนั้นผู้ทรงจิตญาณจึงไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก เพราะเขายังตื่นอยู่ตลอดเวลา สภาวะดังกล่าวนี้จะแยกเป็นอิสระจากวิญญาณและรูปนาม เพราะรูปที่หลับไหลก็ย่อมได้รับการพักผ่อนไปตามสภาพ การทำงานของธาตุต่างๆ ก็จะดำเนินไปตามกลไกปกติของกรรม ขณะที่วิญญาณที่สงบไม่คิดฟุ้งซ่านก็ย่อมไม่มีการฝันเกิดขึ้น ส่วนจิตญาณที่ตื่นตัวอยู่ก็จะรับรู้ในภาวะดังกล่าวทั้งหมด ผู้ทรงจิตญาณจึงต่างจากการหลับในสมาธิหรือฌาณ แต่จะตรงกับสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า จงหลับอย่างมีสติ
ท้ายสุดนี้ก็จะขออุปมาไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับวิญญาณและจิตญาณ โดยอุปมาว่า เรือลำน้อยที่กำลังมุ่งสู่ฟากฝั่ง มีผู้พายเรือเป็นอยู่หนึ่งคนคือจิตญาณและรับรู้เส้นทางได้เป็นอย่างดี สามารถนำเรือมุ่งตรงสู่ฟากฝั่งคือการข้ามพ้นจากทะเลทุกข์ทั้งหลายได้ แต่ในเรือยังมีคนโดยสารอยู่อีกหนึ่ง ซึ่งพายเรือไม่เป็น คนผู้นี้ก็คือวิญญาณ เมื่อพายไม่เป็นทางที่ดีก็ควรเก็บไม้พายขึ้น อย่าพยายามช่วยพาย เพราะการกวนน้ำอย่างไร้ทิศทางนั้น มีแต่จะถ่วงให้เรือไปถึงจุดหมายช้าลง เ
พราะวิญญาณไม่สามารถเข้าใจในธรรมได้ หรือเทียบได้ว่า ไม่สามารถรู้วิธีพายเรือได้ ดังนั้น จึงไม่ควรชิงสภาพโดยการทำตัวเหมือนคนโง่ที่ขยัน เพราะมีแต่จะทำให้เรื่องยุ่งยากมากขึ้น การเก็บไม้พายขึ้นและนั่งเฉยๆ จะเท่ากับเป็นการหยุดชิงสภาพ และปล่อยให้จิตญาณเป็นคนนำทางไปจะดีที่สุด เพราะจิตญาณรู้ตามจริง ย่อมสามารถดำรงและดำเนินไปในมัชฌิมาคือความพอดีของชีวิต
(สัจจะธรรมเสวนา ep.3 วิญญาณชิงสภาพ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา