26 ก.ค. 2023 เวลา 17:49 • ปรัชญา

ประจักษ์ในความจริง

แท้จริงแล้วการจะเรียนรู้ทำความเข้าใจ ในสภาวะธรรมทั้งหลาย ก็คือความพยายามในการที่จะตระหนักรู้ ในความเป็นจริงที่ปรากฏต่อหน้า หลายคนไม่เข้าใจความข้อนี้ คำว่าธรรมตามความเป็นจริง ที่ปรากฏต่อหน้านั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะทุกสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าก็คือความจริงแท้ ที่เราได้ประสบ
ดังนั้นการไม่ประจักษ์ ในความเป็นจริงที่อยู่ต่อหน้า แต่กลับขวนขวายมองหา ในสิ่งที่อยู่ไกลออกไป จึงเท่ากับเป็นการปฏิเสธความเป็นจริง และมองหาในสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงแท้ของตน ด้วยเหตุนี้ คนจำนวนมากจึงเฝ้าเวียนวนค้นหาความเป็นจริงโดยที่ไม่มีวันได้พบ
ผู้เขียนเคยพยายามชี้ให้เพื่อนๆ หลายคนที่เฝ้าแสวงหาธรรมไปในที่ต่างๆ ได้เข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายก็คือ ความจริงที่ปรากฏต่อหน้า ไม่ต้องไปหาที่อื่น สิ่งที่ผู้เขียนมักจะยกมา ถามไถ่พวกเขาเหล่านั้น ก็คือสีในสุดของผลแตงโม โดยสมมติว่า มีลูกแตงโมสีเขียวใบใหญ่วางอยู่ต่อหน้าเขา แล้วให้เขาดูว่า สีในสุดของผลแตงโมนี้เป็นสีอะไร คำตอบนั้นมีได้สารพัด
เริ่มตั้งแต่ ปลอกเปลือกสีเขียวออก ก็จะปรากฏเนื้อในที่ค่อนข้างขาว ถ้าปลอกต่อไปก็จะเจอเนื้อสีแดง ที่ชุ่มฉ่ำและหวานอร่อย ซึ่งหลายคนก็จะตอบกันว่า เป็นสีแดง เพราะผลแตงโมไม่มีแกนกลาง แต่บางคนที่คิดลึกไปกว่านั้นก็บอกว่า ยังมีเม็ดแตงโมอยู่อีก จึงตอบว่าสีน้ำตาล ผู้เขียนก็เลยถามไปว่า แล้วถ้าเอาเม็ดนั้นไปปลูกลงดินจนมันงอกออกมา ก็จะเป็นต้นสีเขียว ดุจเดียวกับที่เขาพบเห็น ในเปลือกนอกสุดของผลแตงโมนั้น
เรื่องนี้สอนว่า สัจจะคือความจริงล้วนปรากฏต่อหน้าของทุกคน การตระหนักในสัจจะนั้น ก็เท่ากับการประจักษ์ ในความจริงแท้สำหรับตนแล้ว แต่บ่อยครั้งมักจะถูกมองข้าม จนต้องเสียเวลาไปแสวงหาจนวุ่นวายไปทั่ว สุดท้ายก็ได้คำตอบดุจเดียว กับสิ่งที่เคยปรากฏต่อหน้าตนนั้น
จากคำกล่าวที่ว่า "จะเรียนรู้ความจริงต้องยอมรับความจริง" จึงเป็นเหมือนข้อปฏิบัติสำหรับทุกคน ที่ต้องการเรียนรู้ในสัจจะธรรมความเป็นจริง การจะทำความเข้าใจความจริงทั้งหลาย เป็นธรรมดาว่าจะต้องยอมรับความมีอยู่ ของความจริงเหล่านั้นก่อน และแท้จริงแล้วจะต้องบอกต่อไปว่า จะต้องยอมรับในความจริงแท้ที่ตนประสบ เพราะหากยังมีการเลือก ที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับ ในความเป็นจริงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็อาจพลาดการเรียนรู้ ในความเป็นจริงที่ควรจะรู้ได้
สิ่งหนึ่งที่เป็นความจริง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะยอมรับ นั่นก็คือความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวเอง หากท่านไม่สามารถมองเห็น หรือยอมรับความจริงที่ตนดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฐานะความเป็นอยู่ ความรู้ความสามารถ กำลังทรัพย์ สติปัญญา หรือแม่แต่อุปนิสัย และมโนคติของตน
การมองไม่เห็น หรือมองข้ามข้อเท็จจริงเหล่านี้ไป ย่อมมีโอกาสทำให้ท่านไม่สามารถ เรียนรู้ความจริงที่แท้ในธรรมชาติ คนที่ชอบคิดเข้าข้างตัวเอง ก็ย่อมเลือกที่จะไม่ยอมรับ หรือไม่รับรู้ความจริง ที่ขัดแย้งกับตน ด้วยเหตุดังกล่าว คนเหล่านี้ย่อมพลาดโอกาส ที่จะเรียนรู้ในธรรมอันแท้ ซึ่งอาจจะดำรงอยู่ในความจริงที่เขาละเลยไปนั้น
หลายคนเฝ้าโจษขานความผิดของผู้อื่น โดยมิได้หันกลับมาดูว่าตนดีกว่า คนที่กำลังว่ากล่าวเขาอยู่มากน้อยเพียงใด การปฏิเสธความผิดของตน ย่อมเท่ากับการปิดกั้นตัวเอง จากความเป็นจริงที่ควรจะได้รับ การปรับแก้ให้เหมาะสม และเมื่อไม่สามารถมองเห็นความเป็นจริงในเรื่องนี้ พวกเขาจึงยังคงกระทำความผิดซ้ำๆ อยู่เช่นนั้น
โดยไม่สามารถพัฒนามโนทัศน์ และจิตอารมณ์ให้ก้าวหน้าขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นการจะเรียนรู้ความจริง จึงต้องหัดที่จะยอมรับความจริง โดยเริ่มจากการอ่านตัวเองก่อน เพื่อให้รู้ว่า แท้จริงแล้วตนความเป็นจริงของตนดำรงอยู่ บนความจริงที่แท้ หรือยังเป็นเพียงความคิด ที่เฝ้าหลอกตัวเองไปวันๆ
หลายคนที่คิดว่าตนเป็นคนฉลาด สามารถใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกง ทุกรูปแบบในการเอาเปรียบผู้อื่น พร้อมจะเหยียบทุกคน เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตนต้องการ คนเหล่านี้มักจะเข้าใจว่า ตนเป็นคนหลักแหลม มีความคิดอ่านเหนือผู้อื่น มองเห็นคนอื่นไร้สติปัญญา เพราะหลงกลถูกตน หลอกลวงได้อย่างง่ายดาย แต่เราคงจะไม่ไปสนใจว่า พวกเขาเหล่านี้คิดหลงตัวเองอยู่เช่นไร
สิ่งหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นก็คือ ความน่าสมเพชของคนเหล่านี้ ที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะว่า การจะหลอกคนอื่นได้ เขาผู้นั้นจะต้องหลอกตัวเองก่อน ประการแรกก็คือหลอกตัวเองว่า การหลอกคนอื่นไม่ใช่สิ่งที่ผิด มันเป็นธรรมชาติที่ผู้เข้มแข็งกว่า ฉลาดกว่าจะสามารถกลืนกิน หรือข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า และโง่เขลาเบาปัญญามากกว่า
เมื่อหลอกตนเองเช่นนี้แล้ว จึงจะคิดหาทางหรือเล่ห์กล ที่จะหลอกลวงเอาเปรียบผู้อื่นต่อไป ดังนั้นพวกเขาเหล่านี้จึงได้ชื่อว่า ดำรงตนอยู่บนมายาภาพ หรือความไม่จริงของชีวิต เขาได้แต่หลอกตัวเองซ้ำซากอยู่เช่นนั้นว่า ตนเองประสบความสำเร็จ สามารถเอาชนะอยู่เหนือผู้อื่นได้ โดยหารู้ไม่ว่า
สุดท้ายแล้วทุกสิ่งที่เขาคิดว่า ครอบครองอยู่นั้น ก็ล้วนต้องเสื่อมสลายสิ้นสูญไป เขาลืมกระทั่งว่า ทุกคนมาตัวเปล่าตั้งแต่เกิด สุดท้ายแล้วก็ต้องไปตัวเปล่า ลำพังคนเดียวเหมือนตอนขามา ไม่มีใครเอาอะไรไปได้ สมบัติในโลกล้วนแบ่งกันเชยชม และสมบัติก็คู่กับวิบัติเป็นธรรมดา
ด้วยเหตุนี้ คนเหล่านี้จึงน่าสมเพชยิ่งนัก โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องการเข้ามา ศึกษาเรียนรู้ความเป็นจริงแห่งสภาวะธรรม เพราะความคุ้นเคยในการดำรงอยู่กับมายาภาพ พวกเขาย่อมไม่สามารถมองเห็น ความจริงแท้แห่งสัจจะได้ เพราะพวกเขาจะหลงเฝ้าคิดเพ้อฝันไปเองด้วยความชำนาญว่า การบรรลุธรรม หรือการเรียนรู้ธรรม ต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เมื่อยังคิดปรุงแต่งอยู่ สิ่งที่พวกเขาพบเห็นหรือเข้าใจ ก็ล้วนไม่ใช่เนื้อแท้แห่งธรรม แต่เป็นเพียงคติความเชื่อที่เขาสร้างขึ้น และยึดมั่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งล้วนกอปรขึ้นด้วยมายาภาพ
หากใครเคยเรียนเลขคณิตมาในสมัยยังเด็ก หรือจะเป็นวิชาอะไรก็ได้ ทางหนึ่งที่ผู้สอนจะรู้ว่าผู้เรียนนั้นเข้าใจมากน้อยเพียงใด ก็โดยการให้โจทย์เป็นการบ้านไปทำ หากสามารถทำได้ถูกหมดทุกข้อก็แสดงว่า ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจในหลักวิชานั้นๆ อย่างถูกต้องตามจริงแล้ว แต่หากทำได้ไม่หมด แต่ยังพอทำได้บ้าง ก็แสดงว่า มีความเข้าใจถูกต้องตามส่วน ส่วนใดไม่เข้าใจก็ให้ไปเรียนรู้เพิ่มเติมเอา แต่ถ้าทำไม่ได้เลยก็ต้องบอกว่า ยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง
ด้วยหลักการทดสอบแบบเดียวกันนี้ ก็สามารถนำมาใช้ในการประเมินผล การรับรู้ความจริงในทางธรรมได้เช่นกัน เพราะหากเข้าใจในธรรมที่เที่ยงแท้แล้ว ย่อมไม่มีความแปรปรวน ของความเข้าใจเกิดขึ้น ดังที่เคยกล่าวไว้แล้ว ความจริงจะไม่ขัดแย้งในตัวเอง เพราะความจริงก็คือ ความสมบูรณ์ที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถตัดออกหรือเติมเข้าได้อีก ความจริงจึงเป็นอมตะไม่มีวันตาย
อีกทั้งความจริงยังทำให้เรื่องสั้น ผู้ที่รู้ในความจริงย่อมไม่ยืดเยื้อ เพราะความจริงไม่มีอะไร ให้คิดปรุงแต่งสืบต่อ เมื่อประจักษ์ในความจริงต่อหน้า ทุกสิ่งก็ถือเป็นอันสิ้นสุด เพราะเมื่อรู้ความจริงแล้ว จึงมิต้องขวนขวายรู้อะไรเพิ่มเติมอีก มันจึงทำให้เรื่องราวยุติสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ผู้รู้ความจริง จึงสามารถตัดภพชาติ ให้ขาดหมดสิ้นได้โดยเร็ว
คนที่หน้าเป็นห่วงกลับมิใช่คน ที่ยังไม่เข้าใจในความเป็นจริงทั้งหลาย แต่เป็นคนที่คิดว่าตนเข้าใจทั้งที่ยังไม่เข้าใจ นี่คือตัวปัญหาใหญ่ เพราะตราบใดที่เขายังมีความเชื่อว่า เขายังไม่เข้าใจ ย่อมมีโอกาสที่จะขวนขวายเรียนรู้ต่อไป แต่หากหลงคิดว่าตนเข้าใจแล้ว แต่ไม่สามารถแก้โจทย์ปัญหาใดๆ ได้ คนเหล่านี้ก็จะเจอทางตันในทันที เพราะเขาจะไม่รู้ว่า จะต้องขวนขวายเรียนรู้ต่อไปอย่างไร
เนื่องจากหลงเชื่อไปแล้วว่า ตนได้เข้าใจในสิ่งที่เป็นสัจจะแล้วจริงๆ ผู้เขียนเคยฟังคำตัดพ้อ ประมาณนี้มาบ่อยครั้ง ความว่า เข้าใจแต่ทำไมยังทำไม่ได้ เมื่อฟังแล้วก็ได้แต่ตอบกลับไปตรงๆ ว่า ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจนั่นเอง
ประเด็นก็เหมือนกับตัวอย่างของคน ที่เรียนวิชาเลขดังกล่าวข้างต้น หากถามว่าเข้าใจหรือไม่ แล้วเขาตอบว่าเข้าใจ แต่พอเอาโจทย์เลขให้ทำ กลับทำไม่ได้ แล้วมาบ่นว่า เข้าใจแต่ทำไม่ได้ ก็ไม่ต่างจากคนที่เฝ้าเรียนรู้ ฝึกฝนจิตใจทางธรรมทั้งหลาย ที่หลงคิดว่าตนเข้าใจแล้ว แต่เมื่อสภาวะธรรมต่างๆ เข้ามากระทบ บ่อยครั้งก็หลงกระโดดโลดเต้นยินดียินร้ายตามไป
เช่นนี้เมื่อมีสติกลับคืนมาสมบูรณ์ ก็จะมานั่งงงว่า ตนเองกระทำไปได้อย่างไร ทั้งที่เข้าใจในธรรมทั้งหลายแล้ว โดยที่มิได้ฉุกใจคิดว่า ผลที่ตนไม่เท่าทันในสภาวะธรรมดังกล่าว จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ความเข้าใจของตน ยังไม่ถ่องแท้เพียงพอที่จะรับรู้ ในความเป็นจริงทั้งหมด
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้น ที่หลงเข้าใจในสิ่งที่ตนยังไม่เข้าใจ ก็คือจงตระหนักรู้ในความเป็นจริงของตน อย่ากระทำการใดๆ ที่เป็นเหมือนการกบฏต่อสัจจะ หรือความจริงแท้ของตนนั้น จะต้องไม่หลงคิดเข้าข้างตนเองอยู่ตลอดเวลา ให้หันมาสงบจิตใจและพิจารณา ความเป็นจริงของตนให้กระจ่างแจ้ง ยอมรับความเป็นตัวตนของเรา ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับผู้ใดหรือสิ่งใด
เมื่อเรายังไม่เข้าใจก็จงตระหนักรู้ในความไม่เข้าใจนั้น อย่าพยายามล่อหลอกให้ตนเองหลงเชื่อว่า ตนเข้าใจแล้วหากยังไม่เข้าใจ อย่างแท้จริง เพราะการกบฏต่อสัจจะ หรือความเป็นตัวตนที่แท้นั้น จะเป็นก้าวแรกไปสู่การถอยห่าง จากความเป็นจริงทั้งมวล
การไม่กบฏต่อสัจจะนั้น จะมีความจริงจังของการประจักษ์แจ้ง ในความจริงมากกว่าการยอมรับแบบธรรมดา เพราะการไม่กบฏนั้นมิใช่ความสำเร็จ หรือจุดสุดท้ายของความเข้าใจ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มของการตระหนักรู้ และยอมรับในความเป็นจริงของตน อย่างบริสุทธิ์ใจแท้จริง ไม่บิดเบือนอิดเอื้อน หรือหาข้ออ้างมาปลอบประโลมตนเอง การไม่กบฏก็คือการเปิดใจกว้างยอมรับว่า แท้จริงแล้วตนดำรงอยู่ในสภาวะใด ให้ค้นหาเข้าไปอย่างลึกซึ้งว่า ตนเป็นเช่นใด
มีความเลวอยู่มากน้อยเพียงไหน มีความดีหลงเหลืออยู่เป็นปริมาณเท่าใด เพราะมีแต่การยอมรับอย่างจริงจังดังกล่าวนี้ จึงจะสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติ และมโนทัศน์ของตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การไม่กบฏจึงเป็นเหมือน ก้าวแรกของการยอมรับความจริง และมันก็จะเป็นย่างก้าวต่อๆ ไป เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ และการเข้าใจในสภาวะธรรม ที่แท้จริงในที่สุด
จากคำถามที่ว่า "หนีอะไรมา หาอะไรอยู่ เห็นหรือยัง" นี้อาจฟังดูแล้วงุนงง แต่หากท่านลองนำไป ถามตนเองเพื่อหาคำตอบ ท่านก็จะพบว่า มันมีคำตอบได้หลากหลาย ยิ่งท่านครุ่นคิดต่อไปด้วย กรรมวิธีทางตรรกะ ท่านก็จะได้คำตอบเต็มไปหมด และหลายๆ คำตอบอาจจะขัดแย้งกันเอง นี่เป็นรูปแบบคำถามหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบว่า ท่านเข้าใจความจริงแท้เพียงใดแล้ว คนที่ช่างคิด หรือช่างจินตนาการ
เมื่อเจอคำถามลักษณะนี้เข้า ก็จะนำไปขบคิดอย่างจริงจัง บางคนถึงกับเอาเป็นเอาตายกันทีเดียว แต่ผลที่ได้ก็จะออกมาดังที่กล่าวไว้ คือมีคำตอบได้หลากหลาย และจากคำตอบมากมายเหล่านี้นั่นเอง ที่จะบอกให้ทุกท่านรู้ว่า มันไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเลย เพราะมันไม่มีความเป็นเอกภาพเพียงหนึ่งเดียว
จากหลักความจริงไม่ขัดแย้งในตัวเอง และความจริงทำให้เรื่องสั้นดังกล่าวข้างต้น หากท่านอ่านคำถามแล้วพบว่า มีคำตอบมากหลายที่จะตอบคำถามดังกล่าว ก็จงรู้เถิดว่า ท่านได้หลงเข้าสู่มายา แห่งการปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว ประการแรกมันไม่ทำให้เรื่องสั้นลง แต่ยิ่งคิดก็ยิ่งบานปลายแตกกระจายออกไป ได้หลากหลายคำตอบ ในขณะเดียวกันคำตอบยิ่งมาก ก็คือความเป็นไปได้ที่มีอยู่หลายหนทาง ดังนั้นโอกาสที่มันจะขัดแย้งในตัวเอง จึงมีมากขึ้นเป็นธรรมดา ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ มันจึงออกห่างไปจากความจริงแท้ทุกขณะ ที่ท่านพบคำตอบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
แท้จริงแล้วคำถามข้างต้นนี้ มิได้มีความลึกลับซับซ้อนอะไร มันเป็นเพียงการถามถึง สัจจะธรรมความจริง ที่สรรพสัตว์ดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภพภูมิอะไร หากยังไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ จากวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนี้แล้ว พวกเขาก็ยังต้องวนเวียนอยู่ ในวังวนของคำถามข้างต้นนี้เช่นกัน มันจึงเป็นคำถามที่จี้ตรงเข้าไป ในปมปัญหาที่คาอยู่ ในใจของทุกชีวิตโดยตรง และมีแต่ผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ จึงจะสามารถก้าวพ้นจาก ห้วงแห่งความวุ่นวายของโลกียะนี้ไปได้
หนีอะไรมา คำถามที่แสนง่าย และเป็นพื้นฐานที่สุดของชีวิต ลองพิจารณาเฉพาะในภพภูมิของมนุษย์ เพราะใกล้ตัวท่านผู้อ่านมากที่สุด คนในโลกนี้ล้วนไม่ต้องการความทุกข์ ความยากลำบาก ความวิบัติทุกข์เข็ญทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่พวกเขาเฝ้าดิ้นรนวิ่งหนีอยู่ ไม่ว่างเว้น โดยที่เขายังมองไม่ออกด้วยซ้ำว่า สิ่งที่เขากำลังพยายามหลบหนีอยู่นั้น มันมีรูปร่างลักษณะเป็นเช่นไร และจะหนีมันไปได้อย่างไร ยิ่งไม่รู้ก็ยิ่งวนเวียน บางครั้งเพราะไม่รู้ ก็กลับเข้าไปคลุกคลีอยู่กับมัน แล้วก็ทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบไม่สิ้น
ยกตัวอย่างเช่นคนธรรมดาสามัญ เมื่อเกิดมาก็ทุกข์ทั้งตัวเอง และพ่อแม่ที่จ้องเฝ้าเลี้ยงดู ตัวเองก็ช่วยตัวเองไม่ได้ เดือดร้อนคนรอบข้างต้องคอยช่วยเหลือ เป็นการเพิ่มทุกข์และรับทุกข์ ของคนเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว โตมาก็ต้องดิ้นรนอยู่กับ การเรียนการแข่งขันสอบเข้าศึกษาต่อในชั้นที่สูงๆ ขึ้นไป จบมาก็ต้องแย่งกันสมัครเข้าทำงาน เข้าได้ก็ทุกข์ เข้าไม่ได้ก็ทุกข์
แต่ทุกคนกลับไม่รู้ว่านี่คือความทุกข์ พวกเขากลับยังจมปรักอยู่กับมัน บางคนก็แต่งงานมีคู่ครอง มีลูกเต้าที่ต้องเลี้ยงดู แม้ทุกข์แสนทุกข์ แต่ก็มองไม่ออก เฝ้าทำมาหากินเก็บหอมลอมริบเอาไว้ให้ลูก โดยที่ไม่รู้ว่า บางครั้งมันกลับเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์ให้ลูกๆ ต้องมาทะเลาะแย่งชิง จนอาจถึงขั้นทำร้ายกันถึงชีวิต
คำถามนี้จึงตั้งใจ ที่จะถามให้คนตระหนักรู้ว่า ท่านกำลังหนีอะไรมา ท่านรู้หรือไม่ ว่าสิ่งที่ท่านหวาดกลัว และไม่อยากเจอก็คือความทุกข์นั้น ท่านกำลังจมอยู่กับมัน และนำมันไปในทุกหนแห่งที่ท่านไป และคำถามนี้ยังต้องการบอกให้รู้ว่า ที่แท้แล้วท่านได้นำสิ่งที่ท่านกำลังหนีมัน ติดตัวมาด้วยตลอดเวลา
เหมือนคนกลัวงูแต่กลับเอางูพันคอตัวเองไว้ แล้วก็วิ่งหนีไปเรื่อยๆ เมื่อถามว่า หนีอะไรมา ก็ตอบว่าหนีงู แต่ผู้ถามก็ต้องงงว่า แล้วไอ้ที่พันคออยู่นั่นมิใช่งูหรือ เหตุใดจึงเอาสิ่งที่ตัวเองหวาดกลัว และกำลังหลบหนีมาพันคอตัวเองไว้เช่นนั้น
หาอะไรอยู่ นี่ก็เป็นคำถามพื้นๆ อีกประการหนึ่ง คนส่วนใหญ่มองหาอยู่สิ่งเดียว ก็คือความสุข มันเป็นสิ่งที่เขาเฝ้าขวนขวายอยู่ตลอดเวลา แต่อาจกล่าวได้ว่า พวกเขาไม่เคยพบเจอมันแม้สักครั้งเดียว เพราะทุกชีวิตล้วนดิ้นรน ขวนขวายหาสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา คำถามต่อไปคือ อะไรคือความสุข
การมีครอบครัวอบอุ่น การมีทรัพย์สมบัติเงินทองมหาศาล หรือการมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าผู้อื่นใด หากสิ่งเหล่านี้คือความสุขที่ทุกคนแสวงหา คนที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในครอบครองแล้ว ก็น่าจะมีความสุข และหยุดการแสวงหาได้ แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
ดังคำกล่าวที่ว่า คนจนก็มีปัญหาของคนจน คนรวยก็มีความทุกข์ของคนรวยเช่นกัน คนจนอาจต้องมีทุกข์จากปัญหาเรื่องปากท้อง ต้องคอยหวาดวิตกกลุ้มกังวลอยู่ตลอดเวลาว่า มื้อต่อไปจะมีอะไรให้กินหรือไม่ หรือจะได้กินเมื่อไร ขณะที่คนรวยก็ปวดหัวกับการบริหารจัดการทรัพย์สมบัติของตน ไม่เพียงต้องคอยติดตามดูการดำเนินธุรกิจ หรือบริหารการลงทุน
แม้แต่ผู้มีอำนาจก็ต้องคอยควบคุมดูแล และหวาดระแวงว่า จะมีใครมาแย่งชิงอำนาจ หรือใครยังภักดี หรือใครมีแววที่จะทรยศหักหลัง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขา ยากที่จะหยุดการแสวงหา ด้วยเหตุนี้ แม้เพียงคำถามง่ายๆ ที่กล่าวมาทั้งสองนั้น หากพวกเขาตอบได้ พวกเขาก็จะพบกับ สัจจธรรมที่แท้จริงด้วยตัวเอง
สำหรับคำถามสุดท้ายที่ว่า เห็นหรือยังนั้น ผู้ที่จะตอบได้ก็คือผู้ที่เข้าใจ และประจักษ์ในสัจจะธรรมความจริงแท้ ที่ปรากฏต่อหน้าแล้วเท่านั้น เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเลิกหนี ทางออกย่อมประจักษ์แจ้งต่อหน้า และเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเลิกหา ทางไปย่อมไม่ใช่สิ่งที่ซ่อนเร้นได้อีกต่อไป จึงอาจสรุปได้ว่า "เลิกหนีย่อมเห็นทางออก เลิกหาย่อมเห็นทางไป"
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสรู้ และสั่งสอนพวกเรา ในเรื่องของความทุกข์เป็นสิ่งแรก เพราะมันคือสิ่งที่ทุกคนเฝ้าดิ้นรนหลบหนีมาโดยตลอด แต่เพราะความไม่เข้าใจในสัจจะ หรือความจริงแห่งทุกข์นั้น ไม่รู้ว่าความทุกข์มีรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร เมื่อไม่รู้จึงยากที่จะหลบพ้นไปได้ เมื่อไม่เข้าใจบางครั้งกับแบกขน ความทุกข์ไว้อย่างหนักอึ้งเต็มสองบ่า
ผู้ที่เห็นความทุกข์ และประจักษ์แจ้งแล้วว่า ในโลกียะไม่มีใดอื่นเลย นอกจากความทุกข์ที่เกิดขึ้น ทุกข์ที่ตั้งอยู่ และทุกข์ที่ดับไป วนเวียนอยู่เช่นนี้ ท่านจึงเปรียบโลกียะดุจดังทะเลทุกข์ ดังนั้นผู้ที่ประจักษ์ในทุกข์ ย่อมมิต้องหลบหนีไปที่ใดอีก เพราะมันหนีไม่พ้น เนื่องจากมีความทุกข์อยู่ ในทุกที่ภายในโลกียะแห่งนี้ ดังนั้นเมื่อพวกเขาเข้าใจเช่นนี้แล้ว พวกเขาย่อมหยุดที่จะหลบหนีต่อ
เพราะประจักษ์แล้วว่าไม่มีประโยชน์ ทางเดียวที่จะพ้นจากความทุกข์นี้ได้ ก็คือการออกไปจากโลกียะแห่งนี้ เมื่อเข้าใจแล้วพวกเขาย่อมไม่ใยดีต่อสิ่งต่างๆ ในโลก ทำให้คลายความยึดมั่นถือมั่นไปได้โดยปริยาย และเมื่อนั้นจิตของพวกเขาย่อมข้ามพ้น ทะเลทุกข์เหล่านี้ไปได้ด้วยตัวเอง จึงกล่าวได้ว่า เลิกหนีเมื่อไรย่อมเห็นทางออกเมื่อนั้น
ส่วนผู้ที่เห็นความสุขที่แท้จริงแล้ว ซึ่งไม่มีอยู่ในโลกียะ หรืออาจกล่าวได้ว่า เมื่อข้ามพ้นจากทะเลทุกข์ขึ้นสู่ฟากฝั่งได้ ก็คือสภาพที่ไร้ทุกข์อย่างสิ้นเชิง ภาวะนั้นเองก็คือความสุขที่แท้จริง และเมื่อพวกเขาสามารถเข้าถึงได้แล้ว ก็ย่อมมิต้องแสวงหาต่อ การขวนขวายใดๆ จึงถึงเวลายุติสิ้นสุดลง เพราะเมื่อเห็นความสุขที่แท้ ย่อมเข้าถึงความสมบูรณ์พร้อมที่ไม่ต้องแสวงหาอีก เหมือนคนที่อิ่มแล้วย่อมไม่คำนึงถึงเรื่องอาหาร ไม่ต้องแสวงหาอาหารมารับประทานอีก
เมื่อนั้นเมื่อพวกเขารู้ว่า ความสุขที่แท้เป็นเช่นไร พวกเขาก็ย่อมรู้ว่าจะไปหามันได้จากที่ใด ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า เมื่อเลิกหาย่อมเห็นทางไปด้วยตัวเอง และเพราะเหตุที่เข้าใจประจักษ์แจ้ง ในความจริงแท้ทั้งหลายแล้ว พวกเขาย่อมไม่จำเป็นต้องหนี และไม่ต้องหาอะไรอีก เมื่อนั้นความเห็น หรือปัญญาญาณที่ชัดแจ้งย่อมปรากฏ ต่อหน้าเขาอย่างบริบูรณ์ ปัญหาทั้งหมดจึงยุติได้ จากการประจักษ์แจ้ง ในความเป็นจริงที่แท้นั้น
(สัจจะธรรมเสวนา ep.4 ประจักษ์ในความจริง)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา