25 ส.ค. 2023 เวลา 18:03 • ปรัชญา

ความหมายธรรมญาณ

บทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นจากการพูดคุยสนทนา ระหว่างผู้เขียนกับสหายสนิทท่านหนึ่ง ที่สนใจในการเรียนรู้เรื่องของธรรมญาณ ซึ่งเขาไม่เพียงใส่ใจที่จะศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีความมุ่งหวังจะนำ ธรรมที่แท้อันบริสุทธิ์ไปเผยแผ่ พูดคุยให้ผู้อื่นฟังด้วย หลังจากที่ไม่ได้พบปะกันมาระยะหนึ่ง เพื่อนก็กลับมาเจอะเจอกัน และได้ถามไถ่ถึงปัญหาหลายๆ อย่างที่เขาได้ประสบ ในการประกาศธรรมญาณของเขา
ซึ่งมีบางส่วนที่เขายังไม่แน่ใจว่า มันจะเป็นหนทางที่ถูกต้องหรือไม่ที่ได้กระทำไป พวกเราจึงได้อภิปรายแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกันอยู่หลายชั่วโมง จนได้ผลสรุปที่น่าพึงพอใจ และผู้เขียนก็เห็นว่า มันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ที่สนใจในเรื่องคล้ายๆ กันนี้ด้วย จึงคิดว่าควรจะนำมานำเสนอไว้ในบทความนี้
บทนำ
(Introduction)
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านสักเล็กน้อย เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ธรรมญาณ” แท้จริงแล้วก็มิได้เป็นคำที่มีความพิเศษพิสดารแต่อย่างไร แต่เป็นเพียงการยืมคำศัพท์มาใช้เรียก ความรู้ที่ประจักษ์แจ้งในธรรมอันบริสุทธิ์ ที่กล่าวว่าบริสุทธิ์ก็คือ ปราศจากเรื่องราวแห่งโลกีย์วิสัยทั้งปวง มีแต่การมุ่งเน้นปลุกสรรพสัตว์ ให้ฟื้นตื่นสู่ความเป็น พุทธภาวะเพียงประการเดียว ไม่มีจุดมุ่งหมายอื่นใดมาเจือปน
ดังนั้นธรรมญาณ จึงไม่เกี่ยวกับธรรมใดๆ ของฝ่ายโลกียะ ไม่มีการพูดถึงการดำรงอยู่ในโลกียะ มีแต่การชี้ทางให้ออกพ้นไปจากโลกียะ เพียงสถานเดียวอย่างแท้จริง และบทความนี้ก็จะมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกันนี้ โดยจะแยกพูดถึงเป็นสองส่วนด้วยกัน กล่าวคือ คุณลักษณ์แห่งธรรมญาณเอง และผู้ที่จะประกาศธรรมญาณนั้น ส่วนการดำเนินเรื่องจะไล่เรียง ไปตามหัวข้อที่สนทนากัน เพียงแต่จะคัดสรรเฉพาะที่น่าสนใจจริงๆ เท่านั้น
Meaning of truth
ตอนเริ่มบทสนทนานั้น เพื่อนผู้เขียนได้ปรารภขึ้นว่า เป็นที่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเชื่อมถึงชีวิตในมิติอื่นได้ จึงทำให้พวกเขาไม่อาจรับรู้ เรื่องราวของเหล่าวิญญาณ เทพ พรหม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เรื่องนี้ผู้เขียนจึงขอกล่าวแก้ไปเล็กน้อยว่า ความจริงแล้วสรรพสัตว์ สามารถเชื่อมกันได้เป็นพื้นฐาน เพียงแต่ไม่เชื่อมกันเอง เพื่อนผู้เขียนเริ่มไม่เข้าใจ และถามว่า หากเชื่อมกันได้ ทำไมคนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถ รับรู้ในเรื่องราวเหล่านี้
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนจึงชี้ให้เพื่อนเห็นว่า ในซีกของโลกียะนั้น สิ่งที่เป็นพื้นฐานของสรรพสัตว์ ก็คือตัววิญญาณ ดังนั้นเมื่อสรรพสัตว์มีพื้นฐานในสิ่งเดียวกัน พวกเขาย่อมสามารถเชื่อมโยงกันได้เป็นธรรมดา เพื่อนผู้เขียนก็ยอมรับแต่ยังแย้งว่า นั่นเป็นเฉพาะในภพภูมิของมวลพลังงานทั้งหลาย ได้แก่เหล่าเทพพรหมเป็นอาทิ แต่ในภูมิของมนุษย์ที่เป็นสสาร การเชื่อมต่อนี้ไม่สามารถกระทำได้
ความสามารถพื้นฐาน
(Basic ability)
ผู้เขียนจึงต้องยกอุปมาให้เห็นว่า สมมติว่าเพื่อนมีโทรศัพท์มือถืออยู่เครื่องหนึ่ง ซึ่งมิได้เสียและสามารถเชื่อมต่อ พูดคุยกับผู้อื่นได้เป็นปกติ แต่กลับมีความคิดว่า โทรศัพท์เครื่องนี้ชำรุดใช้ไม่ได้ ไม่สามารถใช้ติดต่อเชื่อมโยงสื่อสารกับผู้ใดได้ โดยที่ยังมิได้ลอง เปิดเครื่องใช้ดูแต่อย่างไร ด้วยความคิดเช่นนี้เอง ที่ทำให้การเชื่อมโยงไม่เกิดขึ้น มิใช่ว่าการเชื่อมโยงนั้นไม่ทำงาน
ฉันใดก็ฉันนั้น ทุกดวงวิญญาณที่เป็นมนุษย์ ล้วนไม่ต่างอะไรกับโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถใช้ติดต่อกับดวงวิญญาณอื่นๆ ได้เป็นปกติ แต่เพราะความคิดที่เชื่อว่า ตนไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ใดได้ต่างหาก ที่ทำลายความสามารถเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย หรืออาจสรุปง่ายๆ ว่า เพราะคิดว่าใช้ไม่ได้ เลยไม่ได้ใช้ ก็เลยใช้ไม่ได้จริงๆ
Basic ability
ในขณะเดียวกัน หากจะว่ากันตามตรง ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั้น ก็ล้วนมีโอกาสใช้ความสามารถเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว บางคนไม่เคยคิดถึงเพื่อน ที่ห่างเหินกันไปเป็นเวลาเนิ่นนาน แต่พอโทรศัพท์ดังขึ้น กลับคิดถึงเพื่อนผู้นี้ อย่างฉับพลันทันใดในเวลานั้น และเมื่อรับโทรศัพท์ขึ้นมา ก็ปรากฏว่าเป็นเพื่อนผู้นั้นโทรมาจริงๆ บางคนก็อาจจะมีความรู้สึกว่า คนที่อยู่ใกล้ชิดต้องการบางสิ่ง และเมื่อถามไถ่ไป ก็ปรากฏว่าเป็นไปตามนั้น
ผู้เขียนได้รับฟังเรื่องราวบอกเล่าเหล่านี้มานับครั้งไม่ถ้วน เพราะพวกเขามักจะงุนงงสงสัยกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง หรือคนที่พวกเขารู้จัก ผู้เขียนก็ต้องบอกไปว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความสามารถพื้นฐานของวิญญาณทุกดวง และเพราะทุกสรรพสัตว์ ก็ล้วนประกอบขึ้นด้วย โครงสร้างวิญญาณแบบเดียวกันทั้งสิ้น
จึงเป็นธรรมดาที่จะสื่อสารกันได้ ในระดับของวิญญาณ หรือจะเรียกว่า จิตสำนึกอะไรก็ตามที ประเด็นจึงมิได้อยู่ที่ว่า ทำไมจึงสื่อสารหรือรับรู้เรื่องราว ที่เหนือไปจากประสาทสัมผัสธรรมดาทั่วไปได้ แต่สำคัญที่ว่า ท่านควบคุมความสามารถเหล่านี้ได้หรือไม่ต่างหาก
ลดสัญญาณรบกวน
(Noise reduction)
นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงต้องมีการฝึกฝนในเรื่องญาณสมาธิ เพราะการฝึกควบคุมให้ใจ มีความสงบระงับเป็นหนึ่งเดียว ก็คือความพยายามในการลดกิจกรรมของสมอง ที่มักจะประกอบไปด้วย กระแสประสาทที่ฟุ้งซ่านยุ่งเหยิง กระแสเหล่านี้นั่นเองที่เป็นเหมือนคลื่นรบกวน ที่ไปก่อกวนความสามารถ ในการรับรู้พื้นฐาน หรือการเชื่อมโยงของวิญญาณดังกล่าว ในต่างประเทศจะมีคำกล่าวว่า First Thought หรือความคิดแรก เพราะถือเป็นความรู้ ที่ประจักษ์แจ้งจากจิตใต้สำนึก
ทุกครั้งที่เราสงบใจลงได้และคิดถึงปัญหาข้อใด แล้วความคิดแรกที่เกิดขึ้นนั้น มักจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกควบคุม กระแสอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ให้สงบลงเป็นสมาธิ เมื่อความคิดแรกเกิดขึ้น ก็จะถูกคลื่นกระแสประสาท ที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายเหล่านั้น ปนเปื้อนจนสูญเสียความหมาย ที่แท้จริงของการเชื่อมโยงดังกล่าวไป
Noise reduction
สรุปแล้วการฝึกสมาธิหรือการควบคุมใจให้สงบ ก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถรับฟัง คลื่นการสื่อสารพื้นฐาน ของแต่ละดวงวิญญาณได้ชัดเจนขึ้น จริงๆ แล้วก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ใช้โทรศัพท์ หากไปโทรในบริเวณ ที่มีเสียงรอบข้างรบกวนมากๆ ก็ย่อมไม่ได้ยินเสียง ที่พูดคุยสื่อสารกันเป็นธรรมดา เช่น ตอนที่นั่งอยู่บนรถโดยสาร ที่ไม่ได้ปิดหน้าต่าง เมื่อเสียงลมพัดอื้ออึงเข้ามา บ่อยครั้งก็จะทำให้ได้ยินเสียงพูดคุยไม่ชัด
มีสิ่งเดียวที่การใช้โทรศัพท์ต่างจาก ระบบการสื่อสารของวิญญาณก็คือ เครือข่ายของวิญญาณนั้น ไม่มีจุดอับของสัญญาณ หรือไม่มีบริเวณที่ไม่มีคลื่น การสื่อสารผ่านเข้าไปถึง หากประสงค์จะติดต่อกันจริงๆ วิญญาณย่อมสื่อกันได้โดยไม่มีขีดขั้นจำกัด ข้ามพ้นไปจากเวลา และอวกาศอย่างสิ้นเชิง
ไม่มีความบังเอิญ
(No coincidence)
หลังพูดคุยกันจนสามารถเข้าใจตรงกันแล้วว่า การสื่อสารระดับปกติ ของวิญญาณทุกดวงนั้นสามารถทำได้ แต่ถึงกระนั้นแม้ว่า จะสามารถสื่อสารรับรู้กันได้ แต่ก็ยังยากที่จะเข้าใจในความหมาย ที่จริงแท้ของข่าวสารข้อมูลที่ได้รับ ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างหลายเรื่องให้เพื่อนฟัง
เพราะมันเป็นเรื่องราว ที่ผ่านการวิจัยอย่างจริงจัง มามากต่อมากแล้ว ในสายวิชาการทางโลก ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราว การรับรู้ทางจิตวิญญาณ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น และไร้คำอธิบาย ก็มักจะยกให้เป็นเรื่องของความบังเอิญ เพื่อที่จะไม่ต้องแสวงหาคำตอบที่เหมาะสมต่อไป
No coincidence
แท้จริงแล้วความบังเอิญไม่สามารถมีขึ้นได้ในโลกียะ ซึ่งสรรพสิ่งต้องประกอบขึ้น ด้วยเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น หรือกล่าวอีกนัยก็คือ การประกอบเหตุเพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ ส่วนการประกอบนั้นจะนำปัจจัยใดๆ มาผสมผสานรวมกันเข้า หรือผ่านกระบวนการใดๆ ก็ตาม ต้องถือเป็นเรื่องปลีกย่อย ที่ไม่จำเป็นต้องพูดถึง โดยจะขอสรุปว่า เมื่อต้องมีเหตุนำก่อเกิดผลแล้ว ความบังเอิญจึงไม่สามารถมีขึ้นได้
เมื่อความบังเอิญคือการเกิดขึ้น โดยไร้ต้นสายปลายเหตุ แม้แต่ในสถานที่ ซึ่งไร้เหตุปัจจัยปรุงแต่ง การอุบัติขึ้นของสรรพสิ่งนั้น ก็มิใช่ความบังเอิญอีกเช่นกัน เพราะต้องมีผู้ตระหนักรู้ในสิ่งเหล่านั้น ธรรมทั้งหลายจึงจะปรากฏขึ้นได้ โดยจะกลายเป็นสัจจะคือความเป็นจริง ที่ประจักษ์ต่อหน้าผู้ที่ตระหนักรู้นั้น
การหยั่งรู้ที่ไร้คำอธิบาย
(Intuition without explanation)
และหากจะลองนิ่งพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า บ่อยครั้งที่มันคล้ายจะไม่มีคำอธิบายใดๆ ที่สมเหตุสมผลกับปรากฏการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เราประสบ อาทิเช่น เดินๆ อยู่ในห้างดีๆ ก็เลี้ยวเข้าร้านใดร้านหนึ่งอย่างกระทันหัน โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตนจะเข้ามาซื้อหาสิ่งของใด แต่แล้วก็ได้พบกับเพื่อนเก่า ที่ไม่เจอกันมาแรมปี ทำให้ต่างฝ่ายต่างดีอกดีใจกันยกใหญ่ หรือบางทีขับรถอยู่ในเส้นทางประจำ อยู่มาวันหนึ่งเกิดมีความรู้สึกว่า ควรเปลี่ยนไปใช้อีกเส้นทางแทน
ต่อมาก็พบว่า เส้นทางเดิมนั้นเกิดอุบัติเหตุขึ้น หากเข้าไปก็จะต้องเจอปัญหา การจราจรติดขัดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เรื่องราวสารพันเหล่านี้นั่นเอง ที่ผู้เขียนต้องการจะชี้ให้เพื่อนเห็นว่า บางครั้งคนเราสามารถรับรู้ได้ แต่กลับไม่สามารถหา คำอธิบายที่เหมาะสมได้ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ไม่สามารถทำความเข้าใจความรู้ หรือข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมานั้น
Intuition without explanation
แม้แต่ในระดับของมวลพลังงาน อย่างเทพพรหมเองก็ตาม ท่านเหล่านี้ล้วนสามารถติดต่อ เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างเป็นปกติ และกระจ่างชัดในระดับของเนื้อหา แต่เมื่อไม่สามารถเข้าใจสารัตถะ หรือความจริงแท้ที่เป็นความหมาย ของความรู้เหล่านั้น จึงเป็นเหตุให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ยังมิอาจบรรลุหลุดพ้นไปได้ ที่พูดถึงเรื่องนี้ก็เพียงต้องการ ตั้งข้อสังเกตบางอย่างว่า มันน่าจะมีระบบการรับรู้ชั้นสูงไปกว่านี้หรือไม่ และจะต้องเป็นระบบที่ทั้งรู้ และเข้าใจได้ในตัวเอง
จึงจะเป็นสิ่งที่ตรงกับความหมาย ของคำว่า “ปัญญาญาณ” ซึ่งสามารถนำพาสู่ความกระจ่างแจ้งในธรรมทั้งหลาย จนสามารถเข้าใจและเข้าถึง สภาวะแห่งความหลุดพ้นด้วยตัวความรู้เหล่านั้น โดยสิ่งนี้ก็คือตรงกับเรื่องของจิตญาณ หรือความรู้ของจิตเดิมที่ผู้เขียน เคยกล่าวถึงไว้ในบทก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัวพุทธะภาวะที่มีอยู่เป็นปกติ ในสรรพสัตว์ทุกตัวตน
ความจริงไม่ขัดแย้ง
(Truth does not contradict)
หัวข้อสนทนาต่อมาของพวกเรา ก็คือคำถามที่ว่า แล้วอะไรคือความหมายของความจริงที่แท้ เรื่องนี้ผู้เขียนได้เคยบรรยายไว้ ในบทความชุดนี้หลายครั้งแล้ว แต่เพื่อให้เนื้อหาสาระกระชับกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงขอยกมากล่าวถึงอีกที โดยจะพูดถึงในส่วนที่เป็นการขยายมุมมอง ให้เพิ่มมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง ผู้เขียนได้อธิบายให้เพื่อนฟังว่า
คุณลักษณ์ที่แท้ของความจริง หรือสัจจะนั้นมีอยู่สองประการ ที่สามารถเห็นได้อย่างเด่นชัดนั่นคือ ประการแรกความจริง จะไม่ขัดแย้งในตัวเอง เพราะความจริงเป็นสิ่งที่สมบูรณ์พร้อมในตัว จึงไม่จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ อีก กล่าวได้ว่า ความจริงเป็นหนึ่งในสิ่งที่เป็นอมตะ คือไม่มีวันแปรเปลี่ยน
ในคุณลักษณ์ประเด็นนี้ เพื่อนผู้เขียนก็ได้แย้งขึ้นว่า แล้วที่กล่าวกันว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดความจริงอาจตายได้ ผู้เขียนก็ต้องอธิบายให้ฟังว่า หากรู้ความจริงที่แท้แล้ว จะเข้าถึงความเป็นอมตะ อย่างแท้จริงคือไม่มีวันตายอีก ดูได้จากบรรดาพระอริยะเจ้าระดับพระอรหันต์ทั้งหลาย
Truth does not contradict
เมื่อท่านรู้ความจริงอันเป็นธรรมสัจจะที่แท้แล้ว ก็ย่อมก้าวพ้นการเกิดตายไปได้ และเมื่อถึงตอนนั้นท่านทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมดำรงอยู่บนความจริง ที่ไม่แปรเปลี่ยน ดังนั้นทุกการกระทำ และคำพูดของท่าน จึงล้วนเป็นสัจจะ ด้วยเหตุนี้ผู้เข้าถึงความจริงอันเที่ยงแท้นั้น ย่อมเข้าถึงความไม่ตายด้วยประการฉะนี้
ส่วนผู้ที่พูดแล้วอาจตายได้ ก็ต้องบอกว่าเขายังมิได้เข้าถึงความจริงที่แท้นั้นเอง ประการแรกพวกเขาเพียงเข้าใจว่า ตนรู้ความจริงแล้วก็พูดออกไป โดยมิได้รู้ในมัชฌิมาว่าสมควรจะพูดเพียงไร และพูดแค่ไหนจึงจะพอเหมาะพอดี ต่อสถานการณ์ในขณะนั้น เพราะมัชฌิมาที่แท้ก็คือ การประจักษ์ในความจริงในแต่ละสภาวะนั้นๆ เป็นความรู้ที่แจ้งชัดว่า ความเหมาะสมหรือความพอดี ในแต่ละภาวะมีเพียงไรแค่ไหน
ดังนั้นผู้ที่รู้ความจริงย่อมรู้แจ้ง ในมัชฌิมาหรือความพอดีนี้ด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่รู้ความจริงแท้ จึงย่อมไม่พาตนเองเข้าไปสู่ สถานการณ์ที่เป็นอันตรายดังกล่าว ซึ่งจะพบเห็นได้จากเรื่องราวของอริยปราชญ์ ผู้ประจักษ์ในสัจจธรรมแต่โบราณ ที่ล้วนสามารถหลีกเร้นจากภัยทั้งหลายได้ โดยมิต้องหลบหนี หรือซุกซ่อนตนแต่ประการใด
ความจริงทำเรื่องสั้น
(Truth Makes a Short Story)
ส่วนคุณลักษณ์ของความจริงประการที่สองก็คือ ความจริงจะทำให้เรื่องสั้น เรื่องนี้เพื่อนผู้เขียนฟังแล้วยังงุนงงสงสัย ผู้เขียนจึงต้องให้ความกระจ่างเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างของผู้ที่รู้ความจริงแล้ว แก้ปัญหาของตัวเองได้ก็ มีอยู่ให้พบเห็นทั่วไป อาทิเช่น คนบางคนกำลังนั่งกลุ้มกังวล กับปัญหาของตนเองอยู่ แต่หลังจากพูดคุยปรึกษาหารือกับเพื่อนบางคนแล้ว ก็ไปพบประเด็นข้อเท็จจริงบางอย่าง
ที่ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุแห่งปมปัญหา ที่เขาประสบอยู่ จึงทำให้เกิดความรู้ถึงวิธีการ ที่จะคลี่คลายปมปัญหาเหล่านั้นให้หมดไปได้ ก็เท่ากับทำให้ปัญหา ที่คาใจอยู่นั้นยุติสิ้นสุดไปในเวลานั้น ไม่ต้องยืดเยื้อยาวนานต่อไป จึงกล่าวได้ว่า ความจริงทำให้เรื่องสั้นหรือจบลงได้
Truth Makes a Short Story
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะเห็นได้ชัดก็คือ เมื่อเราประสบปัญหาบางอย่าง และได้มีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง ในแง่มุมที่เป็นข้อเท็จจริง มิใช่การโป้ปดมดเท็จ หรือการสร้างเรื่องมาปิดบังอำพราง ปัญหานั้นๆ ก็ย่อมจะกระจ่างแจ้ง และสามารถหาทางแก้ไขให้คลี่คลายลงตัวไปได้ ไม่ต้องมัวมางมหากันให้วุ่นวายต่อไป นี่ก็เรียกว่า ความจริงทำให้เรื่องสั้นเช่นกัน
แต่ที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของ การประจักษ์แจ้งในสัจจะธรรมความจริงแท้ ซึ่งย่อมสามารถทำให้ ภพชาติทั้งหลายหมดสิ้นลงไปได้ ดังที่พระอริยเจ้าทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้ว จึงถือได้ว่า เป็นคุณลักษณ์ของความจริง ในข้อนี้ที่สมบูรณ์พร้อมที่สุด นั่นคือ ความจริงทำให้ภพชาติสั้นลง และหมดสิ้นไปในที่สุด
คุณสมบัติผู้ประกาศธรรม
(Evangelist's qualifications)
คราวนี้เราจะข้ามมาพูดถึงหัวข้อเกี่ยวกับ คุณสมบัติของผู้ประกาศสัจจะหรือธรรมญาณบ้าง หลังจากได้สาธยายเกี่ยวกับ คุณลักษณ์ของสัจจะ หรือความจริงมาหลายหัวข้อแล้ว เพื่อนผู้เขียนได้ถามอย่างน่าสนใจว่า ถ้าเช่นนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ใดสามารถประกาศสัจจะหรือธรรมญาณที่แท้ได้ คำตอบนั้นก็ง่ายมาก และสอดคล้องกับคุณลักษณ์ทั่วไปของความจริง เมื่อความจริงเป็นสิ่งสมบูรณ์ในตัว
ดังนั้นผู้ที่จะพูดความจริง จึงต้องเข้าถึงความสมบูรณ์นั้นด้วย และการจะเข้าถึงความสมบูรณ์ดังกล่าวได้ เขาผู้นั้นย่อมต้องไม่ถูกอำนาจใดๆ มาครอบงำ หรือจำกัดกรอบขอบเขตใดๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องดำรงตนอยู่ในความเป็นอิสระอย่างแท้จริง
Evangelist's qualifications
สาเหตุก็เพราะว่า หากท่านไม่สามารถดำรงตนอย่างอิสระ แต่ยังถูกครอบงำ หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ จนทำให้ท่านไม่สามารถ เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ อาทิเช่น ต้องพึงพาผู้อื่นอยู่ ก็ย่อมต้องเกิดความเกรงอกเกรงใจต่อผู้มีพระคุณผู้นั้น ในลักษณะนี้แม้อยากกล่าวความจริง บางครั้งก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปาก เพราะเกรงว่าเขาจะไม่พึงพอใจ และตัดความช่วยเหลือไป
ในภาวะเช่นนี้ ก็ต้องบอกได้ว่า ท่านไม่เป็นอิสระ เมื่อไม่สามารถเข้าถึงความเป็นอิสระได้ แม้รู้ในธรรมญาณก็อาจบิดเบือนธรรมญาณจนปนเปื้อนไม่บริสุทธิ์ ดังนั้นการประกาศธรรมญาณ ที่ไม่สมบูรณ์เหล่านี้ไป ก็เท่ากับมิได้พูดในสิ่งที่เป็นจริง
การประกาศธรรมญาณ
(Declaration of truth)
ความอิสระจึงถือเป็นคุณลักษณ์ ที่สำคัญยิ่งของผู้ที่ประสงค์ จะประกาศธรรมญาณ การรู้ความจริงหรือสัจจะเป็นของเฉพาะตน แต่การจะประกาศให้ผู้อื่นรู้นั้น จะต้องไม่ถูกครอบงำ ด้วยอำนาจและอิทธิพลใดๆ เพราะไม่เช่นนั้น ความจริงที่ตนรู้ก็จะบิดเบือนตามไป จึงไร้ประโยชน์ และหากจะกล่าวกันตามตรงแล้ว ก็ต้องบอกว่า คนที่ยังถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขใดๆ ก็ตามจนทำให้ไม่เป็นอิสระ
ธรรมญาณหรือความรู้ใดที่ตนคิดว่ารู้อยู่นั้น ก็ยังมิใช่สัจจะหรือธรรมญาณที่แท้ เพราะธรรมญาณที่แท้นั้นจะนำพาออกจากการยึดติด ข้องเกี่ยวกับโลกียะโดยสิ้นเชิง ตัวธรรมญาณเองจึงเป็นอิสระภาพที่แท้จริง ดังนั้นผู้ที่เข้าใจเข้าถึงในธรรมญาณที่เที่ยงแท้ ก็ย่อมเข้าถึงความเป็นอิสระ ที่สมบูรณ์พร้อมในเวลาเดียวกันนั้น
มีประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งผู้ประสงค์จะประกาศ หรือเรียนรู้ในธรรมญาณ พึงจะรับรู้ไว้ก็คือ เนื่องจากธรรมญาณเป็นธรรม ที่มีไว้สำหรับการปลุกให้ตื่น จึงไม่มีการปลอบโยนใดๆ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ธรรมญาณไร้การประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะความจริงแท้มีเพียงหนึ่งเดียว ไม่เผื่อช่องให้ผู้ใดสามารถต่อรอง หรือบิดเบือนได้ หากต้องการจะตื่นก็ต้องลืมตาขึ้นในฉับพลัน หากยังมัวงัวเงียหาข้ออ้าง ที่จะหลบนอนอยู่ ย่อมไม่อาจเข้าถึงการตื่น หรือธรรมญาณที่แท้จริงได้
Declaration of truth
การประกาศธรรมญาณ จึงต้องประจักษ์ และตระหนักรู้ในเรื่องนี้ให้กระจ่าง ความคิดที่จะปลอบโยนใดๆ เพื่อให้ธรรมญาณดูอ่อนลง และน่าจะใช้ได้กับโลกียะ ล้วนเป็นความผิดพลาด ของผู้ที่มีความคิดเช่นนั้น เนื่องจากธรรมญาณเป็นธรรม ที่นำออกจากโลกียะ มิใช่ธรรมที่จะทำให้อยู่ในโลกียะ ดังนั้นผู้ที่พยายามจะบิดเบือนธรรมญาณ เพื่อประสงค์เอาใจให้ผู้อื่นรับฟัง จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า โลกียะสามารถดำรงอยู่ได้
นี่คือข้อผิดพลาดที่ใหญ่หลวง เพราะหากโลกียะสามารถดำรงอาศัยอยู่ได้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายคงไม่ชี้ทาง ให้ออกจากโลกียะเพียงสถานเดียว ผู้ประกาศธรรมญาณที่พยายามบิดเบือนในกฏข้อนี้ จึงไม่ต่างจากการพาสัตว์ออกจากกับดักหนึ่ง เพื่อไปติดอีกกับดักหนึ่ง ซึ่งย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใดทั้งสิ้น และไม่ถือเป็นการประกาศธรรมญาณ ที่ถูกต้องและเหมาะสม
บทสรุป
(Conclusion)
กับคำถามที่ว่า สัจจะนั้นอยู่ที่ผู้พูดหรือผู้ฟัง เรื่องนี้ก็ต้องตอบว่า สัจจะหรือความจริงมิได้อยู่ที่ผู้ใด มันสมบูรณ์พร้อมในตัวเอง และดำรงอยู่อย่างอิสระ หากผู้พูดเข้าถึงธรรมญาณหรือสัจจะที่แท้ และประกาศความจริงนั้น ออกไปโดยบริสุทธิ์ไม่บิดเบือน สัจจะย่อมปรากฏอยู่ที่ผู้พูด ส่วนว่าผู้ฟังจะรับรู้ในสัจจะนั้นไปหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในขณะเดียวกันแม้ผู้พูด จะมิได้ประจักษ์ในธรรมญาณ หรือสัจจะที่แท้ใดๆ แต่ได้พูดพาดพิงไปถึงธรรมญาณที่แท้เข้า
และผู้ฟังเกิดความเข้าใจ ในตัวสัจจะหรือธรรมญาณนั้นจนกระจ่างแจ้ง ก็ต้องถือว่า สัจจะได้ปรากฏต่อผู้ฟังนั้นแล้วโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ จึงมิต้องกังวลสนใจไป หากผู้ประกาศธรรมญาณเข้าถึงธรรมที่แท้แล้ว ก็จงประกาศธรรมนั้นอย่างตรงไปตรงมา อย่าบิดเบือนให้ผิดความหมาย ก็ถือเป็นอันใช้ได้ ในส่วนของตัวผู้ฟังนั้น ผู้ประกาศพึงตระหนักว่า ผู้ฟังแต่ละคนนั้นกระทำกรรม และสั่งสมปัญญาความรู้มาไม่เท่ากัน ดังนั้นพวกเขาจึงมีมัชฌิมาในการเข้าใจ และเข้าถึงธรรมญาณที่ไม่เท่ากันด้วย
ดังนั้นผู้ประกาศพึงปล่อยให้จิตญาณ เป็นผู้ถ่ายทอดธรรมญาณ เพราะจิตญาณมีธรรมชาติ ที่เป็นกลางไม่ตัดสินในสิ่งใดๆ และมัชฌิมญาณจะบังเกิดขึ้นเองว่า สมควรจะถ่ายทอดธรรมญาณใดต่อผู้ฟังนั้นๆ กล่าวโดยสรุปจึงต้องบอกว่า ให้มัชฌิมาแห่งจิตญาณเป็นตัวกำหนด สาระธรรมที่จะประกาศนั้นเป็นดีที่สุด
(สัจจะธรรมเสวนา 5 ความหมายธรรมญาณ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา