29 มิ.ย. 2023 เวลา 16:15 • บ้าน & สวน

ลำดับปรับแต่ง

บทความนี้ยังคงถือเป็นเรื่องราว ที่ต่อเนื่องจากบทก่อนหน้า เพราะยังคงเป็นการบรรยายความ ถึงหลักการเกี่ยวกับการประยุกต์ เอาความรู้เรื่องของผังโครงร่างอาณาจักร ในความหมายของศาสตร์ตรีสัมพันธ์ มาใช้กับการจัดวางผังชะตาดิน ทั้งที่เป็นอาณาจักรหลักหรือตัวอาคารเอง และห้องหับต่างๆ ภายในตัวอาคารนั้นๆ ที่ถือเป็นอาณาจักรย่อย และเพื่อให้ผู้อ่านสามารถ เข้าถึงความสำคัญในการจัดวาง ผังของอาณาจักรย่อยต่างๆ
เพื่อสื่อถึงสิ่งที่ผู้อ่านจะต้องทราบ และตระหนักไว้เสมอ ในทุกครั้งที่จะทำการ วางผังอาณาจักรย่อยทั้งหมด โดยอาศัยหลักการของ “ตำแหน่ง แห่ง หน” ซึ่ง "ตำแหน่ง" จะหมายถึงที่ตั้งของห้องต่างๆ ขณะที่ "แห่ง" จะหมายถึงรายละเอียด การจัดวางเครื่องเรือนสำคัญ ภายในห้องนั้นๆ และสุดท้าย "หน" จะหมายถึงทางเดิน ภายในตัวอาคาร ทั้งสามสิ่งนี้ล้วนจำต้องนำมา พิจารณารวมกันอย่างครบถ้วน จึงจะได้ผังโครงร่างของชะตาดิน ที่สอดคล้องกับตัวอาคาร หรืออาณาจักรหลักนั้นๆ
แต่ก่อนที่จะไปพูดถึง รายละเอียดภายในห้อง หรืออาณาจักรย่อยต่างๆ นั้น ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงหลักการกว้างๆ เกี่ยวกับการจัดวางผัง อาณาจักรหลักอีกสักเล็กน้อย ถือเป็นการเพิ่มเติมจากที่ได้ เกริ่นนำไว้บางส่วนในบทก่อนหน้า กล่าวคือ การจัดวางตัวอาคารนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึง สมดุลย์ของปราณหยาง คือมังกรเขียวฝั่งซ้าย และปราณหยินคือ เสือขาวฝั่งขวาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของน้ำทั้งปริมาณ ขนาด และคุณภาพ ล้วนเป็นสิ่งที่จะละเลยไม่ได้ ในส่วนของเรื่องน้ำนี้ ขอเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เกี่ยวกับความลึกของน้ำ
ซึ่งจะต้องให้ความลึกนั้นหันเข้าหาตัวบ้าน เพื่อให้เกิดสภาพปราณน้ำไหลเข้า เพราะน้ำจะเป็นตัวแทนของเงินทอง หากไหลออกจะเกิดบทบาทการสูญเสีย แต่ในทางพฤติกรรม ของกระแสปราณแล้ว เมื่อน้ำเป็นตัวเก็บกักปราณ น้ำที่ลึกจึงย่อมสะสมปราณไว้ได้มากกว่า ดังนั้นหากหันส่วนลึกในทิศทางเข้าสู่ตัวอาคาร จึงเป็นการสะดวกที่จะเหนี่ยวนำ เอาปราณเหล่านี้ไปใช้ได้ง่ายกว่า กรณีที่กระแสปราณไหลออก ให้สมมติปราณเหมือนกับกระแสน้ำ หากต้องการดึงน้ำมาใช้ น้ำที่ไหลเข้าสู่พื้นที่ย่อมสามารถนำมาใช้งานได้ง่ายกว่า น้ำที่ไหลออกเป็นธรรมดา
นอกจากนี้แล้ว การวางตำแหน่งของลานรับ และรวมพลังก็ต้องกระทำ ให้ถูกต้องเหมาะสม ดังที่ผู้เขียนเคยบรรยายไว้แล้วในบทก่อนๆ เกี่ยวกับสนามพลังของปราณ ให้ลองกลับไปทบทวนดู ในที่นี้จะขอขยายความ ในส่วนของลานรวมพลัง หรือที่เรียกตามศัพท์เทคนิคในสายวิชาว่า ลานท้องพระโรง หรือหมิงถางนั้น ก็ถือเป็นภาพสะท้อนเกี่ยวกับ การจัดวางผังอาณาจักรดังที่ได้เคยบรรยายไว้ในบทก่อนหน้า ในส่วนนี้มีความสำคัญ ตามความหมายคือ เป็นลานรวมพลัง
ดังนั้นเพื่อที่จะรวมพลัง หรือเก็บกักปราณไว้ให้ได้ รั้วในบริเวณนี้จึงต้องทึบอย่างน้อย 70% โดยเฉพาะส่วนล่างประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของความสูง โดยยอมให้โปร่ง หรือมีช่องแสงได้บ้าง ในส่วนบนประมาณ 30% ของขนาดรั้ว ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้าง สัญลักษณ์ของเนินหงษ์แดง ไว้ช่วยเก็บกักปราณเอาไว้ ที่สำคัญซึ่งจะขาดเสียไม่ได้ก็คือ แสงแดด กล่าวคือ ในบริเวณหมิงถางนี้ควรที่จะได้รับ แสงแดดอย่างพอเพียง อย่างน้อยสามชั่วโมงต่อวัน แต่ก็ไม่ถึงกลับจะไม่ยอมให้มีเงาไม้เลย โดยยังคงอัตราส่วน แสง 70 และร่มเงา 30 เช่นเดียวกัน
จากนั้นตัวบ้านก็ควรจะมี อาณาบริเวณรอบตัวอาคารเพียงพอ ที่จะให้กระแสปราณเคลื่อนไหวไปได้โดยรอบ ไม่ควรสร้างอาคารแบบเต็มพื้นที่ ในกรณีที่มีพื้นที่น้อย ก็ควรทำให้พื้นราบเรียบไว้ ไม่ควรปลูกต้นไม้ตามแนวรั้ว ทางด้านข้างอาคาร แต่ถ้าจะปลูกก็ต้องดูแล ไม่ให้รกรุงรังจนปิดบังเส้นทาง ให้ระลึกไว้ว่า หากคนยังเคลื่อนไหว ลำบากหรือไม่สะดวก กระแสปราณก็เฉกเช่นเดียวกัน ในขณะที่ด้านหลังตัวอาคาร อาจสร้างชายคาหรือกันสาดบังได้บ้าง
แต่ก็ไม่ควรจะมืดทึบ จนแสงแดดส่องไม่ถึง แม้ว่าด้านหลังบ้านจะยอม ให้เกิดบทบาทของพลังหยินได้มากกว่า แต่การไร้แสงแดดอย่างสิ้นเชิง จะทำให้เกิดการผลัดเปลี่ยนของคุณภาพพลัง เพราะพลังหยางที่เคลื่อนเข้ามาเจอเงามืด จะเปลี่ยนกลายเป็นพลังหยิน ที่ซบเซาในทันที และแสงแดดยังช่วยทำให้เกิด การขยายตัวของมวลอากาศ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนตัวของกระแสลม ช่วยพัดพาและหมุนเวียนกระแสปราณ ไปยังด้านหลังอาคารได้
ส่วนของรั้วด้านหลังจึงควรทำให้สูง และทึบตันพอที่จะใช้แทนเนินเต่าดำ เพื่อเป็นหลังอิงให้แก่ตัวอาคารได้บ้าง การปลูกต้นไม้สูงทางด้านหลัง ก็พอช่วยได้หากมีพื้นที่เพียงพอ โดยเฉพาะแนวไม้ที่เรียงขนานไป กับระนาบด้านหลังของตัวอาคาร จะถือเป็นฉากกั้นบังที่ดี สามารถช่วยลดทอนกระแสปราณ ในกรณีที่เกิดการพัดย้อนกลับ เนื่องจากทิศทางลมตามฤดูกาล และยังช่วยป้องกันพิฆาตต่างๆ ที่อาจคุกคามใส่ด้านหลังของตัวอาคารได้ด้วย แต่ก็ต้องดูแลให้ดีไม่ให้รกคลึ้ม หรือยื่นยาวกิ่งใบมาสัมผัส ถูกตัวอาคารโดยเฉพาะในส่วนของหลังคา
เท่าที่บอกเล่ามา ผู้เขียนก็คิดว่าน่าจะเป็น เนื้อหาเบื้องต้นที่ครบถ้วนพอสมควร สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่มีความรู้ลึกซึ้ง ในศาสตร์การปรับชะตาดิน หากสามารถทำและหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตามที่ผู้เขียนได้บอกบรรยายไว้นี้ ก็พอจะรับประกันได้ว่า ตัวอาณาจักรหลักของท่าน จะอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้เป็นอย่างดี
อย่างน้อยก็พอจะช่วยให้เกิด การเลื่อนไหลของกระแสปราณ ที่เหมาะสมเพียงพอจะหล่อเลี้ยง ตัวอาคารบ้านเรือนของท่านได้ เรียกได้ว่า ในขั้นตอนของการต่อไฟสายเมน จากเสาไฟฟ้า ภายนอกเข้ามาสู่ตัวอาคาร ได้เสร็จสิ้นกระบวนการเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเราจะได้มาเรียนรู้การนำกระแสไฟ หรือพลังปราณเหล่านี้ ไปใช้ประโยชน์ภายในตัวอาคาร หรืออาณาจักรย่อยต่างๆ ต่อไป
เริ่มต้นก็คงหนีไม่พ้นต้องกล่าวถึง บริเวณประตูทางเข้าด้านหน้า โดยเฉพาะประตูรั้ว ในเบื้องต้นหากยังไม่รู้เรื่องหลักวิชาตัวอื่น ก็ให้ไว้ทางด้านซ้ายหรือมังกรเขียว ที่ต้องการการเคลื่อนไหวไว้ก่อน และถ้าเป็นไปได้ควรระวัง เรื่องของฝาท่อระบายน้ำ อย่าพยายาม ให้อยู่ตรงกับบานประตู เพราะจะทำให้กระแสปราณ รั่วไหลลงไปยังท่อ แทนที่จะเข้าสู่ประตูบ้าน
วิธีแก้ที่ดีที่สุดก็คือ การย้ายฝาท่อไป แต่หากทำไม่ได้เพราะ เป็นของสาธารณะ ก็อาจใช้วิธีปูแผ่นเหล็กทึบ บังไว้ให้รถเคลื่อนเข้า โดยแผ่นเหล็กนี้อาจทาสีเขียวอ่อน เพื่อใช้หลักเบญจธาตุน้ำกำเนิดไม้ มาช่วยเปลี่ยนปราณน้ำในท่อ ให้มาก่อเกิดเป็นความรุ่งเรืองแทน เรียกว่า แม้รั่วไหลแต่ยังได้คืน ส่วนในกรณีที่ต้องการ ป้องกันการรั่วไหลโดยสิ้นเชิง ก็ให้ทาแผ่นเหล็กด้วยสีกันสนิมที่ออกสีแดง ก็สามารถช่วยทอนการรั่วไหลได้
เพราะสีแดงเป็นพลังหยาง ทำให้กระแสปราณไม่ไหลลง และยังช่วยสกัดปราณหยินของน้ำในท่อ ไม่ให้ขึ้นมาปนเปื้อนกับพลังพยาง ที่จะเคลื่อนเข้าสู่ตัวบ้านด้วย แต่ในกรณีนี้ยังคงต้องเน้นความกลมกลืน อย่าให้โทนสีฉูดฉาดโดดเด่น จนเกิดภาวะการชิงสภาพได้ ที่สำคัญยังต้องคำนึงถึงเรื่องธาตุทิศ และตำแหน่งของดวงดาวด้วย ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป ในเบื้องต้นนี้ยังไม่ต้องไปสนใจมากนัก ผู้เขียนจึงแนะนำให้ใช้สีเขียว ไปก่อนจะปลอดภัยกว่า
กรณีประตูรั้วเป็นแบบเลื่อนให้รถเข้า ก็ควรที่จะแยกประตูเล็กสำหรับคนเข้าไว้ต่างหาก อย่าทำเป็นประตูเล็กในประตูใหญ่ เหมือนกับมีปากเล็กในปากใหญ่ จะแสดงบทบาทของการแย่งกันกิน ในพฤติกรรมของกระแสปราณ จะทำให้ปราณของประตูไม่เสถียร เนื่องจากโครงสร้างของตัวประตู ที่ไม่แข็งแรงเท่าบานประตูเดี่ยว ประตูเล็กจึงควรแยกออกต่างหาก ไปไว้ทางด้านซ้ายของประตูใหญ่ ในกรณีที่ประตูทางเข้าอยู่ฝั่งมังกรเขียว เพื่อไม่ให้บานประตูใหญ่ เลื่อนมาบังช่องประตูเล็ก และบานสวิงของประตูเล็กควรอยู่ ฝั่งตรงข้ามกับลานรวมพลัง
และควรเปิดเข้าสู่พื้นที่อาคาร เพื่อให้ทิศทางของพลังจ่ายตรง ไปยังลานรวมพลังอย่างเต็มที่ ส่วนป้ายบ้านเลขที่ และกล่องรับไปรษณีย์ทั้งหมด ควรจะติดไว้ทางด้าน ที่รับกระแสจากทิศทางรถ ที่วิ่งผ่านหน้าบ้าน คือให้หันสวนกับทิศทาง ที่ยวดยานสัญจรผ่านมา อาทิเช่น รถวิ่งจากซ้ายมาขวา ก็ควรติดไว้ทางด้านขวา ถ้าวิ่งจากขวาไปซ้าย ก็ให้ติดไว้ทางด้านซ้าย
เพราะป้ายเหล่านี้จะเป็นเหมือน สัญลักษณ์ตัวแทนของอาคาร จึงต้องหันรับกระแส มิใช่ปฏิเสธกระแส นอกจากนี้ไฟที่หัวเสาสองข้าง ของประตูรั้วก็ควรมี และเปิดสว่างไว้ตลอดคืน เพื่อรับพลังจากปราณฟ้า ในยามย่ำค่ำอีกทางหนึ่ง
ถัดจากประตูรั้วก็มาถึงประตู ทางเข้าหลักสู่ตัวอาคาร ซึ่งควรทำให้ดูสง่างามกลมกลืน และรับกับขนาดของตัวอาคาร ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ส่วนใหญ่ก็จะทำไว้เป็นแบบสองบาน ซึ่งแม้จะดูโอ่โถง แต่ควบคุมทิศทางของกระแสปราณได้ยาก เพราะมีบานสวิง ของประตูทั้งสองด้าน
จึงทำให้พลังปราณ สามารถเคลื่อนเข้าสู่ประตู ได้จากสองทิศทาง ปัญหาของประตูหน้านี้ ยังเป็นข้อถกเถียงกัน อยู่ในหลายสำนัก ซึ่งต่างมีเหตุผลสนับสนุน ที่น่าสนใจทั้งสิ้น ในกรณีที่ให้เปิดบานประตูออก ซึ่งเป็นแบบที่ใช้กันมากในประเทศเรา ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวธรณีประตูจะได้อยู่ด้านใน ทำให้เวลาฝนตกจะได้ไม่ไหลซึมเข้าบ้าน
แต่ถ้าจะพิจารณากันใน เรื่องของกระแสปราณแล้ว การเปิดประตูเข้าจะเหมาะสมกว่า เพราะทุกครั้งที่เปิด กระแสปราณจะเคลื่อนเข้าสู่ภายในตัวอาคาร และสามารถควบคุมได้ ด้วยตำแหน่งของบานสวิง กล่าวคือ ถ้าบานสวิงอยู่ด้านขวา กระแสจะไหลทะแยงมุมจากขวาไปซ้าย ทำให้ตำแหน่งที่เหมาะสม ในการตั้งรับพลังจึงอยู่ ฝั่งทแยงมุมด้านซ้าย ภายในตัวอาคารหลังนั้น และเพื่อป้องกันการไหล ย้อนกลับของกระแสปราณ
การปิดประตูไว้จะช่วย สกัดการรั่วไหลได้ดีกว่า ดังที่เห็นได้จากประเทศ ที่พัฒนาแล้วในเขตอบอุ่น ที่อากาศค่อนข้างหนาวเย็น ทำให้พวกเขาต้องปิดประตูเข้าด้านใน และปิดอยู่เช่นนั้นจะเปิด เฉพาะเมื่อต้องการเข้าออก ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันอากาศเย็นเข้าสู่ตัวบ้าน และการเปิดประตูเข้า ยังง่ายต่อการดันประตูปิด ในกรณีที่มีพายุ หรือกระแสลมแรงด้วย ประเทศในภูมิภาคเหล่านี้ จึงมักเป็นประเทศที่มีฐานะดี เพราะเก็บปราณไว้ในบ้านได้ค่อนข้างมาก เพียงแต่จะใช้ปราณให้เป็นประโยชน์ ได้มากน้อยเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในเรื่องของประตูนี้ยังเป็น ข้อถกเถียงกันพอสมควร ผู้เขียนจึงขอสรุปว่า หากเป็นเมืองร้อนที่ต้องเปิดประตูเอาไว้ เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทเข้าภายในอาคาร ก็คงต้องเปิดออก โดยส่วนใหญ่จะมีประตู เหล็กดัดมุ้งลวดที่เปิดเข้าอยู่แล้ว ให้ถือเป็นการอนุโลม แม้ตัวมุ้งลวดจะโปร่ง ทำให้เก็บกักพลังได้ไม่ดี แต่ก็ยังมีดีกว่าไม่มี ส่วนกรณีของอาคารที่เปิด เครื่องปรับอากาศอยู่เป็นปกติ ก็แนะนำให้ทำเหมือนเมืองหนาว คือปกติก็ปิดเอาไว้ และใช้เปิดเข้าเป็นหลัก
บางคนอาจสงสัยในประตูแบบเลื่อน อันนี้ต้องถือว่า ไม่ควรใช้กับประตูหน้าถ้าไม่จำเป็น เพราะการเลื่อนเข้าออก จะมีลักษณะเหมือนปาก ของสัตว์ร้ายที่งับเข้าหากัน จึงเกิดบทบาทของการเฉือนพลังไปในตัว คล้ายพิฆาตปากพยัคฆ ที่เกิดจากประตูลิพต์ แต่เนื่องจากเป็นการประหยัดเนื้อที่ จึงเป็นที่นิยมกัน ก็เอาเป็นว่า หาทางทำให้ดูสวยงาม ปกปิดในส่วนของรางเลื่อนให้มิดชิด
ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นประตูชนิดใด ถ้าติดขัดเปิดยากปิดไม่สนิท หรือมีเสียงดังจะต้องรีบแก้ไขทันที และบานประตูที่จะเก็บพลังได้ควรเป็นประตูทึบ ไม่ควรเป็นกระจกใสทั้งแผ่น ยกเว้นกรณีของร้านค้า ซึ่งต้องการดึงดูดพลังหยางปริมาณมาก อีกประการหนึ่งที่จะลืมไม่ได้ก็คือ
การมีเสาอยู่สองข้างของประตู อาจทำเพื่อรองรับชานระเบียง ที่ยื่นออกมาทางชั้นบน หรือเป็นหลังคาก็ตาม ต้องระวังมิให้เหลี่ยมเสาหันตรงพิฆาตเข้าสู่ประตูบ้าน รวมทั้งไม่ควรพุ่งตรงไปยังประตูรั้วด้วย และควรติดโคมไว้ที่ตัวเสาทั้งสองฝั่ง โดยให้เปิดไว้ตลอดคืน เพื่อป้องกันเรื่องของพิฆาตภัยฟ้าดิน ดังที่จะบรรยายในบทต่อๆ ไป
ผ่านเรื่องของประตูมาก็จะ เข้าสู่ห้องโถงแรกของตัวบ้าน ซึ่งปกติจะใช้เป็นห้องรับแขก ความจริงแล้วห้องแรกนี้ถือว่า เป็นชัยภูมิภายในที่สำคัญ เพราะสามารถใช้กระตุ้น พลังปราณในตำแหน่งต่างๆ แทนตัวอาคารทั้งหลังได้ เนื่องจากเป็นจุดแรก ที่พลังปราณ ผ่านเข้ามาสู่ตัวบ้าน โดยเฉพาะกรณีที่รูปทรง ของอาคารไม่เป็นสี่เหลี่ยม ทำให้หาจุดไท่จี๋ ที่เป็นศูนย์รวมพลังของตัวอาคารได้ยาก เราก็สามารถทำการ กระตุ้นตำแหน่งไท่จี๋ ของห้องโถงแรกนี้ได้เช่นกัน
ห้องแรกนี้จึงควรโอ่โถง สะอาด สว่าง และดูเป็นระเบียบ เชื้อเชิญให้คนแวะเวียนเข้ามา ซึ่งจะทำให้พลังปราณ ไหลเวียนเข้าสู่ตัวอาคารได้มาก โดยที่จุดไท่จี๋ของห้อง หากสามารถติด โคมไฟคริสตัลไว้จะดีมาก เพราะคริสตัลแท้จะช่วย ยกพลังให้ลอยตัวสูงขึ้น และช่วยแพร่กระจาย พลังปราณให้สม่ำเสมอทั่วทั้งห้อง แต่หากไม่มีพื้นที่หรืองบประมาณพอ ก็อาจห้อยลูกคริสตัลแท้ไว้ ที่โคมไฟกลางห้องแทนได้
ระหว่างห้องรับแขก หรือโถงแรกนี้กับห้องชั้นใน ควรจะมีแนวกั้นบอกเขตแดน เพื่อให้รู้ขอบเขตพื้นที่ห้อง อย่างเป็นทางการ โดยอาจตั้งตู้โชว์บังเอาไว้ และในเบื้องต้นทางเข้าสู่ภายใน ก็ควรอยู่ด้านซ้าย หรือมังกรเขียวไว้ก่อน นอกจากจะมีการตรวจสอบตำแหน่งดาว อย่างแน่ชัดอีกครั้ง ที่ให้อยู่ด้านซ้ายก็เพราะว่า ในหลักวิชาพื้นฐานนั้น เมื่อเข้าสู่ตัว อาคารด้านซ้ายสุดด้านใน จะเป็นตำแหน่งอำนาจ และขวาเป็นตำแหน่งทรัพย์
ดังนั้นเพื่อให้ทรัพย์ ได้รับการเก็บงำอย่างมิดชิด จึงไม่ควรมีการเคลื่อนไหว ในตำแหน่งนี้ และที่สำคัญตำแหน่งทรัพย์ ไม่ควรหันประจัญกับประตูทางเข้า เพราะทรัพย์สินเงินทอง หากวางไว้ในที่แจ้งให้คนพบเห็น ย่อมยั่วยวนกิเลสทำให้เกิด บทบาทการแย่งชิง เกิดเป็นการฉ้อฉล หรือลักขโมย
เมื่อเข้ามาสู่ห้องด้านในแล้ว ก็อาจใช้เป็นห้องนั่งเล่น สำหรับสมาชิกภายในครอบครัว เป็นที่ตั้งของทีวี หรือโต๊ะรับประทานอาหาร โดยมีหลักว่า จากประตูหน้าจะต้องมองไม่เห็นโต๊ะอาหาร เพราะจะทำให้ไม่เกิดบรรยากาศ ความเป็นส่วนตัวประการหนึ่ง อีกทั้งปราณหยาง ที่พุ่งตรงจากประตูบ้าน เข้าใส่โต๊ะอาหารโดยตรง จะกระตุ้นให้เกิดการเจริญอาหาร ทำให้คนในบ้านหมกมุ่น อยู่แต่เรื่องกินเป็นหลัก จนอาจเสียสมดุลย์ ทั้งปราณรวมของบ้าน และสุขภาพของคนภายในบ้านเอง
ที่สำคัญจะทำให้ค่าใช้จ่าย ในเรื่องอาหารเกิด การบานปลายจนคุมไม่อยู่ โบราณท่านจึงกล่าวว่า ถ้ายืนที่ประตูหน้ามองเห็นโต๊ะอาหาร จะทำให้เกิดการรั่วไหล และมีคนช่วยกินมากกว่าคนช่วยทำงาน ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ จึงควรหาฉากมาตั้งกั้น แค่ให้มองไม่เห็นชัด ก็ถือว่าพอจะอนุโลมกันได้
ก่อนจะไปเรื่องห้องอื่น ก็คงต้องขอย้อนมาพูดถึงเรื่อง ระดับภายในอาคารกันสักเล็กน้อย เพราะในปัจจุบันสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ จะเน้นการเล่นระดับ ภายในตัวอาคารบ้านเรือน การเล่นระดับนั้นทำให้เกิด บรรยากาศที่ทันสมัย และน่าสนใจ จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เพื่อป้องกันความผิดพลาด ของหลักกระแสปราณ
จึงมีคำแนะนำเล็กน้อยว่า ระดับภายในบ้านนั้น ควรให้ด้านหลังสูงกว่าด้านหน้า ตามลักษณะของผังโครงร่างอาณาจักรใหญ่ ที่ด้านหลังต้องมีหลังอิงเป็นเนินเต่าดำ การทำให้ด้านหน้าสูง แล้วยุบตัวลงภายใน จะส่งผลให้เกิดการกักขัง ของกระแสปราณ ที่เรียกกันในศัพท์วิชาว่า บ่ออัปมงคล เนื่องจากพลังก็เหมือนกับน้ำ เมื่อไหลเข้าไปสู่บ่อเก็บกักแล้ว ไม่สามารถระบายได้ดีพอ ก็จะเน่าเสีย พลังก็เช่นกัน
เมื่อปราณหยางไหลเข้ามา ภายในบ้านแล้วถูกกักเก็บเอาไว้ ไม่อาจระบายได้อย่างคล่องตัว ไม่ช้าก็จะซบเซาลงและแปรสภาพเป็น ปราณหยินที่ส่งผลทางด้านลบแทน ดังนั้นทางที่ดีทำให้ระดับบ้านเสมอเท่ากันหมดจะดีที่สุด เพราะบริหารจัดการกระแสปราณได้ง่ายกว่า ในกรณีที่บ้านถูกยกพื้นขึ้น จากระดับที่ดินภายนอก ก็ไม่ควรให้เกินบันไดสามขั้น เพราะถ้าสูงกว่านั้น กระแสปราณจะเคลื่อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ลำบาก
เรื่องของตำแหน่งตั้งโต๊ะอาหารนั้น ก็ยังมีกฏเกณฑ์เล็กน้อย คือไม่ควรอยู่ใต้ห้องน้ำที่ชั้นบน และไม่ควรมีประตูพุ่งปะทะใส่โต๊ะอาหาร โดยเฉพาะประตูห้องน้ำ หรือบันได การใช้โต๊ะกลมดีที่สุด ถ้าเป็นโต๊ะเหลี่ยมควรจะเป็นแบบมุมมน เพื่อลดปัญหาพิฆาตภายในหรือการเดินชน และควรแยกออกจากห้องครัว เพื่อป้องกันเรื่องกลิ่น และคาบน้ำมันจากการปรุงอาหาร
ที่สำคัญห้องครัวจะต้องค่อนข้าง มีสัดส่วนที่มิดชิดพอควร เพราะครัวจะเป็นที่ตั้งเตาไฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ ของพลังในศาสตร์โบราณ เพราะถือกันว่า ห้องครัวเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงคนภายในบ้าน จึงถือว่าเป็นตำแหน่งทรัพย์อีกแห่งหนึ่ง ที่ต้องปกปิดและดูแลอย่างดี แต่ก็ไม่ถึงกับห้ามมีหน้าต่าง หรือประตู ในทางตรงกันข้าม ห้องครัวจะต้องสะอาด สว่าง และเป็นระเบียบ พร้อมมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนที่สำคัญยังคงเป็นตำแหน่งตั้งเตาไฟ ซึ่งควรมีกำแพงอิงที่ทึบตัน ไม่ควรเป็นหน้าต่าง
เพราะนอกจากจะดูแลรักษายากแล้ว ตัวช่องเปิดยังมีบทบาทเหมือนธาตุน้ำ เพราะมีการเคลื่อนไหวของกระแสอากาศ ทำให้พิฆาตกับธาตุไฟของเตา การวางซิงค์น้ำก็ไม่ควรติดชิดกับตัวเตาโดยตรง และห้ามวางตรงกันข้ามกับเตาไฟเป็นอันขาด เพราะเป็นการพิฆาตตรงของน้ำกับไฟ ตู้เย็นก็ถือเป็นธาตุน้ำที่ ไม่ควรตั้งประจัญกับเตาไฟเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องตู้เย็นนี้ ยังมีสภาพในการแช่แข็ง
ดังนั้นจึงไม่ควรตั้งในตำแหน่ง ที่ต้องเดินผ่านก่อนไปถึงเตาไฟ เพราะจะทำให้พลังปราณถูก สกัดกั้นเข้าไม่ถึงตัวเตาไฟโดยตรง การแก้ไขเบื้องต้นให้หานาฬิกา ที่มีส่วนเคลื่อนไหวมาวางไว้บนตู้เย็น เพื่อให้เกิดสภาพเคลื่อนสยบสภาพนิ่ง
ห้องน้ำเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักของตัวอาคาร ในเมืองจีนโบราณจึงนิยมตั้งห้องน้ำไว้แยกส่วนออกจากตัวบ้าน แต่ในปัจจุบันคงไม่สะดวกนัก ทว่าก็ยังใช้หลักการเดียวกันนี้ได้ ด้วยการตั้งไว้ในส่วนที่ยื่นออกจากตัวบ้าน โดยขนาดของห้องน้ำ จะต้องไม่กว้างเกินหนึ่งในสาม ของระนาบตัวบ้านทั้งสองด้าน ที่ห้องน้ำนั้นยื่นออกไป ก็จะถือว่าเป็นส่วนยื่นไม่ใช่
ส่วนของตัวอาคารแต่อย่างไร ตำแหน่งห้องน้ำก็ไม่ควรมองเห็น ได้จากประตูหน้าเช่นกัน เพราะปราณหยางที่เข้ามา จะพุ่งเข้าหาห้องน้ำ และรั่วไหลออกไป ที่สำคัญปราณหยินจากห้องน้ำ จะแพร่กระจายออกมาปนเปื้อน กับพลังหยางภายในบ้าน โดยเฉพาะความชื้นที่จะทำให้เกิดเชื้อรา ตัวโถส้วมเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่ต้องดูแลให้ดี อย่าให้ตั้งประจัญกับประตูห้อง โดยเฉพาะบันได ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำชั้นล่างหรือชั้นบนก็ตาม
ตัวบันไดก็ไม่ควรตั้งใกล้ หรือหันประจัญกับประตูทางเข้า เพราะจะทำให้ปราณหยางไหล ย้อนกลับออกสู่ภายนอกประตู เนื่องจากบันไดจะค่อนข้างสูง การชักนำพลังขึ้นสู่ชั้นบน ถือเป็นอีกขั้นตอนที่ยุ่งยากไม่น้อย ดังนั้นจึงควรเลี่ยงไม่ให้ ประจัญประตูไว้ก่อน ตัวบันไดควรมีชานพักแล้ววกกลับ ไม่ควรพุ่งตรงขึ้นไปอย่างเดียว นอกจากบันไดแล้วทางเดิน ระหว่างห้องภายในบ้าน
โดยเฉพาะชั้นบนที่มักจะมีการ แบ่งออกเป็นห้องนอนย่อยๆ จำนวนมาก ทางเดินจึงต้องไม่แคบและมืดสลัว เพราะจะทำให้เกิดเป็น พิฆาตช่องลมภายในขึ้นได้ ส่งผลให้ห้องที่อยู่สุดทางเดินมีปัญหา และทางเดินสู่ห้องนอนแต่ละห้อง ก็ไม่ควรผ่านห้องน้ำก่อน เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อน ของกระแสปราณได้ ส่วนตำแหน่งเตียงนอนนั้น ควรอยู่ทะแยงมุมกับประตูห้อง เป็นหลักไว้ก่อน เพื่อรับพลังที่เข้ามาสู่ตัวห้องได้อย่างเต็มที่ สำหรับเรื่องของหัวนอนนั้น จะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป
ในกรณีที่ต้องนอนสองคนร่วมเตียงเดียวกัน บางหลักการจะถือว่า ชั้นล่างต้องตั้งตามผู้ชายเป็นหลัก ส่วนห้องนอนให้เอาตามผู้หญิงเป็นหลัก สำหรับประสบการณ์ส่วนตัว ของผู้เขียนขอบอกว่า ถ้าสามารถจัดให้ลงตัวทั้งสองคนได้จะดียิ่ง กล่าวคือพบกันครึ่งทาง เพื่อให้อย่างน้อยก็ร่มเย็นเป็นสุขกันโดยทั่วหน้า การบรรยายในเรื่องของอาณาจักรย่อย ในเบื้องต้นก็คงต้องยุติเพียงเท่านี้ โดยจะมีการกล่าวถึงในรายละเอียดที่มากขึ้น เมื่อเข้าถึงบทของหลักวิชาที่ลึกซึ้ง และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปตามลำดับ
(มิติทางเคหะสถาน ep.6 ลำดับปรับแต่ง)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา