27 มิ.ย. 2023 เวลา 13:48 • บ้าน & สวน

แนวทางการจัดสวน

การจัดสวน ไม่ใช่เรื่องของ การสรรหาต้นไม้สายพันธุ์ต่างๆ มารวมกันไว้ในที่เดียวกันเท่านั้น และยังไม่ใช่แค่การทำให้ต้นไม้ทั้งหมด ได้รับการจัดเรียงอย่างสวยงาม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ทั้งสระน้ำ ปฏิมากรรมประดับสวน หรือแม้กระทั่ง อาคารย่อยอื่นๆ เช่น ศาลาโปร่ง แต่ยังเป็นการบริหารจัดการ กระแสปราณ ทั้งที่ผุดพรายปรากฏขึ้นจากผืนดินภายในสวน และที่จะชักนำเข้ามาจากธารแห่งปราณกระแสหลัก ภายนอกสถานที่ด้วย
จึงไม่ใช่เรื่องที่จะออกแบบ อย่างผิวเผิน โดยอาศัยหลักการทางพฤกศาสตร์ และ ความงามทางสุนทรียภาพ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องบูรณการ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าด้วยกัน อย่างบรรสานกลมกลืนเป็นหนึ่ง ทั้งด้านของหยาง คือ รูปลักษณ์ภายนอก ของตัวสวน และ หยิน คือ พลังปราณที่ไหลเวียนหล่อเลี้ยง อยู่ทั่วอาณาบริเวณของสวนแห่งนั้น
เมื่อหยินหยางมีดุลยภาพที่เหมาะสม ก็จะให้กำเนิดวงจรปราณที่มีกำลังสูงสุด และสามารถเอื้ออำนวย ให้สวนสวยของท่าน มีทั้งความงดงามและเปี่ยมพลัง นอกจากจะช่วยเติมเต็มวงจรปราณของที่ดินแล้ว ยังจะช่วยเสริมให้ตัวอาคาร มีชะตาดินที่แข็งแกร่งมากขึ้นด้วย ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ผู้คนที่อยู่อาศัยทั้งหมด จะได้รับประโยชน์จากปัจจัยเหล่านี้ และทำให้ชะตาของพวกเขาโดยภาพรวม แข็งแกร่งขึ้นตามไป
ในเบื้องต้นนี้ เราจะมาพูดถึงเรื่องของต้นไม้กันก่อน ซึ่งถือได้ว่า เป็นประเด็นใหญ่ และปัจจัยหลักอีกประการหนึ่ง ที่สามารถส่งผลต่อสภาวะปราณภายในอาคารสถานที่โดยตรง ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ประดับ ไม้เลื้อย และ ไม้น้ำ ทั้งหมดทุกสายพันธุ์ ล้วนสามารถก่อเกิดผลกระทบทั้งดีและร้ายได้ทั้งสิ้น หากจะกล่าวถึงหลักวิชาที่ใช้ในการบริหารจัดการ พลังปราณของตนไม้ ก็พอจำแนกได้ดังนี้คือ
1. การจัดวางต้นไม้ทั้ง ยืนต้น และ ทรงพุ่ม ให้ใช้วิชาอาณาจักรปราณ ในการจัดวางทั้งจำนวน ขนาด และ ความสูงของต้นไม้ รวมไปถึงรูปร่างของใบ และสีสันของดอก ให้สอดคล้องกับตำแหน่งของสัตว์เทพทั้งสี่
2. การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ตามสองข้างทางเดิน ให้ใช้วิชาทางปราณ ในการกำหนดสีสัน ขนาดของแปลงปลูก ตลอดถึงรูปทรงและลวดลายของกระถาง เพื่อชักนำปราณให้ไหลเวียนไปทั้งพื้นที่ ก่อนจะส่งเข้าตัวอาคารต่อไป
3. การปลูกไม้น้ำ ไม้ประดับ ที่ตกแต่งไว้ตามน้ำตก หรือ สระน้ำ ต้องให้สอดคล้องตามหลักวิชา เบญจธาตุ อัฐเรือน และดาวเหิน ห้ามละเมิดกฏเกณฑ์ใด ในวิชาทั้งสามเป็นอันขาด เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อ การไหลเวียนของกระแสปราณโดยตรง เนื่องจากน้ำสามารถเก็บกักปราณไว้ได้ การวางตำแหน่งน้ำไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อพลังปราณของสถานที่
โดยเฉพาะพวกไม้น้ำ หรือ ไม้ที่รายรอบสระน้ำ ล้วนสามารถเพิ่มพูนหรือลดทอน อิทธิพลบทบาทของน้ำที่มีต่อปราณได้ เพราะต้นไม้เป็นสิ่งที่ต้องการพลังชีวิต การปลูกไว้ในน้ำ ย่อมช่วยดูดซับพลังปราณจากน้ำ ขึ้นไปใช้ เพื่อเสริมสร้างตัวเอง ขณะที่ไม้ที่รายรอบสระน้ำ ก็จะช่วยกระจายปราณ ไม่ให้ถูกน้ำดูดซับเก็บกักไว้ได้ด้วย
4. การปลูกไม้ยืนต้น เพื่อให้ร่มเงา ต้องคำนึงถึงข้อกำหนดในหลักวิชาทางปราณ ที่เน้นให้มีสัดส่วนของแสงสว่าง 70% และ ร่มเงา 30% หากผิดไปจากนี้ ก็จะเสียดุลยภาพที่เหมาะสม ถ้าแสงมากไป ปราณรวมของอาคาร จะกระจัดกระจาย เพราะแดดที่มากจะทำให้อากาศรอบอาคารร้อน และลอยตัวสูงขึ้น ดึงให้มวลอากาศเย็นเข้ามาแทนที่ การหมุนเวียนของกระแสลมที่แรงเกิน
แม้จะทำให้เย็นสบาย แต่กลับส่งผลต่อการเก็บกักปราณของสถานที่ไว้ไม่ได้ ถูกลมพัดกระจัดกระจายไปทั่ว ขณะที่ร่มเงามากไป ก็จะแปรสภาพบรรยากาศ เป็นพลังหยินครอบงำ ส่งผลให้พลังปราณถูกปรับสภาวะตามไป 5. การปลูกไม้เลื้อย และไม้ยืนต้น ที่แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นวงกว้าง ต้องไม่ละเมิดข้อกำหนดในวิชาปราณสัมพันธ์
เนื่องจากต้นไม้ต้องการพลังชีวิตดังกล่าว หรืออาจกล่าวได้ว่า ต้องการพลังหยาง เหมือนกับคนและสัตว์ การที่กิ่งก้านแผ่มาสัมผัสตัวอาคาร หรือปลูกไม้เลื้อยตามผนังอาคาร ย่อมส่งผลให้ตัวอาคาร สูญเสียพลังหยางให้ต้นไม้เหล่านั้นไปตลอดเวลา ถ้าไม่มีการออกแบบอย่างถูกต้องเพียงพอ ตัวอาคารก็จะไม่มีพลังปราณหยาง จ่ายให้แก่ผู้อยู่อาศัยในที่สุด
ในด้านอิทธิพลบทบาทของต้นไม้ ที่ส่งผลกระทบต่ออาคาร ถือได้ว่า มีได้อย่างหลากหลาย ทั้งด้านดีและร้าย จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างสูงเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่า การอยู่อาศัยของผู้คนนั้นขาดต้นไม้ไม่ได้ ขณะเดียวกันหากบริหารจัดการไม่ดีพอ ก็สามารถส่งผลเสียร้ายแรงได้ กล่าวโดยสรุปแล้ว ก็พอจำแนกผลดีผลเสียของต้นไม้ที่มีต่อตัวอาคาร ดังนี้คือ
1. ต้นไม้ที่ใบขนาดเล็ก ละเอียด เป็นใบประกอบ จะให้ผลดีมากกว่า ไม้ใบใหญ่ เพราะสามารถกระจายปราณได้อย่างสม่ำเสมอมากกว่า ขณะที่ไม้ใบใหญ่ จะกวาดพัดเอาปราณไปครั้งละจำนวนมากๆ ในทิศทางเฉพาะ ทำให้การกระจายปราณไม่สม่ำเสมอ หนำซ้ำยังอาจกวาดพัดเอาปราณ ออกไปจากอาคารสถานที่ได้ด้วย
2. ต้นไม้ที่ใบแหลม หรือมีหนามคม จะส่งผลเสียต่อปราณภาวะโดยรอบต้น ทำให้กระแสปราณถูกกรีดทำลาย ให้แยกสลายจากกัน ส่งผลให้ปราณเคลื่อนไหวกระจัดกระจายสับสน ควบคุมทิศทางไม่ได้ ทั้งยังเป็นพิฆาตที่ทิ่มแทงเข้าใส่อาคารสถานที่ได้ด้วย
3. ต้นไม้ที่ใบกลม อวบน้ำ แม้จะไม่มีพิฆาตโดยตรง แต่เพราะการที่เก็บกักน้ำปริมาณมากเอาไว้ในใบ เมื่อน้ำมีคุณสมบัติในการเก็บกักปราณ ก็เท่ากับใบไม้นั้นเก็บกักปราณเอาไว้ด้วย จึงไม่ควรนำมาปลูกไว้ด้านหน้าหรืออยู่ใกล้ ประตูทางเข้า-ออก อาคาร เพราะจะเก็บกักปราณเอาไว้ ไม่ให้ไหลเวียนเข้าสู่ตัวอาคาร
4. ต้นไม้ที่มีรูปทรง และสัดส่วนเป็นมงคลโดยธรรมชาติ จะถือเป็นเคล็ดชีวะที่มีพลังสูงในตัวเอง เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ แต่ต้องให้อยู่ในตำแหน่งเฉพาะ ที่สอดคล้องกับรูปทรงดังกล่าว แต่ก็ต้องไม่ละเมิดกฏแสงเงา 70-30 ด้วย ในขณะที่ต้นไม้ ที่ผ่านการตัดแต่งโดยมนุษย์ ให้มีรูปทรงแทนสัญลักษณ์มงคล จะไม่มีพลังเหมือนไม้ธรรมชาติ นอกจากจะปลดปล่อยปราณภาวะเทียมออกมาแล้ว ทันทีที่กิ่งใบงอกออกมา ก็จะทำให้เสียรูปทรงที่ตัดแต่งไว้ และกลายเป็นรูปทรงอัปมงคลไปได้
5. ต้นไม้ที่ถูกควบคุม การเจริญเติบโต หรือ ดัดแปลงรูปทรงให้ผิดแผกไปจาก สภาวะตามธรรมชาติที่ควรเป็น ไม่เหมาะนำไปไว้ในทิศหรือดาวที่เป็นธาตุไม้ เพราะเท่ากับไปจำกัดการเจริญรุ่งเรือง ของปราณธาตุไม้ในตำแหน่งนั้นๆ รวมไปถึงความปรารถนาที่เกี่ยวข้องด้วย
6. สีสันของดอกใบ ของต้นไม้ ล้วนมีผลต่อปราณภาวะในแต่ละตำแหน่ง การวางผิดหลักการของวิชาเบญจธาตุ ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งและชิงสภาพ ที่ส่งผลให้กระแสปราณโดยรวม ของอาคารสถานที่ ปั่นป่วนยุ่งเหยิงได้เช่นกัน
7. กลิ่นของต้นไม้ ก็ล้วนมีผลต่อปราณภาวะ เพราะถือเป็นส่วนของ คันธปราณ ถ้ากลิ่นหอมก็จะเป็นปราณดี ถ้าเหม็นก็เป็นปราณร้าย หรือ ปราณพิฆาต ขณะเดียวกัน ถ้ากลิ่นหอมฉุนแรงเกินไป ก็จะกลายเป็นคันธพิฆาตได้เช่นกัน การวางตำแหน่งของไม้ดอกที่มีกลิ่นหอม จะต้องคำนวณทิศทางลมให้เหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์ของสุคันธปราณดังกล่าว ให้บังเกิดผลสูงสุด
นอกจากนี้ การนำต้นไม้ยืนต้น จากผืนป่า ที่เป็นภาวะตามธรรมชาติ มาปลูกไว้ในพื้นที่ ถือเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากจะเป็นการทำลาย ดุลยภาพ ตามธรรมชาติ ในการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ต้นไม้ที่เคยเติบโตขึ้นในป่าเขา จะมีพลังชีวิตที่แข็งแกร่ง จากการที่ต้องดิ้นรนแก่งแย่งแข่งขัน เร่งรีบเติบโต เพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้เมื่อนำมาปลูกไว้ในสถานที่
โดยเฉพาะที่มีอาคาร ที่อยู่อาศัยของผู้คน ต้นไม้เหล่านี้จะแย่งชิงปราณหยาง เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงพลังชีวิตของตน ทำให้พื้นที่โดยรอบ เกิดภาวะขาดแคลนพลังปราณ ที่จะหล่อเลี้ยงตัวอาคารและผู้คน ที่สำคัญต้นไม้เหล่านี้ อาจเติบใหญ่ได้มาก ถ้าไม่สามารถดูแลอย่างทั่วถึง ก็จะสร้างภาวะร่มเงาที่รกคลึ้ม จนละเมิดกฏ 70-30 ได้โดยไม่ยาก
ในขณะเดียวกัน ต้นไม้ยืนต้น ที่ผ่านการล้อมเอามา จะไม่มีรากแก้วที่หยั่งลึกเพียงพอ ในระยะแรกเริ่มที่นำมาปลูก หากไม่ได้ติดตั้งตัวค้ำยันที่แข็งแรง เมื่อมีลมแรงพัด ก็อาจทำให้หักโค่นได้โดยง่าย ซึ่งอาจป็นอันตรายต่อตัวอาคาร และคนที่อยู่อาศัย ถือเป็นการเสี่ยงที่ไม่จำเป็น อีกทั้งตัวค้ำยัน ถ้ากระทำโดยไม่มีการออกแบบ รูปทรงภายนอกที่เป็นมงคล ก็อาจสร้างปัญหาต่อ วงจรปราณในภาพรวม ของทั้งอาคารและสถานที่ได้มากทีเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แนะนำให้ พรากต้นไม้จากพื้นที่อื่น เพื่อย้ายมาปลูกไว้ในสวนที่ต้องการจัดทำ
ในทางตรงกันข้าม ถ้าภายในพื้นที่ มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่แล้ว ก็ไม่ควรโค่นทิ้ง แต่ให้หาทางออกแบบ เพื่อใช้งานต้นไม้เหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เพราะการเป็นต้นไม้ดั้งเดิม ที่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ จึงย่อมคุ้นเคยกับพลังปราณในพื้นที่ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ ต้นไมเหล่านั้น มีความสุข และสามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ปลดปล่อยแต่พลังปราณ ที่มีชีวิตชีวาออกมาทั่วอาณาบริเวณ
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยเช่นกัน คือการนำเอาตอไม้ตากซาก มาใช้เป็นของประดับสวน โดยเฉพาะตอไม้ ที่จมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน จะสะสมพลังหยินใต้น้ำเอาไว้มาก เมื่อนำขึ้นมาจากน้ำ และนำมาประดับตกแต่งไว้ในสวน ก็จะปลดปล่อยปราณพลังหยินออกมา ครอบงำสภาพพื้นที่โดยรอบได้ หากนำไปไว้ในตำแหน่งของทิศที่เป็นธาตุไม้ ก็จะส่งผลให้พลังธาตุไม้ในตำแหน่งเหล่านั้น กลายสภาพเป็นไม้หยิน หรือ ปราณธาตุไม้ที่สิ้นสภาพ
ถ้าอยู่ในทิศตะวันออก ก็จะส่งผลต่อทั้ง ปัญหาครอบครัว และ สุขภาพ โดยรวมของทุกคน โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ ถ้าอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก็จะส่งผลต่อความมั่งคั่ง ทำให้ฐานะการเงินซบเซาลงได้ ขาดสภาวะคล่อง หรือ ฝืดเคือง ถ้านำไปไว้ในทิศใต้ ที่เป็นปราณธาตุไฟ แม้ไม้จะให้กำเนิดไฟ ตามวงจรเบญจธาตุ แต่เมื่อเป็นไม้พลังหยิน
ก็จะทำให้ปราณธาตุไฟ ที่ถูกเสริมให้โชติช่วงขึ้น กลายเป็นไฟหยินไปได้เช่นกัน ที่เรียกว่า ไฟวิญญาณ หรือ ไฟคนตาย ซึ่งไม่เหมาะสมกับสถานที่อยู่อาศัยของคนเป็น โดยเฉพาะทิศใต้เป็นตำแหน่งของ ชื่อเสียงเกรียติยศ ก็จะส่งผลให้ ชื่อเสียงกลายเป็นชื่อเสียได้ หรือไม่ก็ถูกลดทอนความนิยมชมชอบ สำหรับคนที่มีอาชีพนักแสดง หรือถึงขั้น สิ้นเกรียติ ลดยศ สำหรับคนที่มียศศักดิ์ตำแหน่ง
ต่อไปก็จะมาขอพูดถึงเรื่องน้ำ ภายในสวน ไม่ว่าจะเป็น สระน้ำ บ่อน้ำ หรือ ทางน้ำ ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ และ ระมัดระวังในการใช้งานเป็นอย่างสูง เพราะน้ำถือเป็น พลังปราณธาตุที่ควบคุมได้ยากยิ่ง การใช้น้ำเพื่อออกแบบสวน โดยเฉพาะอุทยานขนาดใหญ่ จะต้องกระทำโดยผู้รู้ ที่มีความเชี่ยวชาญในหลักวิชา เนินพนาต์สระสวรรค์ หรือ ตี่หลินเทียนฉือ (地林天池) ที่มีทักษะชำนาญการอย่างแท้จริง เพราะการวางน้ำผิดตำแหน่งอันสมควร
แม้ภายนอกจะแลดูงดงาม ร่มรื่น แต่ก็อาจสร้างความวิบัติร้ายแรง ให้เกิดขึ้นต่อชะตาดินของพื้นที่ รวมไปถึงตัวอาคาร และ ผู้คนที่อยู่อาศัยทั้งหมด ก่อนจะวางตำแหน่งน้ำในแบบแปลนของสวนหรืออุทยาน จึงต้องผ่านการคำนวณ อย่างถี่ถ้วนรอบครอบจริงๆ จะต้องไม่ละเมิดผังปราณใดๆ ทั้ง อัฐเรือน และ ดาวเหิน รวมไปถึงต้องไม่กีดขวาง ทางเดินของกระแสปราณ ในวิชาทางปราณด้วย ตามกลักการของ “วาโยพัดพา ธารเก็บกัก” หรือ ฟงเสียไต้ สุ่ยเป๊าหัน (風携带 水包含)
ถือเป็นหลักเกณฑ์พื้นฐาน ในการออกแบบสวน โดยเฉพาะอุทยานขนาดใหญ่ กล่าวคือ ต้องใช้เป็นหลักเบื้องต้น ในการวางแนวต้นไม้ เพื่อควบคุมทิศทางลม ให้ไปในแนวทางที่กำหนดไว้ เนื่องจาก ลมเป็นตัวพัดพากระแสปราณ ในขณะที่ น้ำจะเป็นตัวเก็บกักกระแสปราณไว้ ดังนั้นการวางตำแหน่งของแนวไม้ และสระน้ำ ที่จะใช้ควบคุมปราณ จึงต้องสอดคล้องต้องกันอย่างเหมาะเจาะ จึงไม่ทำให้สูญเสียพลังปราณไปกับสายลม หรือ ไม่อาจเก็บกักปราณเอาไว้ในสถานที่ได้
โดยปกติของหลักวิชาทางปราณ น้ำที่กักปราณจะต้องได้รับแสงแดดที่พอเหมาะ และมีช่องทางให้กระแสลมพัดผ่านผิวน้ำได้ เพื่อให้ช่วยกระจายปราณที่ขึ้นมาจากน้ำ ตามการระเหยของน้ำ ที่ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ หรือต้องวางทางน้ำ ที่มีความลาดชันเพียงพอ ให้น้ำไหลเวียนไปทั่วพื้น
ที่ของตัวสวน เพื่อกระจายปราณไปให้ทั่วอาณาบริเวณ การปลูกต้นไม้ไว้ริมน้ำ หรือรอบสระน้ำ ไมควรเป็นไม้ที่อวบน้ำ เพราะจะเก็บปราณจากน้ำเอาไว้ได้มาก ทำให้ปราณไม่สามารกระจายไปได้ อย่างทั่วถึงพื้นที่โดยรอบ ต้นไม่ใหญ่ที่ขึ้นรอบสระน้ำ จะต้องประคับประคองให้มีลำต้นที่ตั้งตรง การโน้มโคนต้นลงไปหาน้ำ นอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการหักโค่น และพังตลิ่งโดยรอบแล้ว ยังอาจทำให้กิ่งก้านสาขา ที่ยื่นออกไปปิดกั้นแสงแดด ที่จะส่องลงมายังผิวน้ำ
เพื่อกระตุ้นพลังปราณหยางของน้ำ อัตราส่วนของร่มเงา ยังคงเป็นไปตามหลัก 70-30 ส่วนในกรณีที่เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ก็อาจอนุโลมได้บ้าง โดยสลับเป็นอัตราส่วน 30-70 คือ ร่มเงา 30% และเปิดโล่ง 70% แต่ในกรณีนี้ ก็ควรใช้ปั้มพ์ช่วยให้เกิด การไหลเวียนของกระแสน้ำภายในสระ หรือ ทำน้ำพุกลางน้ำ เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของน้ำ
เนื่องจากพื้นผิวน้ำ ที่เปิดรับแสงแดดมากเกินไป จะทำให้พวกพืชน้ำบางชนิด ขยายแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว จนทำให้คุณภาพน้ำเสีย นอกจากนี้ยังควรเลือกพันธุ์ไม้ที่มีใบเล็กละเอียด มาปลูกไว้รายรอบขอบสระ เพื่อช่วยในการกระจายปราณ ให้ทั่วถึงสม่ำเสมอ
ในส่วนของประติมากรรม หรือ ของประดับสวน ทั้งหมด จะต้องไม่ขัด หลักการในวิชาทางปราณ เพราะการตั้งวางสิ่งของเหล่านี้ อย่างสะเปะสะปะ ไร้การออกแบบวางแผนที่เหมาะสม แม้จะแลดูสวยในเชิงกายภาพภายนอก แต่ก็อาจส่งผลให้ กระแสปราณรอบบริเวณ เกิดความสับสนโกลาหนได้โดยง่าย
การจัดวางของประดับสวนเหล่านี้ จึงต้องวางให้สอดคล้องกับวิชาทางปราณ ด้วยวัตถุประสงค์ในการชักนำปราณเป็นหลัก และ ความงดงามเป็นรอง กล่าวโดยสรุป ก็คือ ต้องออกแบบวงจรปราณ ที่มีเส้นทางปราณไหลเวียนอย่างสะดวกและทั่วถึง แล้วจึงนำผังปราณเหล่านี้ มาทำการกำหนด หรือ เลือกรูปลักษณ์ ของประติมากรรม และของประดับ ที่เหมาะสมต่อไป
ซึ่งต้องเน้นไว้ในที่นี้ว่า ต้องเลือกใช้สิ่ง ที่มีรูปลักษณ์เป็นมงคล ดูแล้วเจริญหูเจริญตา สร้างสรรค์เป็นบรรยากาศที่ น่ารื่นรมย์ และ เปี่ยมความสุขสงบสันติ มิใช่สภาวะที่น่ากลัว อึมครึม หรือ เกิดภาวะที่ชวนหลอนประสาท โดยเฉพาะในเรื่องของ ตำแหน่ง สีสัน และ รูปทรง ยังต้องสอดคล้องกับข้อกำหนด ในหลักวิชาเบญจธาตุอย่างเคร่งครัดด้วย
สำหรับอาคารย่อยต่างๆ ที่จะปรากฏอยู่ในสวน ก็ต้องจัดวางอย่างมีระเบียบแบบแผน มิใช่กระจัดกระจาย หรือแลดูแออัดยัดเยียด ไม่สบายหูสบายตา หลักการเบื้องต้น ในการวางตัวอาคารย่อย จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ในหลักวิชาอาณาจักรปราณ จากนั้นจึงค่อยพิจารณาในรายละเอียด ของตำแหน่งและทิศทาง ที่สอดคล้องกับผังปราณ อัฐเรือน อัฐการ ดาวเหิน และ เบญจธาตุ ที่สำคัญ คือต้องไม่กีดขวางเส้นทางเดินของปราณ โดยรอบอาณาบริเวณของตัวสวนด้วย
อนึ่ง ตัวอาคารย่อย ที่มีรูปลักษณ์เป็นมงคล และได้รับการจัดวางอย่างเหมาะสม เสริมด้วยเคล็ดวัตถุที่ถูกต้อง จะมีส่วนช่วยในการออกแบบ ผังวงจรปราณ ให้มีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผล สูงเยี่ยมขึ้นได้ ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นการเกริ่นนำ ให้ท่านผู้อ่านพอจะมองเห็นภาพคร่าวๆ ในการออกแบบจัดสวน ให้ถูกต้องตามหลักวิชาในศาสตร์ตรีสัมพันธ์ ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยมหาศาล และต้องใช้ความพิถีพิถัน เป็นอย่างสูง ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป
(มิติทางเคหะสถาน ep.5 แนวทางการจัดสวน)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา