Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต
•
ติดตาม
26 มิ.ย. 2023 เวลา 17:02 • บ้าน & สวน
ก่อสร้างอาคารใหม่
การสร้างอาคารขึ้นใหม่ หากทำด้วยหลักวิชาที่ถูกต้อง และสามารถกระทำได้ อย่างสมบูรณ์เพียบพร้อม จะถือว่า เป็นความสมบูรณ์โดยกำเนิด หรือ เซียนเทียนเว่ย (先天位) คือ สามารถจัดเตียม จัดสร้าง ได้ถูกต้อง ตรงตามวัตถุประสงค์ ที่วางไว้ เพื่อความสมบูรณ์ของชะตาดิน และสามารถออกแบบให้สอดคล้อง และส่งเสริม ชะตาคนที่จะเข้ามาอยู่อาศัยได้โดยตรง
ทำให้การสร้างอาคารใหม่ กลายเป็นทางเลือกสำคัญ ที่ควรเลือกใช้หากสามารถกระทำได้ โดยก่อนลงมือออกแบบ ก็ควรตรวจสอบองศาอิงของตัวอาคาร ให้ตั้งอยู่ในทิศทางที่มีวงจรปราณ เป็นคุณ หรือมีพลังปราณ ที่มีพลังสิริมงคล เกื้อกูลส่งเสริม ต่อชะตาดินของอาคารนั้นๆ
หลักวิชาที่ใช้ในการสร้างอาคารนั้น ไม่เพียงมีผลต่อชิ้นส่วนต่างๆ ของบ้านเท่านั้น แต่ต้องเริ่มตั้งแต่การปรับที่ดิน ก่อนทำการก่อสร้างด้วย ตั้งแต่การเปิดหน้าดิน การฝังเคล็ดวัตถุสำคัญ เพื่อให้พลังกับผืนดิน ที่จะใช้เป็นที่ตั้งตัวอาคาร พร้อมสลายพลังร้ายทั้งหลาย ที่อาจส่งผลต่อชะตาดินของอาคารได้ การออกแบบโครงสร้าง และรูปทรงของตัวอาคาร ในทุกรายละเอียด ก็ล้วนต้องอาศัยหลักวิชาเข้าไปประกอบทั้งสิ้น
นับแต่ ประตูทางเข้า หน้าต่างที่ใช้ระบายอากาศ และเปิดรับแสง แม้แต่อัตราส่วนของแสง ที่จะเข้ามาสู่ตัวอาคาร สีของกระเบื้องปูพื้น สีของตัวอาคาร ทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงรูปทรง สีสัน ลวดลาย ของเฟอร์นิเจอร์ และ ของประดับตกแต่งภายในอาคารทั้งหมด เช่น ผ้าม่าน พรม และ รูปภาพทั้งหลาย หลักวิชาที่ใช้โดยทั่วไป ในการสร้างตัวอาคาร พอลำดับได้ดังนี้คือ
1. การปรับพื้นที่ จะใช้วิชาอัฐเรือน ดาวเหิน ในการกำหนดผังปราณโดยรวมของพื้นที่ แล้วใช้วิชาเคล็ดกำเนิดปราณ ในการวางเคล็ดวัตถุ เพื่อควบคุมพลังปราณร้าย และกระตุ้นปราณดี ให้สอดคล้องกลมกลืน เป็นดุลยภาพทั้งสามชะตา ตามข้อกำหนด ในวิชาปราณสัมพันธ์
2. การกำหนดประตูทางเข้า-ออก ของที่ดิน จะกำหนดด้วยผังปราณภาพรวม ที่ได้จากวิชาอัฐเรือนและดาวเหิน ส่วนเส้นทางเข้าสู่ตัวอาคารจะกำหนดด้วยวิชาทางปราณ รวมไปถึงลานรวม ลานรับ และ ศูนย์กระจายพลังปราณ ขณะที่ประตูทางเข้า-ออกของตัวอาคาร ก็จะใช้ผังปราณจากอัฐเรือนและดาวเหินของตัวอาคารอีกต่อหนึ่ง
3. การจัดสวนรอบตัวอาคาร จะใช้วิชาอาณาจักรปราณ เพื่อกำหนดขนาด รูปทรง และสีสันของดอกไม้ ใบไม้ ในแต่ละตำแหน่งของที่ดิน ถ้าเป็นเนื้อที่ขนาดใหญ่และกว้างขวางพอ ก็จะใช้วิชาเนินพนาต์สระสวรรค์ ในการออกแบบวางผัง
4. รูปทรง และสีสันของตัวอาคาร จะกำหนดด้วยวิชาอัฐการ และ เบญจธาตุ เพื่อลดความขัดแย้ง และการชิงสภาพ ของกระแสปราณ ทั้งที่จะเคลื่อนเข้ามา หรือ หมุนเวียนอยู่ภายในพื้นที่ดิน และ ตัวอาคาร รูปทรงอาคารที่ดี จึงต้องไม่เว้าแหว่ง จนเกินอัตราส่วนหนึ่งในสาม ของทั้งความกว้างและความยาวของตัวอาคาร
5. การติดตั้งแสงสว่าง หรือโคมไฟ ทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร ต้องสอดคล้องตามผังปราณ ที่กำหนดโดยวิชาอัฐเรือน ดาวเหิน และ เบญจธาตุ แสงที่มากไปหรือน้อยไป ล้วนสูญเสียดุลยภาพ จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง ที่สำคัญสีของแสง จะต้องไม่ละเมิดกฏของการแปรธาตุ ในวิชาเบญจธาตุด้วย
6. กระไดทางขึ้น-ลง และเส้นทางเดินในบ้าน จะกำหนดด้วยวิชาทางปราณ โดยต้องสอดคล้องและไม่ขัดแย้งกับตำแหน่งทั้งแปดปรารถนา ในวิชาอัฐการด้วย หากมีห้องใต้ดินภายในตัวอาคาร ต้องผสานวิชาทางปราณ เข้ากับวิชาปราณสัมพันธ์ อย่างแยบยลด้วย จึงจะไม่เกิดผลเสียใดๆ
7. สีและลวดลายของกระเบื้อง ทั้งที่ใช้มุงหลังคา และปูพื้นภายในอาคาร ต้องกำหนดด้วยวิชาเบญจธาตุ และหนึ่งในสามเกณฑ์คุณลักษณ์สำคัญของขั้วพลังหยินหยาง คือ “หยางกระตุ้น หยินควบคุม” เพื่อให้กระแสปราณ เคลื่อนไหวได้อย่างเหมาะสม ไม่สะเปะสะปะ หรือ ชิงสภาพกันเอง
8. รูปภาพ หรือ ของประดับ จะต้องสอดคล้องและไม่ขัดแย้งกับ ข้อกำหนดในวิชาอัฐการ ที่สำคัญจะต้องมีการปรับแก้พลังปราณอย่างเหมาะสม ตามผังที่กำหนดด้วยวิชาอัฐเรือน และดาวเหินของตัวอาคาร แม้แต่การตั้งเคล็ดวัตถุ ก็ต้องอาศัยหลักการข้างต้นนี้อย่างเคร่งครัดเช่นกัน
9. สีสัน รูปทรง และวัสดุ ที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ต้องสอดคล้องกับผังปราณ ที่กำหนดจากวิชา อัฐการ อัฐเรือน ดาวเหิน และ เบญจธาตุ
กล่าวโดยสรุปแล้ว ทุกชิ้นส่วนภายในอาคาร ไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหารการกิน พาหนะ รวมไปถึงบรรดา สัตว์เลี้ยง และพืชพันธุ์ กระทั่งข้าวของเครื่องเครื่องใช้ทั้งหมดในชีวิตประจำวันของผู้คน ล้วนต้องกำหนดด้วยหลักวิชาที่เกี่ยวกับ การบริหารจัดการพลังปราณทั้งสิ้น และที่สำคัญจะต้องไม่ละเมิดกฏเหล็กของฉักกฐาน ในวิชาเคล็ดกำเนิดปราณด้วย นั่นคือ “สว่าง สะอาด สะดวก – ระเบียบ ระบบ ระบาย” โดยเฉพาะจะต้องออกแบบให้สอดคล้องและเป็นการส่งเสริมชะตาคนเป็นสำคัญ
ดังที่บรรยายไว้ข้างต้น หากก่อสร้างอาคารใด ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาสำคัญที่เกี่ยวข้อง ในศาสตร์ตรีสัมพันธ์ ล้วนก่อผลเสียต่อชะตาดินและชะตาคนทั้งสิ้น ที่สำคัญคือ ต้องดูฤกษ์ยาม และสร้างสัมพันธ์กับชะตาฟ้าที่ดีไว้ หากไม่สามารถใช้วิชาได้ครบถ้วน การพัวพันกับชะตาฟ้าที่ดีมีพลัง ก็จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ไม่มากก็น้อย ประมาณว่า “เพียงราบรื่น ไม่รุ่งเรือง”
ในกรณีนี้จึงจะขอพูดถึง เฉพาะการละเมิดชะตาดิน หรือการไม่ใช้หลักวิชาที่ถูกต้อง ในการสร้างอาคารใหม่ หรืออาจใช้วิชาได้ไม่สมบูรณ์ อย่างแท้เจริง โดยเฉพาะในส่วนที่ก่อผลกระทบ ไปถึงชะตาคน กล่าวคือ
1. ถ้าไม่มีการปรับพื้นที่อย่างถูกต้องเหมาะสม ก็ย่อมจะไม่อาจควบคุมพลังปราณที่ร้าย และ ไม่สามารถกระตุ้นพลังปราณที่ดีให้ทำงานได้ ผลที่ได้คือ จะมีชะตาดินที่ไร้กำลัง หากชะตาคนยังดีอยู่ ก็จะเสมอตัว แต่ถ้าชะตาตกเมื่อใด (ตามวงรอบของเกณฑ์ชะตา) ก็จะไม่มีกำลังเสริม ในกรณีนี้แม้จะมีชะตาฟ้าที่ดี ก็เพียงประคองตนให้อยู่รอดไปได้วันๆ เท่านั้น
2. หากการวางประตูทางเข้า-ออก ทั้งที่ดินและตัวอาคาร ไม่ถูกต้อง ก็จะส่งผลให้ อย่างเบาที่สุดก็คือ ไม่มีพลังปราณไหลเข้าพื้นที่ กลายเป็นที่ดินตาบอดที่ปลอดกระแสปราณ ส่งผลให้เป็นที่ไร้พลังทั้งตัวอาคารและที่ดิน คนที่อยู่ก็จะซังกะตาย ไร้พลังชีวิต จนอาจเจ็บป่วยและเสียชีวิต (ถ้าเกณฑ์ชะตาคนตกต่ำถึงคราว) หนักขึ้นไปก็อาจพลาดไปอยู่ในตำแหน่งที่พลังปราณร้าย ก็จะส่งผลให้เกิดความวิบัติไปตามสภาพของบทบาท และอิทธิพลของปราณร้ายนั้น
3. การจัดสวนรอบตัวอาคาร ที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดความรกคลึ้ม และร่มเงา หรือความแห้งเหี่ยวอับเฉา ซึ่งล้วนเป็นสภาวะพลังหยิน ที่จะเปลี่ยนพลังปราณทั้งภายในที่ดินและตัวอาคาร ให้กลายเป็นปราณหยิน ที่ไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของคนเป็น หนักขึ้นไปก็อาจวางตำแหน่งต้นไม้ และสีสันดอกไม้ ที่ขัดแย้งกับพลังปราณ และโครงสร้างของอาณาจักรปราณ ก็จะทำให้เกิดพลังปราณที่วิปริต สับสน ส่งผลให้คนอยู่อาศัย พลอยวิปลาส และสูญเสียสติสัมปัชชัญญะ ในระยะยาวได้
4. รูปทรงของตัวอาคาร ถ้าเกิดสภาพเว้าแหว่ง หรือ ยื่นเกิน กว่าที่กำหนดไว้ ก็จะส่งผลให้พลังปราณที่ส่งเสริมความปรารถนาทั้งแปด เกิดการพังทลาย ทำให้ส่งผลต่อบทบาทของชีวิตผู้คน ในด้านที่เกี่ยวกับความปรารถนานั้นๆ โดยเฉพาะอาคารรูปทรงตัวยู ที่เว้าเข้ามาจนทำให้ไท่จี๋ หรือ ศูนย์รวมพลังของอาคาร หลุดออกไปอยู่ภายนอก ก็จะส่งผลให้กลายเป็นอาคารที่ไร้ศูนย์รวมพลังปราณ
ทำให้ตำแหน่งความปรารถนาทั้งหมด ถูกทำลาย และส่งผลกระทบต่อชีวิตทุกด้านของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด สีสันของตัวอาคารที่ละเมิดกฏเบญจธาตุ ก็จะทำให้เกิดการชิงสภาพของพลังปราณธาตุ จนทำให้เกิดบทบาทขัดแย้ง แย่งชิง ส่งผลให้ชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ ขาดความสุขสงบ มีแต่ปัญหาก่อกวนคุกคามไม่จบสิ้น
5. แสงสว่างที่ผิดพลาดทั้งภายในที่ดิน และตัวอาคาร ล้วนเป็นการละเมิดกฏเหล็กของฉักกฐาน ข้อแรก ดังที่เคยบรรยายไว้แล้วว่า ความมืดมัวจะทำให้เกิดสภาวะหยิน ที่เปลี่ยนแปรปราณดินที่ขึ้นมาให้เป็นปราณหยิน ซึ่งหากตำแหน่งดังกล่าวนั้นมีพลังปราณที่ดีอยู่ ก็จะถูกทำลายและแปรสภาพ เป็นปราณร้ายไปได้
ในทางตรงกันข้าม แสงสว่างที่มากไป ก็จะทำให้เกิดสภาวะหยางเกิน ซึ่งจะทำให้พลังปราณในตำแหน่งนั้นกลายเป็นปราณหยางที่ปั่นป่วนคุ้มคลั่ง ไม่สามารถจะควบคุมได้ จึงไม่ต้องพูดถึงการนำมาใช้ประโยชน์ ผลกระทบของแสงสว่างที่ผิดเพี้ยนนี้ มีผลร้ายแรงมาก เบาสุดก็จะส่งผลด้านจิตประสาทแก่ผู้อยู่อาศัย หนักขึ้นไป ก็จะถึงขั้นเสียสติวิปลาส จนถึงขั้นคุ้มคลั่ง
6. กระไดทางขึ้น-ลง ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ที่ผิดพลาด จะทำให้พลังปราณไหลทะลักทลาย รั่วไหลออกไปจากตัวอาคารอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นก็อาจทำให้ไม่มีพลังปราณจ่ายไปสู่ชั้นที่สูงขึ้น ขณะที่ทางเดินภายในตัวอาคาร หากวางผิดพลาด จนละเมิดกฏเหล็กของฉักกฐานข้อที่สาม และข้อที่หก ก็จะทำให้เกิดภาวะติดขัด หรือ อุดตัน ของกระแสปราณที่ไหลเวียนอยู่ ซึ่งย่อมส่งผลให้ กระแสปราณเคลื่อนย้ายไม่สะดวก เกิดเป็นจุดที่ปราณไปออรวมกันอยู่
กลายสภาพเป็นภาวะที่เรียกว่า บ่อพลัง ซึ่งจะกลายเป็นปราณหยิน ตามสภาวะของพลังหยินที่ชอบหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว ส่งผลให้การใช้สอยพื้นที่ในจุดนั้น จะกระทบต่อปราณคน ทำให้หดหู่ หมดกำลังใจ อ่อนแรง เจ็บป่วย จนกระทั่งถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด อุปมาเหมือนทางเดินโลหิตในร่างกายคน ถ้าอุดตันติดขัด ย่อมส่งผลเสียต่อชีวิตของคนผู้นั้นได้ดังกล่าว
7. สีของกระเบื้องปูพื้น ที่ผิดพลาด จะก่อเกิดกระแสปราณที่เอิบอาบอยู่ตามพื้น มีทั้งแบบชิงสภาพสับสน หรือติดขัดยากเคลื่อนไหว ซึ่งล้วนส่งผลให้ชีวิตคนที่อยู่อาศัย เต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหา ไม่สามารถลืมตาอ้าปาก หรือตั้งตัวตั้งฐานะใดๆ ได้ ขณะที่กระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือหัว ถ้าผิดพลาด ก็จะกลายเป็นภาวะปราณร้ายที่ครอบงำลงมา
เมื่อปราณพื้นตัดข้อเท้า ปราณหลังคาก็จะตัดศีรษะ ทั้งสองภาวะดังกล่าว ล้วนไม่ส่งผลดีต่อชะตาคน ปราณหลังคาที่แผ่คลุมลงมา สามารถทำให้ ผู้คนความคิดอุดตัน สูญสิ้นแรงบันดาลใจ ถ้าเป็นภาวะชิงสภาพ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้ง หงุดหงิด ร้อนรนไปได้ทั้งบ้าน
8. รูปภาพและของประดับ ที่ผิดพลาดนั้น สามารถส่งผลได้หลากหลายมาก หากเป็นการละเมิดหลักเบญจธาตุ ก็จะเกิดความขัดแย้งของปราณธาตุ ก่อเป็นสภาวะสับสนยุ่งเหยิงต่อชีวิตผู้อยู่อาศัย แต่ถ้าละเมิดหลักอัฐการด้วย ก็จะทำให้ความปรารถนาในด้านนั้นๆ ถูกขัดขวางให้เกิดอุปสรรค หรือถึงขั้นทำลายล้าง จนสูญสิ้ความปรารถนาในด้านนั้นๆ เช่น บ้านแตกสาแหรกขาด หากไปละเมิดตำแหน่ง การอยู่ร่วม (ตำแหน่งความรักความสัมพันธ์)
9. เฟอร์นิเจอร์ ก็เป็นส่วนสำคัญ ที่ไม่ควรล่วงละเมิดหลักวิชา และกฏเกณฑ์ใดๆ เพราะความเป็นเครื่องเรือนที่มีขนาดใหญ่ มีความสูง และ น้ำหนัก มากกว่าของประดับอื่นๆ เมื่อผิดพลาดแล้ว ก็จะส่งผลกระทบที่ร้ายแรง และรุนแรงมากกว่า เป็นธรรมดา โดยเฉพาะรูปทรงหรือลวดลายของเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่เป็นมงคล นอกจะส่งผลทำลายล้างปกติแล้ว ยังอาจดึงดูดเอาพลังปราณอัปมงคลที่เกี่ยวข้อง เข้ามาซ้ำเติมชะตาคนในอาคารสถานที่นี้ด้วย
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น การใช้กระจกโปร่งใส เป็นผนังห้อง หรือ ทำเป็นบานหน้าต่าง หรือ ประตู ก็ล้วนมีส่วนสำคัญ เพราะกระจกโปร่งใส จะเก็บกักปราณไว้ไม่อยู่ ทำให้ปราณรั่วไหลออกไปภายนอกอาคารได้ ส่งผลให้ห้องดังกล่าว ขาดแคลนปราณสำคัญ ที่จะช่วยส่งเสริมความปรารถนา ในตำแหน่งนั้น ตามหลักวิชาอัฐการ พลอยได้รับความเสียหายไปด้วย การติดผ้าม่านกันไว้ จะช่วยได้ระดับหนึ่ง เมื่อเลื่อนปิด โดยจะขึ้นกับความหนา หรือ ความทึบแสง ของผ้าม่านนั้นๆ
ถ้าหนาทึบมาก ก็จะพอกักปราณไว้ได้บ้าง แต่ทุกครั้งที่มีลมพัด จนผ้าม่านปลิวสะบัดขึ้น ก็จะทำให้เกิดการสูญเสียพลังปราณได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวัง ในการออกแบบเกี่ยวกับ ผนังโปร่งใสดังกล่าว โดยตามข้อกำหนดพื้นฐาน จะต้องอยู่ในอัตราส่วน ผนังทึบ 70% และ ผนังโปร่ง 30% แต่ถ้าต้องการใช้ผนังโปร่งให้มากกว่า อัตราส่วนดังกล่าว อย่างน้อยจะต้องมีผนังทึบ กั้นด้านล่างอย่างน้อย 1 ใน 3 ของความสูงห้อง
กรณีที่ตัวอาคาร ยกพื้นสูง ทำให้ต้องมีบันไดทางขึ้น ภายนอกตัวอาคาร ที่สูงเกินสามขั้นขึ้นไป จะส่งผลให้กระแสปราณดิน ไม่สามารถเคลื่อนเข้าสู่ตัวอาคารได้ หากไม่มีการชักนำพลังปราณอย่างถูกต้อง และได้ประสิทธิผลแท้จริง เนื่องจากปราณดินปกติ ที่ไม่มีการกระตุ้น หรือ ชักนำ จะลอยอยู่เหนือพื้น ได้สูงเพียงประมาณ 1 ฟุตเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ การยกพื้นอาคารขึ้นสูงจากพื้น ถ้าเกินขั้นกระได 3 ขั้น ก็ควรแบ่งเป็นหลายระดับ โดยช่วงแรก ใช้กระได 3 ขั้น แล้วทอดระยะชานพักให้ยาวออกไปประมาณ 3 เท่าของความกว้างขั้นกระไดเป็นอย่างน้อย แล้วค่อยใส่กระไดในช่วงต่อๆ ไป ช่วงละ 3 ขั้น ไปตลอด จนถึงระดับพื้นอาคารที่ต้องการ เพื่อทอดระยะในการชักนำให้ปราณดิน สามารถเคลื่อนขึ้นไปได้โดยสะดวกราบรื่น
รูปทรงของหลังคา ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ส่วนแรกคือหลังคาที่ทอดลงมา เป็นชายคาบังฝน ตรงประตูทางเข้าหลักของอาคาร ควรใส่รางน้ำรับน้ำฝน แล้วต่อให้น้ำไปไหลลงทางด้านซ้ายของตัวอาคาร และถ้าเป็นไปได้ ก็ควรทำรางน้ำตามขอบชายคา รอบตัวอาคาร แล้วชักนำน้ำให้ไปลง ทางฝั่งซ้ายของตัวอาคารดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อควบคุมน้ำฝนไปใช้ประโยชน์ คือไปกระตุ้นพลังปราณฝั่งมังกรเขียว ซึ่งเป็นพลังพยาง และลดบทบาทการเคลื่อนไหวของน้ำ
ทางฝั่งเสือขาว ซึ่งเป็นพลังหยิน เนื่องจากการปล่อยให้น้ำฝน ไหลผ่านชายคาลงมา โดยไม่มีรางน้ำรับ จะสร้างเป็นม่านน้ำตกลงมาตลอดแนว ส่งผลให้กระแสปราณที่มากับลม ไม่สามารถผ่านเข้าตัวอาคารได้ ทำให้ช่วงฝนตก ตัวอาคารจะขาดพลังปราณเข้าไปหล่อเลี้ยงเพียงพอ โดยอิงอาศัยหลัก “วาโยพัดพา ธาราเก็บกัก” จึงทำให้กระแสปราณ ถูกเก็บกักไว้ในม่านน้ำเหล่านั้น
หลังคาหน้าจั่ว เป็นอีกหนึ่งรูปทรงที่ควรเลี่ยง โดยเฉพาะถ้าหลังคานั้นพุ่งย้อนกลับเข้าสู่ตัวอาคาร เพราะสภาพของหลังคา ที่เป็นรูปสามหน้าจั่วตัดตรง จะมีสภาพเหมือนปากกระบอกปืน ที่ยิงเข้าใส่ทั้งตัวอาคารเอง และ ฝั่งตรงข้าม โดยเฉพาะหน้าจั่วที่มีมุมแหลม ทางด้านบนมาก ก็จะกลายเป็นหลังคาธาตุไฟ ที่ยิ่งส่งผลร้ายแรง โดยในศาสตร์ตรีสัมพันธ์ จะถือเป็นปืนไฟ ที่มีกำลังในการพิฆาตรุนแรงกว่า
หลังคาจั่วที่มีมุมบนไม่แหลมมาก สีของหลังคาก็เป็นสิ่ง ที่ต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะสีของธาตุน้ำ เช่น น้ำเงิน ฟ้า เทา ดำ ล้วนแต่จะส่งผลดึงดูดปราณธาตุน้ำเข้ามา และธรรมชาติของปราณธาตุน้ำดังกล่าว จะมีสภาพที่เอิบอาบลงล่าง เมื่อครอบงำปราณคน จะทำให้เกิดสภาพ พิฆาตน้ำท่วมศีรษะ ทำให้ลืมตาอ้าปากไม่ได้ มีสภาพเหมือนคนจมน้ำ
(มิติทางเคหะสถาน ep.4 ก่อสร้างอาคารใหม่)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มิติทางเคหะสถาน
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย