Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อรรถเสวนา
•
ติดตาม
30 มิ.ย. 2023 เวลา 20:21 • ความคิดเห็น
ระดับของความคิด
คนหลายคนล้วนมีปัญหาอยู่ที่การไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต พวกเขามักจะรู้สึกว่าตนเองสับสนเกินกว่าที่จะเลือกหาแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมสำหรับตนได้ บทความนี้เราจะมาลองใคร่ครวญไปพร้อมๆ กันว่า สาเหตุใดที่ทำให้คนเหล่านั้นมีความรู้สึกดังกล่าว และเหตุใดพวกเขาจึงต่างกับคนอื่นๆ ที่ดูเหมือนว่า ชีวิตของตนจะมีทิศทางที่ชัดเจน คนสองกลุ่มนี้มีความต่างหรือเหมือนกันในเรื่องใด โดยหวังว่า ผลการวินิจฉัยนี้ น่าจะช่วยตอบข้อข้องใจของหลายๆ คนที่กำลังประสบปัญหาเดียวกันได้บ้าง
จากการพิจารณาเบื้องต้น ผู้เขียนขอตั้งเป็นประเด็นไว้ล่วงหน้าว่า สาเหตุปัญหาที่ทำให้คนสองกลุ่มมีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน ก็คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและการคิดที่ไม่เหมือนกัน โดยดูเหมือนว่า คนที่รู้สึกเหมือนกับว่าตนเองประสบความสำเร็จนั้น มักจะกระทำมากกว่าคิด
แต่คนที่ยังคล้ายจะสับสนกับหนทางชีวิตของตน ก็มักจะเป็นกลุ่มที่ชอบใช้ความคิด แต่ไม่กระทำ ที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ เพราะยังไม่ต้องการฟันธงลงไปว่า กลุ่มใดถูกกลุ่มใดผิด และยังไม่ต้องการชี้ชัดลงไปว่า การใช้แต่ความคิด หรือการลงมือกระทำ ที่เน้นหนักไปเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น จะเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จหรือล้มเหลวเสมอไป
มีคำกล่าวไว้ว่า "คิดหนึ่งคิดสองอย่าคิดสาม" ความข้อนี้หมายถึงเรื่องราวใดบ้าง แน่นอนว่า ก่อนกระทำการในทุกสิ่ง จะต้องเริ่มต้นที่ความคิด ผู้เขียนจึงจะขอนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับระดับของความคิดก่อน เพราะมันจะเป็นเครื่องจำแนกคนแต่ละประเภทออกให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งที่สุด จากหัวข้อที่ตั้งไว้ข้างต้น ผู้เขียนก็จะขอให้นิยามระดับของความคิดทั้งสามนี้ไว้แบบง่ายๆ คือ “คิดหนึ่ง น่าทำมั้ย คิดสอง ทำได้มั้ย คิดสาม ทำดีมั้ย”
เราจะมาเริ่มที่ความคิดระดับที่หนึ่งก่อน คือ คิดว่าน่าทำหรือไม่ เป็นปกติเมื่อท่านได้ไปพบกับเรื่องราวบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการไปประสบด้วยตนเอง หรือผ่านการชี้แนะจากผู้อื่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใด สิ่งที่คนส่วนใหญ่จะทำก็คือ ตั้งคำถามกับตนเองว่า สิ่งนี้น่าจะกระทำหรือไม่ หรืออยากจะทำสิ่งที่ว่านั้นหรือเปล่า หากไม่อยาก ไม่ชอบ หรือไม่สะดวกใจที่จะทำ ก็ให้ถือว่าความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ตกไป แต่ถ้าเกิดมีความรู้สึกอยากจะทำแล้ว ค่อยก้าวไปสู่ขั้นตอนที่สองต่อไป
ความคิดระดับที่สองดังกล่าวก็คือ คิดว่าทำได้หรือไม่ คือเริ่มพิจารณาว่า เมื่อตกลงใจว่าต้องการที่จะกระทำแล้ว ก็มาดูว่า ลำพังกำลังความรู้ความสามารถของตนที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นสามารถกระทำให้สำเร็จได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ยังขาดสิ่งใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้หรือปัจจัยสิ่งของ เมื่อรู้แล้ว ก็ค่อยมาพิจารณาต่อว่า จะสามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปนั้นได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ให้ลงมือกระทำในทันที และด้วยกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงย่อมจะเป็นเครื่องรับประกันได้ระดับหนึ่งว่า น่าจะประสบความสำเร็จสมดังที่มุ่งหวังได้
ส่วนความคิดระดับที่สามนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรก้าวไปถึงเป็นอันขาด ดังคำกล่าวจากภาษิตโบราณที่ว่า “หากยิงธนูเพื่อหวังรางวัล จะยิงไม่แม่น” ความหมายของภาษิตนี้ อธิบายความคิดระดับที่สามนี้ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เมื่อผ่านระดับความคิดที่หนึ่งและสองไปแล้วพบว่า มีความชอบที่จะทำและทำได้ก็ให้หยุดคิดแล้วลงมือทำ เพราะหากก้าวต่อไปยังความคิดระดับที่สามที่ว่า ทำดีหรือไม่
ในขั้นตอนนี้ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะเปรียบเทียบถึงความคุ้มไม่คุ้ม เป็นการก้าวล่วงสู่เรื่องของผลประโยชน์หรือกำไรขาดทุน จึงไม่ต่างจากนักยิงธนูที่เก่งมีความแม่นยำ หากยิงตามปกติย่อมยิงได้อย่างเป็นธรรมชาติ และถูกต้องเป้าหมายเป็นส่วนใหญ่ แต่หากคิดถึงเรื่องรางวัลที่จะได้จากการแข่งขัน ก็มักจะเกิดแรงกดดัน จนทำให้บ่อยครั้งจะตรึงเครียดจนยิงพลาดเป้าหมายได้
ดังนั้นจากคำกล่าวข้างต้นที่ว่า “คิดหนึ่ง คิดสอง อย่าคิดสาม” จึงน่าจะอธิบายเหตุผลข้อนี้ได้ดีที่สุด เพราะเมื่อคิดจะทำแล้ว และทำได้แน่ก็ควรลงมือทำเลย เพราะผลที่ได้รับจะเป็นเครื่องบอกเองว่า จะดีหรือไม่ดี จะคุ้มหรือไม่คุ้ม การนั่งคิดล่วงหน้าไปก่อน โดยที่ยังไม่มีข้อมูลจากการลงมือกระทำอย่างจริงจัง บ่อยครั้งจึงมีแต่จะเป็นการถ่วงเวลาจนไม่ได้กระทำในที่สุด
บางคนอาจเถียงว่า ในเชิงการค้านั้น เขาต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มด้วย ผู้เขียนก็ยอมรับ แต่ท่านต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ด้วยว่า การพิจารณานั้นไม่ใช่การนั่งคิดเรื่อยเปื่อย แต่ต้องมีการลงไปสำรวจตลาด กระทั่งบ่อยครั้งจะมีการทำสินค้าตัวอย่าง ไปแจกให้ลูกค้าลองนำไปใช้ แล้วค่อยเก็บข้อมูลผลการตอบรับกลับมา ดังนั้นจึงต้องบอกว่า เขาได้ลงมือกระทำไปแล้ว เมื่อมองว่า สินค้าดังกล่าวมีความเป็นไปได้ และผลิตออกมาได้จริง
บางคนอาจยืนยันว่า ควรจะพิจารณาระดับที่สามว่าดีหรือไม่ด้วย ข้อนี้ผู้เขียนเข้าใจว่า น่าจะเป็นคำถามในเชิงจริยธรรม ก็ต้องบอกว่า ในขั้นตอนที่สองนั้น ได้พิจารณาในเรื่องนี้ไปแล้ว เพราะการจะดูว่าทำได้มั้ย ย่อมครอบคลุมทั้งในเรื่องของความรู้ความสามารถ และด้านของกฏหมายจริยธรรมทั้งหมด แต่ที่ผู้เขียนไม่ได้ระบุไปในตอนต้น ก็เพราะว่า เรื่องนี้เป็นภาวะที่ค่อนข้างอ่อนไหว
เนื่องจากกฏหมายและจริยธรรมล้วนเป็นการกำหนดขึ้นของคนในแต่ละสังคม ดังนั้นเมื่ออยู่ต่างสังคม ต่างชาติ ต่างศาสนา ก็ย่อมมีขอบเขตและแง่มุมความคิดที่แตกต่างกันไปเป็นธรรมดา ซึ่งผู้เขียนจะขอยกให้เป็นวินิจฉัยของผู้อ่านแต่ละท่าน ในการจะพิจารณาว่า ตนจะทำสิ่งที่อยากจะทำนั้นได้หรือไม่ เพราะท่านจะตอบตัวท่านเองได้ดีที่สุด
มีอีกกรณีหนึ่งที่อาจเป็นปัญหานั่นคือ การตั้งมาตราฐานสูงเกิน มีหลายคนที่ผู้เขียนเคยพบปะพูดจาด้วย หลังสนทนากันไประยะหนึ่ง ก็ล้วนพบว่า พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถสูงกว่าคนทั่วไป แต่พวกเขากลับรู้สึกว่าตนเองไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งๆ ที่มีความพร้อมในทุกด้านที่ต้องใช้ในการสร้างความสำเร็จให้ตนเองในปัจจุบัน
โดยผ่านกระบวนการใคร่ครวญทั้งสองระดับความคิดข้างต้นเรียบร้อยแล้ว เพราะพวกเขารู้และมีทิศทางที่ชัดเจนว่า ตนเองต้องการหรือรักที่จะทำในสิ่งใด และเมื่อมาพิจารณาในระดับความคิดที่สอง ก็ยังพบว่า พวกเขาล้วนมีความพร้อมที่จะกระทำสิ่งนั้นๆ ได้สูงกว่าระดับมาตราฐานของคนทั่วไปในสังคมที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว
พูดถึงตรงนี้ก็จะขอยกกรณีศึกษาของรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จัก เพื่อใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิง โดยรุ่นพี่ท่านนี้ได้มาปรึกษาหารือกับผู้เขียน เพราะตัวเขาเองรู้สึกสับสนกับการดำเนินชีวิตส่วนตัว ผู้เขียนก็ได้ให้ตรวจสอบระดับความคิดดังกล่าวข้างต้นไปแล้ว ก็พบว่า รุ่นพี่ท่านนี้เป็นนักศิลปะ ที่มีใจรักในทางจิตรกรรม เมื่อสำรวจดูความรู้ความสามารถ ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ก็พบว่า สามารถเป็นอาจารย์สอนคนอื่นได้อย่างสบาย ผู้เขียนจึงยืนยันว่า รุ่นพี่ท่านนี้สามารถประสบความสำเร็จในด้านงานเขียนภาพอย่างแน่นอน
ทว่าตัวของรุ่นพี่ผู้นี้เองกลับยังไม่มีความมั่นใจที่จะลงมือกระทำ เมื่อพูดคุยกันไปมาอีกพักใหญ่ จึงเริ่มจับใจความได้ว่า ตัวของเขาเองยังไม่พอใจในผลงานของตน แม้ผู้เขียนได้ลองนำไปเปรียบเทียบกับผลงานของผู้อื่นในท้องตลาดทั่วไปแล้ว แต่รุ่นพี่ผู้นี้กลับบอกว่า อย่าเอาไปเปรียบเทียบกับพวกฝีมือธรรมดาพวกนั้น ผู้เขียนจึงเริ่มเข้าใจว่า ที่แท้ปัญหาของรุ่นพี่ผู้นี้ก็คือ การตั้งมาตราฐานของระดับผลงานไว้สูงมาก โดยนำไปเปรียบเทียบกับผลงานของจิตรกรชื่อดังในอดีตหลายท่าน
ความจริงแล้วมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่ประการใด ในการที่จะตั้งความหวังไว้ในระดับสูง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อใดจึงจะไปถึงฝีมือระดับนั้นได้ และจะไปถึงได้หรือไม่ ขณะเดียวกันในระหว่างที่ยังไปไม่ถึง จะทำอย่างไร ทั้งๆ ที่สามารถใช้ฝีมือระดับธรรมดานี้ทำมาหากินได้อยู่แล้ว สรุปแล้ว บางครั้งการตั้งมาตราฐานไว้สูงสุดเอื้อมเช่นนี้ ก็สามารถหยุดยั้งความสำเร็จในปัจจุบันไว้ได้ และกลายเป็นปัญหาที่ไม่น่าจะเป็นปัญหาด้วยประการฉะนี้
เรื่องของความเป็นจริงในปัจจุบัน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะกล่าวถึง แม้จะมีเนื้อหาบางส่วนใกล้เคียงกับเรื่องข้างต้น เพียงแต่จะเป็นกรณีที่ลงมือกระทำแล้ว แต่กลับพบว่า ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ สาเหตุก็เนื่องมาจากว่า ไม่ได้ทำความเข้าใจในระดับความคิดที่สองอย่างถ่องแท้ เพราะการจะดูว่าตนสามารถกระทำได้หรือไม่นั้น
นอกจากการตรวจสอบองค์ความรู้และความสามารถของตนแล้ว ยังต้องหาข้อมูลว่า งานที่ตนต้องการกระทำนั้น ความเป็นจริงในตลาดทั่วไป เขาทำกันในระดับไหน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เขาทำกันแค่ไหนที่ขายได้ และนี่ก็คือส่วนที่ต้องประกอบเข้าไปในการพิจารณาองค์ความรู้ดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญส่วนหนึ่งที่ต้องใช้ประกอบการพิจารณา
หลายคนเมื่อตัดสินใจกระทำ ก็ลงมือทำอย่างเต็มที่โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลของตลาดตามความเป็นจริงในปัจจุบันที่ตนดำรงอยู่นั้น เพราะบ่อยครั้ง ที่ความสามารถของผู้กระทำจะเหนือล้ำไปกว่าที่มีขายกันในท้องตลาด ดังนั้นหากสามารถรู้ข้อมูลในส่วนดังกล่าวนี้ ก็จะลงมือกระทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถเต็มกำลังแต่อย่างไร ก็สามารถมีสินค้าออกไปขายแข่งขันกับเขาได้แล้ว
แต่ถ้าหากคิดว่าตนสามารถกระทำได้ดีกว่า มีคุณภาพเหนือกว่า ก็ย่อมสามารถทุ่มกำลังผลิตอย่างเต็มที่ โดยขึ้นไปจับตลาดที่สูงขึ้น มีมูลค่าและผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นการรู้ข้อมูลตามจริงในท้องตลาดนั้น จึงจะทำให้การสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในแต่ละระดับ
ที่สำคัญและไม่อาจละเลยที่จะกล่าวถึงก็คือ การรู้จักประมาณในกำลังของตน ในกรณีนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของความคิดระดับที่สอง แต่ต้องการย้ำเน้นให้ทำการพิจารณาอย่างเป็นกลางที่สุด อย่าคิดประเมินตนเองสูงหรือต่ำเกินไป เพราะถ้าประเมินสูงก็จะทำให้มองเห็นภาพลวงตาที่ไม่เป็นจริง
ทำให้สิ่งที่คิดว่าทำได้ พอลงมือทำเข้าจริงอาจกระทำไม่ได้ ส่วนการประเมินต่ำไปกว่าความจริงนั้น ก็อาจส่งผลให้ท้อถอย และพลาดโอกาสที่จะสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นการรู้จักกำลังความรู้ความสามารถที่เป็นจริงของตน ก็ถือเป็นการรู้ความจริงในปัจจุบันอีกประการหนึ่ง ที่สำคัญไม่น้อยเช่นกัน
ในขณะเดียวกันก็คงไม่อาจปฏิเสธว่า ยังมีกลุ่มบุคคลประเภทที่ขยันคิดไม่ขยันทำอยู่มาก และพวกเขาเหล่านี้ก็มักสร้างปัญหาให้ตัวเอง เพราะไม่ว่าจะผ่านการประเมินระดับความคิดทั้งสองขั้นมากเพียงใด ก็ไม่อาจทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในชีวิตได้
สาเหตุสำคัญก็คือ คนเหล่านี้ชอบแต่จะคิด แต่ไม่ชอบที่จะลงมือกระทำจริง พวกเขาจึงมักจะมองหาว่า มีอะไรน่าทำบ้างไปเรื่อย แม้จะกระทำได้ก็ไม่คิดจะลงมือทำอย่างจริงจัง ชอบแต่จะนึกฝันไว้ในอากาศตลอดเวลา จึงไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ประสบความสำเร็จออกมาได้ เพราะไม่มีความคิดที่จะลงมือทำตั้งแต่ต้น
บางคนมีอาการหนักไปยิ่งกว่า คือ เอาแต่คิดฝันไว้ในใจ พอถามถึงก็จะบอกว่า คิดไว้หมดแล้ว จะทำเมื่อใดก็ทำได้ทุกเมื่อ คำถามจึงเกิดขึ้นว่า แล้วเมื่อใดที่ว่านั้นจะมาถึงเสียที หรือเมื่อไรจะลงมือทำในสิ่งที่บอกว่าคิดไว้หมดแล้วนั้น ความจริงแล้วถ้าหากเป็นคนที่มีอาชีพการงานอยู่ก็คงไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ที่ผู้เขียนหมายถึงนี้ ก็คือกลุ่มคนที่บอกว่าตนเองไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่รู้จะทำอะไรดี คนเหล่านี้ต่างหากที่เป็นปัญหา
ทั้งๆ ที่หลายคนที่ผู้เขียนรู้จักนั้น หลังจากได้ฟังแนวความคิดของพวกเขาแล้ว ก็ยอมรับว่า เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ และหากทำได้จริงก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและสังคมคนรอบข้าง อีกทั้งหลายความคิดที่ว่ายังน่าจะสร้างเงินให้แก่เจ้าของความคิดนั้นได้อย่างสบาย แต่พวกเขาก็ไม่มีความใส่ใจที่จะลงมือกระทำอย่างจริงจัง ได้แต่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความคิดและความรู้สึกที่ว่า ตนเองไม่มีค่า ไม่มีความสำเร็จใดๆ ในชีวิต ก็ได้แต่บอกว่า น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
บางคนมาถามผู้เขียนว่า ถ้าจะเริ่มมองหางานทำ ควรจะเริ่มที่งานใด ผู้เขียนก็ได้แต่ตอบไปว่า ให้เริ่มจากงานที่ตนเองชอบ และมีใจรักอยากจะทำมากที่สุดก่อน เพราะถ้าหาพบแล้ว นั่นจะเป็นสิ่งที่วิเศษสุด เพราะนอกจากจะได้ทำในสิ่งที่ชอบแล้วก็ยังสร้างงานสร้างเงินให้แก่ตนเองได้ด้วย
ดังมีคำกล่าวที่คมคายไว้อย่างน่าสนใจจากผู้รู้บางท่านว่า “ให้เริ่มจากงานที่รักก่อน แล้วค่อยดูว่างานที่รักนั้นจะทำเงินได้อย่างไร” คำกล่าวนี้ไม่ว่าจะกระทำได้ในระดับอาชีพหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็จะทำให้ผู้กระทำมีความสุขจากการได้ทำในสิ่งที่ตนรักแล้ว แม้จะไม่อาจก่อเกิดเป็นผลประโยชน์เงินทองในทันทีก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ เมื่อไม่มีอะไรจะทำ หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มทำในสิ่งใดก็ให้ถามตนเองว่า จริงๆ แล้วตนเองอยากทำสิ่งใดมากที่สุด ในเบื้องต้นนี้ยังไม่ต้องไปสนใจว่า สิ่งที่จะทำนั้นต้องเป็นการงานหรืออาชีพเท่านั้น เอาเป็นว่า เป็นสิ่งที่ตนเองรักและอยากทำมาชั่วชีวิต หรือหากมีโอกาสจะต้องทำให้ได้ เช่น บางคนชอบที่จะร้องเพลง แต่ก็ติดกับคำพูดที่ว่า อาชีพนักร้องไม่รวย อะไรประมาณนั้น ก็เลยไม่กล้าทุ่มเทจริงจัง ได้แต่ทำเป็นงานอดิเรกในทุกครั้งที่ตนว่างเว้นจากอาชีพประจำ ซึ่งไม่ได้มีใจรักที่จะกระทำแม้น้อย
การเริ่มต้นจากสิ่งที่รักนั้น ความจริงแล้วก็ตรงตามหลักธรรมอิทธิบาทสี่ในพุทธศาสนา และเชื่อว่าในศาสนธรรมอื่นๆ ก็คงจะมีคำสอนที่ใกล้เคียงกันประมาณนี้ เพราะการได้ทำในสิ่งที่ชอบเมื่อใด ความพากเพียรมานะพยายามจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครมากระตุ้นเร่งเร้า ชนิดที่ว่าบางคนสามารถกระทำได้อย่างหามรุ่งหามค่ำ ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยก็มี นอกจากนั้นก็จะมีความคิดความใส่ใจ ที่จะมุ่งมั่นพัฒนางานที่ตนรักให้ก้าวหน้ามีคุณภาพที่ดีมากยิ่งๆ ขึ้น
ผู้เขียนเคยมีเพื่อนหลายคน ที่ชอบเล่นตัวต่อพลาสติกโมเดลตั้งแต่วัยเด็ก แม้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่เลิก กระทั่งเขาสามารถพัฒนาผลงานตนเองจนเป็นที่สนใจของตลาด และสามารถประกอบเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ไม่น้อยไปกว่าอาชีพประจำเดิมๆ และมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเป็นอิสระกว่า ที่สำคัญมันทำให้เขามีความสุขกับการได้อยู่กับสิ่งที่ตนเองรักไปตลอดชีวิตด้วย
ในเรื่องนี้ก็จะขอฝากทิ้งท้ายไว้อีกสักเล็กน้อย สำหรับคนที่ค้นพบงานหรือสิ่งที่ตนเองรักที่จะกระทำแล้ว ขอให้ลงมือกระทำทันที แม้จะพิจารณาแล้วในระดับความคิดที่สองนั้นว่า ยังมีฝีมือไม่ถึงขั้น หรือยังทำได้ไม่ดีนัก โดยให้พัฒนาองค์ความรู้ของตนควบคู่ไป พร้อมกับการฝึกฝนกระทำอย่างจริงจัง ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อพบงานที่ชอบแล้ว ให้หาข้ออ้างที่จะทำ อย่าหาข้ออ้างที่จะไม่ทำ”
ความหมายก็ตรงไปตรงมา คือให้หาเหตุผลหรือโอกาสที่จะลงมือกระทำ ไม่ใช่คิดผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย หรือไม่ก็มัวแต่คิดหาข้ออ้างไปต่างๆ นานา เช่น ต้องเวลานั้นเวลานี้ถึงจะทำได้ หรือต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ถึงจะลงมือกระทำ เป็นต้น ประเด็นอยู่ที่ว่า หากมัวหาข้ออ้างว่าเมื่อไรจะทำ ก็คงต้องหาไปเรื่อยๆ เพราะการหาข้ออ้างนั้น สามารถหาได้ไม่จำกัด
สำหรับประเด็นที่จะกล่าวถึงในท้ายนี้คือ การเดินหน้าเป็นอย่างเดียว ก็คือสิ่งที่ผู้เขียนได้ตั้งเป็นประเด็นไว้แต่ต้นบทความว่า การตัดสินใจลงมือกระทำนั้น ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป แม้ผู้เขียนจะเน้นให้ลงมือทำทันทีหลังจากที่ผ่านความคิดระดับที่หนึ่งมาแล้วก็ตาม แต่ผู้เขียนก็ยังยืนยันว่า ความคิดระดับที่สองนั้นมีความจำเป็น
โดยแนะให้พิจารณาไปพร้อมกับการลงมือกระทำอย่างจริงจัง คือให้ถือเป็นการฝึกฝนและพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองไปในตัว เนื่องจากบางครั้งการจะรู้ว่าเราทำได้หรือไม่ ก็มีเพียงทางเดียวคือลองลงมือทำดูก่อน และให้ผลงานที่ปรากฏเป็นเครื่องบอก การพิจารณาเพียงในความคิดเพียงอย่างเดียว บ่อยครั้งก็ไม่สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องชัดเจนได้
แต่กลุ่มคนที่ผู้เขียนต้องการจะพูดถึงนี้ เป็นกลุ่มที่ไม่สนใจพิจารณาในความคิดระดับที่สอง เมื่อคิดว่าน่าทำ ก็ลงมือตะลุยทำไปเลย จนบางครั้งถึงกับต้องเสียเงินเสียทองไปมากมายโดยเปล่าประโยชน์ บ่อยครั้งก็อาจสร้างความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้ทั้งตนเองและคนรอบข้างได้ ดังนั้นการตะลุยเดินหน้าไปอย่างเดียว จึงไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก ควรที่จะหยุดและพิจารณาเป็นช่วงๆ
เหมือนกับคนขับรถไปยังที่ใดที่หนึ่ง หากขับเร็วเกินไปก็อาจเลยจุดหมายที่ตนต้องการจะไปให้ถึงก็เป็นไปได้ และกว่าจะวกกลับมาได้ถูกทางก็อาจต้องเสียเวลาและค่าน้ำมันไปไม่รู้เท่าไร การขับด้วยความเร็วที่กำลังดี และคอยมองอ่านป้ายบอกทางเป็นระยะๆ ย่อมจะเป็นคำตอบและแนวทางที่ดีกว่า เพราะมันจะทำให้ท่านสามารถไปถึงจุดหมายได้อย่างค่อนข้างแน่นอนกว่า การวิ่งตะบึงไปเพียงอย่างเดียว
อีกกรณีหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือ การไม่รู้จักถอย หลายคนเมื่อเดินหน้าไปแล้วเจอกำแพงหรือทางตัน กลับไม่ยอมที่จะเสียเวลาถอยรถแล้ววิ่งอ้อมไปในเส้นทางใหม่ ที่อาจจะไกลกว่าเดิมบ้าง แต่กลับวิ่งชนกำแพงจนรถพังยับเยิน นอกจากจะเดินหน้าไม่ได้แล้ว ยังอาจต้องบาดเจ็บเสียหายด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่รู้จักแต่จะเดินหน้าในชีวิต ทั้งที่หนทางในชีวิตนั้นไม่มีอะไรแน่นอน
บางคนติดอยู่กับอดีตที่ว่า ตนเคยทำได้ แต่ไม่ได้คิดว่าตอนนี้ตนเองอายุมากขึ้น สุขภาพก็อ่อนแอลง ย่อมไม่สามารถลุยงานได้อย่างเดิม ดังนั้นการคิดบนพื้นฐานของข้อมูลจากอดีตจึงย่อมสร้างความผิดพลาดให้ได้เป็นธรรมดา เพราะเมื่อตัดสินใจทำไปแล้ว ร่างกายเกิดไม่ไหวเจ็บป่วยได้ไข้ขึ้นมาก็มีสิทธิ์ทำให้งานต้องหยุดชะงักแต่กลางคัน จนอาจสร้างความเสียหายต่อทั้งตนเองและส่วนรวมได้
ดังนั้น การรู้ว่าเมื่อใดควรเดินหน้า เมื่อใดควรหยุด หรือเมื่อใดควรถอยหลัง จึงน่าจะเป็นการรับประกันสวัสดิภาพในการก้าวเดินไปบนหนทางชีวิตได้อย่างดียิ่ง
(สารพันปัญหาชีวิต ep.1 ระดับของความคิด)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สารพันปัญหาชีวิต
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย