Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อรรถเสวนา
•
ติดตาม
1 ก.ค. 2023 เวลา 10:08 • ปรัชญา
พึ่งตัวเองเป็นหลัก
ความจริงแล้วเรื่องการพึ่งตัวเองนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างไร เพราะในหลักธรรมแทบจะทุกศาสนาก็ล้วนมีคำสอนที่คล้ายคลึงกันนี้ ดังเช่นในศาสนาพุทธ ก็ทรงมีพุทธภาษิตกำกับไว้ว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” ขณะที่ในศาสนาคริสต์ ก็กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “พระเจ้าช่วยเฉพาะคนที่ช่วยตนเอง” จะเห็นได้ว่า เรื่องที่จะกล่าวถึงนี้ แทบจะเป็นหลักธรรมสามัญที่อาจกล่าวได้ว่า ทุกศาสนาไม่ปฏิเสธ และต่างยอมรับว่า เป็นหนทางสำคัญยิ่งที่ควรปฏิบัติ
หากจะมาพิจารณากันในด้านของดุลยภาพของชีวิต ก็ต้องบอกว่า การพยายามรักษาสมดุลย์ของการให้และการรับให้ดีนั้น จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่น บางครั้งการยอมรับหรือที่ฝรั่งใช้คำว่า say yes แต่อย่างเดียวนั้นก็อาจสร้างความยากลำบากในการดำรงชีวิตได้ไม่น้อย ดังคำกล่าวที่ว่า หากปฏิเสธไม่เป็นชีวิตจะเป็นทุกข์ ในขณะเดียวกันถ้าเอาแต่ปฏิเสธอย่างเดียว ไม่คิดที่จะให้ผู้อื่นบ้าง ก็คงอยู่ได้อย่างยากลำบากเช่นกัน
เพราะสังคมในปัจจุบัน มีสภาพที่เป็นสหสัมพันธ์ มิได้เป็นปัจเจกสังคมเหมือนในอดีต ที่ประชากรโลกยังมีปริมาณน้อย และการติดต่อสื่อสารระหว่างกันยังไม่สามารถเท่าทันทั่วถึงได้เหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นการให้และการรับจึงเป็นสิ่งที่ควรรักษาระดับของดุลยภาพให้พอเหมาะเข้าไว้ ไม่ใช่จะให้เพียงอย่างเดียว หรือรับเพียงสถานเดียว อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
มีคำกล่าวว่า การช่วยของผู้อื่นมีขอบเขตจำกัด สาเหตุก็น่าจะเป็นเพราะ ไม่ว่าคนผู้นั้นจะรักเรามากเพียงใดก็ตาม หรือมีความประสงค์จะช่วยเหลือเราในทุกสิ่ง แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ในเชิงปฏิบัติแล้วไม่สามารถกระทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ เหมือนดังพ่อแม่ที่รักลูกนักหนา และเฝ้าถนอมดูแลปกป้องลูกในทุกเรื่อง
แต่ในความเป็นจริง จะพบว่า มีหลายเรื่องราวเหลือเกินที่บ่อยครั้ง พ่อแม่จะทำได้เพียงนั่งดูโดยไม่สามารถช่วยอะไรได้ ดังนั้นพึงตระหนักรู้ไว้ในใจเสมอว่า ไม่มีใครให้เราพึ่งได้ตลอดไป เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เราต้องทำให้ตัวเราเองเท่านั้น ผู้อื่นจะมาทำแทนเราไม่ได้
สิ่งที่พึงทำจึงสมควรที่จะตั้งความคิดไว้ว่า ต้องหาทางช่วยตัวเองเป็นหลักไว้ก่อน และถ้ามีความช่วยเหลือเข้ามาเมื่อใด ก็สามารถรับไว้ได้ เท่าที่ความช่วยเหลือนั้นจะทำให้เราได้ และเมื่อความช่วยเหลือนั้นหมดไป เราก็ต้องกลับไปยืนหยัดให้ได้ด้วยตนเอง มิใช่จะนั่งรอความช่วยเหลือให้เข้ามาเพียงอย่างเดียว
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อยังมีคนสอนงานให้ ก็ควรจะรีบตั้งใจเรียนรู้ให้ครบถ้วน และนำมาปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ ขณะที่ว่าเมื่อใดที่คนสอนไม่อยู่ เราก็สามารถทำในสิ่งนั้นๆ ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่คิดแต่ว่า มีคนคอยสอน มีคนให้ถาม ก็เลยไม่คิดที่จะจดจำเรียนรู้ หรือฝึกฝนให้ชำนาญไว้แต่เนิ่นๆ เมื่อปัญหาเกิดขึ้น เช่นคนที่สอนเกิดไม่สามารถมาช่วยเราได้แล้ว ถึงตอนนั้นจะทำอย่างไร
ดังนั้นการทำอะไรให้ได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะทำได้ดีหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องถือว่าดีกว่าทำไม่เป็น แน่นอนว่าเราอาจไม่สามารถทำกับข้าวได้อร่อยเท่ากับพ่อครัวแม่ครัวระดับมืออาชีพ แต่ลำพังการสามารถทำกับข้าวกินเองได้ ก็ถือว่าเอาตัวรอดได้ในระดับหนึ่งแล้ว สมัยนี้อาจมีข้อถกเถียงว่า ทำไม่เป็นก็ซื้อทานเอา เพราะมีคนแย่งกันขายอาหารการกินอยู่มากมาย เรื่องนี้ผู้เขียนก็ยอมรับ เพราะที่หมายถึงนั้นคือการพยายามอยู่รอดให้ได้ด้วยตนเอง
ในกรณีนี้ก็ต้องบอกว่า หากท่านทำครัวไม่เป็น แต่พอจะรู้ที่ทางไปหาซื้ออาหารมาทานได้ และมีเงินเพียงพอ ก็ถือว่า เป็นความรู้ที่จะทำให้ท่านอยู่รอดได้เช่นกัน สรุปความแล้ว คือให้พยายามยืนหยัดด้วยขาของตัวเองให้ได้เป็นหลัก ไม่ควรคอยแต่จะเกาะผู้อื่นอยู่ร่ำไป หรือเหมือนที่คนมักจะพูดกันว่า อย่ามัวพึ่งจมูกผู้อื่นหายใจ เพราะถ้าเกิดเขาหายใจไม่ออกขึ้นมา เราก็จะพลอยลำบากไปด้วยนั่นเอง
อีกคำถามหนึ่งที่ว่า พึ่งพาได้จริงหรือ แม้จะเป็นคำถามแบบกว้างๆ แต่ก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะสำหรับหลายคนที่ชอบฝากชีวิตไว้กับเรื่องของโชคชะตา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนทรง วัตถุมงคล หรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือจากตัวเองออกไป จึงมีคำถามว่า ท่านแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นที่พึ่งของท่านได้จริง
เริ่มตั้งแต่โชคชะตา บางคนชอบฝากชีวิตตัวเองไว้กับดวงชะตาตามที่นักพยากรณ์ทำนายทายทักให้ เมื่อรู้ว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้แล้ว ก็รามือนั่งรอให้มันเกิดขึ้นตามคำทำนายนั้น ซึ่งบ่อยครั้งจะพบว่า หากลงมือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ชีวิตก็อาจจะดีขึ้นหรือแก้ปัญหาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องปล่อยตัวให้เป็นไปตามชะตาลิขิตเพียงอย่างเดียว และแท้ที่จริงแล้ว หากเรียนรู้วิชาโหราศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่า นั่นเป็นเพียงวิชาสถิติแขนงหนึ่ง
หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นเพียงความสัมพันธ์ของข้อมูลที่ผ่านการสังเกตมานานหลายชั่วรุ่น แล้วทำการสังเคราะห์ขึ้นเป็นกฏเกณฑ์ที่ใช้ในการพยากรณ์ ดังนั้นเมื่อดวงชะตาเป็นเพียงข้อมูล เราจึงสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลชีวิตของเราด้วยการกระทำหรือที่ศาสนาเรียกว่ากรรมขึ้นใหม่ได้ ไม่ต่างกับการป้อนข้อมูลใหม่ให้กับสมการชีวิตของตน เมื่อตัวแปรเปลี่ยนค่าไป จึงเป็นสิ่งที่แน่นอนว่า ผลการคำนวณที่ได้ก็ย่อมต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เมื่อสมการยังคงเป็นตัวเดิมอยู่
ส่วนเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ยกมานี้มิได้มีเจตนาจะลบหลู่ แต่ผู้เขียนมีมุมมองบางอย่าง ยิ่งได้มีโอกาสอ่านผลงานที่สนับสนุนความคิดของผู้เขียนบางส่วน จึงทำให้ผู้เขียนมีความเห็นว่าสมควรที่จะนำเรื่องนี้มาขยายความให้แจ้งชัดมากขึ้น โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบนบานศาลกล่าว นักเขียนในบทความนั้นได้ยกตัวอย่างเป็นนิทานที่น่าสนใจว่า แม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใกล้ชิดมนุษย์อย่างเช่นเทวดา ก็ยังไม่อาจให้ในสิ่งที่ทุกคนต้องการได้ทุกเรื่อง
บางครั้งการให้แก่คนหนึ่ง กลับเป็นผลเสียต่ออีกหลายคน อาทิเช่นช่วยให้คนมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ มีอายุยืนยาว ก็ย่อมเป็นการทำลายอาชีพของแพทย์และคนขายโลงโดยปริยาย นอกจากนั้นบางครั้งตัวผู้ขอเอง ก็ยังไม่รู้แน่แก่ใจด้วยซ้ำว่า จริงๆ แล้วตนต้องการอะไรกันแน่ บ่อยครั้งที่ขอไปและเกิดได้มากลับพบว่า มันเป็นสิ่งที่ซ้ำร้ายมากกว่าจะเป็นการเสริมส่งเกื้อกูล จนต้องกลับไปขอเปลี่ยนแปลงไม่จบไม่สิ้น
ในขณะที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูงขึ้นไป เช่น พรหม ในความเป็นจริงแล้วท่านเหล่านี้แม้จะทรงไว้ซึ่งพรหมวิหาร พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ทว่าเงื่อนไขที่จะช่วยได้ก็มีมาก เพราะหากคนๆ นั้นมิได้ประกอบกรรมอันดีมาก่อน หรือดำรงอยู่ในคุณธรรมความดีปัจจุบัน เทพพรหมเหล่านี้ก็ย่อมไม่อยากเข้าใกล้ การช่วยเหลือจึงยากที่จะเกิดขึ้น จึงไม่ต้องกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูงขึ้นไป ระดับพระรัตนตรัยตามคติของชาวพุทธ
ซึ่งท่านเหล่านี้ได้ก้าวล่วงพ้นไปแล้วจากกิจในโลกทั้งหลาย จึงไม่มีความสนใจที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยว ในบรรดาพระไตรรัตนะทั้งสามนั้น พระพุทธเจ้าเป็นองค์เดียวที่มีมหากรุณาที่จะช่วยคนให้พ้นทุกข์ และเพราะธรรมของท่านมุ่งเน้นไปที่การหลุดพ้นจากโลกียะ ดังนั้นการไปบนบานขอในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโลกียะกับพระพุทธจึงย่อมไร้ผล ส่วนพระธรรมนั้นต้องยอมรับว่าเป็นที่พึ่งได้จริง แต่ก็เป็นไปตามส่วนของความเข้าใจและการนำมาปฏิบัติ
การช่วยเหลือของพระธรรมนั้นจึงเป็นเพียงการชี้แนะแนวทางให้ก้าวเดิน มิใช่การช่วยแบบเบ็ดเสร็จหรือเหมือนการนิรมิตให้สำเร็จสมตามความปรารถนาในบัดเดี๋ยวนั้น ในส่วนของพระสงฆ์นั้น ในที่นี้จะหมายถึงพระอริยสงฆ์ที่หลุดพ้นไปแล้ว ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นผู้เสร็จกิจในโลก ดังนั้นหากไปขอให้ท่านช่วย ท่านก็คงทำได้แค่ชี้ทางให้เราเช่นกัน เพราะท่านจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจใดๆ ในโลกียะอีกต่อไป
ในส่วนของคนทรง และวัตถุมงคล หรือสิ่งอื่นใด อาทิเช่น คุณไสย หรือคาถาอาคมทั้งหลาย ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะสิ่งเหล่านี้ต่ำกว่าเทพพรหมอยู่มาก แม้แต่คนที่ทรงเทพตัวจริงก็ยังติดอยู่ในอำนาจแห่งพระไตรลักษณ์ นั่นคือ ความไม่เที่ยง คงอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่ตัวตนที่จะยึดถือไว้ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อคนเหล่านี้ยังช่วยเหลือตัวเองมิให้เสื่อมสลายสิ้นสูญไปไม่ได้
แล้วยังจะเป็นที่พึ่งที่พิงให้ใครได้อีก คนที่ทำวัตถุมงคลก็เช่นกัน ต้องถามว่า คนที่ทำนั้นไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย หรือไม่ ที่ผ่านมายังไม่เคยพบเจอ ไม่ว่าใครก็ตามที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมดำเนินไปสู่ความแก่ ความเจ็บ และความตายทั้งสิ้น จึงย่อมมิใช่ที่พึ่งพิงที่แท้ เพราะในเมื่อคนเหล่านี้ยังมีปัญหาส่วนตัวที่แก้ไม่ตกอยู่ แล้วยังจะสามารถไปแก้ปัญหาให้ผู้ใดได้
ในเรื่องของคาถาอาคมก็เช่นกัน แม้แต่บางคนอ้างด้วยว่าเป็นพุทธมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องบอกว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธมนต์นั้นก็คือเนื้อหาความหมายที่แฝงอยู่ ซึ่งต้องนำไปปฏิบัติตามอย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะสำฤทธิ์ผลเป็นความศักดิ์สิทธิ์ได้ มิใช่ลำพังเพียงการท่องบ่นแต่อย่างเดียว พูดถึงเรื่องนี้ ผู้เขียนเคยคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง ที่ชอบในเรื่องของการสวดมนต์มาก และพยายามจะสอนให้ผู้เขียนสวด ผู้เขียนทนรบเร้าไม่ได้ จึงถามไปว่า ตั้งแต่ที่เขาสวดมนต์มานี้ ไม่แก่ลงบ้างหรือไม่ ไม่เจ็บไข้บ้างหรือไม่
และสุดท้ายรับประกันได้หรือไม่ว่าเขาจะไม่ตาย เมื่อเขาตอบผู้เขียนไม่ได้ จึงชี้ให้เขาเห็นว่า การสวดมนต์นั้นเป็นภาวนามัยอย่างหนึ่ง คือกิริยาที่เป็นบุญอันเกิดจากการภาวนา ผลที่ได้ก็คือความสงบของจิตใจ เมื่อสงบแล้วย่อมสันติ สันติแล้วก็ย่อมมีความสุขใจตามอัตภาพ ด้วยอำนาจแห่งบุญที่มาชำระล้างจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ มีความปลอดโปร่งโล่งเย็นสบายใจ มันจึงเป็นเพียงทำให้ความทุกข์ในด้านของจิตใจน้อยลง แต่ไม่อาจยับยั้งสภาพของไตรลักษณ์ได้
ยังมีเพื่อนอีกคนของผู้เขียน ที่ชอบเรื่องเข้าองค์ทรงเจ้า และมักจะชวนผู้เขียนไปเป็นเพื่อน ผู้เขียนก็เคยตามเขาไปสองสามครั้ง มีครั้งหนึ่งไปถึงเห็นร่างทรงที่ยังไม่เข้าพิธีประทับทรง ไออย่างรุนแรง จึงชี้ให้เพื่อนเห็นว่า แม้เจ้าของร่างก็ยังหนีไม่พ้นการเจ็บไข้ แล้วยังจะรักษาโรคให้ผู้อื่นได้อย่างไร ถ้าอำนาจของเจ้าที่มาเข้าทรงมีจริง เหตุใดไม่รักษาธาตุร่างของร่างทรงตนเองก่อน
เพื่อนผู้เขียนจึงเริ่มได้คิด แม้จะยังเถียงว่า เขาเคยรักษาคนหายมามากต่อมากแล้ว ผู้เขียนจึงต้องถามกลับไปว่า แน่ใจได้อย่างไร ว่าคนที่หายนั้นมาหาแต่ร่างทรงอย่างเดียว พวกเขาไม่ได้ไปพบแพทย์ ไม่ได้เข้ารับการบำบัดรักษาด้วยวิทยาการสมัยใหม่หรือการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ เรื่องนี้เพื่อนผู้เขียนก็ยังตอบไม่ได้
ผู้เขียนจึงลองสมมติไปว่า ให้เพื่อนไปอยู่ในมณฑลพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ล้อมรอบด้วยพระอริยะบุคคลชั้นสูงสุด ถึงแม้กระนั้นก็ยังหนีไม่พ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายไปได้ เพราะแม้แต่ตัวของพระอริยะเจ้าเอง แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธะบรมครูของชาวเรา ก็ยังทรงต้องดับขันธ์ปรินิพพานไปเช่นกัน เมื่อมีเกิดแล้วย่อมมีความเสื่อมและดับไปเป็นธรรมดา ที่คือสัจจะความจริงแท้ที่ไม่อาจแปรเปลี่ยน
สำหรับประเด็นของการให้และการรับที่แท้นั้น ก่อนอื่นคงต้องเริ่มต้นพูดถึงการให้ก่อน ในที่นี้ก็หมายถึงการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นนั่นเอง หากเรามีโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้ใดได้ ก็สมควรถือคติที่ว่า ต้องช่วยให้เขายืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้ มิใช่ช่วยเพื่อให้เขาต้องกลับมาคอยพึ่งเราอยู่ตลอดเวลา
เหมือนกับที่มักจะพูดกันว่า ให้สอนเขาปลูกข้าวให้เป็น มิใช่เอาข้าวไปให้เขาแต่อย่างเดียว เพราะการเอาของไปให้ โดยไม่สอนวิธีทำของนั้น เมื่อไม่มีเราหรือไม่มีคนนำของไปให้ เขาก็จะกลับไปอยู่อย่างยากลำบากเหมือนเดิม และเอาตัวไม่รอด ดังนั้นการให้หรือการช่วยที่แท้จึงควรมุ่งไปที่ จะทำอย่างไรจึงจะทำให้เขาผู้นั้นสามารถทำในสิ่งที่เราจะช่วยเขาได้อย่าแท้จริง
การรับก็เช่นเดียวกัน เมื่อต้องรับความช่วยเหลือแล้ว ก็อย่างอมืองอเท้ารอแต่ให้เขามอบให้แต่อย่างเดียว ควรที่จะมุ่งมั่นหาโอกาสเรียนรู้ในการสร้างสิ่งที่เขาจะนำมาให้ หรือเรียนรู้วิธีการช่วยของเขา เพื่อที่ว่าเราจะสามารถยืนหยัดขึ้นได้ หากไม่มีเขา ในเรื่องนี้อาจมีคำถามว่า คนส่วนใหญ่มักจะหวงวิชา และไม่ยอมถ่ายทอดเคล็ดลับวิธีให้ ก็ต้องบอกว่า จงยืนอยู่บนเจตจำนงดังกล่าวนี้
กล่าวคือ มุ่งที่จะยืนหยัดด้วยตัวเองไว้ก่อน ส่วนว่าเขาจะสอนให้ได้มากน้อยแค่ไหน ก็แค่นั้น เพราะคนเรามีความคิดสร้างสรรค์ หากไม่ย่อท้อย่อมสามารถต่อยอดวิชาความรู้ที่ได้รับมาต่อไปได้ สมมติว่าอาจารย์แต่ละคนจะสอนให้เพียง 10% ก็ให้ขวนขวายเรียนไปกับอาจารย์คนต่อไปเรื่อยๆ ครบสิบคนเมื่อไรก็ได้ 100% เอง
สรุปแล้วก็คือ มุ่งที่จะยืนหยัดด้วยตัวเองไว้ก่อน เมื่อได้รับความช่วยเหลือก็ให้มุ่งเน้นไปที่ความรู้จากการช่วยเหลือนั้นๆ ค่อยสะสมพัฒนาไปเรื่อยๆ ช้าเร็วก็ต้องสำเร็จสักวัน และจะสำเร็จในระดับใด ก็ต้องถือว่า ตราบที่ยังมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเป็นใช้ได้
เพราะไม่ช้าเราก็ย่อมประสบความสำเร็จ สามารถลงมือทำได้ด้วยตัวเองในที่สุด ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราต้องไปสอนหรือช่วยผู้อื่น ก็จงอย่าลืมคติความคิดเหล่านี้ และมุ่งที่จะสอนคนเหล่านั้นให้สามารถยืนหยัดช่วยตัวเองได้ในอนาคต หากกระทำได้ดังนี้แล้ว ก็ต้องถือว่า ท่านได้เข้าถึงการให้และการรับที่แท้จริงแล้ว
มีคำกล่าวว่า ขยันเรียนรู้จะอยู่ได้ด้วยตนเอง น่าจะเหมาะสำหรับคนที่มีอุปนิสัยชอบการเรียนรู้ไม่อยู่เฉย เห็นสิ่งใดที่ตนต้องใช้ ก็จะพยายามหาทางทำมันขึ้นให้ได้ด้วยตนเอง แน่นอนว่า อาจจะทำได้ไม่ดีเท่ากับมืออาชีพ แต่ถ้าหากไม่หยุดที่จะเรียนรู้ต่อไป ไม่ช้าก็จะสามารถก้าวไปถึงความสำเร็จในระดับนั้นได้ แต่นี่มิใช่ประเด็นที่จะพูดถึง ผู้ที่ขยันเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ และพยายามทำให้ได้ด้วยตนเองนั้น จะเป็นคนที่สามารถเอาตัวรอดได้ในที่สุด
โดยเฉพาะในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยการแข่งขันชิงดีชิงเด่น เพราะการแก่งแย่งทรัพยากรที่มีเหลืออยู่อย่างจำกัด และมีแต่จะร่อยหรอลงไปทุกวี่วัน ขณะที่จำนวนประชากรโลกก็เพิ่มมากขึ้น ผลที่ได้ก็มีแต่จะทำให้คนมีความเห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นธรรมดา เพราะเหตุนี้การช่วยเหลือกันจึงลดน้อยลง เพราะต่างคนต่างต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด บ่อยครั้งที่ต้องเหยียบไปบนซากศพของผู้อื่น เขาเหล่านั้นก็ยินดี
การรอความช่วยเหลือในสังคมปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง และอาจต้องรอคอยไปจนตลอดชีวิต หากมิใช่คนที่สนิทสนมกันจริงๆ บางครั้งยังยากจะหาคนเหลียวแล แต่นั่นมิใช่ความผิดของผู้ที่ไม่ช่วย แต่คนที่ไม่ได้รับการเหลียวแลก็ไม่จำเป็นต้องรามือรอความตาย เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะดิ้นรนเอาชีวิตรอดได้ และความขยันที่จะเรียนรู้ในทุกสิ่ง จะทำให้คนผู้นั้นสามารถปรับตัวเข้ากับกระแสสังคมระลอกใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา และท่านก็จะเป็นหนึ่งในผู้ที่ธรรมชาติเลือกสรรค์
เพราะท่านจะสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือของผู้อื่น ที่นับวันจะยิ่งขาดแคลน และลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ผู้เขียนยอมรับว่า ไม่เคยมีความหวังกับการช่วยเหลือของผู้ใด มิใช่หยิ่งทะนงจองหอง แต่เป็นเพราะความเข้าใจว่า พวกเขาเหล่านั้นก็ลำบากแสนเข็ญอยู่มากแล้ว ในสภาวะสังคมเช่นนี้ ลำพังการแบกภาระหน้าที่ส่วนตัวของพวกเขาเองก็แทบจะไม่ไหวอยู่แล้ว จะคาดหวังให้พวกเขามาช่วยใครได้อีก นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้โดยง่าย
ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมักจะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ใส่ตนเอง ประการแรกก็เพื่อทำความเข้าใจให้เท่าทันกับสภาวะการณ์ของสังคม ทันยุคทันกระแสที่เลื่อนไหลไป โดยข้อมูลที่รวบรวมได้เหล่านี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองแล้ว มันยังมีโอกาสที่จะใช้ช่วยผู้อื่นให้สามารถก้าวพ้นออกมาจากความทุกข์ยากได้
แม้จะไม่สามารถช่วยเหลือในรูปแบบของตัวเงินหรือทรัพย์สินสำเร็จรูป แต่ผู้เขียนก็พอจะให้คำปรึกษาชี้แนะแก่คนเหล่านั้น หรือแม้แต่เพื่อนฝูง ให้พวกเขาสามารถมองเห็นหนทางที่จะดิ้นรนไปข้างหน้า และยืนหยัดอยู่รอดให้ได้ในสังคมปัจจุบัน ดังที่ผู้เขียนกำลังพยายามบอกต่อท่านผู้อ่านอยู่ในขณะนี้
และท้ายสุดนี้ก็ขอฝากคำกล่าวไว้ว่า จงทำตัวเป็นที่พึ่งของผู้อื่น เรื่องนี้มิใช่ข้อบังคับแต่ประการใด มันเป็นเพียงคติความเชื่อส่วนตัวของผู้เขียน ในสภาวะสังคมปัจจุบันที่ขาดแคลนความช่วยเหลือดังกล่าว ไม่มีใครสามารถเป็นที่พึ่งแก่ผู้ใดได้ ดังนั้นสิ่งนี้ที่ผู้เขียนจะฝากไว้ ก็คงจะเป็นเรื่องสำหรับคนที่สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้อย่างมั่นคงแล้วเท่านั้น
ที่พอจะวิงวอนร้องขอให้ช่วยกันปฏิบัติบ้าง เฉพาะโอกาสที่เอื้ออำนวย ผู้เขียนมิได้ร้องขอให้ท่านต้องกระทำตัวเหมือนเทวดาใจดีที่เฝ้ามองหาคนตกทุกข์ได้ยากเพื่อเข้าไปช่วยเหลือเขา หรือคอยมองหาคนล้มเพื่อที่จะเข้าไปประคองเขา
จงดำเนินชีวิตของท่านเป็นปกติ ความจริงแล้ว การที่ท่านสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ก็เท่ากับท่านได้ทำตัวให้เป็นที่พึ่งพิงของสังคมไปเรียบร้อยแล้ว เพราะท่านจะไม่ต่างอะไรกับเสาที่ค้ำยันหลังคาของสังคมมิให้ถล่มทลายลงมา เมื่อท่านยืนหยัดได้มั่นคง ไม่ต้องตกเป็นภาระตัวถ่วงให้แก่สังคม นั่นก็เท่ากับเป็นการช่วยเหลือสังคมในทางอ้อมไปในตัว และหากจะมีใครสักคนที่เดินผ่านมาด้วยความอ่อนล้าจากการถูกกระแสของสังคมสาดซัด
เมื่อเขาบังเอิญมาพบท่านและขออาศัยเกาะไว้เพื่อพักหายใจสักระยะหนึ่ง ก็จงทำตัวให้เป็นที่พึ่งพิงแก่คนเหล่านั้น จงอย่าขับไล่ผลักไสเขาให้ถูกคลื่นของสังคมม้วนหายไป แม้จะไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้ แค่การยอมให้เขาได้เกาะเกี่ยวเพื่อหยุดพักจนกว่าจะมีแรงพอแหวกว่ายต่อไปในกระแสของสังคม ก็ถือว่าท่านได้ทำตัวเป็นที่พึ่งพิงของคนอื่น ตามความหมายที่ผู้เขียนตั้งใจไว้แล้ว
และมันก็เป็นธรรมดาวิสัยของคนที่มีความตั้งใจจะช่วยผู้อื่นนั้น พวกเขาย่อมมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดให้มั่นคงด้วยตนเอง เพื่อที่จะช่วยประคับประคองผู้อื่นให้ได้เมื่อมีโอกาส ดังนั้นคนเหล่านี้ก็จะขยันหมั่นเพียรในการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ และเฝ้าฝึกฝนตนเองอยู่ตลอดเวลา เหมือนนักกีฬาที่เฝ้าฝึกฝนความชำนาญและความแข็งแกร่งทั้งกายใจของตนอย่างสม่ำเสมอ
ผู้เขียนคงไม่ได้มุ่งหวังว่าท่านจะต้องทำตัวเหมือนพระโพธิสัตว์ หรือศาสดาผู้สูงส่ง ที่จะช่วยเหลือผู้คนอย่างกว้างขวางไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แม้ท่านจะเน้นช่วยแต่ญาติสนิทมิตรสหายของท่าน มันก็มิใช่เรื่องแปลก เพราะนั่นก็ถือว่าท่านได้ทำหน้าที่ของการเป็นที่พึ่งพิงอันสมควรแล้ว แม้มันจะถูกสงวนรักษาเอาไว้สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้นก็ตาม แต่สำหรับคนที่มีวิสัยแห่งความกรุณาอันไม่มีประมาณของพระโพธิสัตว์ ก็มิใช่ข้อห้ามแต่ประการใด
ความตั้งใจของผู้เขียนต้องการจะบอกเพียงว่า จงยืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้เป็นปฐม แต่ถ้ามีความช่วยเหลือผ่านเข้ามา ก็เป็นสิ่งที่ท่านจะไขว่คว้าเอาไว้ได้ด้วยความชอบธรรม ในขณะเดียวกันเมื่อท่านมีโอกาสช่วยเหลือผู้ที่อ่อนด้อยกว่า คือเป็นที่พึ่งให้เขาได้แม้เป็นการชั่วคราว ก็ถือว่าบรรลุจุดประสงค์ของบทความนี้โดยสมบูรณ์แล้ว
(สารพันปัญหาชีวิต ep.2 พึ่งตัวเองเป็นหลัก)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สารพันปัญหาชีวิต
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย