19 ก.ค. 2023 เวลา 21:10 • การศึกษา

เรียนอย่างชาญฉลาด

บทความในส่วนนี้รวบรวมมาจาก การตอบคำถามบรรดาน้องๆ นักเรียน นักศึกษา ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เขียน ทั้งแบบพบปะกันโดยตรง หรือผ่านทางอีเมลล์ ห้องสนทนา (Chat-box) หรือ กระทู้ในกระดานข่าว (Webboard) ทั้งหลาย จึงคิดว่า น่าจะเอามารวบรวมเรียบเรียงไว้ใน Forum ตอบคำถามในส่วนนี้ของผู้เขียนด้วย เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อน้องๆ และท่านผู้สนใจอื่นๆ ซึ่งอาจจะสามารถ ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาเล่าเรียน ให้เกิดศักยภาพ และประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น
เพื่อให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่าน ได้ทำความเข้าใจในเบื้องต้นตรงกัน จึงต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า แนวทางการเรียนรู้ ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ มีทั้งส่วนที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเอง และที่ได้จากการเรียนรู้ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับบรรดาเพื่อนฝูง ที่ประสบความสำเร็จ อย่างงดงามในการศึกษา หรือที่เรียกกันว่าพวกเด็กเรียนนั่นเอง
ซึ่งผู้เขียนมีความเชื่อ โดยบริสุทธิ์ใจว่า หากท่านสามารถปฏิบัติตาม แนวทางที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้แล้ว ท่านย่อมจะสามารถประสบความสำเร็จ ในการเรียนรู้ในทุกระดับชั้นได้จริง โดยไร้ข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในห้อง ตามหลักสูตรมาตราฐานทั่วไป หรือการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองก็ตาม
สิ่งแรกที่ผู้เรียน ควรจะทำความเข้าใจให้กระจ่าง ก็คือจะอ่านหนังสืออย่างไร ให้เข้าใจ และสามารถนำความรู้เนื้อหาสาระ ไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าจะต้องเอาเรื่องนี้ มาพูดคุยกันเป็นประเด็นแรก เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพ ในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ ระหว่างผู้สอน และผู้เรียนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าปัจจุบัน จะมีการพัฒนาขึ้น เป็นหนังสือหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบหนังสืออิเลคทรอนิค หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า E-Book
ซึ่งสามารถหาดูได้ จากทั้งแบบที่เป็น Tablet ที่สามารถใช้ดูแบบ Offline จนไปถึงที่นำเสนออยู่ ในระบบเครือข่ายข้อมูล ซึ่งสามารถเรียกดูได้ จากทุกที่ทั่วโลกอย่าง Internet ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ก็ล้วนถือเป็นส่วนที่ผู้เรียน จะสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูล ในการศึกษาหาความรู้ ได้อย่างกว้างขวาง
แต่ในเรื่องนี้ ก็จะขอจำกัดขอบเขตไว้เฉพาะ หนังสือรูปแบบมาตรฐานที่ใช้เป็นตำราเรียนทั่วไป ซึ่งมีการแบ่งเป็นสารบัญและเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือในรูปแบบใด ทั้งรูปเล่มหรือ E-book รวมไปถึงเว็บไซท์ที่มีเนื้อหา อย่างเป็นกิจลักษณะในรูปแบบ ของหนังสืออย่างแท้จริง อีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะ ต้องการพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนทั่วไป มีความคุ้นเคย และต้องใช้สอยเป็นข้อมูลพื้นฐาน อยู่เป็นประจำตลอดเวลา
ผู้เขียนจึงเห็นว่า ควรจะให้แนวทางในการอ่านหนังสือ รูปแบบดังกล่าวก่อน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเก็บเอา ใจความเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ และสามารถเอาไปใช้งานได้จริง ซึ่งผู้เขียนได้เรียบเรียงมาจาก คำตอบอันหลากหลาย ที่เคยตอบบรรดาน้องๆ นักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก มาก่อนหน้านี้
การอ่านหนังสือนั้น ประเด็นแรก ที่ควรจะพิจารณาก็คือ ให้ดูว่า หนังสือเล่มนี้มีจำนวนบทกี่บท และแต่ละบทนั้น มีหัวข้อว่าอะไร หนังสือบางเล่ม อาจมีการแตกบทย่อย ให้เห็นภายในสารบัญด้วย ก็จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถ ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นได้มากขึ้น เมื่อพอจะรู้แนวโครงเรื่องคร่าวๆ ของแต่ละบทแล้ว ก็จะทำให้ผู้อ่านสามารถกำหนดเป้าหมาย ที่จะอ่านได้ชัดเจนขึ้น
โดยให้ตั้งคำถามไว้กับตัวเอง เป็นประการแรก ก่อนอ่านในแต่ละบทนั้นว่า บทที่เรากำลังจะอ่านนี้ ต้องการบอกอะไรกับผู้อ่าน จากนั้นก็อ่านผ่านๆ ไปหนึ่งรอบ เป็นการสแกนหาเป้าหมาย ที่เราต้องการรู้ดังกล่าว ยังไม่ต้องพยายาม ทำความเข้าใจอย่างจริงจัง ในเนื้อหาสาระที่บทนั้นๆ มีรายละเอียดอยู่ เมื่ออ่านพอได้ใจความที่ต้องการแล้ว ก็อาจจะบันทึกเป็นบทคัดย่อไว้ก่อน ในสมุดหรือกระดาษบันทึก ก็สุดแล้วแต่
จากนั้นก็ให้ทำแบบเดียวกับบทต่อๆ ไป จนจบหนังสือทั้งเล่มนั้น ในการอ่านรอบแรกนี้ จึงเป็นเพียงการอ่านแบบผ่านๆ เพื่อสำรวจหาเป้าหมายที่หนังสือเล่มนี้ หรือผู้เขียนต้องการจะบอกกับเรา ยังไม่ใช่การอ่านเก็บรายละเอียดแต่ประการใด เมื่ออ่านจบรอบแรกแล้ว ท่านก็จะได้บันทึกย่อของแต่ละบท
โดยจะเป็นเพียงการตอบโจทย์ที่ว่า แต่ละบทของหนังสือเล่มนี้ ต้องการสื่อสารอะไรกับผู้อ่าน มันจะเป็นเหมือนการเขียนแผนผัง หรือแผนที่คร่าวๆ ขององค์ความรู้ ที่มีการเรียบเรียงไว้ ในหนังสือเล่มดังกล่าว และอาจทำให้เรามองเห็น แนวโครงสร้างความคิด ของผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวด้วย
เมื่อได้โครงเรื่องคร่าวๆ ที่ต้องการแล้ว เราก็จะเริ่มเข้าสู่การอ่าน เพื่อจับใจความในรายละเอียดของแต่ละบท เพื่อดูว่า เป้าหมายดังกล่าวที่บทนั้นๆ ต้องการจะบอกเล่า มีเนื้อหาใจความที่แท้จริงเป็นอย่างไร ในขั้นนี้ท่านผู้อ่าน อาจจะพยายามทำความเข้าใจ ตามไปด้วยก็ได้ แต่ยังไม่ต้องถึงกับเอาเป็นเอาตาย ตรงไหนที่สามารถเข้าใจได้ก็รับรู้ไว้ ส่วนตรงที่ยังไม่เข้าใจ ก็ให้จดออกมาเป็นคำถามว่า สิ่งที่เนื้อหาสาระในช่วงนั้นๆ พูดถึงหมายความว่าอะไร
เมื่อทำตามนี้ไปจนจบบท สิ่งที่ผู้อ่านจะได้ก็คือ รายการคำถามที่ตน ต้องไปแสวงหาคำตอบ ซึ่งบางครั้งอาจจะมีคำตอบ ที่ผู้เขียนได้นำไปขยายความไว้ในบทต่อๆ ไป เมื่อไปอ่านเจอเข้า และสามารถทำความเข้าใจได้ ก็ค่อยขีดคร่าคำถามดังกล่าวออกไป ด้วยวิธีนี้หลังจากอ่านจบหนังสือ ในรอบที่สองแล้ว สิ่งที่ผู้อ่านจะได้ก็คือ ความเข้าใจในเนื้อหาบางส่วน หรืออาจจะทั้งหมด ในกรณีที่ยังเข้าใจไม่หมด ก็จะได้รายการคำถามที่ท่าน จะต้องไปค้นหาข้อมูลจากหนังสือ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ ตลอดถึงการสอบถามจากผู้รู้ต่อไป
แนวทางการอ่านหนังสือ ตามที่ผู้เขียนเรียบเรียงมานี้ ก็จะเป็นเหมือนการวางแนวทางให้ผู้อ่าน มีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน สรุปแล้วจะมีทั้งหมดสามขั้นตอน กล่าวคือ ขั้นแรกจะเป็นการอ่าน เพื่อสแกนว่าหนังสือมีกี่บท และแต่ละบทต้องการพูดถึงอะไร ขั้นตอนที่สองก็เป็นการอ่าน เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียด แล้วคัดกรองเอาคำถาม ที่ยังไม่เข้าใจ หรือที่หนังสือยังไม่สามารถ อธิบายได้อย่างชัดเจนออกมา
และขั้นตอนสุดท้ายก็เป็นการอ่าน หรือค้นหาเพิ่มจากหนังสือ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่ตนยังไม่เข้าใจ ซึ่งได้มาจากผลการอ่านในขั้นตอนที่สองนั้น เมื่อผ่านการอ่านทั้งสามขั้นตอนนี้ ก็จะทำให้ผู้อ่านได้ข้อมูลความรู้ ที่ต้องการได้อย่างสมบูรณ์แบบ และสามารถใช้เป็นองค์ความรู้พื้นฐาน ในการทำความเข้าใจ หรืออ่านหนังสือในระดับที่สูงขึ้นไป
ต่อไปก็จะมาพูดถึง การเข้าเรียนภายในห้อง หรือการเข้ารับฟัง การบรรยายจากวิทยากร หรือครูผู้สอนที่เป็นเจ้าของวิชา ทั้งแบบ online และ offline หลังจากที่ท่านพอจะได้แนวทาง ในการอ่านหนังสือ หรืออาจกล่าวได้ว่า การแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองมาล่วงหน้าแล้ว ซึ่งจะถูกใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการเข้าฟังการบรรยายของผู้สอนนี้ โดยจะสังเกตได้ว่า
หากทำตามขั้นตอนการอ่าน ที่ผ่านมาข้างต้น ท่านก็จะมีพื้นฐานความเข้าใจมาระดับหนึ่ง พร้อมกับรายการคำถามที่ท่านไม่เข้าใจ หลังจากฟังคำบรรยายจบแล้ว ท่านก็อาจจะสามารถขีดคร่า รายการคำถามบางส่วนออกไปได้ แต่ในส่วนที่ยังไม่มีคำตอบ ท่านก็สามารถใช้เป็นหัวข้อ ในการสอบถามกับผู้สอนได้ด้วย
ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะไว้ว่า ควรหาความรู้ก่อนเข้าเรียน เพราะการกระทำดังกล่าว จะช่วยให้ท่านมีพื้นฐานความรู้ ติดตัวไว้ระดับหนึ่ง และยังทำให้ท่านสามารถ ฟังการบรรยายได้ อย่างมีเป้าหมาย ในกรณีที่การบรรยายนั้น เดินตามหนังสือที่ท่านอ่านมา ซึ่งจะเป็นปกติที่ผู้เรียนจะได้พบ ในระบบการเรียนการสอน ในหลักสูตรทั่วไป โดยมันจะทำให้ท่านรู้ว่า กำลังมองหาอะไร คือมีเป้าหมายอยู่ในใจแล้วว่า บทที่กำลังบรรยายอยู่นั้น มีเป้าหมายที่ต้องการพูดถึงเรื่องราวใด
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า มันจะทำให้ท่านมีเป้าหมาย ในการฟังคำบรรยายมากขึ้น ส่วนในกรณีที่มิได้เป็นการบรรยาย ตามเนื้อหาในหนังสือ ที่ท่านอ่านมา ซึ่งอาจจะเป็นการฟัง นอกเหนือจากการเรียนปกติ ท่านก็จะมีรายการคำถาม ที่ต้องการหาคำตอบ เป็นเป้าหมายในการฟังเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ผลจากการฟังก็อาจทำให้ท่าน เกิดคำถามใหม่ขึ้น ซึ่งก็ควรจะบันทึกไว้ และถ้าสามารถถามท่านผู้สอนได้ ก็ควรจะถาม ถ้าถามในห้องไม่ได้ ก็สามารถเก็บไว้ถาม ภายหลังการบรรยายได้อีกต่อหนึ่ง
ยิ่งในสมัยปัจจุบันที่ระบบการเรียนรู้ แผ่ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง ผ่านทางระบบเครือข่ายข้อมูลอย่าง Internet ก็ยิ่งทำให้ท่านผู้เรียน สามารถมองหาความรู้ใหม่ๆ ก่อนที่จะเข้าฟังการบรรยาย ในห้องเรียนได้อย่างมากมาย ในขณะเดียวกัน หากผู้ที่มีความใฝ่ใจในการเรียนรู้ ก็สามารถค้นคว้าหาความรู้ล่วงหน้าได้ อย่างไร้ขีดขั้นจำกัด และยังสามารถใช้หลักการอ่านข้างต้น เพื่อบันทึกรายการคำถาม ที่ยังไม่เข้าใจออกมา
แล้วนำไปสอบถามผู้รู้ทั้งหลาย ในระบบของกระดานข่าว หรือ Webboard ซึ่งมักจะมีผู้รู้มากมาย มาคอยตอบคำถาม อยู่ตลอดเวลาเป็นปกติ จึงทำให้ระบบการเรียนรู้ล่วงหน้า ที่ผู้เขียนแนะนำ สามารถกระทำได้ อย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้น สรุปแล้วผู้ที่สนใจดำเนินตาม แนวทางเรียนรู้ล่วงหน้าดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้การฟังคำบรรยายของท่าน เป็นไปอย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่เป็นการฟัง อย่างเลื่อนลอยไร้จุดหมาย
สำหรับหลักการต่อไป ที่จะกล่าวถึงนี้คือ การทำในสิ่งที่คนอื่นยังไม่ได้ทำ ต้องถือว่าเนื้อหาที่อาจจะล่อแหลม ต่อการเข้าใจผิดได้มาก แต่หลังจากที่ผู้เขียน ได้พิจารณาอย่างรอบครอบแล้ว ก็คิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า และจะเป็นแนวทางในการพัฒนา องค์ความรู้ให้ก้าวไปข้างหน้าได้ โดยไม่ต้องย่ำอยู่กับที่ ซ้ำรอยของคนอื่น
ที่สำคัญแนวทางดังกล่าวนี้ ก็ได้รับการใช้งาน จากประสบการณ์จริง ของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ในการเรียนด้วยระดับของคะแนน ที่สูงเยี่ยมมานักต่อนักแล้ว จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านอื่นๆ ไม่มากก็น้อย แต่ก็ต้องออกตัวว่า ไม่ใช่เป็นการบังคับ ให้ต้องกระทำตามแต่อย่างไร เป็นเพียงการนำเสนอแนวทาง ที่ถือเป็นมุมมองแตกต่าง อีกมุมหนึ่งเท่านั้น
แนวทางที่ว่านี้ เริ่มต้นจากแนวความคิดที่ว่า สิ่งใดที่มีคนทำ หรือแก้ปัญหาไว้ได้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปกระทำซ้ำ หรือนั่งเสียเวลาหาคำตอบด้วยตัวเองอีก คำแนะนำในส่วนนี้ก็คือ เมื่อเจอกรณีของปัญหาใด ที่มีคนแก้ไขได้แล้ว ก็ควรนำคำตอบ หรือบทสรุปนั้นมาทำความเข้าใจเลย ไม่จำเป็นต้องมัวนับหนึ่ง นั่งค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งหากมองเผินๆ คนอาจเข้าใจว่า นี่เป็นการสอนให้ลอกเลียนแบบชาวบ้าน
ผู้เขียนก็ไม่ขอปฏิเสธ แต่จะขอขยายความว่า มันมีความหมายมากกว่านั้น เพราะมันไม่ใช่การลอกเลียนแบบสถานเดียว แต่เป็นการทำความเข้าใจรูปแบบ ที่คนอื่นได้ทำสำเร็จไว้แล้ว เพื่อนำมาสร้างให้เกิดเป็น องค์ความรู้ใหม่ขึ้นสำหรับตน แล้วค่อยนำองค์ความรู้นั้น ไปปรับเป็นความเข้าใจพื้นฐาน ในการการคิดค้นคำตอบของคำถาม หรือโจทย์อื่นที่ยังไม่มีคนค้นพบคำตอบ หรือวิธีแก้ไขปัญหาต่อไป
เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถเข้าใจ แนวทางที่ผู้เขียนจะพูดถึงนี้มากขึ้น ก็จะขอเล่าถึงวิธีการที่เพื่อนของผู้เขียน ผู้ประสบความสำเร็จในการศึกษา ในระดับสูงได้ใช้มาโดยตลอด กล่าวคือ ในสมัยที่เรียนด้วยกัน เพื่อนผู้นี้จะคอยมาดูว่า การบ้านแต่ละข้อมีอะไรบ้าง และมีผู้ใดทำได้บ้าง เมื่อมีแล้วเขาก็จะขอยืมไป ศึกษาทำความเข้าใจ
เมื่อเห็นว่าไม่มีแนวทางอื่น เขาก็จะยอมรับ และใช้เป็นแนวทาง ในการตอบโจทย์ของตัวเอง ไม่ใช่เป็นการลอกตาม ต้นฉบับทุกประการ แต่เป็นการลอกเลียนความเข้าใจ ไปเป็นแนวทางในการทำในส่วนของตน ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้เขียนมีโอกาส ได้ดูวิธีการที่เขาใช้ในการตอบโจทย์นั้น มันมีส่วนที่อธิบายเพิ่มเติม มากกว่าต้นฉบับ ที่เขาใช้ทำความเข้าใจด้วย
และยังพบว่ามีหลายครั้ง ที่เขาสามารถชี้ว่า แนวทางคำตอบ ที่เขายืมมาดูนั้นไม่ถูกต้อง ทั้งยังสามารถเสนอแนะแนวทางใหม่ให้ ทำให้การทำการบ้านของพวกเรา เป็นไปอย่างสนุกสนาน มีการถกเถียงกัน เพื่อหาคำตอบที่เหมาะสม และผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่ง ที่ชอบโต้แย้งกับเขาเป็นประจำ ซึ่งพวกเรามักจะพบว่า ผลการพูดคุยกันอย่างจริงจังดังกล่าวนั้น บ่อยครั้งจะทำให้เกิดความเข้าใจ หรือค้นพบแนวทางใหม่ๆ ในการทำการบ้านนั้น
แต่ก็มีมากที่ทำให้เกิดคำถาม ที่เราต้องไปค้นหาเพิ่มเติม หรือถามหาจากครูผู้สอน เพราะในสมัยนั้นระบบเครือข่าย Internet ยังไม่พัฒนาจนเป็นที่นิยมใช้ อย่างกว้างขวางเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นด้วยแนวทางนี้ ผู้เรียนในยุคสมัยนี้ย่อมสามารถ มีแหล่งความรู้ให้สืบค้นศึกษา ได้มากกว่าพวกเราในสมัยนั้น เรียกว่าได้เปรียบกว่ากันมาก
นอกจากนั้น เมื่อพบว่ามีโจทย์ข้อไหน ที่ยังไม่มีคนทำหรือแก้ได้ เพื่อนผู้นี้ก็จะเอาไปนั่งคิดหาคำตอบให้ ด้วยการเรียนรู้ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ของกลุ่มผู้เขียน จึงเป็นเหมือนการเรียนแบบทีมเวิร์ค ไม่ใช่การเรียนคนเดียวตามลำพัง ทำให้คะแนนเฉลี่ยโดยรวมของพวกเราล้วนอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะไม่ต้องเสียเวลาทำความเข้าใจซ้ำซ้อนกัน ใครพบคำตอบข้อใดแล้ว ก็มาอธิบายให้ผู้อื่นฟัง
เมื่อทุกคนเข้าใจแล้ว ก็จะเกิดองค์ความรู้ในการทำโจทย์ข้ออื่นต่อไป แต่การจะทำตามแนวทางนี้ได้ ผู้เขียนก็ต้องบอกว่า ท่านจะต้องดำเนินไปบนความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่ใช่เป็นการลอกแบบไม่มีความเข้าใจ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องขอบอกว่า มิใช่จุดประสงค์ของแนวทางที่ผู้เขียนต้องการแนะนำในที่นี้
คราวนี้เราจะมาลองดูกันว่า แนวทางดังกล่าวนี้ มิใช่เป็นกลุ่มผู้เขียนคิดค้นพัฒนาขึ้นเอง แต่มันได้ผ่านการพิสูจน์ว่าสามารถกระทำได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถส่งผลให้เกิดการพัฒนาได้อย่างกว้างขวาง ตัวอย่างที่เห็นชัด ก็คือประเทศที่เจริญแล้วหลายแห่งในแถบเอเซีย อาทิเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และจีน ซึ่งทุกท่านที่คุ้นเคย กับแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรม ของประเทศเหล่านี้
ย่อมจะประจักษ์ดีว่า ประเทศเหล่านี้ ได้ใช้วิธีนำผลิตภัณฑ์ จากประเทศที่เจริญแล้ว มาทำการศึกษา และลอกเลียนแบบ จนสามารถพัฒนาอุตสาหกรรม ของตนให้รุดหน้า จนสามารถผลิตชิ้นงาน ที่มีคุณภาพเหมือน หรือใกล้เคียงกันกับผลิตภัณฑ์ต้นฉบับ จนในที่สุดองค์ความรู้ทั้งหลายนั้น ก็ได้กลายมาเป็นพื้นฐาน ในการสร้างอุตสาหกรรมแนวใหม่ ที่สามารถผลิตสินค้า ที่มีคุณภาพไม่น้อยหน้า ประเทศที่เป็นต้นแบบ
โดยเรียกกระบวนการพัฒนาแบบใหม่นี้ว่า C&D หรือ Copy and Development ซึ่งเป็นกระบวนการที่เพิ่มเติมเข้ามาจากกระบวนการแบบเดิมที่เรียกว่า R&D หรือ Research and Development โดยการทำ C&D ก่อนจนได้องค์ความรู้มากพอ ก็จะเข้าสู่กระบวนการ R&D เพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป
โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ระบบคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการพัฒนาไปอย่างกว้างขวาง จึงย่อมส่งผลให้การพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ในทุกวงการและทุกสาขาวิชา สามารถพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังเห็นได้จากผลงานวิจัย ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา การเรียนรู้จึงต้องเร่งให้ทันเหตุการณ์
การจะมามัวนั่งเสียเวลาคิดค้น ในสิ่งที่มีผู้ทำหรือนำเสนอข้อมูลความรู้ไว้ให้แล้ว ก็จะทำให้ท่านไม่สามารถเรียนรู้ ได้ทันวิชาการในโลกปัจจุบัน และมีสิทธิ์ตกข่าวไม่ทันเหตุการณ์ไปได้อย่างง่ายดาย สรุปแล้ว แนวทางที่เสนอไว้ในส่วนนี้ ผู้เขียนเห็นว่า มันได้กลายเป็น สิ่งที่มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน
ในท้ายสุดนี้ก็จะขอย้ายมาพูดถึง แนวทางการวางแผน การลงทะเบียนวิชาเรียนกันบ้าง เพราะมันมีผลค่อนข้างมากต่อคะแนนเฉลี่ย หรือเกรตที่ผู้เรียนในหลักสูตรมาตราฐานจะได้รับ การลงทะเบียนอย่างสะเปะสะปะไม่มีทิศทาง บ่อยครั้งจะส่งผลร้ายถึงขั้น ต้องถูกถอดออกจากการเรียน เพราะคะแนนเฉลี่ย หรือเกรตไม่ถึงเป้ามาตราฐานที่กำหนดไว้
ดังนั้นน้องๆ นักศึกษาที่ยังต้องเรียนอยู่ตามสถาบันต่างๆ ควรจะคำนึงและพิจารณาวางแผนให้ดี โดยบทความในส่วนนี้ จะให้แนวทางเบื้องต้นไว้พอเป็นสังเขป เพราะคงไม่มีสูตรสำเร็จในเรื่องนี้ที่เป็นสากล แต่ต้องขึ้นอยู่กับ จุดมุ่งหมายของผู้เรียน แต่ละท่านเป็นสำคัญ
การวางแผนการเรียน ในขั้นตอนแรกนั้น ก็คงต้องยืนอยู่บนความถนัด หรือความชอบของผู้เรียน โดยให้เลือกลงวิชาที่ตัวเองคิดว่า ถนัดและน่าจะทำคะแนนได้ดีที่สุด หรือสามารถทำคะแนนได้ไม่ยากนัก โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ทุ่มเทมากมายแต่อย่างไร ในขั้นนี้ให้ถือเป็น วิชาหลักที่จะใช้ จากนั้นก็ให้พิจารณาวิชา ที่ถนัดรองลงไป ตามด้วยวิชาที่ตนถนัด หรือชอบน้อยที่สุด
ในประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ต้องการ จะกล่าวถึงเป็นการเฉพาะคือ อย่าทิ้งวิชาที่ไม่ชอบ หรือที่ถนัดน้อยที่สุดนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และผู้เรียนจะต้องตระหนักรู้ให้มากไว้ ซึ่งผู้เขียนอยากจะบอกว่า อย่าละเลยเป็นอันขาด เพราะมันมีสิทธิ์ที่จะทำให้คะแนน ของท่านถูกฉุดหายไปได้ อย่างไม่คาดคิด
เหตุผลประการสำคัญก็คือ การละเลยวิชาที่ไม่ชอบ และส่วนใหญ่จะวางเป้าไว้ แค่ให้พอผ่านเท่านั้น จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นตัวฉุดเกรตที่น่ากลัวยิ่ง หากคะแนนในวิชาที่ถนัดที่สุด และที่รองลงไป เกิดความผิดพลาดไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ ผู้เรียนหลายคนมักจะมองว่า วิชาที่ไม่ชอบนั้น ไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจ ในการทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่มักจะละเลย และกำหนดเป้าให้แค่พอผ่าน ในขณะที่เวลาในการทุ่มเทกับวิชาหลัก ที่ถนัดมากที่สุด และรองลงไป
ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ความพยายามมากมายแต่อย่างไร นั่นกลายเป็นความประมาทอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ผิดคาดขึ้นมา ไม่ได้เกรตตามที่คาดหมายไว้ สำหรับวิชาหลักและรอง ในขณะเดียวกันวิชา ที่ไม่ชอบก็เพียงแค่พ้นเกณฑ์ขึ้นมาเล็กน้อย หรืออาจแค่คาบเส้นไม่ตก แต่เมื่อรวมคะแนนหรือเกรตเฉลี่ยแล้ว อาจทำให้ผลรวมออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ ที่มาตราฐานกำหนดไว้ จนส่งผลให้ต้องออกจากการศึกษา ไปอย่างน่าเสียดาย
การไม่ใส่ใจกับวิชาที่ไม่ชอบ เป็นความคิดที่ผิดอย่างมหันต์ เพราะมันอาจเป็นสิ่งที่เป็นได้ ทั้งตัวช่วยและตัวฉุด การให้ความใส่ใจกับวิชาที่ไม่ชอบ โดยการพยายามทำให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ได้เกรตดีที่สุด แม้จะไม่สามารถทำได้ เท่ากับวิชาที่ถนัด แต่อย่างน้อยมันจะไม่กลายเป็นตัวฉุดเกรต ในกรณีที่คะแนนของวิชาที่ถนัดผิดพลาด ไม่ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในทางตรงกันข้าม มันก็จะกลายเป็นตัวเสริม ให้เกรตเฉลี่ยสูงขึ้นทันที ในกรณีที่คะแนนของวิชาหลัก ได้ตรงตามเป้าที่ต้องการ ดังนั้นไม่ว่าจะพิจารณาในด้านไหน การให้ความใส่ใจกับวิชา ที่ไม่ชอบให้มากที่สุด ล้วนส่งผลในแง่ดีทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันหากไม่ให้ความใส่ใจ ก็อาจก่อเกิดผลร้าย อย่างมหันต์ให้ได้ โดยไม่คาดคิด
(สารพันปัญหาชีวิต ep.3 เรียนอย่างชาญฉลาด)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา