Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อรรถเสวนา
•
ติดตาม
8 ส.ค. 2023 เวลา 20:43 • ธุรกิจ
ประกันความสำเร็จ
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนฝูงที่เป็นนักธุรกิจจำนวนมาก ทำให้พอจะมองเห็นลู่ทางที่หลายๆ ท่านใช้เป็นหลักคิดหรือคติเตือนใจ ที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผลแท้จริง และได้ส่งผลให้พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้น สามารถก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในวงการ และประสบความสำเร็จสมตามที่ตั้งใจไว้ แม้จะไม่ใช่ความสมบูรณ์เต็มเปี่ยมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย มันก็ทำให้พวกเขาสามารถยืดอกบอกกับทุกคนได้ว่า เขาได้พยายามทำอย่างเต็มที่สุดกำลังแห่งสติปัญญาความคิดของเขาแล้ว
ความจริงแล้วถ้าจะรวบรวมเอาเรื่องราวประสบการณ์ของพวกเขาเหล่านี้มาพูดคุยกัน เชื่อว่าคงสามารถเขียนได้เป็นหนังสือเล่มใหญ่ และเท่าที่ผู้เขียนได้ลองสำรวจดูในท้องตลาดทั่วไป ก็พบว่ามีหนังสือแนวนี้ออกมาค่อนข้างมาก หลายเรื่องคล้ายจะถูกเขียนด้วยเจ้าของอัตตชีวประวัติโดยตรง
จึงคิดว่า จะไม่เดินตามแนวดังกล่าว เอาเป็นว่า เท่าที่พื้นที่จะเอื้ออำนวยนี้ ผู้เขียนก็จะขอรวบรวมเอาเฉพาะคติที่น่าสนใจมานำเสนอ เนื่องจากซีรี่ย์ตอบคำถามนี้ ค่อนข้างจะมีขอบข่ายเนื้อหาที่เปิดกว้าง เกินกว่าจะเฉพาะเจาะจงลงไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
บทนำ
(Introduction)
หลายคนเคยถามผู้เขียนเกี่ยวกับการเลือกงาน เบื้องต้นก็ต้องแนะนำให้มองหาความถนัดของตนก่อน หรือไม่ก็อาจเริ่มจากงานที่ตัวเองชอบ หรือมีความรู้สึกอยากกระทำมากที่สุด ดังที่เคยอธิบายความไปแล้วในบทความก่อนหน้า หากถามว่า ระหว่างความถนัดกับความชอบ ควรจะใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์ ก็ต้องขอถามก่อนว่า สถานภาพของท่านที่ต้องทำงาน หรือต้องการรายได้นั้น มีความเร่งด่วนเพียงใด
ถ้าสถานการณ์ของท่านเข้าขั้นวิกฤตเต็มที และต้องมีรายได้โดยเร็ว ผู้เขียนก็ขอแนะนำให้ใช้ความถนัดเป็นหลัก คือเลือกงานที่ตนถนัดและสามารถสร้างรายได้โดยเร็วที่สุด แม้ว่างานนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่ท่านชอบที่สุดก็ตาม เพราะต้องการให้ท่านแก้ไขวิกฤตเฉพาะหน้า ให้ผ่อนคลายความตึงเครียดลงเสียก่อน ค่อยหันมาหาเวลามองหาลู่ทางทำงานที่ท่านชอบต่อไป
Guarantee business success
แต่ในสถานการณ์ที่ท่านยังมีเวลาให้ทดลองทำงาน หรือไม่มีปัญหาเร่งด่วนเกี่ยวกับเรื่องรายได้หรือปากท้อง ก็ขอให้เริ่มมองหางานที่ท่านชอบ และรู้สึกอยากที่จะกระทำให้ได้ แล้วค่อยลงมือศึกษาและวางแผนกระทำต่อไป แต่ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานภาพเร่งด่วนหรือผ่อนคลาย จะเลือกงานที่ถนัดหรือชอบก็ตาม ในที่นี้ผู้เขียนยังจะขอให้เกณฑ์เพิ่มเติมต่ออีกว่า ในงานที่เลือกได้แล้วนั้น ควรจะเป็นงานที่ท่านสามารถกระทำได้ด้วยตัวเองตลอดหมดทุกขั้นตอน
หรืออาจกล่าวได้ว่า ท่านสามารถทำงานนั้นจนเสร็จได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้ใด ไม่ว่าจะในขั้นตอนใด ดังนั้นเมื่อใช้เกณฑ์นี้เป็นเบื้องต้น ก็เท่ากับว่าท่านได้เลือกงานที่สอดคล้องกับองค์ความรู้และความสามารถที่ท่านมีอยู่ในปัจจุบันนั้น คือในระหว่างที่จะเลือกทำงานนั้น ด้วยเงื่อนไขนี้เอง จึงจะเป็นการรับประกันความสำเร็จของงานนั้นในตัวของมันเอง
ต้องใช้ข้อมูลปัจจุบัน
(Current information is required)
เพราะเมื่อใดก็ตามที่ท่านสามารถมองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งแล้วว่า งานที่ท่านจะทำนั้น มีขั้นตอนใดบ้าง และแต่ละขั้นตอนต้องกระทำอย่างไร ต้องใช้ความรู้ความสามารถในด้านใด แล้วตัวท่านเองสามารถกระทำได้หมดในทุกขั้นตอนนั้นหรือไม่ แน่นอนว่า การตอบคำถามเหล่านี้ ท่านจะต้องมองให้เห็นอย่างใจเป็นกลาง เกี่ยวกับความรู้ความสามารถที่แท้จริงของตัวท่านเอง
โดยต้องขอเน้นว่าเป็นข้อมูลปัจจุบันในขณะที่จะลงมือกระทำงานดังกล่าวนั้น ที่ต้องเน้นเช่นนี้ก็เพราะว่า หลายครั้งที่มีคนคิดเข้าข้างตนเองว่า งานประเภทดังกล่าวตนเคยมีประสบการณ์ทำได้มาก่อน จึงมีความเชื่อมั่นว่า จะสามารถกระทำได้อย่างตลอดรอดฝั่งในครั้งนี้ด้วย
ประเด็นปัญหาก็คือการใช้ข้อมูลในอดีตมาเป็นข้อเท็จจริงประกอบการตัดสินใจ ย่อมมีโอกาสทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ โดยต้องดูว่า ประสบการณ์ที่ถูกนำมาใช้อ้างนั้น เกิดในช่วงระยะเวลาที่ใกล้หรือไกลจากเวลาที่จะกระทำงานที่ว่านั้น ถ้าเหตุการณ์นั้นเคยเกิดขึ้นนานมาแล้ว อย่างน้อยหนึ่งปีขึ้นไป ผู้เขียนก็อยากให้ท่านลองพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่สถานะการณ์ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว
Current information is required
ด้วยกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่ไร้พรมแดน ทำให้ผลกระทบจากสถานที่หนึ่งย่อมสามารถส่งผลกระทบกระเทือนต่อภูมิภาคอื่นๆ ในโลกได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเหตุการณ์ที่ท่านเคยคิดว่ากระทำได้ในช่วงปีที่ผ่านมานั้น ในปัจจุบันสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดแล้ว เพราะถ้าเปลี่ยนไปมาก โอกาสที่ท่านจะกระทำได้ด้วยเงื่อนไขเดิมๆ นั้น ย่อมไม่อาจประสบความสำเร็จได้ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแวดล้อมในด้านของสุขภาพร่างกายด้วย หากท่านเคยทำงานที่เลือกนั้นในช่วงที่วัยอายุยังไม่มากนัก แล้วจะใช้ประสบการณ์ในตอนนั้นมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจปัจจุบัน ก็ย่อมมีโอกาสประสบความล้มเหลวได้มากด้วยเหตุปัจจัยทางวัยอายุ ซึ่งเมื่อมากขึ้นสุขภาพย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลาเป็นปกติ ในกรณีที่ใครเคยคิดว่า สมัยก่อนเคยทำได้หามรุ่งหามค่ำไม่ต้องหลับต้องนอน ก็ต้องมาพิจารณาใหม่ว่า คำว่าสมัยก่อนนั้น มันเนิ่นนานเพียงใดแล้ว
และในสภาพสุขภาพร่างกายปัจจุบันยังสามารถกระทำเช่นนั้นได้โดยไม่ล้มเจ็บหรือไม่ ดังนั้นด้วยเหตุดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงเป็นเงื่อนไขที่ท่านผู้อ่านจะต้องคำนึงถึง เมื่อต้องตัดสินใจเลือกงานที่จะทำ สรุปแล้วจงเปิดใจให้เป็นกลาง แล้วมองให้เห็นความจริงที่แท้ของตนในปัจจุบัน ไม่มองโลกในแง่ดีหรือร้ายจนเกินจากพื้นฐานความจริงที่ตนดำรงอยู่ เมื่อนั้นท่านจึงจะพบงานที่ท่านจะสามารถกระทำให้จบได้ด้วยตัวท่านเองอย่างแท้จริง
ต้องทำได้ด้วยตนเอง
(Must be done by yourself)
สำหรับการทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น เมื่อท่านใช้หลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้นในการเลือกงานที่ทำได้แล้ว ท่านก็ย่อมสามารถดำเนินงานนั้นได้ในทันทีด้วยตัวท่านเอง เพราะมันเป็นงานที่ท่านสามารถกระทำให้เสร็จสิ้นได้ทุกขั้นตอนโดยลำพังตัวเองอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นผู้ใดทั้งสิ้น ด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ผู้เขียนก็จะขอเรียกงานที่ท่านกระทำนั้นว่า งานระดับมูลฐาน
และถ้างานนั้นสามารถสร้างรายได้ หรือประกอบขึ้นเป็นธุรกิจการค้าได้ ก็จะค่อยยกระดับขึ้นเป็น ธุรกิจระดับมูลฐาน ต่อไป โดยจะถือว่างานหรือธุรกิจระดับดังกล่าวนี้ จะเป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินงานสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการประกอบการได้ในทันที เพราะสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยความเกี่ยวเนื่องหรือความช่วยเหลือจากผู้ใด
Must be done by yourself
หลังจากนั้น เมื่อท่านมีงานหรือธุรกิจระดับมูลฐานดังกล่าวแล้ว ท่านก็จะสามารถมองหาหรือพิจารณางานหรือธุรกิจระดับอื่นๆ ที่จะมาเป็นส่วนเสริม หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นระดับที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added layer) คือเป็นระดับงานที่คล้ายแผ่นใสที่จะนำจะมาซ้อนทับงานระดับมูลฐานเดิม เพื่อเพิ่มรายได้หรือศักยภาพในการประกอบการ
โดยในงานระดับดังกล่าวนี้ ท่านสามารถยอมรับการร่วมมือจากผู้อื่นได้ เพราะแม้ว่างานระดับที่สูงกว่าขั้นมูลฐานทั้งหมดขึ้นมานี้ จะไม่ประสบความสำเร็จหรือต้องหยุดกลางคัน ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใด ทั้งกรณีผู้ที่เข้าร่วมเกิดถอนความร่วมมือไป หรือเปลี่ยนความตั้งใจ อย่างมากท่านก็แค่หยิบแผ่นใสหรืองานระดับดังกล่าวออกไป โดยไม่กระทบกับงานระดับมูลฐานที่ท่านทำได้ด้วยตนเองนั้นแต่อย่างไร
ต้องรักษาธุรกิจพื้นฐาน
(Must maintain basic business)
ด้วยกรรมวิธีดังกล่าวนี้ นอกจากท่านจะสามารถรักษาธุรกิจดั้งเดิมของท่านเอาไว้ได้ และยังสามารถบริหารจัดการงานระดับอื่นๆ ที่จะมาเข้าร่วมได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้ท่านผู้อ่านพอจะมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่าง ธุรกิจออนไลน์เกี่ยวกับเว็บไซท์ ที่นิยมกันมากในปัจจุบัน
โดยท่านสามารถสร้างเว็บไซท์พื้นฐานของท่านขึ้นมา ด้วยจุดประสงค์หรือเพื่อประกอบธุรกิจประเภทใดก็ตาม ให้พิจารณาในสิ่งที่ท่านสามารถทำได้หรือบริหารเว็บไซท์ได้ด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอบทความที่ให้ความรู้ต่อผู้อ่าน หรือการผลิตสินค้าที่มาจำหน่ายภายในเว็บไซท์
Must maintain basic business
จากนั้นเมื่อท่านสามารถสร้างเว็บไซท์ส่วนตัวและเปิดดำเนินกิจการได้แล้ว ต่อไปเมื่อมีผู้เข้ามาร่วมธุรกิจ ท่านก็สามารถร่วมกับเขาผู้นั้นจัดทำขึ้นเป็นเว็บไซท์ใหม่ โดยใช้พื้นฐานของเว็บไซท์เดิมของท่าน ในฐานะที่เกิดก่อนและเป็นที่รู้จักในตลาดหรือสาธารณะเป็นอย่างดีแล้ว เพื่อช่วยส่งเสริมหรือโปรโมทเว็บไซท์ใหม่นั้น แต่อย่าลืมว่า อย่าทำในลักษณะที่เชื่อมโยงกับเว็บไซท์ดั้งเดิม ในระดับที่แยกกันไม่ออก
พูดง่ายๆ ก็คือ พยายามให้เว็บไซท์ใหม่นั้นเป็นเหมือนแผ่นใส ที่ซ้อนทับอยู่ด้านบนของเว็บไซท์พื้นฐาน หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นเหมือนภาคขยายของเว็บไซท์ดั้งเดิมนั้น ประมาณว่า มีสถานะที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดข้างต้น เมื่อมีอันต้องถอนแผ่นใสหรือเว็บไซท์ใหม่ออกไป ก็จะไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของเว็บไซท์เดิมแต่ประการใด
ต้องควบคุมได้ทั้งหมด
(Must be in total control)
จากเนื้อหาที่ผ่านมา จะเป็นกรณีที่ได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นในฐานะหุ้นส่วนที่เสมอกัน ต่อไปเราก็จะหันมาพิจารณาในกรณีของการเป็นผู้นำทีมงานบ้าง กล่าวคือ ต้องมีผู้ร่วมงานที่เข้ามาเสริมในระดับของผู้ใต้บังคับบัญชา พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อท่านต้องเป็นหัวหน้างาน เกณฑ์กำหนดที่นำเสนอมาข้างต้นนั้น จะยังสามารถใช้ได้หรือไม่ โดยผู้เขียนก็ต้องขอแยกออกเป็นสองกรณีด้วยกัน
ในกรณีแรกจะเป็นกรณีต่อเนื่อง จากที่เคยกล่าวไว้ ซึ่งท่านเป็นเจ้าของงานเอง และเมื่องานเกิดการขยายตัว ซึ่งท่านจำเป็นต้องมีผู้อื่นเข้ามาช่วย ในกรณีนี้คงไม่มีปัญหามากนัก เพราะท่านสามารถทำงานได้ทุกขั้นตอนอยู่แล้ว เมื่อขาดผู้หนึ่งผู้ใดไป ท่านก็ย่อมสามารถทำงานชิ้นนั้นให้เสร็จได้ด้วยตัวเอง
ในกรณีนี้จึงมีข้อที่พึงระวังอยู่ที่ว่า การขยายงานเพิ่มขึ้น ท่านยังต้องพิจารณาว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ท่านสามารถทำได้ด้วยตนเองหรือไม่ ถ้าเริ่มไม่แน่ใจ ขอแนะนำให้หยุดไว้ก่อน เพราะมันอาจเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นได้ จากปัญหาที่ไม่อาจควบคุม
แต่หากท่านมีความแน่ใจจากข้อมูลความเป็นจริงในปัจจุบันที่ท่านจะขยายงานนั้น ก็ย่อมสามารถลงมือดำเนินการปรับขยายต่อไป โดยผู้เขียนยังจำต้องเน้นย้ำว่า การพิจารณาในสภาวะแวดล้อมปัจจุบันตามจริงยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลย และจำต้องนำมาไตร่ตรองพิจารณาปรับปรุงข้อมูล เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงปัจจุบันมากที่สุด หากตอนเริ่มดำเนินธุรกิจหรืองานดังกล่าวนั้น ท่านจะสามารถกระทำได้ด้วยตนเองในทุกขั้นตอน
Must be in total control
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สภาวะแวดล้อมทั้งในส่วนของตัวท่านและสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นี่เป็นข้อมูลจำเป็นที่ท่านต้องคอยดูแลให้ข้อเท็จจริงทันสมัยอยู่เสมอ หากเริ่มไม่แน่ใจว่า จะกระทำได้หรือไม่ ผู้เขียนยังคงแนะนำให้ถอนระดับงานในส่วนนั้นออกไปก่อน เพื่อให้ทุกอย่างยังอยู่ในความควบคุม การดื้อรั้นหรือคาดหวังว่าจะกระทำได้ ย่อมมีแต่จะเป็นการเสี่ยงต่อการพังทลายหมดทั้งระบบ
ในกรณีที่สอง ก็คือกรณีที่ท่านต้องเป็นหัวหน้างาน ควบคุมการทำงานของผู้ร่วมงานอื่นๆ สิ่งที่ผู้เขียนจะนำเสนอนี้แม้จะเน้นเป็นกรณีต่อเนื่องจากเนื้อหาที่แนะนำมาข้างต้น แต่เทคนิควิธีการทั้งหมดนี้ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกรณีที่ท่านต้องเป็นหัวหน้างาน ในฐานะที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการด้วยตัวเอง กล่าวคือ เมื่อท่านประสบความสำเร็จกับธุรกิจระดับมูลฐานที่ว่าแล้ว ท่านก็สามารถขยายงานระดับต่อไปด้วยตัวท่านเอง โดยที่อาจไม่จำเป็นต้องไปอาศัยการร่วมมือกับผู้อื่น
แต่ในกรณีนี้ ท่านยังคงต้องแน่ใจว่า ขั้นตอนทั้งหมดในงานระดับใหม่นั้น ท่านสามารถกระทำได้ด้วยตัวเองในทุกขั้นตอนจริงๆ และสามารถดำเนินกิจการไปได้ เพียงแต่หากมีคนมาช่วย ก็จะทำให้งานนั้นดูดีขึ้นหรือมีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้งนี้ยังช่วยลดแรงงานในส่วนตัวของท่านลง กล่าวโดยสรุปก็คือ ท่านจะต้องสามารถสร้างงานในระดับโครงสร้างพื้นฐาน หรือแกนหลักของงานทั้งหมดนั้น และให้ผู้ร่วมงานของท่านมาช่วยในส่วนประดับตกแต่ง หรือเสริมต่อความสามารถเพิ่มขึ้นจากงานที่ท่านได้สร้างขึ้นไว้แล้วนั้น
งานต้นแบบมีความสำคัญ
(Prototype is important)
ในสมัยที่ผู้เขียนเคยทำงานในระดับของผู้จัดการแผนกไอที ผู้เขียนต้องควบคุมบุคลากรไอทีประจำบริษัทจำนวนมาก เมื่อมีโครงการใหม่เกิดขึ้น ผู้เขียนจะเข้าไปศึกษาสำรวจแล้วจะสร้างงานขึ้นมาในระดับเบื้องต้น เป็นโปรแกรมระบบงานที่ใช้งานได้จริง แต่ไม่ได้เน้นความสวยงามของจอภาพหรือรายงาน โดยผู้เขียนจะใช้ระบบงานนี้เป็นเหมือนตัวอย่างหรือแนวทางที่ต้องการให้โปรแกรมเมอร์ของบริษัททำการพัฒนา ด้วยกระบวนการวิธีดังกล่าวที่ผู้เขียนใช้นี้ สิ่งแรกที่ผู้เขียนได้ก็คือ ระบบงานที่สามารถทำงานได้จริง
ซึ่งได้รับการพัฒนาปรับปรุงไปพร้อมกับกระบวนการศึกษาทำความเข้าใจระบบงานของผู้เขียน และมันยังสามารถใช้เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ใช้ระบบสามารถตรวจสอบ และเสนอแนะจนจบสิ้นกระบวนการศึกษา นอกจากนั้นมันยังเป็นสิ่งที่ช่วยลดแรงกดดันของทีมพัฒนา เพราะมีระบบงานที่ใช้ได้จริงเสร็จสิ้นแล้ว แม้จะเป็นแบบพื้นฐานตรงไปตรงมาก็ตาม และทีมงานของผู้เขียนก็จะสามารถทำการพัฒนาไปบนพื้นฐาน และแนวทางของระบบงานที่ผู้เขียนได้สร้างขึ้นนั้น
Prototype is important
ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้เดินตามเกณฑ์กำหนดข้างต้น คือได้ศึกษาจนสามารถทำได้จริงในทุกขั้นตอนนั้นแล้ว เรียกได้ว่า โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดได้ผ่านการพัฒนาจนสำเร็จ หากเปรียบเหมือนการสร้างบ้านก็ต้องบอกว่า เป็นบ้านที่สำเร็จครบทุกระบบการใช้งาน และสามารถเข้าอยู่ได้จริง แต่อาจจะไม่สวยหรือไม่ได้เน้นความงามทางสถาปัตย์มากมายแต่อย่างไร
โดยผู้เขียนได้ปล่อยหน้าที่นี้ให้แก่ทีมพัฒนาในการประดับตกแต่ง ใช้ความคิดสร้างสรรค์กันอย่างเต็มที่ และที่พวกเขาทำเช่นนั้นได้ก็เพราะว่า พวกเขาไม่มีแรงกดดันในการต้องเร่งทำงานตั้งแต่ต้น พูดง่ายๆ คือไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ถ้าถามว่าทำเช่นนี้แล้วผู้ที่เป็นหัวหน้างานจะไม่ทำงานหนักเกินไปหรือ ในกรณีนี้ผู้เขียนกลับมองว่า มันเป็นสิ่งที่หัวหน้างานจะต้องมีศักยภาพพอที่จะกระทำได้ในฐานะผู้นำ
เพราะหากท่านไม่สามารถทำความเข้าใจในทุกขั้นตอนของเนื้องานได้แล้ว ท่านย่อมไม่อาจควบคุมกระบวนการพัฒนางานนั้นไปจนจบกระบวนการได้ เพราะมันจะมีปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างไม่คาดคิดในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง และการที่ผู้เขียนเลือกพัฒนาระบบงานควบคู่ไปกับการศึกษา ก็เพื่อให้ตนเองสามารถมองเห็นปัญหาที่อาจซ่อนเร้นอยู่ได้ทั้งหมดนั้น
ต้องรู้งานระดับมูลฐาน
(Must know all basic work)
โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้นำในกรณีที่เป็นเจ้าของกิจการเองหรือไม่ก็ตาม เกณฑ์กำหนดในการที่ท่านควรจะสามารถรู้ และทำงานในหน้าที่รับผิดชอบทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์ทุกขั้นตอนนั้น ยังคงเป็นเกณฑ์กำหนดที่ไม่อาจละเลย แน่นอนว่า ท่านอาจไม่จำเป็นต้องรู้ในกระบวนการทั้งหมดที่จะทำให้ผลงานออกมาดีที่สุด แต่อย่างน้อยท่านจะต้องรู้และสามารถทำได้ในระดับใช้งานมูลฐานอย่างแท้จริง ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนยกมาข้างต้น หากท่านเป็นผู้นำทีมสร้างบ้านให้คนอยู่
ท่านย่อมไม่ต้องรู้ถึงทุกขั้นตอนในการออกแบบเชิงสถาปัตย์ และการตกแต่งให้เกิดความงามทางทัศนศิลป์ ซึ่งจะเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้บ้านหลังดังกล่าวนั้น แต่อย่างน้อยท่านต้องสามารถสร้างบ้านหลังนั้นขึ้นมาได้จริง ในระดับที่ครบถ้วนทุกระดับการใช้งานพื้นฐานทั้งหมดนั้น นี่คือองค์ความรู้ที่ผู้เขียนหมายถึง เพราะหากไม่สามารถรับประกันได้ในระดับของการใช้งานพื้นฐานเหล่านี้ โอกาสที่ท่านจะประสบความล้มเหลวย่อมมีได้มาก
Must know all basic work
ในส่วนของเรื่องขนาดหรือปริมาณของเนื้องานนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่เกณฑ์กำหนดข้างต้นไม่ได้ห้ามไว้ ในทางตรงกันข้าม ผู้เขียนกลับสนับสนุนให้ทุกท่านคิดการใหญ่ เพราะมันจะเป็นการสำรวจศักยภาพส่วนบุคคลให้ประจักษ์แจ้งต่อตัวของท่านเอง พูดง่ายๆ คือ พยายามคิดให้ได้มากที่สุดว่าตนเองสามารถกระทำอะไรได้บ้าง อย่าลืมว่าในขั้นตอนนี้ยังเป็นกระบวนการทางความคิด
ดังนั้นจึงแนะนำให้ท่านปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นจากกรอบความคิดใดๆ แล้วมองหาทุกหนทางที่ท่านจะสามารถพัฒนาตนเองไปได้ และด้วยกระบวนการนี้ มันจะเป็นการแสดงผังความสามารถของท่านออกมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เมื่อท่านต้องการขยายงานในอนาคต
บทสรุป
(Conclusion)
เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดได้ชัดเจนแล้ว จึงค่อยทำการกรองหาเฉพาะสิ่งที่ท่านจะสามารถกระทำได้ในทันที โดยไม่ต้องพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มเติมใดๆ และนั่นก็จะเป็นสิ่งที่เข้าสู่เกณฑ์กำหนดข้างต้น ในการเลือกงานที่ตนทำได้จริงๆ นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นงานที่ท่านไม่สามารถทำคนเดียวจนเสร็จกระบวนการได้ ให้ท่านทำการพิจารณาตรวจทาน
แล้วทำการจัดลำดับไว้ว่า มีงานใดที่ท่านจะสามารถกระทำได้มากสุดหรือพึ่งคนอื่นน้อยสุด นั่นจะเป็นงานที่ท่านควรจะเลือกเป็นลำดับต่อไปในการขยายงาน ในจุดนี้ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเล็กน้อยคือ แม้ว่ามันจะเป็นงานที่ท่านทำคนเดียวไม่จบก็จริง แต่ให้คัดงานที่ท่านสามารถพัฒนาองค์ความรู้หรือความสามารถอีกเล็กน้อย ก็จะสามารถกระทำให้จบได้ออกมาไว้เป็นอันดับต้นๆ ในการพิจารณาเลือกเพื่อขยายงาน
จากนั้นจึงจัดอันดับของงานที่จำเป็นต้องอาศัยผู้อื่นแยกเอาไว้ต่างหาก โดยเรียงลำดับตามจำนวนขั้นตอนที่ต้องพึ่งคนอื่นที่น้อยที่สุด ไปหางานที่ต้องพึ่งคนอื่นมากสุด ซึ่งสมควรจะเอาไว้ท้ายๆ ของการพิจารณา หรืออาจตัดทิ้งไปเลย เพราะการต้องพึ่งคนอื่นมากขึ้นเพียงใด การจะควบคุมงานให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นย่อมเป็นไปได้ยากมากเพียงนั้น
ส่วนกระบวนการที่ว่า คิดการใหญ่แล้วทำไปทีละขั้นตอนนั้น คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากนัก มีสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะขอย้ำเน้นในที่นี้ก็คือ เมื่อเลือกงานที่จะทำได้แล้ว ให้ท่านเขียนลำดับขั้นตอนของงานที่จะทำนั้นออกมาให้ครบทุกขั้นตอน อย่าให้ขาดแม้แต่ขั้นเดียว หรืออีกนัยคือ อย่าเร่งรีบจนเกินไป เพราะในกระบวนการก่อนลงมือปฏิบัติ ยิ่งมีความชัดเจนในขั้นตอนปฏิบัติมากเพียงใด โอกาสทำงานผิดพลาดก็จะมีน้อยเพียงนั้น
ดังที่ท่านจะพบเห็นได้ในขั้นตอนปฏิบัติของหน่วยงานหรือองค์กรระดับสูงทั้งหลาย ดังที่มีชื่อเรียกกันว่า ระเบียบปฏิบัติ หรือ โปรโตคอล (Protocol) เมื่อได้ขั้นตอนดำเนินงานที่ชัดเจนแล้ว ท่านก็ควรดำเนินไปตามขั้นตอนเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด และสามารถรับประกันความสำเร็จของงานได้อย่างแท้จริง
(สารพันปัญหาชีวิต ep.4 ประกันความสำเร็จ)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สารพันปัญหาชีวิต
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย