Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
7 ก.ค. 2023 เวลา 12:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Agency : วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ…ทำไมถึงไม่ควรมีคน Toxic อยู่ในองค์กร
Agency เป็นซีรีส์เกาหลีที่พนักงานออฟฟิศต้องดู ตัวซีรีส์ฉายภาพบรรยากาศการทำงานในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา ที่ดุเดือด เชือดเฉือนเหลี่ยมคมกันในแต่ละวัน
ผ่านตัวละครหลักคือโกอาอิน หญิงสาวฐานะยากจนที่ไต่เต้าจากจุดต่ำสุดในวงการโฆษณา สู่การเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ประจำเอเจนซี่โฆษณายักษ์ใหญ่อย่าง VC Planning และเธอยังหวังที่จะไต่ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปอีก
แต่กว่าจะก้าวขึ้นไปได้ เธอต้องต่อสู้กับปัญหามากมายในที่ทำงาน
ทั้งจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ เพื่อนร่วมงานที่เป็นพิษ ไหนจะถูกกดจากค่านิยมความไม่เท่าเทียมทางเพศ จนท้ายที่สุดแล้วการขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของเธอ อาจมีอะไรที่ต้องแลกมามากมายเหลือเกิน
📌 วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ (Toxic Culture)
บรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกอุตสาหกรรม ในบริษัททุกขนาด หากจะมาหาว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้บรรยากาศการทำงานย่ำแย่ เราอาจจะโทษว่าเป็นเพราะหัวหน้า หรือเป็นเพราะตัวพนักงานเองหรือเปล่า แต่ที่จริงแล้ววัฒนธรรมองค์กรต่างหากที่บีบให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษขึ้นมา และส่งต่อโดยหัวหน้างานกับพนักงานที่เป็นพิษ
Forbe ได้แบ่งประเภทของวัฒนธรรมที่เป็นพิษในองค์กรไว้ด้วยกัน 5 อย่าง คือ
1.
วัฒนธรรมคลั่งไคล้ในการทำงาน
2.
วัฒนธรรมการตำหนิทุกคนเพื่อประโยชน์ของตัวเอง
3.
วัฒนธรรมการแบ่งแยกเป็นกลุ่มๆ
4.
วัฒนธรรมเผด็จการ
5.
วัฒนธรรมความกลัว
1
ซึ่งในที่ทำงานอาจจะมีแค่วัฒนธรรมที่เป็นพิษเพียงอย่างเดียวในนี้ หรือบางแห่งอาจมีมากกว่า 1 อย่างก็ได้
📌 ใครได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษมากที่สุด?
จากงานวิจัยพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะออกจากงานเนื่องจากวัฒนธรรมในที่ทำงานมากกว่าผู้ชาย ซึ่งก็สะท้อนจากในซีรีส์ ที่นางเอกซึ่งเป็นผู้บริหารหญิงเพียงคนเดียว ต้องเผชิญกับทั้งสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่เป็นพิษ และเพื่อนร่วมงาน (บางคน) ที่ทัศนคติเป็นพิษ ท่ามกลางความกดดันของงานเอเจนซี่โฆษณาที่ทุกอย่างต้องขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังพบว่าจากการสำรวจพนักงาน 9,000 คนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เกินครึ่งมองว่าที่ทำงานของเขานั้นค่อนข้างเป็นพิษ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีคนลาออกเนื่องจากวัฒนธรรมในที่ทำงานที่เป็นพิษมากที่สุดอีกด้วย
เมื่อมองจากกลุ่มอายุ จะพบว่ากลุ่มเจน Z และกลุ่มมิลเลนเนียล เป็นกลุ่มที่มักจะลาออกด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมองค์กรมากที่สุด
📌 ต้นทุนของวัฒนธรรมที่เป็นพิษ
ต้นทุนที่สูญเสียไปนั้น อาจเป็นเรื่องที่วัดออกมาเป็นตัวเงินได้ยาก แต่ลองนึกภาพคอนเซ็ปง่ายๆ ว่าเมื่อพนักงานรู้สึกไม่สบายใจที่จะทำงานต่อเนื่องจากบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษ ก็จะเริ่มไม่ค่อยจดจ่อกับงานที่ทำ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
อีกทั้งความเครียดและความกดดันต่างๆ นำไปสู่การ Burnout ส่งผลให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องลาป่วย แต่เนื่องจากวัฒนธรรมที่เป็นพิษมักจะบีบพนักงานรู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องลาป่วย ทำให้บริษัทก็จะเกิดต้นทุนของการที่พนักงานมาทำงานก็จริง แต่ทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ
ทำไมถึงไม่ควรมีคนที่เป็นพิษอยู่ในองค์กร?
📌 “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง” น่าจะเป็นสำนวนที่อธิบายเหตุผลได้ดีที่สุด
งานวิจัยจาก Harvard Business School ชี้ให้เห็นว่า การไม่จ้างคนที่เป็นพิษเข้าทำงาน อาจทำให้บริษัทได้รับประโยชน์เป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับการจ้างพนักงานที่มีความสามารถโดดเด่นระดับท็อป
จริงอยู่ว่าพนักงานที่อยู่ระดับท็อป 1% บนสุดในองค์กร จะช่วยให้องค์กรประหยัดต้นทุนได้ถึง 5,303 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่พวกเขาสามารถสร้างผลผลิตออกมาได้มากขึ้น แต่การเลี่ยงไม่จ้างคนเป็นพิษเข้าทำงาน จะช่วยให้บริษัทประหยัดต้นทุนได้ถึง 12,489 ดอลลาร์สหรัฐฯ
จากการที่สามารถเลี่ยงปัญหาการฟ้องร้อง การลงโทษตามระเบียบ หรือผลผลิตโดยรวมที่ลดลงจากการทำให้แรงจูงใจในการทำงานของพนักงานคนอื่นๆ ลดลง
และจาก Human Capital Benchmarking Report ของ SHRM ในปี 2016 ประมาณว่าการลงทุนจ้างพนักงานคนหนึ่ง มีต้นทุนถึง 4,129 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากนั่นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ก็นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ในหนึ่งตำแหน่งมักจะมีคนเข้ามาทำงานอยู่แค่ 4.8 ปี และจะยิ่งสั้นลงหากเป็นคนกลุ่มมิลเลนเนียลซึ่งอยู่ที่ 2.8 ปีเท่านั้น
จากงานวิจัยพบว่า 1 ใน 5 ของคนที่ลาออกจากงาน มักเกิดจากบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษ และพนักงานกว่าครึ่งก็มีความคิดที่จะออกจากองค์กรที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน
นั่นก็หมายถึงว่าบริษัทต้องใช้เงินถึง 223 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อหาพนักงานมาทดแทนคนที่ออกไปในช่วง 5 ปี
เมื่อปัญหาความเป็นพิษในที่ทำงานไม่เคยได้รับการแก้ไข นานวันไป ก็จะยิ่งบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษไปเรื่อยๆ จนยากที่จะแก้ ทำให้พนักงานที่ดีอาจต้องเลือกเดินจากไปเสียเอง เหลือไว้เพียงแต่พนักงานที่เป็นพิษที่ขับเคลื่อนวัฒนธรรมที่เป็นพิษต่อไป
จนท้ายที่สุดองค์กรนั้นก็จะก้าวเดินต่อไปได้ยาก เพราะความเป็นพิษนั้นกัดกินองค์กรจนไม่มีใครอยากร่วมงานด้วยอีกแล้ว…
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
●
https://feelgoodco.com/the-financial-cost-of-toxic-workplace-cultures
●
https://www.socialintel.com/the-economic-cost-of-toxic-behavior-in-the-workplace/
●
https://www.damarstaff.com/blog-posting/2023/2/8/toxic-workplace-cultures-cost-companies-billions
ทำงาน
การทำงาน
รับมือtoxicในที่ทำงาน
8 บันทึก
20
1
11
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economic Edutainment
8
20
1
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย